สอบใบประกอบวิชาชีพ เภสัชกรรม สอบสภา MCQ OSPE

การสอบใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม เป็นอย่างไร สอบอย่างไร

สิ่งที่นักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ทุกคนต้องทำหลังเรียนจบ คือต้องสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม มาดูกันครับว่าการสอบเป็นอย่างไรบ้าง

การสอบใบประกอบในสมัยก่อนจะมี 2 แบบคือ MCQ กับ OSPE โดย MCQ จะเป็นสอบข้อเขียน ส่วน OSPE จะเป็นการสอบปฏิบัติ ซึ่งการสอบแบบนี้ใช้กับนักศึกษารหัสก่อน 57 (รหัสก่อนปี 57 จะจบปีไหน หรือสอบปีไหน หรือกรณีที่สอบไม่ผ่านต้องสอบหลายรอบไม่ว่าจะสอบปีไหนก็จะใช้ระบบนี้)

สำหรับนักศึกษารหัสหลังปี 57 (หรือเริ่มสอบครั้งแรกปี 61 เพราะนักศึกษารหัส 57 จะอยู่ปี 5 ตอนปี 61 พอดี) จะเปลี่ยนเป็นระบบใหม่โดยจะมีการสอบ 2 ครั้ง ครั้งแรกสอบตอนปี 5 (ซึ่งเนื้อหาที่สอบคือของปี 1 – ปี 4 ทั้งหมด) ซึ่งจะมี 2 ส่วนหลักๆคือ PLE-CC1 และ PLE-CC2 โดย

PLE-CC1 = MCQ แบบเดิม คือสอบข้อเขียน
PLE-CC2 = OSPE แบบเดิม ต่างนิดหน่อยตรงอ่านใบ cert. กับเปิดหนังสือ

PLE-CC1 กับ PLE-CC2 ปัจจุบันสำหรับนักศึกษารหัส 57 ขึ้นไปคะแนนสอบผ่านไม่มีวันหมดอายุ เก็บไว้ได้เรื่อยๆ แต่สำหรับนักศึกษารหัสต่ำกว่า 57 ที่สอบ PLE-CC1 กับ PLE-CC2 ซึ่งเป็นร่างอวตาลของ MCQ กับ OSPE แล้ว คะแนนสอบจะเก็บไว้ได้แค่ 3 ปี แต่ถ้าสอบผ่าน PLE-CC1 กับ PLE-CC2 แล้ว ได้ใบประกอบเลย ไม่เหมือนของ นศ. รหัส 57 ขึ้นไปที่ต้องสอบแยกสาขาอีกถึงจะได้ใบประกอบ

เมื่อสอบผ่าน PLE-CC1 กับ PLE-CC2 แล้ว จึงจะสอบรอบ 2 ซึ่งเป็นการสอบแยกสาขาได้ ซึ่งจะทำการสอบตอนจบปี 6 ตอนนี้มี 3 สาขาคือ

1.สาขาบริบาล

สาขาบริบาลตอนปี 6 ต้องสอบ 2 ตัวคือ PLE-PC1 กับ PLE-PC2 โดย

  • PLE-PC1 จะเป็นการสอบปรนัย 120 ข้อ สอบ 1 วัน เรื่องความรู้ทางสายบริบาล เกณฑ์ผ่าน 60%
  • PLE-PC2 จะเป็นการสอบ Long case SOAP โดยน้องสามารถเลือกกลุ่มโรคได้ 1 กลุ่มโรค เคสที่สอบสภาจะส่งให้ก่อนสอบ 7 วัน พกกระดาษ/โพย (จดอะไรก็ได้) สอบได้ 1 แผ่น A4 เพื่อไปตอบคำถามอาจารย์ ในห้องสอบจะมีเคสเพิ่มเติมและคำถาม มีเวลาสอบ 3 นาที ระบบโรคเป็นไปตามที่สภาเภสัชกำหนด ตอนนี้มีประมาณ 5 ระบบโรค เกณฑ์ผ่าน 80%

อ่านเพิ่มเติม แนวทางการสอบตามเกณฑ์สมรรถนะเฉพาะสาขา ด้านการบริบาลทางเภสัชกรรม (PLE-PC2) ปี 65

2.สาขาอุตสาหการ

สาขาอุตสาหการตอนปี 6 ต้องสอบ 2 ตัวคือ PLE-IP1 กับ PLE-IP2 โดย

  • PLE-IP1 สอบปรนัย 120 ข้อ สอบ 1 วัน รวมความรู้ทางสายอุตสาหการ RA, RD, PD, QA, QC เกณฑ์ผ่าน 60%
  • PLE-IP2 สอบ Present case ตามระบบ RA, RD, PD, QA, QC โดยน้องเก็บเคสจากโรงงานตอนฝึกงาน มานำเสนอต่ออาจารย์ผู้คุมสอบ หากน้องไม่มีเคสสามารถขอเคสจากสภาเภสัชกรรมได้ อาจารย์จะมีการซักถามเพื่อประเมินทักษะภายใต้เนื้อหาที่นำเสนอ มีเวลาสอบ 30 นาที (นำเสนอ 10-15 นาที) เกณฑ์ผ่าน 80%

อ่านเพิ่มเติม แนวทางการสอบตามเกณฑ์สมรรถนะเฉพาะสาขา ด้านเภสัชกรรมอุตสาหการ (PLE-IP2) ปี 65

3.สาขาคุ้มครองผู้บริโภค

สาขาคุ้มครองผู้บริโภคตอนปี 6 ต้องสอบ 2 ตัวคือ PLE-PHCP1 กับ PLE-PHCP2 โดย

  • PLE-PHCP1 สอบปรนัย 120 ข้อ สอบ 1 วัน รวมความรู้ทางสายคุ้มครองผู้บริโภคและกฎหมาย เกณฑ์ผ่าน 60%
  • PLE-PHCP2 สอบ Present case ผู้เข้าสอบเลือกกรณีศึกษาเองจาก 4 ด้าน คือ กฎหมาย, ระบบจัดการความเสี่ยง, คุ้มครองผู้บริโภค, นโยบายและการจัดการ โดยผู้เข้าสอบเลือกกรณีศึกษาเอง เกณฑ์ผ่าน 80%

อ่านเพิ่มเติม แนวทางการสอบตามเกณฑ์สมรรถนะเฉพาะสาขา ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ (PLE-PHCP2) ปี 65

วิธีการสอบตามเกณฑ์สมรรถนะเฉพาะสาขา ด้านเภสัชกรรมอุตสาหการ (PLE-IP2) ด้านการบริบาลทางเภสัชกรรม (PLE-PC2) และด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ (PLE-PHCP2) ปี 65

เมื่อน้องๆสอบผ่าน PLE-CC1, PLE-CC2 ตอนปี 5 และสอบแยกสาขาอีก 1 รอบตอนปี 6 ตามที่กล่าวไว้ข้างบน ถึงจะได้ใบประกอบครับ

สอบแยกสาขาแล้วจะทำงานข้ามสาขากันได้ไหม

ปัจจุบันมีการสอบแยกสาขาตอนสอบใบประกอบรอบ 2 ที่สอบตอนปี 6 ก็จริง แต่เภสัชยังไม่มีการแยกใบประกอบ คือไม่ว่าจะสอบสาขาไหนผ่าน ก็ได้ใบประกอบเหมือนกันหมด ดังนั้น สามารถเอาใบประกอบนี้ไปทำงานด้านไหนก็ได้ เพียงแต่ว่าในการทำงานจริง น้องที่จบมาตรงสายย่อมหางานได้ง่ายกว่าคนที่ทำงานข้ามสาย อ่านเพิ่มเติมที่บทความ เภสัชกรทำงานข้ามสาขากันได้หรือเปล่า

Acknowledge

ข้อมูลการสอบ PLE-IP1, PLE-IP2, PLE-PC1, PLE-PC2 นำมาจากเพจ Pharmacyguru

ส่วนข้อความข้างล่างต่อไปนี้ พี่จะมาเล่า+แชร์ประสบการณ์การสอบใบประกอบของพี่ให้ฟัง ซึ่งพี่เป็นเภสัชรุ่นเก่า ที่ยังสอบแบบเก่าคือ MCQ และ OSPE ซึ่งก็คล้ายๆกับ PLE-CC1 และ PLE-CC2 ในปัจจุบัน

การสอบ MCQ/OSPE แบบเดิม หรือก็คือ PLE-CC1 กับ PLE-CC2 แบบใหม่

การสอบใบประกอบวิชาชีพแบบเดิมนั้นจะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ MCQ และ OSPE

การสอบ MCQ (เกณฑ์ผ่าน 60%)

การสอบ MCQ คือการสอบข้อเขียนครับ การสอบจะสอบทั้งหมด 2 วัน วันละ 3 ชั่วโมง สำหรับเนื้อหาในการสอบกับจำนวนข้อในการสอบนั้น มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆทุกปี อย่างสมัยก่อนหน้าพี่สอบ ข้อสอบจะออกเป็นเคส เคสนึงจะมี 15 ข้อ อย่างเช่นผู้ป่วยเบาหวาน 1 เคส ข้อสอบก็จะถามวนไปเรื่อยๆเกี่ยวกับเบาหวานและยาเบาหวานโดยมีข้อที่เป็นทาง Pharm care บ้าง Pharm Sci บ้าง ปนๆกันไปใน 1 เคสนั้น แล้วในการสอบวันหนึ่งวันจะมีข้อสอบทั้งหมด 10 เคส ดังนั้น 1 วันจะได้สอบทั้งหมด 150 ข้อ สอบทั้งหมด 2 วัน ก็จะมีทั้งหมด 300 ข้อ แต่พอมาถึงปีพี่แบบที่ถามเป็นเคสๆก็ยังอยู่ แต่จะเริ่มมีส่วนที่แยกเป็น Pharm sci ออกมาเฉพาะ เช่นมีตัวอย่างโมโนกราฟในเภสัชตำรับมาให้อ่าน แล้วเสร็จแล้วตอบคำถามข้อ 1-10 แบบนี้เป็นต้นครับ แล้วรู้สึกว่าจำนวนข้อสอบจะลดลงจากวันละ 150 ข้อ เหลือ 120 ข้อด้วย เพราะฉะนั้นการสอบในแต่ละปีมันก็มีวิวัฒนาการของมันมาเรื่อยๆ ทั้งในส่วนของเนื้อหา วิธีการสอบ และแม้แต่กรรมการผู้ออกข้อสอบเองก็เปลี่ยนคนไปเรื่อยๆเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยคือ การสอบ MCQ เป็นการสอบข้อเขียน และเกณฑ์การผ่านคือต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า  60% ครับ

การสอบ OSPE (เกณฑ์ผ่าน 80%)

การสอบ OSPE คือการสอบปฏิบัติครับ การสอบจะเป็นลักษณะเป็นสถานการณ์จำลอง และให้เราปฏิบัติเสมือนเราเป็นเภสัชกรที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่จริงๆในสถานการณ์นั้น โดยอาจารย์ผู้ประเมินจะมี checklist และคอยให้คะแนนว่า เราลืมทำอะไรไหม ขาดตกตรงไหนหรือเปล่า

สำหรับสถานการณ์นั้นก็จะมีหลากหลายรูปแบบ เช่น

  • อาจจะเป็นการเปิดหนังสือเพื่อหาคำตอบตามที่โจทย์ต้องการ อย่างแรกเลยเราก็ต้องเลือกหนังสือให้ถูก ถ้าเลือกผิดเล่มก็โดนหักคะแนนไปแล้ว หรืออาจจะชั่งสารให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติ
  • อาจจะมีข้อมูลที่บริษัทยาส่งให้เรา แล้วเราต้องเลือกยาเข้าโรงพยาบาลเราต้องเลือกยาตัวไหน
  • อาจารย์ทำหน้าที่เป็นผู้ป่วยจำลอง แล้วให้เราซักประวัติ เพื่อจ่ายยา หรือแก้ไขปัญหาการใช้ยาของผู้ป่วยให้ถูกต้อง เป็นต้น

การสอบจะมีประมาณ 25 ข้อ และเรามีเวลาในการสอบข้อละ 3 นาที ซึ่งตรงนี้ก็โดนบ่นกันอยู่บ่อยๆว่า เวลาทำงานจริงเค้าไม่จำกัดแค่ 3 นาทีหรอก ตอนหลังๆ สภาก็เลยเพิ่มเวลาสอบเป็นข้อละ 4 นาที ก็มีคนบ่นว่านานเกินไปซะอีก เวลาเหลือเยอะ

สรุปว่า การสอบ OSPE คือการสอบปฏิบัติในลักษณะเป็นสถานการณ์จำลอง และผู้สอบต้องปฏิบัติหน้าที่เสมือนเป็นเภสัชกรจริงๆในสถานการณ์นั้น การสอบ OSPE เราต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 80% จึงจะผ่านการสอบครับ

สนามสอบ

หากเป็นการสอบรอบแรก (1/xxxx (MCQ) และ 2/xxxx (OSPE)) มหาวิทยาลัยรัฐเก่าแก่จะได้เปรียบ ม.รัฐเปิดใหม่ และ ม.เอกชน ตรงได้สอบที่มหาวิทยาลัยตัวเองครับ ตรงนี้ ถ้าเป็น MCQ ไม่ค่อยมีผลเท่าไร แต่ถ้าเป็นการสอบ OSPE อาจารย์ผู้ทำการประเมินและคุมสอบจะเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยนั้นๆด้วย ทำให้น้องที่เรียนมหาวิทยาลัยรัฐเก่าแก่จะได้สอบกับอาจารย์ตัวเองด้วยครับ แต่ถ้าเป็นการสอบรอบสอง (3/xxxx (MCQ) และ 4/xxxx (OSPE)) น้องจะได้สอบมหาวิทยาลัยพวกจุฬา มหิดล ศิลปากรครับ

สอบไม่ผ่านต้องทำอย่างไร

สอบไม่ผ่านก็สอบใหม่ครับ ก่อนหน้านี้ OSPE จะสอบหลัง MCQ ประมาณ 1 เดือน และมีเงื่อนไขว่า หากน้องสอบไม่ผ่าน MCQ น้องก็ไม่สามารถสอบ OSPE ได้ แต่ปัจจุบันนี้ MCQ กับ OSPE จะสอบติดๆกันเลย และน้องสามารถสอบ OSPE ได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องผ่าน MCQ ก่อน ดังนั้น ในการสอบรอบแรกจะมีทั้งคนที่ผ่านทั้ง MCQ และ OSPE, ผ่าน MCQ แต่ตก OSPE, ตก MCQ แต่ผ่าน OSPE และ ตกทั้ง MCQ และ OSPE ครับ แต่ถ้าน้องผ่านอันใดอันหนึ่ง น้องสามารถเก็บคะแนนที่ผ่านแล้วไว้ใช้ได้ 3 ปี เช่น สอบผ่าน MCQ แต่ตก OSPE น้องก็จะมีเวลา 3 ปี ในการสอบ OSPE อย่างเดียวให้ผ่าน หากเกิน 3 ปีแล้วยังไม่ผ่าน น้องก็ต้องสอบใหม่ทั้ง MCQ และ OSPE ครับ

แล้วปีนึงสอบใบประกอบได้กี่ครั้ง

ปัจจุบันนี้ใน 1 ปี น้องสามารถสอบใบประกอบได้ 2 รอบ คือ รอบแรกสอบพร้อมกับน้องจบใหม่ จะเป็นการสอบครั้งที่ 1 MCQ และ ครั่งที่ 2 OSPE กับรอบที่สองจะเป็นรอบให้แก้ตัว คือ ครั้งที่ 3 MCQ และครั้งที่ 4 OSPE ครับ

ปล. แต่ก่อนปีนึงจะมีสอบ 3 รอบ แต่ปัจจุบันนี้ถูกลดลงเหลือ 2 รอบครับ


Share this:

Posted in การเรียนเภสัช.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *