ผลสอบ ใบประกอบ เภสัชกรรม

ทำไมผลสอบใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ถึงวัดอะไรไม่ค่อยได้

ตามที่พี่เคยสัญญาเอาไว้ในบทความ ทำไมเราถึงหาผลสอบใบประกอบวิชาชีพหลังปี 2555 ได้ยากนัก นะครับ ว่าจะเขียนเรื่องนี้

เวลาน้องอยากรู้ว่าคณะเภสัชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยไหนดีกว่ากัน อย่างแรกที่น้องนิยมดูก่อนเลยคือ ผลสอบใบประกอบวิชาชีพ แต่ก็จะมีรุ่นพี่ หรือเภสัชกรบางท่าน คอยพูดอยู่ตลอดว่า ผลสอบใบประกอบ มันวัดอะไรไม่ค่อยได้หรอก

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

ประเด็นแรก ไม่เคยมีมหาวิทยาลัยไหนครองแชมป์ต่อเนื่องทุกปีได้เลย

หากน้องลองย้อนกลับไปดูผลสอบใบประกอบปีก่อนๆ น้องจะพบว่า ผลการสอบใบประกอบมันขึ้นๆลงๆ ไม่เคยมีมหาวิทยาลัยอยู่อันดับต้นๆต่อเนื่องได้ทุกปีนานๆ ในขณะที่บางมหาวิทยาลัยอยู่อันดับท้ายๆบ่อยๆ แต่บางปีแซงมาเป็นลำดับต้นๆเลยก็มี

ประเด็นสอง บางมหาวิทยาลัยมีการกรองเด็กออกก่อนสอบใบประกอบ บางมหาวิทยาลัยไม่มี

คณะเภสัชหลายแห่ง มีระบบให้นักศึกษาที่สามารถจบได้แล้วต้องสอบรวบยอดก่อน หากสอบรวบยอดไม่ผ่านก็ไม่สามารถจบได้ ทำให้นักศึกษาที่สอบรวบยอดผ่าน เหมือนโดนคัดมาแล้ว 1 รอบ ก่อนไปสอบใบประกอบ ทำให้ % การผ่านดูสูง

ประเด็นสาม มหาวิทยาลัยเก่าแก่ ได้เปรียบ มหาวิทยาลัยเอกชนและมหาวิทยาลัยเปิดใหม่

หากเป็นการสอบรอบแรกของปี (ซึ่งเป็นการสอบที่มีนัยและความสำคัญมากที่สุด เพราะถูกใช้ในการจัดอันดับและประเมินคณะ/มหาวิทยาลัย) มหาวิทยาลัยเก่าแก่จะได้สอบที่มหาวิทยาลัยตัวเอง แต่มหาวิทยาลัยเอกชนและมหาวิทยาลัยเปิดใหม่ต้องไปสอบที่มหาวิทยาลัยเก่าแก่ ทำให้เกิดการได้เปรียบ เสียเปรียบกัน อันนี้จะมีผลมากๆตอนสอบ OSPE (การสอบ OSPE เป็นการสอบปฏิบัติ เป็นการปฏิบัติให้ได้ตามที่โจทย์ต้องการภายใน 3 นาที เช่น ซักประวัติคนไข้ ค้นหาปัญหาการใช้ยาของผู้ป่วย โดยมีอาจารย์ผู้ทำการประเมินเป็นผู้ป่วยจำลอง เป็นต้น) เพราะหากน้องได้สอบที่มหาวิทยาลัยตัวเอง น้องจะได้สอบกับอาจารย์ตัวเอง!!!!! ซึ่งแน่นอนว่าน้องกับอาจารย์รู้จักกัน เรื่องความสัมพันธ์ ความสงสาร ลึกๆแล้วมันมีผลอย่างแน่นอน แต่ไม่เคยมีใครวัดได้ว่ามีผลมากขนาดไหน เพราะในการสอบจริง อาจารย์ผู้ทำการประเมิน สามารถบอกใบ้ ตามวิจารณญาณและกรอบกติกาของการสอบได้

ประเด็นสี่ แต่ละมหาวิทยาลัยมีความจริงจังในการสอบใบประกอบไม่เท่ากัน และความจริงจังนี้ ก็ไม่เท่ากันในแต่ละรุ่นของนักศึกษาแต่ละมหาวิทยาลัยเดียวกันด้วย

บางมหาวิทยาลัยช่วยนักศึกษามาก อย่างเช่น มีการนับชั่วโมงการฝึกซ้อมใบประกอบเป็นชั่วโมงฝึกงานให้ ทำให้นักศึกษาได้กลับมาจากฝึกงานเพื่อเตรียมตัวสอบก่อนมหาวิทยาลัยอื่น, มีการให้อาจารย์ช่วยติวนักศึกษาที่จะทำการสอบ หรืออาจจะถึงขั้นจ้างติวเตอร์จากข้างนอกมาติวเลยด้วยซ้ำ แต่บางมหาวิทยาลัยก็ให้นักศึกษาติวกันเองเฉยๆ ไม่ได้ support อะไรให้

ประเด็นห้า ค่านิยมในตัวนักศึกษาแต่ละมหาวิทยาลัยไม่เหมือนกัน

นักศึกษาบางแห่งจริงจังมาก มีค่านิยมว่า รุ่นเราจะต้องได้ที่ 1 รุ่นเราต้องผ่าน 100% ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศในการเตรียมตัวสอบที่ดี (จะบอกว่า เพื่อนกดดันก็ได้) แต่บางมหาวิทยาลัยก็เฉยๆ ไม่ผ่านก็สอบใหม่ บางคนได้งานที่ไม่ต้องใช้ใบประกอบอย่าง ดีเทลยา แล้วก็ไปทำงาน ไม่กลับมาติว หรือไม่กลับมาสอบเลยก็มี

ประเด็นหก บ่อยครั้งที่คนเก่ง ดันสอบไม่ผ่าน

ตอนเราเรียน เราก็พอรู้ว่า เพื่อนคนไหน เก่งระดับไหน แต่บ่อยครั้งที่คนที่เรารู้ว่าเก่ง ดันสอบไม่ผ่าน แต่คนที่เก่งน้อยกว่า ดันสอบผ่าน การเกิดเหตุการณ์แบบนี้บ่อยๆ ทำให้เกิดอุปทานเล็กๆขึ้นมาว่า การสอบใบประกอบวิชาชีพ วัดว่าใครเก่งกว่าใครไม่ได้ กลายเป็นเรื่องของจังหวะ โอกาส ความพร้อม และสภาพจิตใจมีผลมากกว่า

ประเด็นเจ็ด แนวข้อสอบ หาความแน่นอนไม่ได้

ปีไหนก็ตามที่มีการเปลี่ยนกรรมการผู้ออกข้อสอบ ปีนั้น แนวข้อสอบจะพลิกล็อค หลุดโผ แบบถล่มทลายทุกครั้ง บางครั้งก็ง่ายกว่าปีที่แล้วจนผ่านกัน 90% ขึ้นทุกมหาวิทยาลัย บางครั้งก็ยากมากจนมีหลายมหาวิทยาลัยตกมากกว่า 50% แต่ที่เป็นตัวแปรจริงๆคือเนื้อหาการออกสอบของแต่ละสาขา เพราะหากปีไหนข้อสอบด้านอุตสาหการยาก ปีนั้นมหาวิทยาลัยที่มีแต่สายบริบาล % การสอบผ่านจะตกลงทันที ในขณะที่หากปีนั้นข้อสอบทางบริบาลยาก % การสอบผ่านของมหาวิทยาลัยที่มีแต่สายบริบาลก็จะพุ่งสูงขึ้น

แล้วมันใช้บอกอะไรไม่ได้เลยหรอ?

จริงๆ มันใช้ดูได้คร่าวๆครับ บางมหาวิทยาลัยเกาะกลุ่มอันดับต้นๆตลอด ในขณะที่บางมหาวิทยาลัยอยู่กลุ่มท้ายๆ ตลอด มันก็พอคร่าวๆได้ว่า process การผลิตบัณฑิตมีคุณภาพที่แตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ถ้าให้เทียบว่า 1 ดีกว่า 2 หรือ 2 ดีกว่า 3 เทียบแบบนี้มันไม่ได้ครับ การวัดผลมันไม่ได้มีคุณภาพพอจะวัดได้ขนาดนั้น มันยังมีหลายมิติที่ต้องเอามาพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของเด็กที่เข้าไปเรียน คะแนนตอนสอบเข้า หรือมิติด้านสื่อการสอน มิติด้านงานวิจัยและผลงานทางวิชาการ ผลการสอบใบประกอบเป็นเพียงตัวชี้วัดอ้อมๆ ในมิติหนึ่งเท่านั้น ยังมีเรื่องที่ต้องพิจารณาอีกมาก เวลาน้องดูผลการสอบใบประกอบ หากน้องจะใช้มันเป็นตัวอ้างอิงในการเลือกมหาวิทยาลัย น้องต้องใช้วิจารณญาณและคิดเยอะๆครับ พยายามหาผลการสอบหลายๆปี และหาข้อมูลหลายๆมุมมาเปรียบเทียบกัน อย่างเช่น หากดูผลการสอบวิชาชีพปีเก่าๆ น้องก็ต้องอย่าลืมพิจารณาเรื่องปัจจัยเรียน 5 ปี หรือเรียน 6 ปี เข้าไปด้วย แบบนี้ เป็นต้นครับ

อย่างไรก็ตาม ผลสอบใบประกอบปีหลังๆ ถือว่าน้องๆทำกันผลงานกันได้ดีมากขึ้นเกือบทุกมหาวิทยาลัย สอบผ่าน 90% ขึ้นมาก อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และพี่เชื่อว่า สภาเภสัชกรรม คณะเภสัชมหาวิทยาลัยต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะคอยปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอน คุณภาพการสอบและการวัดผลอยู่เสมอ ทำให้ในอนาคตผลการสอบใบประกอบสามารถเป็นตัวชี้วัดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และกำจัดปัจจัยกวนทั้ง 7 ประเด็นที่พี่เขียนไว้ออกไปได้ในที่สุด


Share this:

Posted in บทความ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *