พี่เชื่อว่าน้องหลายคน คงเคยมี moment นี้
ตอนเช้าช่วงสายๆของวันปิดเทอมอันแสนสดใสในชีวิตมัธยมปลาย หรืออาจเป็นช่วงดึกๆของวันจันทร์ที่ตากำลังจะปิดหลังกลับมาจากเรียนพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นวันไหน หรือตอนไหนก็ช่าง มันจะมีคำถามหนักอกกวนใจอยู่ไม่กี่คำถาม “จะเรียนคณะไหนดี จะสอบติดหรือเปล่า” จากนั้นน้องก็เริ่มศึกษาหาข้อมูล เข้า google ค่อยๆหาข้อมูลคณะที่สนใจ พอถึงคณะเภสัชศาสตร์ น้องก็สะดุดกับคำว่า สาขาการบริบาลเภสัชกรรม/สาขาเภสัชกรรมอุตสาหการ หลังจากนั้น คำถามมากมายเริ่มผุดขึ้นมาในหัวน้อง
มันต่างกันยังไง(ฟร่ะ) ? คำถามแรกผุดขึ้นมา
ทำไมไม่เคยรู้มาก่อน ? คำถามสองตามมาติดๆ
ทำไมบางมหาวิทยาลัยเขียนว่าเภสัชศาสตร์เฉยๆ ไม่เห็นมีให้เลือกสาขาแยกเลย? คำถามสามเกิดขึ้น หลังจากนึกทบทวน
ตามด้วยคำถามที่ 4, 5, 6, 7, 8…….
เรียนต่างกันมากไหม? ทำงานข้ามสาขากันได้หรือเปล่า? สาขาไหนดีกว่ากัน? ……
ความเป็นมา (แบบย่อ)
ในสมัยก่อนโน้นเลย เค้าไม่ได้มีแบ่งเป็นแพทย์ เภสัช คนๆเดียว ทำทุกอย่าง ต่อมาเมื่อศาสตร์ความรู้มันกว้างขึ้น มากขึ้น คนๆเดียวเริ่มทำไม่ไหวละ จึงเกิดการแบ่งหน้าที่ คนนึงทำหน้าที่ตรวจวินิจฉัยและรักษา (แพทย์) ส่วนอีกคนทำหน้าที่ปรุงยา เตรียมยา ตามใบสั่ง (เภสัชกร) ตรงนี้เองทำให้เกิดการแบ่งวิชาชีพเป็นแพทย์กับเภสัชกร
ทั้ง 2 วิชาชีพนี้ เป็นวิชาชีพที่ได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็ว ส่วนนึงเกิดจากทั้ง 2 วิชาชีพนี้ ดึงเอาศาสตร์ต่างๆ เข้ามาหาตัวเอง อย่างเภสัชศาสตร์ ก็เป็นการรวมเอาศาสตร์ที่เกี่ยวกับยาทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าศาสตร์นั้นจะเป็นเรื่องทางด้านวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์ก็ตาม แต่ที่เด่นชัดและดึงเข้ามามากที่สุดคือวิทยาศาสตร์ทางด้านเคมี เพราะการปรุงยาในสมัยนั้นต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ ทางเคมีซะเป็นส่วนใหญ่
ต่อมา เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น การปรุงยา เตรียมยา เปลี่ยนจากการใช้คนเป็นการใช้เครื่องจักร เภสัชกรส่วนนึงพัฒนาตัวเองจากคนปรุงยาไปเป็นผู้ควบคุมดูแลการผลิต ส่วนเภสัชกรอีกส่วนนึงเอาตัวและหัวใจพร้อมกับความรู้ด้านเภสัชศาสตร์ที่มีอยู่เต็มหัว เดินเข้าไปในโรงพยาบาลเพื่อทำหน้าที่ดูแลการใช้ยาในผู้ป่วย ตรงนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของการแบ่งสาขาระหว่าง เภสัชกรรมอุตสาหการ กับ การบริบาลทางเภสัชกรรม
Pharm science vs. Pharm care
ก่อนพี่จะพูดต่อ พี่ขออธิบายก่อนว่า ก่อนหน้านี้เรารู้ว่าสาขาในกลุ่มวิชานี้คือ Pharm science หรือ Pharm care แต่ไม่ได้มีการนิยามคำศัพท์อย่างเป็นทางการ ทำให้แต่ละที่ แต่ละมหาวิทยาลัยเรียกไม่เหมือนกัน
Pharm science มีชื่อเรียกตั้งแต่ สาขาเภสัชการ, สาขาเภสัชกรรมอุตสาหการ, สาขาเภสัชศาสตร์, สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม, สาขาเภสัชกรรมอุตสาหการ, สาขาเภสัชกรการอุตสาหกรรม, สาขาเภสัชกรรม, สาขาเทคโนโลยีเภสัชกรรม ส่วน Pharm care มีชื่อเรียกทั้งสาขาการบริบาลทางเภสัชกรรม, สาขาเภสัชศาสตร์การบริบาล, สาขาเภสัชกรรมปฏิบัติ, สาขาเภสัชกรรมคลินิก, สาขาวิชาการบริบาล ต่อมาสภาเภสัชกรรมได้นิยามความหมายให้ชัดเจน และกำหนดชื่อเรียกที่ถูกต้องอย่างเป็นทางการว่า สาขา Pharm care ให้เรียกว่า สาขาการบริบาลทางเภสัชกรรม ส่วน Pharm science ให้เรียกว่า สาขาเภสัชกรรมอุตสาหการ แต่ก็ยังมีคณะเภสัชศาสตร์หลายแห่งที่ยังใช้ชื่อเรียกแบบเดิมกันอยู่ ดังนั้นถ้าเห็นชื่ออื่น อย่าง สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม ไม่ต้องงงนะครับ มันไม่ใช่สาขาใหม่แต่อย่างใด แต่มันคือสาขาเภสัชกรรมอุตสาหการนั่นแหละ
สำหรับความแตกต่างระหว่าง Pharm science กับ Pharm care นั้น ถ้าดูจากความเป็นมา น้องก็จะพอเดาได้ว่าพวก Pharm science เนี่ย ต้องเน้นไปทางด้าน การปรุงยา ผลิตยา วิจัยยา พัฒนาตำรับยา ประกันคุณภาพและควบคุมคุณภาพยา ส่วน Pharm care จะเน้นไปทางด้านดูแลการใช้ยาในผู้ป่วย เริ่มตั้งแต่การจัดซื้อ/จัดหายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ บริหารยา จัดการระบบยา ประเมินการใช้ยา รวมถึงการสืบค้นและให้ข้อมูลทางยาแก่ผู้ป่วยและบุคลากรด้านสุขภาพอื่นๆ
พี่อยากให้น้องลองนึกถึง chain cycle ของยานะครับ เพราะทุกๆขั้นตอนและกระบวนการของระบบยาทั้งหมด จะมีเภสัชกรเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่เสมอ
chain cycle และระบบยาคร่าวๆนะครับ (แบบละเอียดเดี๋ยวพี่อธิบายอีกทีตอนบทบาทเภสัชกรแล้วกันครับ)
เริ่มต้นเราก็ต้องวิจัยยา >>>>> ขึ้นทะเบียน >>>>> ผลิต >>>>> ควบคุม/ประกันคุณภาพ >>>> การตลาด >>>>> โรงพยาบาล/ร้านยา
ในส่วนของอุตสาหกรรมต้นน้ำเริ่มตั้งแต่วิจัยและพัฒนา ผลิต ควบคุม/ประกันคุณภาพ จะอยู่ในส่วนของ Pharm science
ในขณะที่อุตสาหกรรมปลายน้ำซึ่งเป็น interface ระหว่างเภสัชกรกับผู้ป่วย หรือ เภสัชกรกับวิชาชีพอื่น อย่างโรงพยาบาลหรือร้านยาจะอยู่ในส่วนของ Pharm care
ทีนี้จุดที่พี่ขออธิบายขยายความวิจัยยา ขึ้นทะเบียน และการตลาด เพราะเป็นจุดที่มีความก้ำกึ่งระหว่าง Pharm science และ Pharm care ครับ
วิจัยยา
การวิจัยยาหลักๆแล้วจะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่ทดลองในหลอดทดลองและในสัตว์ กับส่วนที่ทดสอบจริงในมนุษย์
การทดลองยาในหลอดทดลอง/สัตว์เนี่ย หากน้องอยากมาทำต้องจุดนี้ แน่นอนว่าต้องเป็น Pharm science แต่โลกแห่งการวิจัยไม่ได้มีกำแพงอะไรมาขวางกั้นนะครับ ไม่มีกฏหมายประเทศไหนเขียนไว้ว่าต้องจบเภสัชเท่านั้นถึงวิจัยยาได้ น้องจบวิทยาศาสตร์ก็มาทำตรงจุดนี้ได้ หากน้องมีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ ในส่วนของการวิจัยนี้สำคัญที่การเรียน ป.โท และ ป.เอก มากกว่า
สำหรับการวิจัยในส่วนของการทดสอบจริงในมนุษย์ ตรงนี้ทีมทำงานจะมีหลากหลาย ทำงานเป็นสหวิชาชีพ มีทั้งหมอ เภสัชกรพยาบาล และทีมนักวิจัยต่างๆ ในการทำงานวิจัยจะมีตำแหน่งนึงเรียกว่า CRA (Clinical Research Associate/Assistance) ทำหน้าที่ประสานงานการทำวิจัยตาม protocol ต่างๆ ซึ่งตำแหน่งนี้จริงๆไม่จำเป็นต้องจบเภสัชนะครับ ขอแค่ทำงานวิจัยทางคลินิกเป็น แต่ส่วนใหญ่แล้วคนทำด้านนี้ ก็จะเป็นหมอ เภสัช ไม่ก็พยาบาล ซะเป็นส่วนใหญ่ แน่นอนว่าหากน้องอยากทำงานตรงนี้ ความรู้และประสบการณ์ที่ได้ใช้ในทำงาน Pharm care จะค่อนข้างตรงสายกว่า Pharm science ครับ
ในส่วนของการวิจัยและพัฒนาตำรับยา อย่างพวก คิดส่วนผสมและสูตรยาต่างๆ เช่น คิดสูตรยาเม็ด หรือคิดสูตรครีม ตรงนี้จะเป็นในส่วนของ Pharm science ครับ
ขึ้นทะเบียน
จริงๆแล้วงานขึ้นทะเบียนใช้ความรู้ทั้งในส่วนของ Pharm science และ Pharm care ครับ อย่าง Part Quality ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสารเคมีต่างๆ ผลการทดสอบและผลการวิเคราะห์ การทดสอบความคงสภาพ ตรงนี้จะใช้ความรู้ในส่วนของ Pharm science เป็นหลัก คนที่จบ Pharm science จะได้เปรียบ ในขณะเดียวหากเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการทดลองทางคลินิกต่างๆ ก็จะใช้ความรู้ในส่วนของ Pharm care คนจบ Pharm care ก็จะเข้าใจและเตรียมเอกสารในส่วนนี้ได้ดีกว่า อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่เภสัชกรที่ทำงานด้านขึ้นทะเบียน จะเป็นเภสัชกรที่ทำงานตามโรงงานยา ซึ่งเภสัชที่ทำงานโรงงานยาร้อยละ 99 เป็น Pharm science ทำให้คนที่ทำงานด้านขึ้นทะเบียนส่วนใหญ่จบ Pharm science กันซะเป็นส่วนมาก และโรงงานในประเทศไทยมักทำยาแต่ยาที่หมดสิทธิบัตรแล้ว ซึ่งยาพวกนี้ไม่ได้ต้องการข้อมูลทางคลินิกที่ซับซ้อนอะไร แต่ถ้าหากบริษัทยานั้นเป็นบริษัทยาข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนยาใหม่ ต้องมีข้อมูลทางคลินิกเยอะๆ แล้วน้องต้องไปขึ้นทะเบียนยาตัวนั้น คนจบ Pharm care ก็จะได้เปรียบกว่าครับ
การตลาด
งานด้านการตลาดไม่สนใจว่าน้องจะจบ Science หรือจบ Care ครับ สายการเรียนแทบไม่มีผลเลย แต่อยากให้น้องดูนิดนึงว่ามหาวิทยาลัยที่น้องเรียนเค้าเอาสายการตลาดไว้เป็น sub ของสายไหนหรือเปล่า มันจะมีผลตอนน้องฝึกงานปี 6 ว่าสายการเรียนที่น้องเรียนนั้น สามารถฝึกงานในส่วนของเภสัชกรการตลาดได้หรือเปล่า
แม้ว่าเภสัชศาสตร์จะแบ่งเป็น 2 สาขา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำงานข้ามสาขากันไม่ได้เลย สำหรับรายละเอียดของการทำงานข้ามสาขาในปัจจุบันนี้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง พี่เขียนไว้แล้วในเรื่อง เภสัชกรทำงานข้ามสาขากันได้หรือเปล่า
การเรียน
ถึงแม้ว่าเภสัชศาสตร์จะแยกออกเป็น 2 สาขา แต่ในส่วนของวิชาพื้นฐานตั้งแต่ปี 1 ถึงปี 4 นั้น เรียนเหมือนๆกันหมด จะมาแตกต่างจริงๆก็ตอนปี 5 กับตอนปี 6 ซึ่งเป็นการฝึกงาน ดังนั้นไม่ว่าน้องจะเรียน Pharm science หรือ Pharm care ก็ตาม น้องต้องเรียนพื้นฐานของทั้ง 2 สาขา เหมือนกัน ต่างกันแค่วิชาเลือกเฉพาะสาขา และการฝึกงานเท่านั้น (อย่างไรก็ตาม ทุกสายบังคับฝึกงานโรงพยาบาลและร้านยาตอนปี 4 เหมือนกันหมด)
ในส่วนของเนื้อหาที่เรียนนั้นถ้าเป็น Pharm science จะเน้นหนักไปทางด้านเภสัชเวท (แหล่งของยา) เภสัชเคมี (เคมีของยา) เภสัชวิเคราะห์ (วิเคราะห์ยา) เภสัชการและเทคโนโลยีเภสัชกรรม (พัฒนาตำรับยา) ในส่วนของ Pharm care จะเน้นหนักไปทางด้านเภสัชบำบัด (โรคและการใช้ยาในผู้ป่วย) และวิชาทางเภสัชสาธารณสุขต่างๆ สำหรับรายละเอียดของแต่ละวิชา พี่เขียนไว้แล้วเรื่อง การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตั้งแต่ตอนที่ 2 เป็นต้นไป
พี่ลองทำรูปสรุปคร่าวๆ หวังว่าจะช่วยให้น้องเข้าใจได้ดีขึ้นนะครับ
Share this: