เภสัช การเรียน

การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 6 : ปี 5 ทางเดินที่แตกต่าง

มาต่อกันส่วนของปี 5 นะครับ

หลังจากเสร็จสิ้นการฝึกงานช่วงปิดเทอมปี 4 กันเรียบร้อยแล้ว เราทุกคนก็จะกลับมารวมตัวที่คณะ ส่งรายงานและพรีเซนต์การฝึกงาน ก็เป็นอันเสร็จสิ้นภารกิจของปี 4 มีเวลาพักประมาณ 1-2 สัปดาห์ก่อนเข้าสู่ปี 5

มาถึงปี 5 นี้ คิดว่าน้องๆทุกคนไม่ว่ามหาวิทยาลัยไหนคงได้เลือกสาขากันไปหมดแล้ว ดังนั้นวิชาเรียนส่วนใหญ่ในปี 5 จะเป็นวิชาของสาขาที่น้องเลือก รวมทั้งโปรเจคและสัมมนาด้วยครับ

หมายเหตุ สำหรับน้องที่ยังไม่รู้นะครับว่าเภสัชศาสตร์มีสาขาอะไรบ้าง ตอนนี้หลักๆมี 2 สาขานะครับคือ การบริบาลทางเภสัชกรรมกับ เภสัชกรรมอุตสาหการ สำหรับความแตกต่างของทั้ง 2 สาขานี้ พี่เขียนไว้ในบทความเรื่อง สาขาการบริบาลทางเภสัชกรรมกับเภสัชกรรมอุตสาหการต่างกันอย่างไร

ในส่วนของ มข. นั้น ปี 5 เทอม 1 ยังเหลือวิชาหลักที่เรียนร่วมกันของทั้ง 2 สาขาอยู่ 3 วิชาคือ วิธีการประเมินค่ายาใหม่ (Methods for Evaluation of New Drug), วิธีวิจัยทางเภสัชศาสตร์ 2 (Research Methods in Pharmaceutical Sciences II) และ ภาษาอังกฤษเชิงวิชาชีพสำหรับเภสัชกร (Professional English for Pharmacist) จากนั้นเรียนวิชาบังคับและวิชาเลือกในสาขาอีก 10-12 หน่วยกิต ส่วนเทอม 2 ลงวิชาเลือกเสรี 6 หน่วยกิต วิชาศึกษาทั่วไปกลุ่มวิชาอีก 3 หน่วยกิต วิชาบังคับและวิชาเลือกในสาขาอีก 8-10 หน่วยกิตครับ แน่นอนว่าในหน่วยกิตวิชาสาขามีสัมมนาและโปรเจครวมอยู่ด้วย

การเรียน

วิธีวิจัยทางเภสัชศาสตร์ 2 – Research Methods in Pharmaceutical Sciences II  (ระดับความยาก 3/5, ระดับความเยอะ 3/5)

คราวที่แล้วในวิชา วิธีวิจัยทางเภสัชศาสตร์ 1 เราเรียนเกี่ยวกับสถิติเป็นหลัก โดยเฉพาะสถิติที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ แต่ในส่วนของ วิธีวิจัยทางเภสัชศาสตร์ 2 เราจะไม่ได้คำนวณหนักๆแบบ  วิธีวิจัยทางเภสัชศาสตร์ 1 แล้ว แต่จะเรียนเกี่ยวกับสถิติชั้นสูงที่ซับซ้อนเกินกว่าจะมาคำนวณมือได้ เพราะฉะนั้นในวิชานี้ เราจะใช้โปรแกรม excel และโปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติต่างๆ ในการเรียนและการคำนวณเป็นหลัก

สำหรับเนื้อหาที่เรียนนั้น ก็จะมีการนำเข้าและการจัดการข้อมูลในการวิจัย (โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์) รวมถึงการวิเคราะห์และแปลผลการวิจัยเชิงปริมาณโดยการใช้สถิติ t-test, paired t-test, analysis of variance (ANOVA), factorial ANOVA, repeated measured ANOVA, chi-square, non-parametric tests, multiple linear regression, ANCOVA, multiple logistic regression และการแปลรายงานการวิจัยทางคลินิกที่ใช้สถิติขั้นสูง ได้แก่ survival analysis, cox proportional hazard regression

วิชานี้มีแลบด้วยนะครับ แลบของวิชานี้ก็คือวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมทางสถิติครับ

วิธีการประเมินค่ายาใหม่ – Methods for Evaluation of New Drug  – (ระดับความยาก 3/5, ระดับความเยอะ 2.5/5)

วิชานี้ ถ้าบอกว่าเป็นวิชาอ่าน paper (รายงานการวิจัย) ก็คงไม่ผิดนัก วิชานี้จะมีประโยชน์อย่างมากสำหรับน้องที่ต้องทำหน้าที่เกี่ยวกับการพิจารณายาใหม่เข้าโรงพยาบาล เพราะวิชานี้จะให้หลักคิด วิธีการ และฝึกให้น้องอ่านรายงานการวิจัยและการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ

เนื้อหาที่เรียนในวิชานี้ เราจะเรียนเกี่ยวกับ การทบทวนยาใหม่ที่ส่วนใหญ่ยังไม่ถูกบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติหรือไม่ใช้เป็นอันดับต้นๆ ตาม guideline (แนวปฏิบัติ) ต่างๆ แปลผลประสิทธิผลและความปลอดภัยของยาใน meta-analysis (การวิเคราะห์อภิมาน) และการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 และ 4 (ระยะ 3 = ทดลองในคนจริงๆจำนวนมาก, ระยะ 4 = ออกสู่ท้องตลาดจริงๆ) เพื่อตัดสินที่ใช้ในการรักษาที่เจาะจงกับผู้ป่วย การแปลผลทางเภสัชจลนศาสตร์เพื่อเลือกขนาดการใช้ที่เหมาะสมหรือปรับการใช้ในผู้ป่วยโรคตับหรือโรคไตบกพร่อง การแปลผลลัพธ์ด้านคุณภาพชีวิต และการประเมินสื่อโฆษณายา การฝึกทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ นำเสนอ อภิปราย และสรุปประเด็นสำคัญสำหรับการคัดเลือกยาเข้าบัญชียาโรงพยาบาล

วิชานี้มีแลบด้วยครับ เราจะได้มาฝึกอ่าน ฝึกวิเคราะห์ paper กันจริงๆจังๆ ก็ในชั่วโมงแลบเนี่ยแหละ

ภาษาอังกฤษเชิงวิชาชีพสำหรับเภสัชกร (Professional English for Pharmacist) (ระดับความยาก 3/5, ระดับความเยอะ 2.5/5)

เราเคยเรียนภาษาอังกฤษพื้นฐานกันไปแล้วใน ปี 1 และ ปี 2 แต่ภาษาอังกฤษที่เราเรียนในวิชานี้จะ focus ไปในส่วนของภาษาอังกฤษที่เราจะได้ใช้กับการประกอบวิชาชีพจริงๆ ได้แก่

  • ภาษาอังกฤษที่เราต้องใช้ปฏิบัติงานเวลาเราอยู่ร้านยา เช่น ลูกค้าฝรั่งเดินมา จะคุยยังไง แบบไหน ใช้ศัพท์ยังไง ซักอาการยังไง
  • เวลาเราไปอบรม ประชุม สัมมนาตามที่ต่างๆ ถ้าเป็นเรื่องใหม่ๆเลย ร้อยทั้งร้อย speaker เป็นชาวต่างชาติหมด ดังนั้นเราก็ต้องฝึกฟังภาษาอังกฤษเชิงวิชาการให้เป็น
  • การอ่านบทความวิจัย และเอกสารวิชาการต่างๆ ***สำคัญมาก โดยเฉพาะปี 5 ที่ต้องทำสัมมนาและโปรเจค น้องได้อ่าน paper ไม่น้อยกว่า 20 paper แน่นอน
  • การเขียนจดหมายโต้ตอบเพื่อการสมัครงาน การเขียนโครงการวิจัย การเขียนรายงานต่างๆเป็นภาษาอังกฤษ
  • การนำเสนอข้อมูลทางผลิตภัณฑ์หรือผลงานทั้งที่เป็นบทความและเป็นโปสเตอร์ รวมทั้งการนำเสนอในรูปแบบสื่อสารสนเทศอื่นๆ และการพูดในที่ชุมชนเป็นภาษาอังกฤษ

ในส่วนของวิชานี้มีชั่วโมงปฏิบัติการ (แลบ) ด้วยเช่นกัน โดยเป็นการฝึกปฏิบัติจริงๆ เช่น หากเป็นอ่านเอกสารทางวิชาการ ก็จะฝึกอ่านกันจริงๆในชั่วโมงนี้ หรือหากเป็นบทสนทนา ก็จะมีการเล่นบทบาทสมมติ (role play) กันในช่วงชั่วโมงปฏิบัติการนี้

วิชาเฉพาะสาขา (วิชาบังคับและวิชาเลือกในสาขา)

เอาละครับ มาถึงในส่วนของวิชาเฉพาะสาขากันแล้ว ในส่วนนี้พี่ขออธิบายก่อนว่า วิชาเฉพาะสาขาของ มข. จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือวิชาบังคับและวิชาเลือก วิชาบังคับก็คือทุกคนในสาขานั้นต้องเรียนเหมือนกันหมด ส่วนวิชาเลือกคือ แล้วแต่ว่าใครจะเลือกเรียนวิชาอะไร ส่วนมากวิชาเลือกเฉพาะสาขานี้น้องจะได้เลือกกันประมาณ 9-12 หน่วยกิต แต่ถ้าใครฟิตๆหน่อยก็อาจลงได้ถึง 14-15 หน่วยกิต

ในส่วนของวิชาเลือกเฉพาะสาขานี้ พี่ขอไม่อธิบายละเอียดมาก เพราะวิชามันเยอะมาก แล้ววิชาพวกนี้ ส่วนใหญ่พี่ก็ไม่ได้เรียน (ถ้าพี่เรียนหมด พี่คงจบ 8 ปี) และรายวิชานี้ไม่ใช่ว่าจะเปิดสอนกันทุกเทอม วิชาไหนมีคนเลือกเรียนน้อยๆ อาจารย์อาจไม่เปิดสอน หรือวิชาไหนที่ไม่มีในนี้ แต่วิชานั้นหรือศาสตร์นั้นกำลังเป็นที่สนใจ มาแรงในปีนั้น อาจารย์ก็อาจจะเปิดเป็นรายวิชาใหม่เพื่อสอนแก่ นศ. ที่สนใจเลยก็ได้

ส่วนตัวพี่เรียนสาย science พี่บอกเลยว่า ตอนพี่เรียนนั้น คนเรียนสาย science น้อยมาก ทำให้บางวิชาที่มีคนสนใจน้อยๆ จะมีคนเรียนวิชานั้นแค่ 3-4 คน หรือเลวร้ายกว่านั้นคือมีคนลงเรียนคนเดียว !!!!! ใช่ครับ คนเดียว แต่อาจารย์สาย science ในภาคเภสัชเคมี และเภสัชพฤกษศาสตร์ เปิดสอน!!! พี่ไม่รู้ว่าที่อื่นเป็นยังไง หรือ มข. ยังเป็นแบบนี้อยู่ไหม แต่ตอนพี่เรียน ลงคนเดียวอาจารย์ก็เปิดสอนจริงๆครับ เรียนแบบ VIP มากๆ เรียนตัวต่อตัวกับอาจารย์เลย (โครตนับถืออาจารย์เลย) ส่วนสาย Care นั้น ถ้าคนลงไม่ถึง 20 คน โอกาสที่อาจารย์จะเปิดสอนให้นั้นมีน้อยมากครับ หึๆ

ถ้าถามว่าจะลงวิชาข้ามสายกันได้ไหม พี่ไม่รู้นะครับ แต่ตอนสมัยพี่เรียน พี่เคยไปถามอาจารย์ที่สอน Pharm care ว่า พี่อยากลงวิชานี้ของ Pharm care (วิชานี้เป็นวิชาที่อาจารย์เปิดสอนแน่ๆอยู่แล้ว เพราะเด็ก Pharm care ลงกันเกิน 80 คน) จะลงเรียนได้ไหม อาจารย์ก็บอกว่า “ได้ มาสิ แต่อาจจะนับหน่วยกิตเป็นวิชาเลือกเสรีให้นะ ไม่นับหน่วยเป็นวิชาสาขาให้” แต่เอาจริงๆแล้ว ไม่มีใครได้ลงข้ามสายเลยครับ เพราะลำพังวิชาของสายตัวเองก็เรียนกันไม่หวาดไม่ไหวอยู่แล้ว น่าเสียดายจริงๆ

ตอนสมัยพี่เรียน จริงๆ แล้วในส่วนของวิชาเลือกในสาขา พี่มีวิชาที่พี่อยากเรียนอีก 6-7 วิชา และพี่เป็นคนเดียวในรุ่นตอนนั้นที่สามารถจบได้ แต่ไม่ยอมยื่นเรื่องจบสักที เพราะอยากเรียนต่ออีก 1 เทอม เพื่อลงวิชาที่อยากเรียนให้ครบทุกวิชา แต่เพื่อนๆพี่ก็มาไซโคกันหนักเหลือเกิน เพราะเภสัชต้องสอบใบประกอบ ถ้าไม่จบพร้อมเพื่อน ก็ต้องมานั่งอ่านสอบใบประกอบอยู่คนเดียว แถมตอนสอบ ospe ไม่มีเพื่อนช่วยเป็นคู่ซ้อมอีก ซึ่งถือว่าหนักเอาการเลยทีเดียวหากต้องสอบใบประกอบคนเดียวโดยไม่มีเพื่อนช่วย สุดท้าย พี่เลยยอมยื่นเรื่องจบในวันเกือบท้ายๆของการยื่นเรื่องครับ

Pharm care

วิชาบังคับสาขาการบริบาลทางเภสัชกรรม (ที่ มข. ใช้คำว่า กลุ่มวิชาทางด้านเภสัชกรรมปฏิบัติ แต่เอาเป็นว่า Pharm care เหมือนกัน ไม่ต้องสับสน)

เภสัชบำบัด 4 – Pharmacotherapeutics IV

ที่ผ่านมาเราเรียนเภสัชบำบัด 1, 2 และ 3 กันมาแล้ว การเรียนก็จะเหมือนๆกันครับ แต่ในส่วนของเภสัชบำบัด 4 จะเป็นวิชาเฉพาะของสาย Care เค้า ในส่วนของวิชานี้เราจะเรียนการใช้ยาในโรคติดเชื้อ (ตอนที่ 3) โรคระบบทางเดินอาหาร (ตอนที่ 2) โรคระบบประสาท (ตอนที่ 3) โรคจิตเวช (ตอนที่ 2) และโรคไต (ตอนที่ 2) ครับ

สังเกตุได้ว่า ทุกวิชาเป็นตอนที่ 2 ไม่ก็ 3 หมดเลย เพราะฉะนั้นหากจะบอกว่าเภสัชบำบัด 4 คือตอนต่อของเภสัชบำบัด 1, 2 และ 3 โดยเรียนโรคบางโรครวมถึงการใช้ยาในโรคเหล่านั้นที่ Advance มากขึ้นและละเอียดขึ้น ก็คงไม่ผิดนักครับ

โครงการพิเศษทางด้านเภสัชกรรมปฏิบัติ – Special Project in Pharmacy Practice

วิชานี้คือการทำโปรเจคจบนั่นเอง ส่วนมาก Pharm care มักได้ทำโปรเจคจบเกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูลและสถิติต่างๆในโรงพยาบาลครับ รวมถึงอาจได้ทำวิจัยทางคลินิก ถ้าเป็นที่ มข. โปรเจคของ Pharm care มักเป็นกลุ่มใหญ่ครับ ถ้าปีไหนมีคนเรียน Pharm care เยอะๆ กลุ่มโปรเจคนึงอาจมากถึง 8-9 คน เพราะคนเรียน Pharm care มักมากกว่าอาจารย์เสมอครับ แต่ปีหลังๆก็มีการจำกัดจำนวนนักศึกษาต่อภาควิชากันแล้ว ปัญหานี้คงหมดไป (แต่ช่วงหลังๆมา น้องๆก็นิยมเรียน Pharm science กันมากขึ้น หรือบางปีที่ Pharm science ฮิตกว่า Pharm care ก็มี แต่นานทีปีหนจะมีสักที) หรือถ้าเป็นที่ มช. Pharm care กลุ่มนึงก็ประมาณ 3 คน แต่บางมหาวิทยาลัยเรียน Pharm care แต่โปรเจคจบออกไปทางด้านพัฒนาสูตรตำรับแบบ Pharm science ก็มี

สัมมนาทางเภสัชกรรมปฏิบัติ – Seminar in Pharmacy Practice

น้องๆอาจจะงงว่าสัมมนาคืออะไร น้องลองนึกถึงงานประชุมวิชาการสักงานนะครับ ในงานประชุมก็จะมีรายชื่อ speaker พร้อมหัวเรื่องที่ speaker แต่ละคนขึ้นพูด การทำสัมมนาก็เหมือนการที่น้องต้องเป็น speaker ในงาน ซึ่งต้องศึกษา ค้นคว้า หาข้อมูลเพื่อพูดในหัวเรื่องนั้นๆ

พี่ไม่แน่ใจว่า Pharm care ปกติเค้าทำสัมมนากันเป็นกลุ่มหรือเปล่า แต่ถ้าเป็น Pharm science ส่วนมากจะทำคนเดียวแน่นอนครับ หัวข้อที่เราทำ เราก็อาจจะเลือกหัวข้อที่เราสนใจ แล้วไปหาอาจารย์ที่ปรึกษาที่ตรงกับหัวข้อที่เราสนใจนั้น หรืออาจารย์อาจจะให้หัวข้อให้เรามาศึกษา ค้นคว้า จากแหล่งข้อมูลต่างๆ นับว่าเป็นอีกวิชาที่ต้องอ่าน Paper เยอะมาก กว่าจะสรุปเป็นรายงานสัมมนาสักเล่มแล้วออกไปพรีเซนต์ได้

ทั้งสัมมนาและโปรเจค สำคัญเลยคือพยายามหาโอกาสพบอาจารย์ที่ปรึกษาบ่อยๆ (แต่เราต้องมีความคืบหน้าตอนไปหาอาจารย์ด้วยนะ) อาจารย์จะช่วยเราได้มากในหลายๆเรื่องครับ

การติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากยา – Adverse Drug Reaction Monitoring

จริงๆ เราเคยเรียนเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์จากยากันมาแล้วในวิชาเภสัชบำบัด แต่ในวิชานี้ เราจะมาเจาะลึกกันในเรื่องอาการไม่พึงประสงค์จากยาโดยเฉพาะเลย ตั้งแต่ชนิดของอาการไม่พึงประสงค์จากยา กลไกการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา ระบบการติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา การค้นหา ประเมิน ติดตาม การบันทึกข้อมูลและการรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากยา  รวมถึงการจัดการแก้ไขและป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา

หมายเหตุ น้องบางคนอาจงงว่าอาการไม่พึงประสงค์จากยาคืออะไร จริงๆ มันก็เหมือนๆกับผลข้างเคียงจากยาแหละครับ แต่คำว่าอาการไม่พึงประสงค์จะครอบคลุมและกว้างกว่าคำว่าผลข้างเคียงจากยา

ความรู้ปัจจุบันทางด้านเภสัชบำบัด – Current Knowledge in Pharmacotherapy

วิชานี้จะเรียนเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการใช้ยารักษาโรคต่างๆ ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบทางเดิน อาหาร โรคระบบหัวใจร่วมหลอดเลือด โรคระบบต่อมไร้ท่อ โรคระบบประสาท โรคทางจิตเวช โรคระบบทางเดิน ปัสสาวะ โรคทางสูตินรีเวช โรคระบบเลือด โรคทางโสต-ศอ-นาสิก โรคทางจักษุ โรคระบบภูมิคุ้มกัน โรคมะเร็ง โรคทางผิวหนัง โรคติดเชื้อ เป็นต้น โดยเน้นไปที่การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล การใช้ยาอย่างมีหลักฐานรองรับ การวางแผนการรักษาและติดตามผลการรักษาด้วยยาแก่ผู้ป่วย การติดตามอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้ยา

วิชาเลือกสาขาการบริบาลทางเภสัชกรรม

ในส่วนของวิชาเลือก พี่จะบอกหน่วยกิตเอาไว้ด้านหลังนะครับ ว่าวิชานี้กี่หน่วยกิต เพื่อน้องบางคนอยากจะวางแผนว่าจะลงวิชาไหนตอนเรียนบ้าง

วิธีวิจัยทางเภสัชศาสตร์ 3 Research Methods in Pharmaceutical Sciences III 2 หน่วยกิต

วิธีวิจัยทางเภสัชศาสตร์ 1 และ 2 เราเน้นไปที่การวิจัยเชิงปริมาณซะเป็นส่วนมาก วิธีวิจัยทางเภสัชศาสตร์ 3 เราจะเรียนพวกการวิจัยเชิงคุณภาพ หลักปรัชญาในการวิจัย กระบวนการวิจัยและจริยธรรมในการวิจัย การวิจัยที่ประเมินผลลัพธ์ทางการแพทย์และเภสัชศาสตร์ครับ

การบริการเภสัชสนเทศทางคลินิก Clinical Drug Information Service 2 หน่วยกิต

อธิบายง่ายๆ มันคือการตอบคำถามและให้ข้อมูลสารสนเทศเรื่องยา ศาสตร์ด้าน Drug Information Service มหาวิทยาลัยศิลปากรถึงกับแยกสาขาไปต่างหากอีกสาขานึงเลยนะครับ เนื้อหาที่เรียนจะเป็นการแบ่งประเภทของคำถาม การวิเคราะห์เกี่ยวกับการประวัติและภูมิหลังของคำถาม การตอบคำถามและให้ข้อมูล สถานการณ์และปัญหาของการจัดเตรียมข้อมูล ข่าวสารทางยา ระบบข้อมูลข่าวสารทางยาโดยใช้คอมพิวเตอร์ การบริหารจัดการในการตอบคำถาม แหล่งข้อมูลและการประเมินแหล่งข้อมูล

การบริหารเภสัชกรรมชุมชน Management in Community Pharmacy 2 หน่วยกิต

เรียนเกี่ยวกับการบริหารร้านยา เป็นเจ้าของร้านยาต้องทำยังไง  การเปิดร้านยาคุณภาพต้องทำอย่างไร กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับร้านยา การบริหารคุณภาพการให้บริการ การบริการทางเภสัชกรรมในชุมชน การวิเคราะห์ปัญหาเกี่ยวกับยา การป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้ยาในชุมชน

หมายเหตุ เภสัชกรชุมชน = เภสัชกรร้านยา เพราะร้านยาเป็นหน่วยบริการเล็กที่สุดที่แฝงตัวอยู่ในชุมชน จึงต้องทำหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับการใช้ยาในชุมชนด้วย

การตลาดสำหรับเภสัชกร Marketing for Pharmacists 2 หน่วยกิต

ใครอยากเป็นดีเทลควรเรียนวิชานี้นะครับ วิชานี้จะเรียนเกี่ยวกับการตลาดทั้งหมด ตั้งแต่ปรัชญาและแนวคิดทางการตลาด การวิเคราะห์โอกาสทางการตลาด ส่วนประสมการตลาดบริการ การดำเนินงาน การควบคุม และการประเมินผลกระบวนการทางการตลาด การประยุกต์แนวคิดทางการตลาดในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณของนักการตลาดที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพเภสัชศาสตร์

แนวปฏิบัติที่ดีในเภสัชกรรมชุมชน Good Pharmacy Practice in Community Pharmacy 2 หน่วยกิต

เรียนเรื่องระบบคุณภาพ GPP ในร้านยาครับ (คล้ายๆ GMP ในโรงงาน) เนื้อหาก็จะเป็นพวกแนวคิดเรื่องระบบคุณภาพ  ตัวชี้วัดคุณภาพสำหรับร้านยา มาตรฐานการให้บริการสำหรับร้านยา แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับเภสัชกรชุมชน การตรวจประเมินและการรับรองมาตรฐานร้านยา กรณีศึกษาจากโครงการร้านยาคุณภาพ

บริการทางเภสัชกรรมที่หน่วยบริการปฐมภูมิ Pharmacy Service at Primary Care Unit 2 หน่วยกิต

ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนว่า Primacy Care Unit (PCU) หรือหน่วยบริการปฐมภูมิคืออะไร

หน่วยบริการปฐมภูมิ คือ สถานบริการตั้งแต่ระดับสถานอนามัย ศูนย์เทศบาล ศูนย์สุขภาพชุมชน โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ หรือหนวยบริการอื่นๆ ทั้ง หน่วยบริการของภาครัฐและเอกชน มีภารกิจด้านงานส่งเสริมสุขภาพ ฟื้นฟูสุขภาพ ป้องกันโรค และการรักษาพยาบาลให้บริการสิ้นสุดที่บริการผู้ป่วยนอก (OPD) คือเป็นหน่วยบริการแรกสุด ใกล้ชิดชุมชนที่สุด เน้นไปที่การป้องกัน สร้างเสริมสุขภาพ มากกว่าการรักษาโรค

เนื้อหาที่เรียนก็จะมี ระบบบริการสุขภาพในระดับปฐมภูมิในประเทศไทย ขอบข่ายและความรับผิดชอบของบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ งานบริการเภสัชกรรมในระดับบริการปฐมภูมิ มาตรฐานงานเภสัชกรรมระดับปฐมภูมิ บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของเภสัชกรในงานระดับปฐมภูมิ การพัฒนางานบริการเภสัชกรรมในสถานบริการปฐมภูมิ และผลกระทบจากการพัฒนา

การจัดการเภสัชกรรมในหน่วยบริการปฐมภูมิ Pharmacy Management in Primary Care Unit 2 หน่วยกิต

วิชาก่อนหน้าเป็นการให้บริการ แต่วิชานี้จะเป็นเรื่องของการจัดการครับ ได้แก่ จัดการระบบยาในชุมชน การจัดหาและการบริหารเวชภัณฑ์คงคลัง การจัดทำและประเมินโครงการเบื้องต้น การจัดการทรัพยากรมนุษย์และพฤติกรรมองค์การในหน่วยบริการปฐมภูมิ การประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการเภสัชกรรมในหน่วยบริการปฐมภูมิ

การจัดการความเสี่ยงด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพสำหรับชุมชน Risk Management in Medicines and Health Products for Community 2 หน่วยกิต

เภสัชกรจะต้องรู้เรื่องการจัดการความเสี่ยงไปทำไม จริงๆเรื่องการจัดการความเสี่ยง ไม่เฉพาะจำกัดเฉพาะกับสาย Care นะครับ สาย Science ก็ได้ใช้ ในส่วนของสาย Care จะ focus ไปที่ประโยชน์ที่ได้การใช้ยากับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ว่ามันคุ้มกันหรือเปล่า แล้วจะจัดการอย่างไรเพื่อให้เกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด ในส่วนของสาย Science การจัดการความเสี่ยงจะใช้เพื่อประเมินว่ายาที่เราผลิตมีคุณภาพและความปลอดภัยต่อผู้บริโภคจริงๆ

วิชานี้จะเรียนเกี่ยวกับ Risk Management ครับ ได้แก่ แนวคิดการจัดการความเสี่ยงด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ การประเมินความเสี่ยง การจัดการความเสี่ยง การสื่อสารความเสี่ยง แผนการจัดการความเสี่ยงด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพสำหรับชุมชน

ประเด็นทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับสุขภาพในชุมชน Cultural Issue related to Health in Community 2 หน่วยกิต

นึกถึงวิชา Community Study for Pharmacy ตอนปี  4 มันจะอารมณ์คล้ายๆกัน แต่วิชานั้นจะออกแนวเน้นปฏิบัติ อันนี้จะออกไปทางทฤษฎีครับ เนื้อหาก็จะเป็นพวกมิติทางวัฒนธรรมกับการให้ความหมายสุขภาพและความเจ็บป่วย พหุลักษณ์ของระบบสุขภาพกับชุมชน โรคพื้นบ้าน การแสวงหาบริการสุขภาพและการเยียวยาความเจ็บป่วย ระบาดวิทยาเชิงวัฒนธรรมมิติทางวัฒนธรรมของการเจ็บป่วยเรื้อรัง

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพ Regulations Related to Health Products and Services 3 หน่วยกิต

เรียนเกี่ยวกับกฏหมายครับ เน้นไปที่กฏหมายที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพ หากจะบอกว่ามันคือ Pharmacy Jurisprudence แบบ Advance ก็คงไม่ผิดนัก แต่ Pharmacy Jurisprudence จะเน้นไปที่ พ.ร.บ. ต่างๆ ส่วนวิชานี้จะลงลึกไปในรายละเอียดมากกว่า เนื้อหากว้างกว่า ลึกซึ้งมากกว่าครับ

เนื้อหาที่เรียนก็จะมีเจตนารมณ์ของกฎหมาย พระราชบัญญัติ กฎกระทรวง ประกาศกระทรวงที่เป็นปัจจุบัน ที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียน การผลิต การให้บริการ การควบคุมกำกับดูแล ตลอดจนมาตรฐานหรือเกณฑ์เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ผู้มีอำนาจตามกฎหมายและการบังคับใช้ ข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสภาวิชาชีพ

ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการคุ้มครองผู้บริโภค Strategies for Health Consumer Protection Movement 2 หน่วยกิต

เรียนเกี่ยวกับการวิเคราะห์ปัญหา ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์และการบริการด้านสุขภาพ และผลกระทบต่อผู้บริโภค การวางแผนยุทธศาสตร์ การบริหารจัดการแผน การติดตามและประเมินผล รวมถึงการประเมินผลลัพธ์

การสื่อสารการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ Communication,Learning and Participation for Health Consumer Protection 2 หน่วยกิต

หลักการสื่อสารในฐานะเครื่องมือในการเรียนรู้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ การวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย ปัจจัยที่ควรคำนึงถึงในการสร้างสื่อและการส่งสารอย่างมีประสิทธิภาพ การสื่อสารอย่างมีส่วนร่วม กรณีตัวอย่างทั้งการสื่อสารเพื่อสังคมและการสื่อสารเพื่อประโยชน์ทางการค้า อุปสรรคที่ทำให้การเรียนรู้ไม่ประสบความสำเร็จ

พฤติกรรมศาสตร์ทางการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ Behaviour Sciences for Health Consumer Protection 2 หน่วยกิต

เรียนเรื่องพฤติกรรมศาสตร์ แต่ focus ไปที่การเอาพฤติกรรมศาสตร์ไปคุ้มครองผู้บริโภคครับ เราจะเรียนเรื่องความต้องการของผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์และการบริการด้านสุขภาพ พฤติกรรมผู้ผลิต/ผู้ขาย และผู้ให้บริการ พฤติกรรมองค์กรด้านสุขภาพที่มาของการร้องเรียนและกระบวนการเยียวยา การปฏิบัติงานอย่างปลอดภัยเพื่อป้องกันปัญหาจากการร้องเรียนของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ทฤษฎี การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและกรณีศึกษาที่สำเร็จ เช่น การควบคุมบุหรี่

เครื่องมือและวิธีวัดพฤติกรรม Tools and Methods for Behaviour Assessment 2 หน่วยกิต

เรียนเครื่องมือที่ใช้ศึกษาและวัดพฤติกรรม ซึ่งเราจะได้ใช้บ่อยกับการวิจัยในทางคลินิกครับ

เนื้อหาที่เรียนก็จะมี การวัดและแนวทางการสร้างแบบวัดทางพฤติกรรม การวัดพฤติกรรมโดยตรงและการวัดทางอ้อม การวัดความเจ็บปวด และการประเมินความพึงพอใจ อคติที่พบบ่อยจากการวัดและแนวทางการแก้ไขเบื้องต้น ทำความเข้าใจในแบบวัดที่ใช้บ่อย ได้แก่ แบบวัดคุณภาพชีวิต, แบบประเมินการให้บริการ

การเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพ Health Products and Services Surveillance 2 หน่วยกิต

ความหมายและวิธีการเฝ้าระวังในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ บทบาทของบุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวัง หลักการในการเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ และรายงานผลรวมถึงการนำผลการเฝ้าระวังไปใช้ประโยชน์ กรณีศึกษา ยา อาหาร เครื่องสำอางและปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ

การจัดการความรู้และการเรียนรู้ภาคประชาชน Knowledge Management and Learning in Popular Sector 2 หน่วยกิต

การจำแนกความรู้ประเภทต่างๆ หลักการและวิธีการในการจัดการความรู้ การวิเคราะห์ ผู้เรียน และการสร้างความมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ วิธีการถ่ายทอดความรู้สู่สาธารณะ การเสริมสร้างการเรียนรู้ ด้วยรูปแบบต่างๆ การประเมินผลการเรียนรู้

การทำงานเป็นทีมสุขภาพและการสร้างเครือข่าย Health Team Working and Networking 2 หน่วยกิต

ประเภทและคุณลักษณะของผู้นำ การวิเคราะห์องค์ประกอบและแนวทางการกำหนดบทบาทของสมาชิกร่วมทีม การสร้างความสัมพันธ์ในทีมและการบริหารทีมให้มีประสิทธิภาพ ความหมายของกลุ่ม เครือข่าย และการดำเนินการการทำงานทีมที่เป็นสหวิชาชีพ

เทคโนโลยีสารสนเทศและการคุ้มครองผู้บริโภค Information Technology and Health Consumer Protection 2 หน่วยกิต

พี่ไม่แน่ใจนะ เหมือน Clinical Drug Information Service จะเน้นไปที่สารสนเทศทางคลินิกและการตอบคำถาม แต่วิชานี้จะเน้นภาพใหญ่ไปที่สารสนเทศเพื่อสุขภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค

เนื้อหาที่เรียน : แหล่งของข้อมูลและสารสนเทศด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพภายในประเทศและต่างประเทศ คำจำกัดความและความหมายที่สำคัญ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาภายในประเทศ การประเมินความต้องการและแนวทางการจัดทำระบบสารสนเทศรวมถึงการบริหารงานสารสนเทศเพื่อผู้ปฏิบัติหน้าที่และผู้บริโภค กรณีศึกษา สปสช. ศูนย์ความปลอดภัยทางยา

การประเมินการสื่อสารด้านสุขภาพ Health Communication Assessment 2 หน่วยกิต

ประเภทและแหล่งให้ข้อมูลด้านสุขภาพที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ องค์ประกอบ ที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้ เข้าถึง และความเข้าใจในสื่อต่างๆ สื่อสารเพื่อวัตถุประสงค์ทางการตลาด เทคนิค ในการชักชวนให้เกิดการซื้อและการใช้บริการสุขภาพและผลิตภัณฑ์สุขภาพ การสร้างเครื่องมือและการประเมินกระบวนการสื่อสาร

พิษวิทยาเชิงปฏิบัติทางเภสัชศาสตร์ Practical Toxicology for Pharmaceutical Science 3 หน่วยกิต

สังเกตุนะครับว่าวิชานี้เป็นวิชาเลือกสาขาทั้งของ Pharm Science และ Pharm Care วิชานี้เรียนเกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยงจากยาและสารพิษ การประเมินผลกระทบและการจัดการทางสิ่งแวดล้อมของระบบยาและสารพิษ การพยากรณ์ การติดตามและการจัดการอาการพิษจากยาและสารพิษ

หัวข้อคัดสรรทางวิจัยและพัฒนาทางเภสัชศาสตร์ Selected Topic in Research and Development in Pharmaceutical Sciences 2 หน่วยกิต

สังเกตุนะครับว่าวิชานี้เป็นวิชาเลือกสาขาทั้งของ Pharm Science และ Pharm Care อีกเช่นกัน วิชานี้เรียนเกี่ยวกับความรู้ล่าสุดในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัยและพัฒนาที่น่าสนใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทางเภสัชศาสตร์ เช่น การสังเคราะห์ยา การพัฒนายา การทดสอบประสิทธิภาพยา การวิเคราะห์ปริมาณยา เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

การขึ้นทะเบียนตำรับและการควบคุมการผลิตยาตามกฎหมาย Drug Registration and Regulation Control 2 หน่วยกิต

สังเกตุนะครับว่าวิชานี้เป็นวิชาหลักของ Pharm science แต่เป็นวิชาเลือกของ Pharm care สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ หากน้องทำงานในโรงงาน น้องต้องรู้เรื่องทะเบียนครับ และโรงงานทุกโรงงานจะมีเภสัชกรที่ดูแลด้านทะเบียนยาโดยเฉพาะด้วย ส่วนรายละเอียดของวิชานี้ พี่ขอพูดถึงตอนอธิบายวิชาบังคับสาขาของ Pharm science นะครับ

Pharm science

วิชาบังคับสาขาเภสัชกรรมอุตสาหการ

เภสัชกรรมอุตสาหการ Industrial Pharmacy

วิชานี้ถือว่าเป็นหัวใจของคนที่อยากทำงานในโรงงานเลยก็ว่าได้ เพราะเราจะเรียนเกี่ยวกับภาพรวมทั้งหมดของเภสัชกรรมอุตสาหการ ได้แก่ กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยา การผลิตยา (Production) และการขยายขนาดการผลิต (Scale up) การตรวจสอบความถูกต้องก่อนการผลิตจำหน่าย (Prospective Validation) การตรวจสอบความถูกต้องพร้อมการผลิต จำหน่าย (Ongoing Validation) และการตรวจสอบความถูกต้องย้อนหลัง (Retrospective Validation) การตรวจรับรองการออกแบบ (Design Qualification) การตรวจรับรองการติดตั้ง (Installation Qualification) การตรวจรับรองการทำงานและการตรวจรับรองสมรรถนะ (Operation and Performance Qualification) ข้อกำหนดคุณภาพวัตถุดิบ วัสดุการบรรจุ และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป (Specification) หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตยา (PIC/s GMP) การบริหารการผลิต วางแผนการผลิต และควบคุมสินค้าคงคลัง การบริหารความเสี่ยง ระบบติดตาม และควบคุมสภาวะแวดล้อม สถิติและคณิตศาสตร์พื้นฐานที่เกี่ยวกับการผลิต ความสามารถของกระบวนการ เทคโนโลยีวิเคราะห์ในกระบวนการผลิตยา

ศาสตร์ที่พี่วงเล็บเป็นภาษาอังกฤษไว้นี่สำคัญมากนะครับ สำหรับน้องๆที่จะทำงานโรงงาน แล้วอาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ตอนนี้ยังไม่ค่อยเชี่ยวชาญเรื่องพวกนี้ ทำให้ต้องเชิญอาจารย์พิเศษที่เคยทำงานโรงงานจริงๆมาสอนซะเป็นส่วนมาก (แต่ในอนาคต อาจารย์ก็น่าจะสอนเอง อย่าง ม.ศิลปากร ตอนอาจารย์พิเศษมาสอน เค้าก็ให้อาจารย์ประจำมานั่งเรียนด้วยเลย อนาคตจะได้สอนเด็กเองได้)

เทคนิคการใช้เครื่องมือด้านวิเคราะห์ Techniques in the Application of Instrumental Analysis

วิชานี้จะเหมือนๆกับวิชา Pharmaceutical Analysis II ที่เราจะเรียนเกี่ยวกับเครื่องมือในการวิเคราะห์ แต่คราวนั้นคนเรียนเยอะ เราก็อาจจะโดนเพื่อนแย่งใช้เครื่องบ้าง ได้เป็นคนเตรียมสารบ้าง คราวนี้จะเน้นหนักไปที่การใช้เครื่องมือชนิดต่างๆอย่างจริงจัง ทำแลบหนักๆกันให้คล่องเครื่องมือวิเคราะห์กันไปเลย เนื้อหาที่เราเรียนในวิชานี้ก็จะมีหลักการวิเคราะห์ยา การประเมินความถูกต้องของวิธีวิเคราะห์ยา (Method Validation) ฝึกทักษะการใช้เครื่องมือ สมรรถนะสูงสำหรับการวิเคราะห์ยา เช่น เครื่อง UV สเปคโทรโฟโตมิเตอร์ เครื่องสเปคโทรฟลูโอโรมิเตอร์ เครื่องอะตอมมิกแอบซอบชั่นสเปคโตโฟโตมิเตอร์ เครื่องโครมาโทรกราฟฟี่ชนิดต่างๆ โดยจะเน้นเรื่องเทคนิคการใช้ ข้อควรระวังต่าง ๆ รวมถึงการดูแลรักษาเครื่องให้มีประสิทธิภาพในการใช้งาน

การขึ้นทะเบียนตำรับและการควบคุมการผลิตยาตามกฎหมาย Drug Registration and Regulation Control

เราจะเรียนเรื่องขึ้นทะเบียนยากันครับ เหมือนน้องทำงานโรงงาน ฝ่ายวิจัยและพัฒนาคิดยามาให้น้องเรียบร้อยละ โจทย์ของน้องคือต้องไปขึ้นทะเบียนกับ อย. ให้ผ่าน เพื่อให้ได้เลขทะเบียนยามาเพื่อผลิตยาขายจริง จะต้องทำอย่างไรบ้าง คือสิ่งที่เราจะได้เรียนกันในวิชานี้ครับ เพราะฉะนั้นในวิชานี้ เราจะเรียนขั้นตอนในการขึ้นทะเบียนยา การจัดเตรียมเอกสารในการขึ้นทะเบียนยา แนวทางการประเมินทะเบียนผลิตภัณฑ์ องค์ประกอบในการพิจารณา ฉลาก ผลิตภัณฑ์สุขภาพตามกฎหมายและแนวทางในการพิจารณา กรณีศึกษา ทะเบียนที่ไม่เหมาะสม และแนวทางการควบคุม การควบคุมการผลิตยาตามกฏหมาย

โครงการพิเศษทางด้านเภสัชศาสตร์ Special Project in Pharmaceutical Sciences

ทำโปรเจคครับ ในส่วนของ Pharm Science อาจารย์มักมากกว่านักศึกษา ทำให้น้องมักได้ทำโปรเจคคนเดียว หรือเต็มที่กลุ่มนึงก็ไม่เกิน 2 คน การทำโปรเจคของ Pharm science ส่วนมากเป็นการทำแลบ เพื่อศึกษาวิจัยในหัวเรื่องที่เราสนใจศึกษา แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่โปรเจคนั้นเป็นแบบแห้ง คือไม่มีการทำแลบจริงๆ แต่น้อยมากครับ ส่วนมากโปรเจคของ Pharm science ต้องลุยแลบหนักมาก ทำกันเช้าจรดเย็น (ส่วนพี่ทำ 2 ทุ่มถึง 8 โมงเช้าครับ อิอิ ขี้เกียจไปแย่งเครื่องมือกับคนอื่นตอนกลางวัน)

สำหรับการเลือกหัวเรื่องการทำโปรเจคนั้น ก็ต้องดูก่อนว่าเราสนใจเรื่องไหน เพราะอาจารย์แต่ละคนก็จะอยู่ใน field ที่ไม่เหมือนกัน ความรู้ความชำนาญไม่เหมือนกัน เมื่อได้คำตอบแล้ว เราก็ไปหาอาจารย์ท่านนั้น แล้วไปขอให้อาจารย์ท่านนั้นเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาครับ ส่วนใหญ่อาจารย์มักมีหัวเรื่องให้เราทำอยู่แล้ว แต่ถ้าเรามีเรื่องที่อยากทำจริงๆก็บอกอาจารย์ได้ อาจารย์ก็จะช่วยชี้แนะให้

สัมมนาทางเภสัชศาสตร์ Seminar in Pharmaceutical Sciences

คล้ายๆกับของ Pharm care ครับ คือค้นคว้า หาข้อมูล พรีเซนต์สัมมนา แล้วสรุปเป็นรายงานรูปเล่ม แต่หัวเรื่องที่ทำก็จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสาขาและความสนใจของเรา ระหว่างการทำก็จะมีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยชี้แนะ พยายามทำให้มีความคืบหน้าทุกสัปดาห์ครับ แล้วไปพบอาจารย์ที่ปรึกษาเรื่อยๆจะช่วยได้มาก เป็นอีกวิชาที่ต้องอ่าน Paper เยอะมาก ตอนพี่ทำพี่ต้อง Paper ถึง 37 Paper เลยทีเดียว

วิชาเลือกสาขาเภสัชกรรมอุตสาหการ

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชสมุนไพร Tissue Culture of Medicinal Plant 2 หน่วยกิต

วิชานี้เราจะเรียนเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อครับ ส่วนตัวพี่เองก็เคยเรียนวิชานี้ แล้วน้องจะรู้ว่าการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไม่ได้ยากเลยครับ ใช้อุปกรณ์ที่พอหาเองได้ที่บ้านก็สามารถทำได้ (แต่สำคัญว่าต้องฆ่าเชื้อมาอย่างดี) อย่างไรก็ตาม ตอนเราเรียนกับอาจารย์ อุปกรณ์ทุกอย่างพร้อมหมด ทำให้การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นเรื่องที่สนุกและง่ายมาก น้องอาจสงสัยว่าเภสัชเรียนเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไปทำไม เกี่ยวอะไรด้วย จริงๆวิชาทาง Pharm Science มันสัมพันธ์กันหมดเป็นวงจรครับ อย่างในตอนแรกเราไปหาสารใหม่ที่มีฤทธิ์มาจากธรรมชาติ ส่วนมากก็มาจากพืช แล้วถ้าสารตัวนั้นสังเคราะห์ได้ ก็สังเคราะห์กันไป แต่ถ้าสารตัวนั้นเป็นสารโมเลกุลใหญ่ สังเคราะห์ยาก จะปลูกพืชหลายๆต้น เพื่อสกัดสารออกมา ก็ดันเป็นพืชที่โตช้าอีก เราจึงต้องทำการเพราะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อให้มันผลิตสารที่เราต้องการครับ ดังนั้นการศึกษาการเพราะเลี้ยงเนื้อเยื่อในทางเภสัช จะ focus ไปที่ ทำอย่างไรจะเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากพืชชนิดนี้ แล้วให้มันผลิตสารที่เราต้องการเป็นปริมาณมากได้

ในส่วนของวิชานี้ เราจะเรียนเทคนิคในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชสมุนไพรโดยใช้เทคนิคปราศจากเชื้อ ชนิดอาหาร และการเตรียมอาหารสำหรับเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ชนิดและประโยชน์ของฮอร์โมนพืช การประยุกต์พันธุวิศวกรรมในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสมุนไพรให้ผลิตสารสำคัญมากขึ้น การถ่ายเทพันธุกรรมในพืชโดยอาศัยอโกรแบคทีเรียม การปลูกพืชสมุนไพรด้วยอาหารเหลวและการเพาะเลี้ยงรากลอยครับ

การควบคุมคุณภาพยาสมุนไพร Quality Control of Herbal Medicine 2 หน่วยกิต

ปัญหาใหญ่และยากที่สุดในการพัฒนายาสมุนไพรให้เป็นที่ยอมรับคือ ยาสมุนไพรนั้นควบคุมคุณภาพได้ยากมาก แต่ละ lot ที่ออกมา มีสารสำคัญไม่เท่ากัน เชื้อและสารปนเปื้อนต่างๆก็ไม่เท่ากัน ซึ่งในวิชานี้เราจะเรียนแนวทางการควบคุมคุณภาพยาสมุนไพรโดยอาศัยวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ โดยการควบคุมปริมาณสารสำคัญในยาสมุนไพร ข้อกำหนดต่าง ๆ ซึ่งเป็นคุณสมบัติทางเคมีและฟิสิกส์ของพืชที่ใช้เป็นยาสมุนไพร ตลอดจนสารปนเปื้อน เช่น ยาฆ่าแมลง เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย โลหะหนัก เป็นต้น

การควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหาร Quality Control of Food Product 3 หน่วยกิต

วิชานี้เรียนเกี่ยวกับ การควบคุมคุณภาพของทั้งอาหารสดและอาหารสำเร็จรูป โดยเน้นในเรื่องสิ่งปรุงแต่งที่ใส่เข้าไปใน อาหาร สิ่งปนเปื้อนในอาหาร รวมทั้งศึกษาถึงข้อกำหนดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องครับ

เคมีของอาหาร Food Chemistry 3 หน่วยกิต

ใครอยากมาทางสายอาหารเสริมควรเรียนวิชานี้ครับ เราจะเรียนองค์ประกอบของอาหารจากธรรมชาติ อาหารสำเร็จรูป อาหารเสริม และอาหารที่อ้างว่าใช้บำรุงกำลังชนิดต่างๆ ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด องค์ประกอบของอาหาร เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรท ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ และองค์ประกอบเฉพาะในอาหารชนิดนั้น

การแยกสกัดตัวยา Drug Extraction and Separation 3 หน่วยกิต

ก่อนเราจะวิเคราะห์หรือศึกษาวิจัยสารต่างๆจากสมุนไพรหรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เราก็ต้องสกัดมันก่อน  ซึ่งในวิชานี้เราจะเรียนการสกัดอย่างละเอียด ตั้งแต่หลักการและเทคนิคของการแยกยาออกจากกัน (Isolation) การทำให้ยาที่แยกออกจากกันแล้ว นั้นบริสุทธิ์ (Purification) ศึกษาถึงการแยกสกัดตัวยาโดยเทคนิคทางโครมาโตรกราฟฟีเฟสต่าง ๆ (ของเหลว-ของเหลว ของเหลว-ของแข็ง ของแข็ง-ของแข็ง ก๊าซ-ของเหลว ก๊าซ-ของแข็ง) ซึ่งการแยกสกัดนั้นจะเป็นการพิสูจน์เอกลักษณ์ และวิเคราะห์หาปริมาณด้วยครับ

การวิเคราะห์เชิงเภสัชศาสตร์ขั้นสูง Advanced Pharmaceutical Analysis 3 หน่วยกิต

วิชานี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการวิเคราะห์ครับ แต่ไม่ได้วิเคราะห์แบบ Pharmaceutical Analysis I และ II อันนั้นจะเป็นวิเคราะห์ทางเคมีเพื่อการควบคุมคุณภาพซะเป็นส่วนมาก ไม่ได้วิเคราะห์ว่าสารนั้นมีฤทธิ์ทางชีวภาพแบบไหน แต่ในวิชานี้ มันจะเป็นการวิเคราะห์ขบวนการซึมผ่านและนำส่งยา การเปลี่ยนแปลงยาในร่างกาย การวิเคราะห์ยาโดยวิธีอิมมูโน รวมทั้งศึกษาถึงวิธีการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพ และเภสัชวิทยาของสารสกัดจากพืชสมุนไพร หรือสารสังเคราะห์ใน แบบจำลองต่าง ๆ ทั้งในหลอดทดลอง, ในเซลล์เพาะเลี้ยง และในสัตว์ทดลอง ทดสอบฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่น ฤทธิ์ต้านมะเร็ง ฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส ฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์บางชนิด ฤทธิ์เอสโตรเจน และฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางครับ

หน่วยการผลิตในอุตสาหกรรมยา Unit Operation in Pharmaceutical Industry 2 หน่วยกิต

ที่ผ่านมาเราเรียนเภสัชการ เราได้ฝึกปรุงยาแบบเตรียมใช้เองขนาดเล็กๆ แต่เราไม่ค่อยได้เรียนว่า ในโรงงานจริงๆ เค้าใช้ทำกันยังไง ผลิตกันยังไง ใช้เครื่องมืออะไรในการผลิต แล้วเครื่องมือมันมีหลักการทำงานยังไง ซึ่งในวิชานี้จะเป็นการศึกษากระบวนการในการผลิตยาระดับอุตสาหกรรม ตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบ การย่อยขนาด การผสม การทำให้แห้ง การตอกอัดเม็ด การเคลือบ การบรรจุ และการทำให้ยาปราศจากเชื้อ รวมถึงกรณีศึกษาการใช้อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆที่เหมาะสม

การตั้งตำรับยารูปแบบของเหลว Formulation of Liquid Dosage Forms 2 หน่วยกิต

ที่ผ่านมาเราเรียนการตั้งตำรับและการเตรียมตำรับยากันมาแล้วในวิชาเภสัชการ แต่คราวนี้เรามาฝึกกันแบบจริงๆจังกันทีละรูปแบบยาเตรียมเลย โดยวิชานี้จะเน้นหนักไปที่รูปแบบของเหลวครับ

เนื้อหา : การประยุกต์ใช้ความรู้ทางเทคโนโลยีเภสัชกรรมด้านต่างๆ ในการตั้งตำรับยาเตรียมรูปแบบของเหลว ได้แก่ ยาน้ำใสและยาน้ำแขวนตะกอน การฝึกทักษะด้านการตั้งตำรับ การปรับปรุงแก้ไขและการ ประเมินคุณภาพตำรับ รวมทั้งความสามารถในการวิเคราะห์เปรียบเทียบตำรับต่าง ๆ

การตั้งตำรับยารูปแบบของแข็ง Formulation of Solid Dosage Forms 2 หน่วยกิต

ที่ผ่านมาเราเรียนการตั้งตำรับและการเตรียมตำรับยากันมาแล้วในวิชาเภสัชการ แต่คราวนี้เรามาฝึกกันแบบจริงๆจังกันทีละรูปแบบยาเตรียมเลย โดยวิชานี้จะเน้นหนักไปที่รูปแบบของแข็งครับ

เนื้อหา : ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตั้งตำรับยาเตรียมรูปแบบของแข็ง หลักการเลือกใช้สารช่วยทางเภสัชกรรม และกระบวนการผลิตในการเตรียมยารูปของแข็งโดยพิจารณาคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาหรือปรับปรุงคุณภาพของสารช่วยทางเภสัชกรรมสำหรับใช้ในสูตรตำรับรูปแบบของแข็ง รวมทั้งการนำสถิติมาใช้ในการออกแบบการทดลองเพื่อให้ได้ตำรับยาเตรียมที่ดี

การตั้งตำรับยารูปแบบกึ่งแข็ง Formulation of Semi- Solid Dosage Forms 2 หน่วยกิต

ที่ผ่านมาเราเรียนการตั้งตำรับและการเตรียมตำรับยากันมาแล้วในวิชาเภสัชการ แต่คราวนี้เรามาฝึกกันแบบจริงๆจังกันทีละรูปแบบยาเตรียมเลย โดยวิชานี้จะเน้นหนักไปที่รูปแบบกึ่งแข็งครับ

เนื้อหา : การนำความรู้ทางด้านเภสัชกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในการตั้งตำรับยาเตรียมใน รูปแบบยากึ่งแข็ง การประยุกต์ใช้ความรู้ในการหาสาเหตุและการแก้ปัญหาของแต่ละรูปแบบยาเตรียมตลอดจน การปรับปรุงแก้ไขและการประเมินคุณภาพตำรับ

ระบบนำส่งยาขั้นสูง Advanced Drug Delivery System 2 หน่วยกิต

สุดท้ายเมื่อเราทำออกมาเป็นรูปแบบยาเตรียมที่พร้อมใช้แล้ว เราก็มีการนำส่งยาเข้าร่างกาย ซึ่งวิชานี้จะเรียนเกี่ยวกับระบบการนำส่งยาเข้าสู่ร่างกาย เทคโนโลยีการควบคุมการปลดปล่อยและการนำส่งยา เทคโนโลยีใหม่ในการนำส่งยาทางระบบ ทางเดินอาหาร ผิวหนัง เยื่อบุและการนำส่งยาและยีนเข้าสู่อวัยวะเป้าหมาย

นาโนเทคโนโลยีในเภสัชภัณฑ์และความเป็นพิษ Nanotechnology in Pharmaceuticals and Its Toxicity 1 หน่วยกิต

ที่ผ่านมาเราคงเคยได้ยินคำว่าครีมนาโน แต่คำว่าเทคโนโลยีนาโน ไม่ได้มีแค่ครีมนาโนนะครับ มาหาคำตอบกันได้ในวิชานี้ครับ

เนื้อหา : นิยามและพัฒนาการของนาโนเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตวัสดุนาโนและอนุภาคนาโน คุณสมบัติทาง กายภาพของวัสดุนาโนและ/หรืออนุภาคนาโน การเพิ่มศักยภาพของยาและวัคซีนด้วยวัสดุนาโนและ/หรืออนุภาค นาโน การซึมผ่าน, การนำส่ง, การออกฤทธิ์, ความเป็นพิษจากวัสดุนาโน บริเวณที่มีโอกาสสัมผัส กลไกการ เกิดพิษ การป้องกันอันตรายจากวัสดุนาโน

การควบคุมคุณภาพเครื่องสำอาง Quality Control of Cosmetics 3 หน่วยกิต

ตามชื่อวิชาเลยครับ เราจะเรียนการควบคุมคุณภาพเครื่องสำอางชนิดต่าง ๆ เช่น แป้ง โลชั่น แชมพู น้ำยาดัดผม ลิปสติก สบู่ ฯลฯ ทั้งในด้านความคงตัวของผลิตภัณฑ์ และคุณภาพของส่วนผสมที่ใช้ในผลิตภัณฑ์

สารโมเลกุลใหญ่ในงานเภสัชกรรม Macromolecules in Pharmacy 2 หน่วยกิต

Macromolecules นี่ก็คือพวก carbohydrate, lipids, protein, nucleic acids นั่นเองครับ แน่นอนว่าสารพวกนี้มีใช้ในงานเภสัชกรรมด้วย วิชานี้เราจะเรียน นิยาม ประเภท ลักษณะเฉพาะ และคุณสมบัติของสารโมเลกุลใหญ่ที่ใช้ในทางเภสัชกรรม กระบวนการสำคัญในการเตรียมสารโมเลกุลใหญ่การใช้สารโมเลกุลใหญ่ในทางเภสัชกรรมและทางการแพทย์

การผลิตและการประเมินชีววัตถุ Production and Evaluation of Biologics 2 หน่วยกิต

ที่ผ่านมาเราเรียนกันแต่ยาที่เป็นสารเคมี แต่พวกชีววัตถุก็เป็นยาเหมือนกัน และในอนาคตก็จะมียาที่เป็นชีววัตถุมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันประเทศไทยเอง ก็มีโรงงานผลิตยาที่ผลิตยาเกี่ยวกับชีววัตถุแล้วด้วยนะครับ

เนื้อหา : บทนำ หลักการและชนิดของชีววัตถุ ได้แก่ วัคซีน และแอนติซีรั่ม ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเลือด สารวินิจฉัย และรักษาภูมิแพ้ ยาโปรตีนและเปบไทด์ต่างๆ ได้แก่ โมโนโคลนัลแอนติบอดี ซัยโตไคน์ เอนไซม์ และฮอร์โมน เทคโนโลยีการผลิตและการตรวจสอบชีววัตถุ

พิษวิทยาเชิงปฏิบัติทางเภสัชศาสตร์ Practical Toxicology for Pharmaceutical Science 3 หน่วยกิต

อธิบายไปแล้วในวิชาเลือกสาขาของ Pharm care มันคือวิชาเดียวกันครับ

การดูแลสุขภาพแบบดั้งเดิมและการแพทย์พื้นบ้าน Traditional Healing and Ethnomedicine 2 หน่วยกิต

วิชานี้ เราจะเรียนเกี่ยวกับยาแผนโบราณและยาพื้นบ้านครับ พวกระบบการดูแลสุขภาพดั้งเดิมในทวีปเอเชีย รูปแบบการรักษาสุขภาพที่นิยมใช้ในการรักษาแผนตะวันออก กรณีการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการประเมินความเสี่ยงและประโยชน์ของการดูแลสุขภาพแบบดั้งเดิม มิติทางวัฒนธรรมของยาสมุนไพร พื้นฐานทางพฤกษศาสตร์และทางเคมีของการแพทย์พื้นบ้าน

หัวข้อคัดสรรทางวิจัยและพัฒนาทางเภสัชศาสตร์ Selected Topic in Research and Development in Pharmaceutical Sciences 2 หน่วยกิต

อธิบายไปแล้วในวิชาเลือกสาขาของ Pharm care มันคือวิชาเดียวกันครับ

 

สำหรับวิชาเลือกเสรี 6 หน่วยกิตนั้น ไม่เหมือนกับวิชาเลือกสาขานะครับ พวกวิชาเลือกเสรีคือเสรีจริงๆครับ น้องจะไปเรียนวิชาไหน ของคณะไหนก็ได้ ถ้าไม่ติดเงื่อนไขบางอย่าง เช่น วิชานั้นเปิดรับเฉพาะนักศึกษาคณะนี้เท่านั้น ส่วนวิชาศึกษาทั่วไป พี่ขออธิบายง่ายๆว่า มันคล้ายๆวิชาเลือกแหละครับ แต่น้องต้องเลือกจากรายวิชาที่อยู่ในหมวดศึกษาทั่วไปเท่านั้น

จบกันไปแล้วนะครับสำหรับวิชาในปี 5 เล่นเอาเหนื่อยเลยกว่าจะเขียนจบ เพราะวิชาเลือกสาขามันเยอะเหลือเกิน สำหรับน้องที่ยังตัดสินใจเลือกสายไม่ได้ พอได้อ่านรายวิชาที่ได้เรียนอย่างละเอียดของแต่ละสาขาน่าจะช่วยให้น้องตัดสินใจได้ง่ายขึ้นนะครับ สำหรับวิชาหลักของสาขาแต่ละมหาวิทยาลัยจะเหมือนๆกัน แต่วิชาเลือกสาขาอาจจะคล้ายๆหรือแตกต่างกันไปตามแต่ละมหาวิทยาลัยครับ ขึ้นอยู่กับว่ามหาวิทยาลัยนั้นจะเน้นเรื่องไหน แล้วมีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องอะไรบ้างครับ

หลังจากเราทำโปรเจคเสร็จแล้ว โปรเจคใครน่าสนใจ น้องก็อาจได้ออกงานไปพรีเซนต์กระทบไหล่พี่ๆ ป.โท ป.เอก หรืออาจารย์ดังๆกันด้วยนะครับ

ก่อนหน้า
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 1 : ภาพรวม ปฐมบท
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 2 : ปี 1 สดใส ลั้ลล้า
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 3 : ปี 2 Welcome to คณะแพทย์
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 4 : ปี 3 ฝ่าด่านอรหันต์ กลุ่มวิชาชีพบังคับ
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ภาค 5 : ปี 4 ทางเลือก

อ่านต่อ
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 7 : ปี 6 นักบินฝึกหัด

 


Share this:

Posted in การเรียนเภสัช.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *