“ทุกสิ่งเป็นยาได้อย่างไร ทุกอย่างก็เป็นพิษได้อย่างนั้น”

“ทุกสิ่งเป็นยาได้อย่างไร ทุกอย่างก็เป็นพิษได้อย่างนั้น”

ประโยคนี้คือสัจธรรมที่เด็กเภสัชฯ ทุกคนต้องรู้และจำไว้ในใจเลย อันตรายของการใช้ยามีมากมาย ยาชนิดเดียวกันสามารถรักษาคนหนึ่งได้ ในขณะเดียวกันมันกลับเป็นพิษต่ออีกคนหนึ่ง ยาชนิดเดียวกันในปริมาณหนึ่งสามารถรักษาโรคได้ แต่ในอีกปริมาณกลับฆ่าคนได้เหมือนกัน นี่คือสิ่งที่คณะเภสัชสอนให้ระมัดระวังอยู่เสมอ

คณะเภสัชเป็นคณะที่สอนให้รู้ว่าสิ่งสิ่งหนึ่งสามารถเป็นยาได้อย่างไร ทุกสิ่งรอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นผักที่เรากิน ผลไม้ที่เราทาน หรือแม้กระทั่งยาต่าง ๆ ที่เป็นพิษ นักศึกษาเภสัชต้องเรียนรู้ว่าเมื่อกินสิ่งนั้นเข้าไปในร่างกายแล้วเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายของเราบ้าง ยานั้นมันทำอะไรกับเซลล์หรือสารเคมีต่าง ๆ ในร่างกายของเรา และร่างกายของเราทำอย่างไรกับยา ทำไมยานั้นถึงเป็นผลการรักษาในตัวเรา แล้วในบางครั้งทำไมมันถึงเกิดพิษ เกิดเหตุไม่คาดฝันอะไรขึ้นได้บ้างที่จะทำให้ยาจากที่ควรรักษากลายเป็นเกิดผลร้ายได้

การเข้ามาเรียนในคณะเภสัชคือการเข้าสู่โลกของยา เราจะได้เรียนทั้งปฏิกิริยาของยาที่เกิดในร่างกายตามที่พี่ว่าไปด้านบน รวมถึงขั้นตอนต่าง ๆ ในการผลิตยา ทั้งในการผลิตยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย และระดับอุตสาหกรรม ปฏิกริยาเคมีในการสังเคราะห์ยา ผลิตยา หรือแม้กระทั่งระบบเครื่องจักรต่าง ๆ ทำอย่างไร ขั้นตอนใดบ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งยาเม็ดหนึ่งหรือยาขวดหนึ่ง

นอกจากการผลิตยาและการใช้ยาในคนไข้แล้ว เรายังได้เรียนรู้ถึงระบบยาในประเทศไทย ทั้งพวกนโยบายและหลักการบริหารต่าง ๆ ด้านยา การจัดซื้อจัดหายา การขนส่งและเก็บรักษายา การคิดค้นวิจัยและข้อตกลงด้านลิขสิทธิ์ของยา ฯลฯ (ข้อมูลตรงนี้พี่ยังไม่แน่น เพราะเพิ่งได้เรียนวิชานี้ได้ไม่นานค่ะ)

ในสายงานสุขภาพต่าง ๆ ที่ทำร่วมกันเป็นกลุ่มวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นหมอ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด ฯลฯ เภสัชเองก็เป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่จะทำให้ระบบสุขภาพของประเทศไทยขับเคลื่อนต่อไปได้ ต้องยอมรับว่าในประเทศไทยเราอาจยังมองเห็นภาพหน้าที่การทำงานของเภสัชได้ไม่ชัดเจนนัก แต่จริง ๆ แล้วสายงานของเภสัชก็เป็นอีกสายงานหนึ่งที่สำคัญและไม่มีทางที่วิชาชีพอื่นจะมาทำแทนได้ เพราะสายงานเภสัชคือสายงานที่รู้เรื่องยามากที่สุด

เภสัชต้องเรียนว่า โครงสร้างของยาตัวนี้เป็นอย่างไร ผลทางเคมีของโครงสร้างนั้นส่งผลต่อประสิทธิภาพของการออกฤทธิ์ (Efficacy) ความแรงของยา (Potency) หรือแม้กระทั่งผลข้างเคียง (Side effect) อย่างไร และถึงขั้นรู้ด้วยว่าจากโครงสร้างนั้นของยา สามารถนำไปสังเคราะห์เป็นอะไรได้ต่อ รวมถึงรู้ด้วยว่าโครงสร้างของยาแบบใดที่สามารถนำไปสังเคราะห์เป็นสารเสพติดได้!

เภสัชรู้ว่า ทำไมยาตัวนี้ถึงเป็นยากิน ทำไมยาตัวนี้ต้องเป็นยาฉีด รวมถึงเภสัชเองก็เป็นวิชาชีพที่มีส่วนสำคัญในการผลิตยาพวกนี้ขึ้นมาด้วย

เภสัชเข้าใจว่า ทำไมยาตัวหนึ่งถึงต้องกินก่อนอาหาร พร้อมอาหาร หรือหลังอาหาร ทำไมยาตัวนี้ถึงกินวันละครั้ง ทำไมยาตัวนี้ถึงกินสามวันครั้ง และทำไมยาชนิดเดียวกัน บางยี่ห้อสามารถกินวันละครั้งได้ แต่กับอีกยี่ห้อทำไมถึงต้องกินถึงวันละสองสามครั้ง

เภสัชรู้ว่า ยาตัวไหน ไม่ควรกินร่วมกับยาตัวไหน เพราะจะเกิดยาตีกัน (Drug Interaction) เพราะงั้น เภสัชจึงสามารถออกมาเตือนประชาชนได้ว่า การกินฟ้าทะลายโจรพร่ำเพรื่อ (เช่นในช่วงโควิด) ร่วมกับยาบางชนิดที่ตีกัน นั้นส่งผลอันตรายกับร่างกายของคนเราอย่างไร หรือแม้แต่ในสถานการณ์โควิดเอง ที่หลายบริษัทจากหลายประเทศต่างพากันแข่งขันผลิตยาและวัคซีนกันอย่างแพร่หลาย มีการนำเข้าและส่งออกไปทั่วโลก สิ่งเหล่านั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่จะขาดเภสัชไป ตั้งแต่กระบวนการคิดค้นวิจัย การทดลองใช้ทั้งในห้องทดลอง ในสัตว์ หรือในคน การนำมาใช้ในผู้ป่วยจริง หรือแม้กระทั่งการติดตามผลการใช้ การนำเข้าการส่งออก การขาย ขั้นตอนทั้งหมดนั้น ขาดเภสัชไปไม่ได้เลยแม้แต่ขั้นตอนเดียว!

หลายคนอาจจะเคยพูดถึงประเด็นนี้แล้ว แต่พี่ก็อยากจะย้ำอีกสักครั้งว่า ส่วนใหญ่แล้วถ้าพูดถึงวิชาชีพเภสัช ภาพที่คนส่วนใหญ่นึกถึงคงเป็นเภสัชกรตามร้านยาหรือโรงพยาบาล ใส่เสื้อกาวน์สีขาวในห้องยาสะอาด ๆ หยิบยาให้คนไข้สวย ๆ หล่อ ๆ

แต่จริง ๆ แล้ว สิ่งที่อยู่เบื้องหลังการ “หยิบยา” นั้นมีมากมาย เหมือนกับเป็นภูเขาน้ำแข็งใต้ทะเลที่คนไม่รู้ ก่อนจ่ายยา เภสัชต้องคำนึงถึงโรคของผู้ป่วย คำนึงถึงผลการรักษาของยา คำนึงถึงประสิทธิภาพของยา ผลข้างเคียงต่าง ๆ ไปจนถึงความคุ้มค่าของราคาของยา (ในกรณีที่เป็นร้านขายยา)
เภสัชกรที่เราเห็นและคุ้นชินที่อยู่ตามโรงพยาบาลและร้านขายยานั้นเป็นแค่ส่วนหนึ่งของงานที่เภสัชสามารถทำได้เท่านั้น เรายังพบเภสัชกรได้ในโรงงานยาต่าง ๆ ทั้งส่วนที่เป็นของภาครัฐและภาคเอกชน ทำหน้าที่ในการคิดค้นสูตรตำรับและผลิตยา รวมถึง อย. เองก็เป็นหน่วยงานที่มีเภสัชกรทำงานอยู่ หรือแม้กระทั่งดีเทลยา ก็ยังเป็นงานที่เภสัชกรสามารถทำได้เช่นกัน

ในมุมมองของพี่เอง พี่มองว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ “เกือบจะ” รู้จักอาชีพเภสัชกร คือก็รู้เรื่องบางเรื่องที่เภสัชกรทำ รู้ว่าไปจ่ายยาตามโรงพยาบาล รู้ว่าไปเปิดร้านขายยาได้ แต่ในขณะเดียวกัน อีกแง่มุมหนึ่งเช่นตามงานโรงงานต่าง ๆ ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักนัก สังเกตได้จากเวลาเราไปพบเจอญาติต่าง ๆ เมื่อเขารู้ว่าพวกเราเรียนคณะเภสัช ภาพที่พวกเขานึกถึงเป็นสิ่งแรกคือเภสัชกรในร้านขายยา พร้อมคำถามว่า “อยากเปิดร้านยาที่ไหนดี” เหมือนกับว่านั่นคือสัญลักษณ์ประจำวิชาชีพเภสัชไปแล้วเหมือนกัน

เนื้อความที่พี่อยากเอามาตีแผ่ก็มีเพียงเท่านี้ เป็นไงบ้างคะ ช่วยเรื่องมุมมองที่มีต่อคณะเภสัชบ้างหรือเปล่า ^^ แต่ก็นั่นแหละค่ะ สุดท้ายแล้วพี่ก็อยากจะบอกกับทุกคนว่าโลกของเภสัชเป็นโลกที่กว้างกว่าที่ใครหลายคนคิด ให้พี่เอามายัดลงในโพสต์เดียวคงไม่หมด ดังนั้นยังอยากมห้น้องลองศึกษาข้อมูลจากหลายทาง และนำมาประกอบการตัดสินใจเลือกทางเลือกของตัวเองให้ดีที่สุดกันนะคะ


Share this:

Posted in การเรียนเภสัช.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *