การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 5 : ปี 4 ทางเลือก

มาต่อกันในปี 4 นะครับ สืบเนื่องจากตอนที่แล้ว มีคนคอมเม้นพี่ว่ายาวเกินนนนนนนนน ทนอ่านไม่ไหว คราวนี้พี่จะเขียนให้กระชับๆ สั้นๆ เข้าใจง่ายนะครับ

ในปี 4 นี้ วิชาที่เรียนส่วนใหญ่จะเริ่มเป็นวิชาประยุกต์ อาศัยการบูรณาการความรู้ที่เรียนมาตั้งแต่ปี 1-3 ไม่ได้เป็นทฤษฎีจ๋าแบบตอนปี 2-3 อย่างไรก็ตาม วิชาส่วนใหญ่ที่เรียนในปี  4 ยังคงเป็นวิชาพื้นฐานเภสัชศาสตร์ที่ได้เรียนเหมือนกันทั้งสาขาการบริบาลทางเภสัชกรรมและเภสัชกรรมอุตสาหการ ถือว่าเป็นอีกปีที่หนักเอาการเพราะเป็นอีกปีที่น้องจะต้องเรียนถึง 3 เทอม (แน่นอนว่าไม่มีปิดเทอม) โดยเทอมสุดท้าย น้องๆ จะต้องเริ่มออกเก็บชั่วโมงฝึกงานในโรงพยาบาลและร้านยา แต่น้องไม่ค่อยรู้สึกหนักหรอก เพราะน้องจะเริ่มชินชากับการเรียนเยอะๆ ท่องเยอะๆแล้ว

อีกสิ่งที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ คือ ในปี 4 นี้ ที่ มข. และมหาวิทยาลัยอื่นๆที่ไม่ได้เลือกสาขาตั้งแต่ตอนสอบเข้า จะให้น้องเลือกสาขาในการเรียนว่า จะเรียนไปทางด้านการบริบาลทางเภสัชกรรมหรือเภสัชกรรมอุตสาหการ

การเรียนปี 4

การศึกษาชุมชนสำหรับเภสัชศาสตร์ – Community Study for Pharmacy (ระดับความยาก 1/5, ระดับความเยอะ 4/5)

เภสัช + มานุษยวิทยา

วิชานี้ ไม่มีไรมาก มันคือวิชาลงชุมชนนั่นแหละ เพราะฉะนั้นวิชานี้ในส่วนของทฤษฎีเราก็จะเรียนเกี่ยวกับทฤษฎีชุมชน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาชุมชน ส่วนชั่วโมงปฏิบัติการวิชานี้จะเป็นการลงชุมชน ศึกษาชุมชนให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ พูดคุยกับชาวบ้าน ศึกษาปัญหาต่างๆในชุมชน โดยเราจะต้องศึกษาปัญหาสุขภาพ การใช้ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆของคนในชุมชน เข้าให้ถึงแก่นของแนวคิดและพฤติกรรมที่สัมพันธ์ต่อสุขภาพของคนในชุมชน วิชานี้อาจารย์ไม่ได้บังคับว่าเราต้องไปลงชุมชนวันนี้ เวลานี้ แต่สุดท้ายแล้วต้องมีข้อมูลเขียนรายงานสรุปอาจารย์ให้ครบถ้วนให้ได้

สำหรับน้องๆที่สนใจทำงานในโรงพยาบาลชุมชน หรือเป็นเภสัชกรชุมชน (ร้านยา) ที่ทำงานใกล้ชิดกับชุมชนจริงๆ วิชานี้ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะเป็นอีกบทบาทหนึ่งของเภสัชกรที่น้องต้องปฏิบัติ การที่น้องเข้าถึงแก่นของวิชานี้ จะทำให้น้องใช้เวลาในการศึกษาและเข้าใจชุมชนในเวลาไม่นาน หาปัญหาสุขภาพในชุมชนได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้น้องไม่เบื่อ และสนุกกับบทบาทหน้าที่นี้ระหว่างปฏิบัติงาน

พฤติกรรมสุขภาพและการสื่อสารทางเภสัชกรรม – Health Behavior and Communication in Pharmacy (ระดับความยาก 1/5, ระดับความเยอะ 1/5)

เภสัช + พฤติกรรมศาสตร์

อันนี้เป็นวิชาทฤษฎีที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมทางด้านสุขภาพทั้งหมด ได้แก่ ระบบการแพทย์พหุลักษณ์ ปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีผลต่อสุขภาพ พฤติกรรมสุขภาพและพฤติกรรมการใช้ยา ทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ (ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาพ) พฤติกรรมการแสวงหา การรักษาเยียวยา พฤติกรรมการใช้ยา ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย นอกจากเรื่องพฤติกรรมแล้ว เราจะได้เรียนเกี่ยวกับการสื่อสาร โดยเฉพาะหลักการและวิธีการสื่อสารกับผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งอุปสรรคในการสื่อสารและวิธีการแก้ไข และวิธีการให้คำปรึกษาด้านยา

การบริบาลทางเภสัชกรรมในร้านยา – Pharmaceutical Care in Community Pharmacy (ระดับความยาก 1/5, ระดับความเยอะ 1/5)

ชื่อวิชาเหมือนวิชาปฏิบัติการ แต่จริงๆ วิชานี้ไม่มีชั่วโมงปฏิบัติการหรือแลบนะครับ ฮ่าๆๆๆ

วิชานี้เป็นวิชาใหม่ที่เพิ่มเข้ามาตอนหลัง น้องอาจจะงงว่า ก็เรียนบริหาร + จ่ายยาเป็น ก็น่าจะเป็นเภสัชกรชุมชนหรือเปิดร้านยาได้แล้วนิ ทำไมต้องมาเรียนอะไรจะเรียนพวกนี้อีก คือ แต่ก่อนน่ะใช่ครับ มีเงิน มีความรู้ แล้วก็เปิดร้านยาได้ ไม่มีปัญหา แต่ในอนาคต ร้านยาจะมีกฏระเบียบเข้ามาควบคุมมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น GPP และบัญชียาต่างๆ บทบาทของเภสัชกรชุมชนจากเดิมที่แต่ก่อนแค่อยู่ร้านเฉยๆ รอลูกค้าเข้าร้าน ก็เริ่มมีกรอบและวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนมากขึ้น เช่น การไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วย ในส่วนของสมาคมเภสัชกรรมชุมชน ก็มีเป้าหมายจะเป็นเรือธงของวิชาชีพ ผลักดันให้มีเชื่อมต่อระหว่างระบบการประกันสุขภาพกับร้านยา และสร้างพันธมิตรภาคีเครือข่ายต่างๆ โดยมุ่งหวังให้ร้านยาเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิในระบบสุขภาพ

ระบบ กฏระเบียบ และบทบาทของเภสัชกรชุมชนที่เพิ่มขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ ทำให้เกิดวิชานี้ขึ้นมาครับ วิชานี้จะเรียนเกี่ยวกับ บทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบของเภสัชกรชุมชน หลักการปฏิบัติที่ดีของเภสัชกรชุมชน การให้การบริบาลทางเภสัชกรรมในฐานะของการเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ การให้การบริบาลทางเภสัชกรรมแก่ผู้ที่เจ็บป่วยด้วยอาการ-โรคที่พบบ่อยๆในชุมชน การให้การบริบาลทางเภสัชกรรมแก่ผู้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง การให้การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การเยี่ยมบ้านโดยเภสัชกรชุมชน และจรรยาบรรณเภสัชกรชุมชนครับ

การจ่ายยาและการให้คำแนะนำ 2 – Dispensing and Counseling II (ระดับความยาก 2/5, ระดับความเยอะ 1.5/5 ความจุกจิก 5/5)

เหมือนกับ Dispensing and Counseling I ครับ ฝึกจ่ายยารัวๆ แต่จะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น มีการใช้โปรแกรมการจ่ายยาเข้ามาเสริม มีการใช้กระบวนการมาตรฐานในการจ่ายยา และกระบวนการจ่ายยาที่ดีสำหรับผู้ป่วยโรคต่างๆ

การจัดการเภสัชกิจขั้นแนะนำ – Introduction to Pharmacy Management (ระดับความยาก 1/5, ระดับความเยอะ 2/5)

เภสัช + บริหาร

เริ่มแรกเราจะเรียนเกี่ยวกับระบบ นโยบาย และแผนพัฒนาสาธารณสุขของไทยรวมถึงปัญหาต่างๆ จากนัั้นก็จะเรียนเกี่ยวกับ หลักการจัดการ หลักการบริหารระบบยาในระดับต่างๆ นโยบายยาหลักแห่งชาติ การบริหารและการจัดซื้อเวชภัณฑ์ (อารมณ์ประมาณการบริหารสินค้าคงคลัง) การจัดทำโครงการ ฝึกหัดเขียนโครงการ (จะได้เขียนโครงการไปของบจาก สสส. ได้) รวมถึงการประเมินโครงการเบื้องต้น การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ พฤติกรรมองค์กร และการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการครับ

เภสัชบำบัด 2 – Pharmacotherapeutics II (ระดับความยาก 3/5, ระดับความเยอะ 4/5)

ทั้งเลคเชอร์และแลบจะเหมือนกับเภสัชบำบัด 1 ครับ แต่คราวนี้เราจะเรียนเกี่ยวกับการใช้ยา (รวมทั้งสาเหตุอาการ พยาธิสภาพ เป้าหมายของการรักษา การวางแผนการรักษา) ในโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคกระดูกและข้อ, โรคระบบต่อมไร้ท่อ โรคหัวใจและหลอดเลือด (ตอนที่ 1) โรคระบบประสาท (ตอนที่ 2) การก่อภูมิคุ้มกัน และโภชนบำบัดครับ

เภสัชการ 4 – Pharmaceutics IV (ระดับความยาก 3/5, ระดับความเยอะ 2.5/5)

พี่เคยบอกไปว่านอกจากคำว่า Pharmaceutics บางมหาวิทยาลัยก็เรียกวิชานี้ว่า Manufacturing แต่ลืมบอกไปว่า นอกจาก 2 คำนี้ บางที่ก็เรียก Pharm Technology นะครับ เห็นชื่อไม่เหมือนกันไม่ต้องสับสน จริงๆ มันคือวิชาเดียวกันแหละ

เราเรียนปรุงยาในรูปแบบไหนกันมาบ้าง ในเภสัชการ 1, 2, 3 จำได้ไหมครับ (ยาน้ำ, ยาแขวนตะกอน, ยาครีมและยาทาอื่นๆ, ยาเหน็บ, ยาผง, ยาเม็ด, ยาแคปซูล) เหลือยาอะไรที่เรายังไม่ได้เรียน

ยาฉีด!!!!! คราวนี้เราจะเรียนยาฉีดและยาปราศจากเชื้อกันครับ

แล้วยาฉีดกับยาปราศจากเชื้อต่างกันยังไง? เอาเป็นว่ายาฉีดทุกอันต้องเป็นยาปราศจากเชื้อ แต่ยาปราศจากเชื้อไม่จำเป็นต้องเป็นยาฉีด สรุปคือ ยาฉีดเป็นซับเซตของยาปราศจากเชื้อ แต่ population ของยาฉีดกินพื้นที่ของยาปราศจากเชื้อไปประมาณ 90% ได้

เราจะเรียนตั้งแต่ส่วนประกอบของยาเตรียมปราศจากเชื้อ น้ำที่ใช้ในการเตรียมยาปราศจากเชื้อ เทคนิคและเทคโนโลยีการเตรียมยาปราศจากเชื้อ กระบวนการผลิต การทำให้ปราศจากเชื้อ การคำนวณความเป็น กรด-ด่าง tonicity และ osmolality ไปจนถึงการควมคุมคุณภาพยาเตรียมปราศจากเชื้อ การทดสอบความปราศจากเชื้อ ความคงตัวของยา และการเตรียมยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายครับ

ปฏิบัติการเภสัชการ 4 – Pharmaceutics Laboratory IV (ระดับความยาก 2/5, ระดับความเยอะ 2/5)

แลบของวิชาเภสัชการ 4 ถ้าเป็นที่ มข. เราก็จะทำยาปราศจากเชื้อกันในห้องปลอดเชื้อจำลองครับ (ห้องปลอดเชื้อ 100% จริงๆ ก็มีครับ แต่เค้าเอาไว้ทำวิจัย ถ้าให้นักศึกษาเข้ากันทีละ 50-60 คน มันไม่ปลอดเชื้อกันพอดี) จากนั้นก็ควบคุมคุณภาพ ทดสอบความปราศเชื้อ ทดสอบความคงตัว และฝึกเตรียมยาให้ผู้ป่วยเฉพาะรายครับ

เคมีเชิงเภสัชศาสตร์ 2 – Pharmaceutical Chemistry II (ระดับความยาก 4.5/5, ระดับความเยอะ 3/5)

ภาคต่อของ Pharmaceutical Chemistry I ลืมบอกไปว่าวิชานี้บางที่ก็ใช้ชื่อว่า Medicinal Chemistry นะครับ จริงๆ มันคือวิชาเดียวกันแหละ ตำราภาษาอังกฤษส่วนใหญ่ก็ใช้คำว่า Medicinal Chemistry กัน การเรียนก็จะคล้ายๆกับ Pharmaceutical Chemistry I ครับ เนื้อหาจะต่อเนื่องกัน

ในส่วนของ Pharmaceutical Chemistry II เราจะศึกษาในเรื่อง อิทธิพลของโครงสร้างทางเคมี คุณสมบัติทางเคมีฟิสิกส์ที่มีผลต่อการออกฤทธิ์และเภสัชจลนศาสตร์ของยา ความสัมพันธ์ระหว่างสูตรโครงสร้างกับคุณสมบัติชีวภาพของยากลุ่มต่าง ๆ

อธิบายง่ายๆ ก็คือ เราศึกษาว่า ถ้าโครงสร้างยามันเป็นแบบนี้ มันจะมีฤทธิ์หรือมีคุณสมบัติเป็นยังไงบ้าง

เทคโนโลยีชีวภาพทางเภสัชศาสตร์ – Pharmaceutical Biotechnology (ระดับความยาก 3.5/5, ระดับความเยอะ 3/5)

เภสัช + biotech

ทุกวันนี้ ยาร้อยละ 99 เป็นสารเคมี เพราะฉะนั้นเภสัชกรจึงต้องเรียนเคมีเยอะมาก เพื่อให้เข้าใจศาสตร์แห่งยาให้ถ่องแท้ แต่ในอนาคตโลกกำลังจะเปลี่ยนไป ยาใหม่ที่เป็นสารเคมีจะเริ่มน้อยลง แต่ยาใหม่ที่เป็นเทคโนโลยีชีวภาพจะมากขึ้นเรื่อยๆครับ

วิชานี้เราจะเรียนเรื่อง หลักการการรักษาด้วยยีนและเซลล์ต้นกำเนิด หลักการพื้นฐานการตั้งตำรับเภสัชภัณฑ์ทางเทคโนโลยีชีวภาพ เภสัชภัณฑ์โมโนคลอนอลแอนติบอดีและวิศวกรรมเนื้อเยื่อ จรรยาบรรณกับการดัดแปลงพันธุกรรม การตรวจวิเคราะห์โดยชีววิทยาโมเลกุลและเทคโนโลยีชีวภาพ และการตรวจลายพิมพ์ดีเอ็นเอทางเภสัชศาสตร์ครับ

การประกันคุณภาพในอุตสาหกรรมยา – Quality Assurance in Drug Manufacturing  (ระดับความยาก 2.5/5, ระดับความเยอะ 2.5/5)

เภสัช + วิศวะ

ที่ผ่านมาเราได้เรียนอย่าง Pharmaceutical Analysis ซึ่งเน้นที่การวิเคราะห์และควบคุมคุณภาพยาเป็นหลัก บางมหาวิทยาลัยก็เรียกวิชานั้นว่า Quality Control ไปเลย แต่วิชานี้เราจะเรียนในเรื่องการประกันคุณภาพยา หรือ Quality Assurance กันครับ

น้องอาจยังงงๆอยู่ว่า การควบคุมคุณภาพ กับ การประกันคุณภาพนั้นต่างกันอย่างไร พี่อยากให้น้องลองนึกภาพตามนะครับ

เวลาฝ่ายผลิตยา เราจะรู้ได้อย่างไรว่ายานั้นมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดหรือเปล่า เราก็ต้องส่งให้ฝ่ายควบคุมคุณภาพทดสอบ ส่วนการประกันคุณภาพนั้น เป็นภาพใหญ่ที่แทรกอยู่ในรายละเอียดของทั้งฝ่ายผลิต และฝ่ายควบคุมคุณภาพ เช่น ข้อบังคับ กฏระเบียบ ระบบมาตรฐานต่างๆ อย่างพนักงานต้องเปลี่ยนเครื่องแต่งกายก่อนเข้าไลน์ผลิต หากฝ่ายผลิตทำอะไรผิด เช่น ยานี้ต้องต้ม 15 นาที พนักงานดันไปต้ม  20 นาที หรือกระบวนการผลิตยาเราเคยมีความสามารถสูงกว่านี้ ทำไมเดือนนี้ทั้งเดือน ความสามารถมันลดลง เราก็ต้องสืบสวนหาสาเหตุ เขียนรายงานการเบี่ยงเบน หาแนวทางแก้ไขและป้องกัน ในขณะเดียวกันหากฝ่ายควบคุมคุณภาพ วิเคราะห์ยาผิด ต้องสกัด 10 นาที แต่ดันไปสกัดแค่ 5 นาที ก็ต้องทำแบบเดียวกัน งานในลักษณะจะเป็นงานของฝ่ายประกันคุณภาพ ถ้าจะบอกว่าฝ่ายประกันคุณภาพเป็นผู้คุมกฏ ดูแลกฏระเบียบ ข้อบังคับ คอยสืบสวน หาสาเหตุ หากมีคนกระทำผิดทั้งฝ่ายผลิตและฝ่ายควบคุมคุณภาพก็คงไม่ผิดนัก

ดังนั้นเนื้อหาที่ต้องเรียนก็จะมี หลักของการประกันคุณภาพ, ข้อกำหนดของ อย., PIC/s GMP, ระบบบริหารคุณภาพ ปัจจัยในขั้นตอนการผลิตและการควบคุมคุณภาพที่มีผลต่อคุณภาพ (ครอบคลุมถึงตั้งแต่วัตถุดิบ วัสดุการบรรจุ ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป) รวมทั้งการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือที่ใช้ในห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ การตรวจสอบความถูกต้องวิธีวิเคราะห์ (Method Validation) และการติดตามคุณภาพผลิตภัณฑ์ภายหลังการผลิต

ถ้าน้องชอบวิชานี้ และวิชาทาง science อื่นๆ อย่างเภสัชการ และเคมีเชิงเภสัชศาสตร์ น้องเลือกเรียนสาย science หรือเภสัชอุตสาหการไม่ผิดหวังแน่นอนครับ แต่ถ้าน้องชอบวิชาอย่างเภสัชบำบัด dispensing คงต้องเลือกสาย care หรือบริบาลเภสัชกรรมครับ

บูรณาการความรู้วิชาชีพเภสัชกรรม – Integrate professional pharmacy (ระดับความยาก 3/5, ระดับความเยอะ 3/5)

วิชานี้เป็นวิชาใหม่ แต่ก่อนเราเห็นว่าเรื่องการบูรณาการความรู้ทั้งหมดเป็น common sense ก่อนสอบใบประกอบวิชาชีพนักศึกษาทุกคนก็ต้องทบทวนความรู้ทางเภสัชกรรมทั้งหมดก่อนสอบอยู่แล้ว การเชื่อมโยงและ Integrate ความรู้ทั้งหมดเข้าด้วยกัน เป็นอะไรที่นักศึกษาทุกคนน่าจะทำกันได้

แต่เอาจริงๆมันไม่ใช่แบบนั้นสิครับ หากมองความรู้เภสัชศาสตร์เหมือนต้นไม้ เวลาเราศึกษา เราก็ศึกษาไปทีละส่วน อย่างเคมีคือราก เภสัชบำบัดคือผล พอเราศึกษาไปมากๆ กลายเป็นฉลาดลึกแต่โง่กว้าง เรารู้ว่า อ้อ ลำต้นเป็นแบบนี้นะ ใบเป็นยังงี้นะ ดอกเป็นแบบนี้ รากมีลักษณะแบบนี้นะ แต่เรากลับไม่รู้ว่า มันเชื่อมโยงกันยังไง ทำงานร่วมกันแบบไหน ลืมไปแล้วว่าทั้งต้นจริงๆมันหน้าตาเป็นยังไง ทำให้ต้องมีวิชานี้ขึ้นมา เพื่อควบรวมให้น้องตกตะกอนวิชาความรู้ที่เรียนมาทั้งหมดให้เป็นหนึ่งเดียว จะว่าไป ก็เหมือนวิทยาศาสตร์ที่แบ่งเป็นฟิสิกส์ เคมี ชีวะ แต่จะโยงจากฟิสิกส์มาเคมี เคมีไปชีวะ ทำไม่เป็น ทั้งๆที่มันเป็นเรื่องเดียวกันนั่นแหละครับ

วิชานี้มีทั้งเลคเชอร์และแลบ โดยจะเป็นการทบทวน ประมวลความรู้ และทักษะด้านเภสัชศาสตร์ที่จำเป็น โดยเน้นการบูรณาการความรู้ตั้งแต่แหล่งที่มาของยา เภสัชวิทยา เภสัชเคมี ผลิตภัณฑ์ยา เทคโนโลยีทางเภสัชกรรม การควบคุมคุณภาพทางเภสัชกรรม และการเลือกใช้ยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายได้อย่างเหมาะสม

นิติเภสัชศาสตร์ – Pharmacy Jurisprudence (ระดับความยาก 2.5/5, ระดับความเยอะ 2.5/5)

เภสัช + นิติศาสตร์

หากใครอยากทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค วิชานี้จัดเป็นหัวใจสำคัญตอนเรียนเลย วิชานี้เรียนเกี่ยวกับกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับเภสัชกรทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยา ยาเสพติด วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท อาหาร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สุขภาพ การบริการด้านสุขภาพ การประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค สิทธิผู้บริโภคและสิทธิผู้ป่วย ความตกลงระหว่างประเทศที่มีผลกระทบกับกฎหมายที่ควบคุมผลิตภัณฑ์สุขภาพและการบริการสุขภาพในประเทศไทย กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพ และกฎหมายใหม่ที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพ

การจ่ายยาและการให้คำแนะนำ III – Dispensing and Counseling III (ระดับความยาก 2/5, ระดับความเยอะ 2.5/5 ความจุกจิก 5/5)

เหมือนกับ Dispensing and Counseling I และ II ที่เรียนกันไปแล้ว แต่คราวนี้เราจะได้ฝึกหัดกับผู้ป่วยจริงๆ มีการเก็บชั่วโมง โดยน้องต้องผลัดกันไปประจำที่ร้านยาคณะเพื่อฝึกจ่ายยากันจริงๆครับ

เภสัชบำบัด 3 – Pharmacotherapeutics III (ระดับความยาก 3/5, ระดับความเยอะ 4/5)

ทั้งเลคเชอร์และแลบจะเหมือนกับเภสัชบำบัด 1 และ 2 แต่คราวนี้เราจะเรียนเกี่ยวกับการใช้ยาในโรคติดเชื้อ (ตอนที่ 2) โรคของระบบเลือด โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด (ตอนที่ 2) โรคไต (ตอนที่ 1) โรคระบบภูมิคุ้มกัน (ตอนที่ 1) และโรคจิตเวช (ตอนที่ 1)

เภสัชเศรษฐศาสตร์ขั้นแนะนำ – Introduction to Pharmacoeconomics (ระดับความยาก 2.5/5, ระดับความเยอะ 2.5/5)

เภสัช + เศรษฐศาสตร์

เราเรียนอะไรกันไปแล้วบ้าง มานุษยวิทยา, บริหาร, นิติศาสตร์ คราวนี้เราจะมาเรียนเศรษฐศาสตร์กันครับ แต่เศรษฐศาสตร์ที่เราเรียนนั้น เป็นเศรษฐศาสตร์ที่เน้นไปเฉพาะด้านยาล้วนๆ ได้แก่ การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการใช้ยาและบริการสุขภาพ การวิเคราะห์ต้นทุน – ประสิทธิผล และการวิเคราะห์ต้นทุน-อรรถประโยชน์ การเงินการคลังสุขภาพและระบบยาครับ

เภสัชระบาดวิทยาขั้นแนะนำ – Introduction to Pharmacoepidemiology (ระดับความยาก 2.5/5, ระดับความเยอะ 2.5/5)

เภสัช + ระบาดวิทยา

วิชานี้ มันก็คือระบาดวิทยาแหละครับ เราจะเรียนพวกหลักการ ขอบเขต รูปแบบวิธีการศึกษาของระบาดวิทยาทางเภสัชศาสตร์ การวัดและวิเคราะห์ ปัญหาทางเภสัชระบาดวิทยา การประยุกต์ความรู้ด้านเภสัชระบาดวิทยาในการดำเนินงานด้านเภสัชสาธารณสุข การจัดการความเสี่ยง และการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุขครับ

พิษวิทยา – Toxicology (ระดับความยาก 3/5, ระดับความเยอะ 4/5)

พาราเซลซัส บิดาแห่งพิษวิทยา กล่าวไว้ว่า “ทุกใดๆถ้วนทั่วล้วนเป็นพิษ ขึ้นอยู่กับขนาดที่ใช้” ยาก็เหมือนกัน หากใช้ไม่ถูกขนาด ถูกโรค ก็เกิดพิษได้ หากเกิดพิษแล้วจะแก้ไขยังไง จะใช้อะไรมาแก้พิษ (Antidote) เป็นสิ่งที่เภสัชกรต้องรู้

ในส่วนของวิชาพิษวิทยา เราจะศึกษากลไกการเกิดพิษของยาและสารเคมีต่างๆ การตอบสนองของร่างกายเมื่อได้รับสารพิษเหล่านั้น กลุ่มสารที่มีผลต่อระบบอวัยวะและกลไกหลักของการก่อพิษจากสารเหล่านี้ ในส่วนของปฏิบัติการ (แลบ) เราจะฝึกตรวจสอบการเกิดพิษและการตรวจหาสารพิษในตัวอย่างชีววัตถุครับ นับว่าเป็นวิชาสำคัญสำหรับใครที่อยากทำงานในศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือทำงานทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ครับ

กิจกรรม

กิจกรรมสำคัญตอนปี 4 คือ ตอนปี 4 น้องต้องบริหารสโมสรนักศึกษาของคณะ ใครจะเป็นนายกสโมสร อยากจัดให้มีกิจกรรมไหน หรืออยากยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงกิจกรรมไหน ปี 4 คือปีที่น้องมีอำนาจในการบริหารจัดการครับ

เทอมที่ 3

โตแล้ว ไม่มีปิดเทอม ฮ่าๆๆๆๆ ปิดเทอมปี 4 นี้ น้องนิสิต/นักศึกษาเภสัชศาสตร์ทุกมหาวิทยาลัย ต้องออกเก็บชั่วโมงฝึกงานครับ แบ่งร้านยา 1 ผลัด กับโรงพยาบาลอีก 1 ผลัด หลังๆมานักศึกษาเยอะขึ้นแต่แหล่งฝึกมีเท่าเดิม ทำให้แหล่งฝึกดีๆ แย่งกันหนักมากครับ ต้องจับฉลากเอาว่าใครจะได้ไป ใครที่ยังรู้ตัวว่ายังไม่แม่นเรื่องไหน ก็เตรียมตัวให้พร้อมก่อนออกฝึกงานครับ มันเป็นหน้าเป็นตาของมหาวิทยาลัยเราด้วย หลังๆ พี่เริ่มได้ยิน feedback ไม่ค่อยดีเกี่ยวกับความพร้อมของนักศึกษาฝึกงานปี 4 มาบ่อยขึ้น แต่ส่วนตัวพี่เห็นว่า น้องๆ 6 ปี ความรู้แน่นกว่าน้องๆหลักสูตร 5 ปี นะ เพียงแต่ความถึกอาจจะลดน้อยถอยลงไปบ้าง (พี่ว่าเด็กรุ่นใหม่มันก็ค่อยๆอึดน้อยลงเรื่อยๆทุกปีอยู่แล้ว เป็นปกติอ่ะ)

เพิ่มเติม สอบใบประกอบรอบแรก !!!!

ในปี 4 นี้ หากพี่จะไม่พูดถึงเรื่องนี้คงไม่ได้ เพราะต่อไป น้องต้องสอบใบประกอบวิชาชีพ 2 รอบ ซึ่งรอบแรกจะสอบตอนน้องจบปี 4 นะครับ อย่าลืมเตรียมกันให้พร้อมด้วย

อ่านเพิ่มเติม : รู้หรือไม่ ต่อไปน้องต้องสอบใบประกอบวิชาชีพ 2 รอบ

ก่อนหน้า
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 1 : ภาพรวม ปฐมบท
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 2 : ปี 1 สดใส ลั้ลล้า
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 3 : ปี 2 Welcome to คณะแพทย์
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 4 : ปี 3 ฝ่าด่านอรหันต์ กลุ่มวิชาชีพบังคับ
อ่านต่อ
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 6 : ปี 5 ทางเดินที่แตกต่าง
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 7 : ปี 6 นักบินฝึกหัด


Share this:

Posted in การเรียนเภสัช.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *