คณะเภสัชศาสตร์ ปี 2

การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 3 : ปี 2 Welcome to คณะแพทย์

เอาละครับ หลังจากที่เราผ่านพ้นปี 1 มาแล้วด้วยระยะเวลาการเรียนที่ยาวนานถึง 3 เทอม เราก็ได้พักนิดหน่อย 1-2 สัปดาห์พอเป็นพิธีก่อนจะขึ้น ปี 2 สำหรับในปี 2 นี้ วิชาที่น้องต้องเจอจะเป็นวิชาของคณะแพทย์เป็นหลัก ซึ่งพี่ขอบอกว่า ไม่ได้ยาก แต่มันเยอะ(มาก) ท่องกันหัวบานเลยทีเดียว นอกจากวิชาคณะแพทย์แล้ว ก็จะมีวิชาของคณะเภสัช ทำให้ในปี 2 นี้ ชีวิตน้องจะไปๆมาๆอยู่แค่ 2 คณะ คือคณะแพทย์ กับ เภสัช ถ้าน้องอยากหาแฟนคณะอื่น แต่ ปี 1 ยังไม่ได้หาไว้ พี่คงบอกได้แค่ว่า “เอ็งพลาดแล้วแหละ” สำหรับวิชาของคณะแพทย์ ตอนพี่ที่เรียน ถ้าเป็นเลคเชอร์ จะเรียนที่คณะเภสัช โดยอาจารย์คณะแพทย์จะเดินมาสอนถึงที่คณะเลย (เพราะคณะแพทย์ห้องมันเต็ม) แต่ถ้าเป็นทำ Lab น้องก็ต้องเดินไปทำ Lab ที่คณะแพทย์ครับ (ที่ มข. คณะทางสายวิทยาศาสตร์สุขภาพจะอยู่ติดกันหมด เดินไปมาหากันได้)

การเรียน ปี 2

ภาษาอังกฤษทางวิชาการ 2 – English for Academic Purposes II (EAP II) (ระดับความยาก 2/5, ระดับความเยอะ 1/5)

ภาคต่อของ ภาษาอังกฤษทางวิชาการ 1  (English for Academic Purposes I) ที่เราเรียนกันไปเมื่อตอนปี 1 เนื้อหาก็จะยกระดับความ Advance ขึ้นมาอีกระดับ แต่ส่วนตัวพี่ว่า ยังไม่มีอะไรยากมาก

จุลชีววิทยาสำหรับนักศึกษาเภสัชศาสตร์ – Microbiology for Pharmaceutical Science Students (ระดับความยาก 2.5/5, ระดับความเยอะ 4.5/5)

วิชานี้เป็นวิชาคณะแพทย์ เห็นชื่อ Microbiology ไม่ได้เรียนวงจรชีวิตของเชื้อรา อะไรแบบนี้นะครับ คือเรียนแหละ แต่ไม่ได้เน้น อาจารย์พูดประมาณ 30 นาทีจบ เพราะฉะนั้นวิชานี้ค่อนข้างแตกต่างจาก Microbiology ที่คณะวิทย์เรียนนะครับ ตัวนี้เป็นวิชา Microbiology ที่คณะแพทย์ เพราะฉะนั้นเนื้อหาจะเน้นหนักไปทางเรื่อง Immunology, แบคทีเรีย, เชื้อรา, ไวรัส, Microassay พวกเชื้อจะเน้นพวกที่ก่อให้เกิดโรคและกลไกการเกิดโรค รวมถึงยาที่ใช้รักษา (แต่ยาจะพูดแค่ว่า ยานี้รักษาอะไร แล้ว regimen ที่ให้เป็นยังไง แค่นั้น ไม่ได้ลงรายละเอียดอะไรครับ)

อ่อ วิชานี้มีแลบด้วยนะครับ แลบนึงตกประมาณ 3-4 ชั่วโมงครับ หรือบางทีก็ 5 ชั่วโมงครับ เพราะบางทีแลบเสร็จแล้ว แต่ว่าใครจะอยากอยู่ศึกษาต่อก็ได้ อาจารย์ไม่ห้าม ถ้าสัปดาห์ไหนมีเพาะเชื้อ ก็ต้องรอให้เชื้อโต 1-3 วัน แล้วหาเวลาว่างนอกเวลามาอ่านผลครับ  แลบของวิชานี้ จะเน้นไปทางเบสิคเทคนิคทางจุลชีววิทยา ย้อมแกรม เอาแบคทีเรีย เชื้อรา มาส่อง แล้วบอกว่าเจอรูปร่างแบบไหน เป็นเชื้อจำพวกไหน แล้วก็การ Identify เชื้อต่างๆครับ ว่าอยากรู้ว่าเป็นเชื้อตัวนี้จริงไหม ต้องทดสอบกับอะไร ถ้าได้ผลแบบนี้ แปลผลยังไง ต้องเอาไปทดสอบกับอะไรต่อ ในส่วนของการสอบแลบก็จะมีการทดสอบประมาณ 3 ครั้ง ครั้งแรกจะสอบเบสิคเทคนิคทางจุลชีววิทยา สอบปฏิบัติตัวต่อตัวกับอาจารย์ ครั้งที่ 2 สอบย้อมแกรม ก็ย้อมๆแล้วเอาไปส่งอาจารย์ ให้อาจารย์ส่องดูว่าฝีมือเป็นยังไงบ้าง แล้วก็มีแปลผลที่ได้จากการย้อมอีกนิดหน่อย ครั้งสุดท้ายจะเป็นสอบใหญ่ แลบกริ๊ง 50 ข้อ (วิชานี้ ของแพทย์สอบแลบกริ๊งเป็นร้อยข้อนะครับ สอบกันที 4-5 ชั่วโมงเลย) แลบกริ๊งจะอารมณ์ประมาณให้รูปคนไข้ว่ามีรอยโรคแบบนี้ จากการทดสอบด้วยอันนี้ ได้ผลแบบนี้ จากการส่องกล้องจุลทรรศน์พบผลแบบนี้ (แล้วก็วางกล้องจุลทรรศน์ไว้ให้ส่อง) หรือมีลักษณะ colony แบบนี้ เมื่อเพาะใน Agar นี้ และบอกตำแหน่งบริเวณเชื้อที่เก็บของคนไข้ แล้วก็วางจานเพาะเชื้อไว้ให้ดู แล้วก็ให้เราตอบว่า คือเชื้ออะไร เกิดจากเชื้ออะไรได้บ้าง หรือรักษาด้วยอะไร (แต่จริงๆมันมีเทคนิคการเดานะ เพราะถ้าเป็นเชื้อก่อโรครุนแรงอย่างวัณโรค อาจารย์จะเอาเทปใสพันจานเพาะเชื้ออย่างแน่นหนาเลย หรือพวกเชื้อราก่อโรคที่ spore มันกระจายไปได้ไกลๆ อาจารย์ก็จะไม่ตั้งตะเกียงให้เราเอาไปเผาไฟเล่น) หรืออาจจะมีเอาผล Microassay มาให้เราดู แล้วก็ให้เราแปลผล ประมาณนี้ครับ

นอกจากแลบที่เกี่ยวทดลองเกี่ยวกับเชื้อแล้ว ยังมีแลบที่เป็น problem based learning คือให้เราเตรียมข้อมูลให้พร้อมที่สุด จากนั้น brainstorm กับเพื่อนในกลุ่ม แล้วเขียนแสดงวิธีคิด วิธีหาข้อมูลขึ้นบนกระดานส่งอาจารย์ในช่วงท้ายๆของการเรียนวิชานี้ครับ

วิชานี้เป็นอีกวิชานึงที่เนื้อหาค่อนข้างเยอะ ท่องกันหัวบานเลยทีเดียว แต่เนื้อหาไม่ได้ถือว่ายากอะไร เน้นท่องผสมกับความเข้าใจเป็นหลักครับ

วิชานี้ ดูผิวเผินเหมือนไม่สำคัญอะไร โดยเฉพาะพวกเทคนิคทางจุลชีววิทยาต่างๆ แต่จากที่พี่เคยทำโรงงานมา พี่ขอบอกว่า มันสำคัญไม่แพ้วิชาทางเคมีเลยนะครับ น้องคิดดูว่าน้องเป็นเภสัชกรโรงงาน แต่น้องอ่านผลไมโครไม่เป็น ไม่รู้ว่านักวิทยาศาสตร์เค้าทำถูกหรือเปล่า น้องกล้าเซนต์ปล่อยผ่านยาไหมครับ หรือน้องไม่มีความรู้ด้านไมโคร น้องแก้ปัญหาให้นักวิทย์ไม่ได้ เค้าจะเชื่อถือน้องไหมครับ พอพี่มาทำงานโรงงานแล้วพี่รู้เลยว่า วิชานี้มันได้ใช้บ่อยกว่าที่คิดเยอะมาก

ชีวเคมีสำหรับนักศึกษาเภสัชศาสตร์ – Biochemistry for pharmaceutical Science Students (ระดับความยาก 3.5/5, ระดับความเยอะ 4/5)

วิชาคณะแพทย์อีกวิชาครับ

จำ Cellular respiration, Krebs cycle ตอนชีวะ ม.ปลายได้ไหมครับ นั่นแหละ วิชานี้ อารมณ์ประมาณนั้นแหละ แต่ตอน ม.ปลาย เราพูดถึงแค่ glucose ตัวเดียว แต่คราวนี้เราต้องมาเรียนรู้สารชีวโมเลกุลต่างๆและการ metabolism ของสารชีวโมเลกุลต่างๆเหล่านั้นครบทุกตัว ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต ลิพิด กรดอะมิโน โปรตีน เอนไซม์ วิตามิน โคเอนไซม์ ฮอร์โมน กรดนิวคลิอิก และพอร์ไฟริน นอกจากนี้เราก็จะเรียนพวก องค์ประกอบทางเคมีของเซลล์ที่มีชีวิต ระบบบัฟเฟอร์ในร่างกาย  แล้วก็เรียนเรื่องสารพันธุกรรม การถ่ายทอดข้อมูลทางพันธุกรรม การควบคุมการแสดงออกของยีน และชีวเคมีของเลือดครับ

วิชานี้มีแลบด้วยเช่นเดียวกันครับ การทำแลบแต่ละครั้งตกประมาณ 3-4 ชั่วโมง การทำแลบหลักๆจะเป็น การเรียนรู้เทคนิคที่ใช้ทั่วไปในทางชีวเคมี แล้วก็ทดลองเกี่ยวกับทฤษฎีทางชีวเคมี โดยเฉพาะพวก enzyme ต่างๆ พวก enzyme kinetics กับสมการ Michaelis-Menten ท่องให้ขึ้นใจเลยครับ ได้ใช้ในแลบบ่อยมาก แล้วก็มีการสอบแลบด้วยครับ ตอนพี่สอบอาจารย์ให้สอบพวกเบสิคเทคนิคในการทำแลบชีวเคมี แต่บางปีอาจารย์ก็สุ่มแลบมาให้ทำ 1 แลบแล้วสอบแบบกลุ่มก็มีครับ

ปรสิตวิทยาสำหรับนักศึกษาเภสัชศาสตร์ – Parasitology for Pharmaceutical Science Students (ระดับความยาก 2/5, ระดับความเยอะ 3/5)

วิชานี้ก็วิชาคณะแพทย์(อีกแล้ว) วิชานี้เรียนเกี่ยวกับปรสิตทั้งหมดครับ หลักๆก็จะเป็นพยาธิและโปรตัวซัว ทั้งหมดนี่คือทั้งหมดจริงๆนะครับ อย่างพยาธิ 1 ตัว เราก็จะเรียนว่า เจ้าตัวนี้มีการกระจายทางภูมิศาสตร์แบบไหน (แถบไหนเจอบ่อย) มีรูปร่างหน้าตายังไง วงจรชีวิตและการระบาดของมันเป็นยังไง โฮสต์ตัวกลางคืออะไร ถ้ามีเจ้าพยาธิตัวนี้อยู่อาการจะเป็นยังไง อะไรเป็นพาหะนำโรคของพยาธิพวกนี้ แล้วก็ยารักษาและ regimen ที่ใช้รักษาครับ (แต่ก็ไม่ได้เน้นเกี่ยวกับยามาก)

วิชานี้มีแลบเช่นเดียวกันครับ หลักๆเลยก็จะเป็นจำเจ้าหน้าตาของพยาธิพวกนี้ (รวมถึงไข่และระยะต่างๆของพวกมันด้วย) รวมถึงวิธีเก็บการรักษาสภาพและการตรวจหาปรสิตจากสิ่งส่งตรวจต่างๆ พี่จำได้เลยครับ แลบนี้ครั้งแรก เค้าให้ส่องขี้ครับ หาพยาธิและไข่พยาธิ ใครส่องเจอก็ให้อาจารย์มาดูว่า อันนี้มันใช่หรือเปล่า หรือว่ามันเป็นยังอื่นที่หน้าตาคล้ายๆเฉยๆ

สำหรับการสอบแลบวิชานี้เป็นสอบแลบกริ๊งครับ มีตั้งกล้อง วางสไลด์ ใส่พยาธิมาให้ แล้วให้ตอบว่าอันนี้คือพยาธิอะไร (ตอบชื่อวิทยาศาสตร์นะครับ) หรือไม่ก็อาจถามว่าก่อให้เกิดโรคอะไร พบมากที่ไหน แม้แต่ปีกยุงยังเอามาถามอะครับ วางปีกยุงไว้ให้ แล้วถามว่า อันนี้ยุงอะไร เป็นพาหะนำโรคอะไร

เคมีเชิงเภสัชศาสตร์ขั้นพื้นฐาน – Basic Pharmaceutical Chemistry (ระดับความยาก 2.5/5, ระดับความเยอะ 2.5/5)

ไปอยู่คณะแพทย์ซะเยอะแล้ว คราวนี้มาเข้าสู่วิชาคณะเภสัชของเรากันบ้าง วิชานี้เป็นเหมือนวิชาปูพื้นฐานก่อนเราจะเรียนวิชาอย่าง Pharmaceutical Analysis และ Pharmaceutical Chemistry ครับ ใครที่จะเรียนสาย science เบสิควิชาพวกนี้ต้องแม่นนะครับ เนื้อหาจะคล้ายๆเคมี ม.ปลาย เช่น กรด-เบส, ความเป็นขั้ว ประจุ การละลายและการแตกตัวของสารประกอบ, ลักษณะการจับกันของโมเลกุล, ชนิดของพันธะของสารประกอบเคมี แต่จะลงรายละเอียดลึกกว่าตอน ม.ปลายค่อนข้างมาก คือลึกไปถึงรูปร่างการจัดเรียงโมเลกุลของยาใน Stereochemistry แบบต่างๆ และศึกษาถึงปฏิกิริยาเคมีชนิดต่างๆโดยแบ่งตามกลไกของการเกิดปฏิกิริยา และศึกษาพื้นฐานของ Heterocyclic Chemistry

ปฏิกิริยาต่างๆในเคมีเชิงเภสัชศาสตร์ บางคนก็ว่าง่าย บางคนก็ว่ายาก จริงๆน่ะ มันไม่ยาก แต่ต้องมองให้ออกว่าอิเล็กตรอนจะวิ่งไปทางไหน ถ้าน้องมองออก น้องจะรู้เลยว่าจะเกิดปฏิกิริยาแบบไหนได้บ้าง ตรงไหนไวต่อการเกิดปฏิกิริยา มองออกแม้กระทั่งว่ายาตัวนี้เป็นกรด หรือเป็นด่าง ซึ่งจะทำให้น้องเรียนวิชาอย่าง Pharmaceutical Analysis, Pharmaceutical Chemistry และ Biopharmaceutic ง่ายขึ้นมาก และไม่มีวิชาไหนอีกแล้วที่อาจารย์จะใจเย็นให้น้องฝึกไดร์ฟอิเล็กตรอนเล่นเป็นชั่วโมง เพราะฉะนั้นวิชานี้ ไม่ยาก เป็นวิชาเบสิคจริงๆ แต่ถ้าไม่แม่นแล้ว ต่อยอดไปวิชาอื่นที่เป็นเคมีเชิงเภสัชศาสตร์ได้ยาก

วิชานี้มีแลบด้วยครับ ทำแลบครั้งนึงตกประมาณ 3 ชั่วโมง แลบไม่ค่อยยาก แต่พี่จำไม่ค่อยได้ละว่าอาจารย์ให้ทำอะไรบ้าง ฮ่าๆๆๆๆ หลักๆก็เป็นพวกเบสิคพื้นฐานทางเคมีแหละครับ พี่จำได้ว่าอาจารย์จะให้เขียน flow chart ก่อนมาเรียทุกครั้ง ซึ่งแรกๆพี่ก็รำคาญและเบื่อที่ต้องมาเขียนทุกครั้ง แต่พอทำไปนานๆ ก็เข้าใจว่าที่อาจารย์ให้ทำ เพราะเหมือนเป็นการบังคับให้เราต้องอ่าน direction lab มาก่อน และเป็นการฝึกระบบความคิดของเราว่า แลบนี้ เราต้องทำอันนี้ๆๆๆ เป็น step จะได้ไม่มั่วและซ้ำซ้อน พอหลังๆเราฝึกจนเราสามารถระบบความคิดเองได้แล้ว อาจารย์ก็ไม่ได้บังคับเรื่อง flow chart อีก

พื้นฐานทางเภสัชการ – Basic in Pharmaceutics (ระดับความยาก 1.5/5, ระดับความเยอะ 1.5/5)

วิชานี้เป็นวิชาใหม่ที่ไม่มีในหลักสูตร 5 ปี น้องได้ยินคำว่าเภสัชการอาจจะงงว่า มันคืออะไร? มีเภสัชกรรม เภสัชกร แล้วยังมีเภสัชการอีกหรือ?

จริงๆคำว่าเภสัชการมาจากคำว่า Pharmaceutics ซึ่งหมายถึงวิทยาการเตรียมตำรับยา เอาง่ายๆมันคือวิชาปรุงยานั่นเองครับ (คณะเภสัชบางที่ ใช้ชื่อวิชาว่า Manufacturing หมายถึงการผลิตยา) ซึ่งพื้นฐานของการปรุงยา น้องต้องรู้อะไรบ้าง นั่นคือสิ่งที่น้องเรียนในวิชานี้ครับ ซึ่งสิ่งที่น้องต้องรู้ก็ได้แก่ หลักการเบื้องต้น คำศัพท์ คำย่อและสัญลักษณ์ต่างๆในการเตรียมยา การสืบค้นข้อมูลจากเภสัชตำรับ  การเขียนและการอ่านฉลากยา การคำนวณทางเภสัชกรรม เทคนิคเบื้องต้นทางเภสัชกรรม การเก็บรักษาเภสัชภัณฑ์และภาชนะบรรจุ และทำความรู้จักยาเตรียมรูปแบบต่างๆ ซึ่งในหลักสูตร 5 ปี ที่พี่เรียนนั้น เนื้อหาส่วนนี้ มันจะอยู่ในวิชาเภสัชการ 1 (Pharmaceutics I) เลย ซึ่งเรียนประมาณ 3 สัปดาห์ก็จบ ดังนั้นวิชานี้ก็คือวิชาที่แตกออกมาจากวิชาเภสัชการ เนื้อจริงๆจึงไม่เยอะ แต่ก็ไม่ได้ง่ายซะทีเดียว น้องต้องท่องพวกอักษรย่อต่างๆ แล้วต้องหัดเปิดเภสัชตำรับให้คล่องๆครับ (การเปิดเภสัชตำรับออกสอบใบประกอบทุกปีนะครับ)

ปฏิบัติการพื้นฐานทางเภสัชการ – Basic in Pharmaceutics Laboratory (ระดับความยาก 1/5, ระดับความเยอะ 1/5)

วิชานี้คือแลบของวิชาพื้นฐานทางเภสัชการ (Basic in Pharmaceutics) ดังนั้นวิชานี้หลักๆจึงเป็นการฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับ คำศัพท์ที่ใช้ในการเตรียมยา การค้นข้อมูลเบื้องต้นเพื่อใช้ในการเตรียมยา การอ่านใบสั่งยา การคำนวณทางเภสัชกรรม และเทคนิคเบื้องต้นทางเภสัชกรรม รวมถึงทำความรู้จักเกี่ยวกับวิธีการเก็บรักษาเภสัชภัณฑ์และยาเตรียมรูปแบบต่างๆ

สรีรวิทยาสำหรับนักศึกษาเภสัชศาสตร์ – Physiology for Pharmaceutical Science students (ระดับความยาก 4/5, ระดับความเยอะ 4/5)

วิชาคณะแพทย์ตัวสุดท้ายของปี 2

น้องเรียนส่วนประกอบต่างๆในร่างกายไปแล้วในวิชา Anatomy แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดว่าร่างกายของเรา มันทำงานยังไง วิชานี้ก็คือการลงรายละเอียดว่าเจ้าร่างกายมนุษย์ที่เราเคยศึกษากันไปแล้วในวิชา Anatomy เนี่ย มันมีระบบการทำงานยังไง ประมาณว่าเซลล์ เนื้อเยื่อ อวัยวะและระบบต่างๆ ของร่างกาย มันทำงานยังไงและประสานงานกันยังไง ซึ่งจะเรียนเจาะรายละเอียดไปทีละระบบครับ ได้แก่ ระบบประสาท, เลือด,  ระบบหัวใจและหลอดเลือด,  การหายใจ, การย่อยอาหาร, ระบบขับถ่ายปัสสาวะ, ระบบต่อมไร้ท่อ, ระบบสืบพันธุ์, ระบบพลังงานและเมแทบอลิซึม รวมทั้งการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย

วิชานี้มีแลบ (อีกแล้ว) ทำแลบครั้งนึงตกประมาณ 3-4 ชั่วโมงครับ ซึ่งแลบจะเป็นการปฏิบัติการเพื่อเสริมความเข้าใจในภาคบรรยาย ได้แก่ พวกหลักการพื้นฐานต่างๆทาง Physiology และเรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิคทาง Physiology ครับ

วิธีวิจัยทางเภสัชศาสตร์ 1 – Research Methods in Pharmaceutical Sciences I (ระดับความยาก 3/5, ระดับความเยอะ 3/5)

ชื่อวิชาว่าวิธีวิจัยทางเภสัชศาสตร์ 1 แต่พี่อยากเปลี่ยนชื่อให้เป็น Statistics มากกว่านะ เพราะทั้งตลอดทั้งเทอมในการเรียนวิชา research 1 มันคือสถิติล้วนๆ

ในวิชานี้เราจะได้เรียน มูลฐานการทำวิจัยทางเภสัชศาสตร์ การสืบค้นข้อมูลในการทบทวนวรรณกรรม สถิติพรรณนา ลักษณะของข้อมูลและตัวแปร ระดับการวัดของตัวแปร แนวคิดของความน่าจะเป็นและสถิติที่เกี่ยวข้องกับวิเคราะห์ข้อมูลการวิจัยเชิงปริมาณ สถิติอนุมาน การทดสอบสมมติฐานและการประมาณค่า ระเบียบการวิจัยและการออกแบบการวิจัยทางห้องปฏิบัติการ และสถิติที่ใช้การวิจัยทางห้องปฏิบัติการเบื้องต้น หลักฐานเชิงประจักษ์ทางการแพทย์ การแปลผลของสถิติที่พบบ่อยในงานวิจัยทางเภสัชกรรมปฏิบัติ

เห็นที่พี่ทำตัวหนาเข้มๆไว้ไหมครับ พี่จะบอกว่า วิชานี้ มันคือวิชา สถิติ ดีๆนี่เอง เพราะฉะนั้น คณิตศาสตร์ก็จะกลับมาได้ใช้ในวิชานี้นะครับ

การวิเคราะห์ยา 1 – Pharmaceutical Analysis I (ระดับความยาก 3/5, ระดับความเยอะ 3/5)

ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าคือการวิเคราะห์ยา เพราะฉะนั้นวิชานี้เราจะเรียนเกี่ยวกับการวิเคราะห์ยานั่นเองครับ ในการวิเคราะห์ยานั้น มันจะแบ่งออกเป็น 2 แบบหลักๆ คือ 1.พิสูจน์ว่าใช่ยาตัวนี้จริงไหม (Identification) กับ 2.หาปริมาณตัวยาสำคัญในเภสัชตำรับ (Assay) โดยในวิชานี้จะเน้นหนักไปที่การหาปริมาณตัวยาสำคัญในเภสัชตำรับหรือเคมีภัณฑ์ โดยไม่ใช้เครื่องมือ เพราะฉะนั้นในวิชานี้ เราจะวิเคราะห์ยาด้วยเทคนิคไทเทรทเป็นหลักครับ โดยจะเรียนเกี่ยวกับเทคนิคการไทเทรทยาแบบต่างๆ ได้แก่ acid-base titration, aqueous and non-aqueous titration, complexometric titration, oxidation-reduction titration, precipitation titration, gravimetric analysis, potentiometric titration และ water determination (วิเคราะห์หาปริมาณน้ำ)

วิชานี้มีแลบครับ คือตอนเราเรียนเลคเชอร์ เราก็เรียนทฤษฎีว่าปฏิกิริยาเป็นแบบนี้ หลักการมันเป็นยังงี้ พอแลบเราก็ลงมือไทเทรทเพื่อหาปริมาณยาจริงๆครับ แลบวิชานี้อาจารย์จะค่อนข้างเข้มมาก เพราะอาจารย์อยากให้เทคนิคเราเป๊ะ วิชาอื่นส่วนมากเราจะได้ทำแลบเป็นกลุ่ม แต่วิชานี้แลบเดี่ยวครับ ทำคนเดียว เร็วสุดคือ 3 ชั่วโมงเสร็จ แต่เอาจริงๆแล้วต้องทำกัน 3-6 ชั่วโมงแหละครับถึงจะเสร็จ (มันนานตอนต่อคิวชั่งสาร =*=)

สำหรับการสอบแลบ เราจะถูกสุ่มยา 1 ตัว ให้มาวิเคราะห์ ซึ่งยาแต่ละตัวจะมีเทคนิคการวิเคราะห์ที่แตกต่างกันออกไป เพราะฉะนั้นตอนสอบ direction แลบ ทั้งเล่มต้องอยู่ในหัวหมด จำได้หมดว่าแลบไหนใช้เทคนิคอะไรในการไทเทรท แล้วมีเทคนิคการทำแบบไหน ใส่สารอะไรบ้าง เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะได้ทำแลบไหน การให้คะแนนอาจารย์จะดูอยู่ 2 อย่างคือ เบสิคเทคนิค (อาจารย์จะยืนอยู่ข้างๆตลอดการสอบของเรา) กับความถูกต้อง (ปริมาณยาที่วิเคราะห์ออกมาได้ วิเคราะห์ได้ถูกต้องหรือเปล่า)

เภสัชการ 1 – Pharmaceutics I (ระดับความยาก 3/5, ระดับความเยอะ 3/5)

หลังจากที่เราเรียนพื้นฐานของวิชานี้กันไปแล้ว และผ่านมันไปได้ด้วยดี (หรือเปล่า) ก็ถึงเวลาที่เริ่ม Pharmaceutic the series กันสักที อย่างที่บอกไปแล้วว่าวิชานี้เรียนเกี่ยวกับการปรุงยาและการผลิตยา และบางมหาวิทยาลัยก็ใช้ชื่อว่า Manufacturing เพราะฉะนั้นวิชานี้จึงเป็นการเรียนเกี่ยวกับวิทยาการตั้งตำรับยาของรูปแบบยาเตรียมทุกรูปแบบ แต่จะให้มายัดเรียนทั้งหมดใน 1 เทอม คงไม่ไหว ทำให้วิชานี้มีการแยกย่อยออกเป็นภาค 1, 2, 3 และ 4 โดยในแต่ละภาคนั้น ก็จะมีการเรียนนรูปแบบยาเตรียมที่แตกต่างกันออกไป ในส่วนของ Pharmaceutic 1 นั้น จะเรียนเกี่ยวกับยาน้ำใส ตั้งแต่คำจำกัดความ คุณสมบัติ วิธีเตรียมและส่วนประกอบในตำรับยาน้ำใส เภสัชภัณฑ์ต่างๆ และความรู้พื้นฐานในด้านสภาวะของสาร รวมถึงทฤษฎี หลักการและเทคโนโลยีในการเตรียมยาน้ำใสได้แก่ ทฤษฎีการละลายของสาร การเพิ่มการละลาย สารช่วยทางเภสัชกรรม การตั้งตำรับและการประเมินตำรับยาเตรียมน้ำใส ความไม่เข้ากันของสารต่างๆในตำรับ จากนั้นเราก็จะเรียนรู้การเตรียมตำรับยาน้ำใสสำหรับตา หู จมูก คอ รวมถึงวิธีการควบคุมเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ

ปฏิบัติการเภสัชการ 1 – Pharmaceutics Laboratory I (ระดับความยาก 2/5, ระดับความเยอะ 2/5)

แน่นอนว่าวิชาปรุงยา มันต้องมีชั่วโมงปฏิบัติให้ฝึกทำจริงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นวิชานี้ก็คือแลบของวิชา Pharmaceutic 1 นั่นเอง แต่ว่าแยกย่อยออกมาเป็นอีก 1 วิชาเลย แสดงว่าในส่วนของแลบนั้นมีการสอบ คิดคะแนน และตัดเกรดแยกกับในส่วนของเลคเชอร์อย่างแน่นอน

ในส่วนของวิชานี้เราจะได้ฝึกตั้งตำรับ และเตรียมตำรับยาน้ำใสต่างๆ ได้แก่ aromatic water, solutions, syrups, elixirs และ tinctures ได้ลองทดสอบการละลายของสารและการเพิ่มการละลายของสาร สารช่วยทางเภสัชกรรม ได้ตั้งตำรับและการประเมินตำรับยาสำหรับตา หู จมูก และคอ รวมถึงการควบคุมเชื้อจุลินทรีย์

การพัฒนายา – Drug Development (ระดับความยาก 2/5, ระดับความเยอะ 2.5/5)

วิชานี้เราจะเรียนภาพรวมในระบบการวิจัยและพัฒนายาทั้งหมดว่ามีขั้นตอนยังไงบ้าง ตั้งแต่นำสารตั้งต้นมาทดสอบการออกฤทธิ์ในหลอดทดลอง จากนั้นก็มาทดลองในสัตว์ แล้วไปทดลองต่อในคน (การศึกษาทางคลินิก) ผ่าน Phase ต่างๆ ขั้นตอนทางกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง และการศึกษาระยะหลังคลินิก กรณีศึกษาการพัฒนายาต่างๆที่เกิดขึ้นจริง และเรียนรู้แนวคิดการออกแบบยา เทคนิคการออกแบบยา ความสัมพันธ์เชิงปริมาณระหว่างสูตรโครงสร้างและฤทธิ์ทางชีวภาพของยา (เรียนคร่าวๆ ไม่ได้ออกแบบจริงจังถึงขั้นออกแบบยาใหม่ได้เลย แต่เรียนให้รู้เป็น concept)

ชีววิทยาเชิงเภสัชศาสตร์ – Pharmaceutical Biology (ระดับความยาก 2/5, ระดับความเยอะ 5/5)

เอาจริงๆ พี่งงกับวิชานี้ คือมันเป็นยังงี้ครับน้อง แต่ก่อนพี่ไม่ได้เรียนวิชานี้ แต่พี่เรียนวิชาชื่อ source of medicine คือเนื้อหาจะคล้ายๆกับวิชานี้ แต่ว่าเนื้อหามันอัดแน่นมาก น้องคิดดูว่าน้องท่องพืช เป็นร้อยๆชนิด จำเนื้อเยื่อพืช (ส่องกล้องแล้วบอกได้ว่าอันนี้คือกัญชาใช่หรือเปล่า) โครงสร้างพืชชนิดต่างๆ ต้องออกแยกอันไหนคือพืชชนิดไหน (พื้นฐานชีวะ ม.6 เรื่องพืช ได้ใช้แน่นอน) วงศ์อะไร แล้วไม่ใช่แค่พืชนะครับ สัตว์ด้วย แร่ธาตุด้วย จุลชีพด้วย คืออะไรที่เอามาเป็นยาได้ เรียนหมด เท่านั้นยังไม่พอ ต้องเรียนยาทั้งยาแผนปัจจุบันและยาแผนโบราณที่ได้มาจากสมุนไพรด้วย คือมันเยอะมาก แล้วตอนแรกพี่เข้าใจว่า วิชานี้ พอปรับหลักสูตรเป็น 6 ปี เค้าจะแตกออกเป็น Phrmacognosy 1, 2, 3 เหมือนของ มศว. กับ มช. (ที่อื่นนอกจากนี้พี่ไม่รู้หลักสูตรเค้าครับ แต่น่าจะเหมือนๆกันคือเรียน Pharmacognosy 1, 2, 3)  คือเภสัช มศว. กับ มช. เค้าไม่ได้อัดและยัดในเทอมเดียวขนาดนี้นะครับ เค้าเรียนส่องกล้องโครงสร้าง ใบ ดอก ผล ก็เทอมนึง พืชใบเลี้ยงเดี่ยวกับใบเลี้ยงคู่อีกเทอม กระจายๆออกมา แต่ว่าในวิชา Pharmacognosy เค้าจะเรียน Pathway การ Systhesis สารในพืชไปด้วยพร้อมๆกันเลย แต่พอพี่มาดูคำอธิบายรายวิชาของวิชานี้  ก็ต้องร้อง เห้ย!! นี่มัน source of medicine ชัดๆ แล้วไม่มีการแบ่งเป็น 1, 2,3 ด้วย แล้วพี่ก็ไปดูวิชา Pharmacognosy ของที่ มข. พี่ก็ต้องร้อง เห้ย อีกรอบ คือเดี๋ยวพี่มาอธิบายอีกทีว่าทำไมต้องร้อง เห้ย! ตอนพี่อธิบายวิชา Pharmacognosy แล้วกันนะครับ อธิบายในนี้เดี๋ยวจะยาวเกิน เอาเป็นว่าพี่ไม่ชัวร์ว่าจริงๆแล้ว วิชานี้เรียนอะไรบ้างแล้วกัน แต่เท่าที่พี่อ่านดู มันไม่ต่างจาก source of medicine ที่พี่เคยเรียนเลย ซึ่งถ้ามันเหมือนกันจริงๆละก็ มันจะเยอะมากครับ เป็นวิชาที่ท่องหัวบวมที่สุดแล้ว อ่อ แล้ววิชานี้มีแลบด้วยนะครับ ในส่วนของแลบก็คือศึกษาพืชของจริงนั่นแหละ แล้วเวลาสอบก็เป็นแลบกริ๊ง ตอบให้ว่าอันนี้คือพืชอะไร ประมาณนี้ครับ ส่วนสอบข้อเขียนของแลบ พี่จำได้ว่า อาจารย์วางยาแผนโบราณมาให้ 1 ตำรับ กับสมุดอีก 1  เล่ม แล้วให้อธิบายว่า รู้อะไรบ้างเกี่ยวกับตำรับยานี้ เขียนไปให้หมด

กิจกรรม

กิจกรรมตอนปี 2 หลักๆเลยก็คือน้องต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงน้องใหม่ครับ หลังจากนั้นก็มีกิจกรรม เยอะแยะ ตาแป๊ะไก่  ตอนนี้ใครมีแววเป็นเด็กกิจกรรม ก็จะเริ่มเดินเข้าออกก็สโมสรนักศึกษาเป็นบ้านหลังที่ 2 แล้วละครับ กิจกรรมนอกเหนือจากนี้ เอาจริงๆนะ พี่จำไม่ได้แล้วอ่ะ

ปิดเทอม

ปิดเทอมปี 2 คราวนี้ น้องจะได้นอนยาวๆอยู่บ้านแล้วครับ ใครไม่อยากอยู่บ้านเฉยๆ ก็หาออกค่าย ทำกิจกรรมไป หรือจะลงเรียนซัมเมอร์แบบคณะอื่นเค้าก็ได้ ลงเรียนวิชาเลือกสนุกๆ แต่เพื่อนพี่ส่วนใหญ่ เค้าจะเลือกช่วยอาจารย์ทำวิจัยกันในช่วงปิดเทอม เพราะการช่วยอาจารย์นอกจากน้องจะได้ฝึกการทำแลบโดยไม่มีเพื่อนๆมาแย่งอุปกรณ์แล้ว อาจารย์ยังเลี้ยงขนมนมเนยน้อง แล้วยังมีรายได้เป็นค่าตอบแทนเล็กๆน้อยๆจากอาจารย์อีก หรือใครไม่อยากลงมือทำเอง แต่อยากหนูลองยา ทดลองยาใหม่ๆ ก็มีโครงการรับสมัครอาสาสมัครอยู่เรื่อยๆ เป็นงานสบาย รายได้ดีครับ

ก่อนหน้า
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 1 : ภาพรวม ปฐมบท
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 2 : ปี 1 สดใส ลั้ลล้า
อ่านต่อ
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 4 : ปี 3 ฝ่าด่านอรหันต์ กลุ่มวิชาชีพบังคับ
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ภาค 5 : ปี 4 ทางเลือก
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 6 : ปี 5 ทางเดินที่แตกต่าง
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 7 : ปี 6 นักบินฝึกหัด


Share this:

Posted in การเรียนเภสัช.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *