ทำไมเราถึงหาผลสอบใบประกอบวิชาชีพหลังปี 2555 ได้ยากนัก

ทำไมเราถึงหาผลสอบใบประกอบวิชาชีพหลังปี 2555 ได้ยากนัก

เวลาน้องกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยไหนดี อย่างแรกที่น้องนิยมนำมาพิจารณามากเลยก็คือ ผลสอบใบประกอบวิชาชีพ แม้ว่ารุ่นพี่หลายๆคนจะบอกว่ามันบอกอะไรไม่ค่อยได้ แต่น้องๆหลายคนก็ยังอยากได้เอาไว้เป็นคัมภีร์ในการเลือกคณะ แต่น้องๆเคยสังเกตุไหมว่า ผลสอบใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา มันถึงได้หายาก ที่หาได้ก็มักข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง และไม่ตรงกัน (ที่ไม่ตรงกันเพราะคนทำบางคนนับคนขาดสอบ บางคนนับคนฝนรหัสผิด บางคนนับจาก นศ. ที่จบทั้งรุ่น บางคนนับแค่คนที่เข้าสอบ) หรือในบางครั้งก็พบแต่ข่าวสัมภาษณ์คณบดีต่างๆ กับจำนวน % นักศึกษาที่สอบผ่านของคณะนั้น แต่จะหาที่เป็นตารางสรุปได้อย่างถูกต้อง แม่นยำเหมือนแต่ก่อน เป็นเรื่องยากเหลือเกิน จริงๆเรื่องนี้ มีที่มาทีไปครับ

หลังจากสภาเภสัชมีมติให้บัณฑิตเภสัชศาสตร์ต้องสอบใบประกอบวิชาชีพในการสมัครเป็นสมาชิกของสภาเภสัชกรรม ก็ได้มีการนับและสรุปผลการสอบใบประกอบวิชาชีพของมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยนักศึกษาแต่ละมหาวิทยาลัยจะนับกันเองแล้วก็ทำตารางสรุปแชร์ไปตามเว็บบอร์ดและกลุ่มต่างๆ ในช่วงแรกๆนั้น ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่า เพื่อการวิเคราะห์และพัฒนาการสอบให้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่พอนานๆไป ก็เริ่มมีเสียงคัดค้านเกี่ยวกับการจัดอันดับบ้างว่าทำให้ เกิดการแบ่งแยก เกิดการเปรียบเทียบว่า มอนี้เก่งกว่ามอนี้ ไม่เหมาะสมจะมาจัดอันดับเพื่อเปรียบเทียบกัน แต่ก็เพียงเสียงเบาๆที่มาแล้วก็จากไป ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไร

จริงๆ การสอบใบประกอบมีความขัดแย้งหลายๆอย่างในตัวเอง เช่น

  • การสอบใบประกอบไม่ได้วัดว่าใครเก่ง หรือไม่เก่ง

อันนี้เรื่องจริงครับ การสอบใบประกอบวัดไม่ค่อยได้จริงๆ บางทีคนเก่งกว่าสอบไม่ผ่าน แต่กระโหลกกะลา(เช่น พี่ เป็นต้น) สอบผ่านซะอย่างนั้น เอาไว้เดี๋ยวพี่จะเขียนบทความเพิ่มเติมว่า ทำไมถึงวัดว่าใครเก่งหรือไม่เก่งไม่ค่อยได้

  • การสอบใบประกอบไม่ได้เป็นการเป็นการแบ่งแยก แบ่งชนชั้น แสดงถึงความแตกต่างระหว่างสถาบัน แบ่งว่ามอนี้ ดีกว่ามอนี้

คือมันก็ควรเป็นแบบนั้น แต่ลึกๆมันไม่ได้เป็นแบบนั้นน่ะสิครับ บางมหาวิทยาลัยก็จริงจังมาก มีการจ้างคนมาติว บางมหาวิทยาลัยก็ให้นักศึกษาติวกันเอง บางครั้งบางแห่งมีการนับการติวสอบใบประกอบเป็นชั่วโมงฝึกงานด้วย นักศึกษาจะได้มีเวลาติวเยอะๆ เพราะผลการสอบใบประกอบที่ได้ คนที่ดู เค้าก็อดเปรียบเทียบไม่ได้หรอกว่า มหาวิทยาลัยที่สอบผ่าน % สูงกว่า ย่อมดีกว่ามหาวิทยาลัยที่มี % การสอบผ่านน้อยกว่า ในที่สุดแล้ว % การสอบผ่าน มันก็ไม่ใช่แค่การที่คนนึงได้เป็นเภสัชกรเต็มตัวหรือเปล่า แต่มันเป็นหน้าตาของคณะ และเป็นหน้าตาของมหาวิทยาลัยไปในที่สุด ทำให้การสอบในประกอบเริ่มจริงจัง ดราม่า และเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆทุกปี

สุดท้ายมันก็มาถึงจุด Peak ของการสอบ

เป็นที่รู้กันดีว่า คืนก่อนสอบ โดยเฉพาะคืนก่อนสอบ ospe มันจะมีคืนหมาหอน จะเป็นคืนที่ข้อสอบที่คาดว่าจะออกสอบ หลั่งไหลมาในทุกทิศทุกทาง (ซึ่งบางครั้งมันก็ออกจริงๆ 3-4 ข้อ บางครั้งก็ไม่ตรงเลย) เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในการสอบใบประกอบเกือบทุกปี บางคนเครียดมากพอเห็นโจทย์ที่ตัวเองตอบไม่ได้ ไม่รู้เรื่อง แถมมากมายมหาศาล หอนมาในคืนก่อนสอบ จะให้อ่านก็อ่านไม่ทันแล้ว ถึงกับนอนไม่กลับ หรือไม่บางคนก็ตัดการติดต่อจากโลกภายนอกไปเลย จะได้ไม่ต้องมารับรู้ก็มี

การสอบใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมรอบแรกของปี พ.ศ.2556 เป็นครั้งแรกที่มีการพบหลักฐานชัดเจนว่า “ข้อสอบรั่ว” ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ มันไม่ได้มาแบบหอนๆที่ตรงบ้าง ไม่ตรงบ้าง แต่มันตรง 100% ทุกข้อ ตรงเป๊ะๆๆๆ เลย ที่สำคัญคือ มีเพียง 2 มหาวิทยาลัยเท่านั้น ที่ได้ข้อสอบรั่วไป

จริงๆ เป็นเรื่องที่ลือกันมานานแล้วว่า การสอบสภาเภสัชกรรมมีข้อสอบรั่ว แต่ก็ไม่เคยมีใครมีหลักฐาน ก็ได้แต่เดากันไปต่างๆนานา ว่ารั่วแบบนี้ รั่วมาแค่นี้ แต่ในปีนั้น เกิดเหตุการณ์เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดขึ้น เพราะมีคนที่ได้ข้อสอบรั่วชุดนั้น เอาหลักฐานมาแสดงว่า เค้าได้รับข้อสอบรั่วจากเพื่อนคนหนึ่ง (กลายเป็นเพื่อนซวย)

หลังจากนั้นก็เกิดกระแสตีกลับอย่างแรง สภาเภสัชกรรมมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน ฝั่งคนที่สอบใบประกอบไม่ผ่านก็ประท้วงว่าไม่ได้รับความยุติธรรม และหนึ่งใน effect ที่เกิดขึ้นคือ มีการตั้งคำถามว่า การจัดอันดับผลการสอบใบประกอบ จะมีความหมายอะไร ถ้ามีการโกงสอบกันแบบนี้ หลังจากนั้น สนภท. (สหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย) ออกประกาศขอความร่วมมือไม่จัดอันดับผลการสอบใบประกอบวิชาชีพ และเผยแพร่ผลการจัดอันดับอีกต่อไป

พี่เองก็ไม่นึกว่า effect ครั้งนั้นยังคงรุนแรงมาก ถึงขนาดปีนี้ ปี 2559 แล้ว การนำผลการจัดการอันดับมาเผยแพร่ ก็ยังเป็นเรื่องต้องห้ามกันอยู่ การจัดอันดับยังคงมีอยู่นะครับ แต่จัดทำกันเองเป็นกลุ่มเล็กๆ อยู่ในกลุ่มปิด กลุ่มลับ ที่รู้กันเองภายในกลุ่ม ไม่ได้เอามาเผยแพร่กันสู่สาธารณะ อย่างไรก็ตาม พี่คิดว่า พอเวลานานๆไปเข้า คนก็ค่อยๆลืม สถานการณ์ก็คงเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆตามลำดับ ในไม่กี่ปีข้างหน้า เราอาจได้เห็นผลการสอบใบประกอบที่ถูกต้องและครบถ้วนออกเผยแพร่สู่สาธารณะอีกครั้งก็เป็นได้ครับ

เรื่องสอบใบประกอบเนี่ย มันเป็นเรื่อง sensitive มากนะครับ น้องคิดดูว่า น้องมานะพยายามมา 6 ปี ผ่านความลำบากมาก็ตั้งมากมาย แต่อยู่ๆ โอกาสการเป็นเภสัชกรเต็มตัวของน้องก็ถูกปิดลง เพียงเพราะน้องสอบไม่ผ่าน ถึงแม้ว่าน้องจะมีโอกาสแก้ตัว แต่ทุกวันนี้ ก็ยังมีคนที่สอบใบประกอบไม่ผ่านเลยอยู่ก็มีนะครับ เพราะการสอบที่ง่ายที่สุดคือการสอบครั้งแรกครับ เพราะการสอบครั้งแรกนั้น น้องมีเพื่อน มีคนช่วยติว ช่วยซ้อม การที่น้องต้องฝึกเตรียมตัวสอบอยู่ตัวคนเดียวเป็นอะไรที่แย่มาก มันไม่ต่างอะไรจากการที่น้องอดทนทำอะไรสักอย่างนานถึง 6 ปี มาจนถึงเส้นชัย แต่พบว่าสุดท้ายมันคือความว่างเปล่า เรื่องสถาบันและวิชาชีพก็เป็นเรื่องที่ sensitive ไม่แพ้กัน ทุกวันนี้เราทุกคนพยายามลืมเหตุการณ์ครั้งนั้น ไม่มีใครอยากรื้อฟื้นมันอีก

มาถึงตรงนี้ น้องๆหลายคนคงหายสงสัยกันไปแล้ว ว่าทำไมผลสอบใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมาถึงหาได้ยากนัก ถามว่าพี่มีไหม พี่ก็พอมีบ้าง ได้จากตามกลุ่มต่างๆที่จัดกันเองอะแหละ แต่พี่ไม่ได้เก็บไว้ ส่งให้น้องๆในกลุ่มไลน์ดูแล้วก็ลบทิ้ง (แล้วก็สั่งน้องๆในกลุ่มไว้ด้วยว่าห้ามเผยแพร่) และในที่สุดแล้วหากพี่เห็นว่าบทความนี้เกิดทำให้เกิดผลเสียต่อวิชาชีพ พี่ก็จะลบบทความนี้ทิ้งครับ


Share this:

Posted in บทความ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *