เภสัชกร ทำงานข้ามสาขา

เภสัชกรทำงานข้ามสาขากันได้หรือเปล่า

นั่นสิ ทำได้หรือเปล่า?

เรื่องนี้ถ้าจะให้เข้าใจจริงๆ ต้องอธิบายที่มาที่ไปของมันก่อน

เภสัชศาสตร์ หลักๆมีอยู่ 2 สาขา คือ เภสัชกรรมบริบาล (Pharm care) กับ เภสัชอุตสาหการ (Pharm science) ถ้าก่อนหน้านี้สัก 3-4 ปี บางที่เค้าจะเรียกเภสัชกรรมบริบาล ว่า สาขาเภสัชกรรมปฏิบัติ แล้วเรียกเภสัชอุตสาหการว่า สาขาเภสัชศาสตร์ ต่อไปพี่จะขอเรียกสั้นๆว่า Pharm care กับ Pharm sci นะครับ

ทีนี้พวก Pharm care ทำงานที่ไหนกันบ้าง หลักๆก็จะมีโรงพยาบาล กับร้านยา

มาพูดถึงฝั่งโรงพยาบาลกันก่อน

คืองานโรงพยาบาลร้อยละ 90 มันเป็นโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งในสมัยก่อนโน้นเลย เภสัชกรขาดแคลนมาก เค้าก็บังคับให้เภสัชกรใช้ทุน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะจบ Pharm sci หรือ Pharm care ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการทำงานโรงพยาบาลก่อน (เว้นแต่จะใช้ทุนด้วยเงินไปเลย) เมื่อ Pharm sci ต้องมาทำงานข้ามสาขา มันก็เป็นเหมือนโอกาสให้พิสูจน์ตัวเองว่า จบ Pharm sci ก็ทำโรงพยาบาลได้ พี่ๆ หลายๆคนที่จบ Pharm sci ก็มีผลงานและก้าวหน้าในวงการเภสัชกรรมโรงพยาบาล ทำให้ความคิดของเภสัชกรในโรงพยาบาล ค่อนข้างเปิดกว้าง และยอมรับความแตกต่างระหว่างสาขา

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่สัญญาของเภสัชกรเริ่มเปลี่ยนเป็นสัญญาผูกพันฝ่ายเดียว และได้เกิดหลักสูตรเภสัชศาสตร์ที่เรียน 6 ปี ขึ้น ซึ่งในช่วงแรกหลักสูตร 6 ปี จะมีแต่ Pharm care ในช่วงแรกๆที่เกิดหลักสูตร 6 ปี เลยนั้น เภสัช 5 ปี ก็ยังได้รับยอมรับมากกว่า 6 ปีนะครับ แต่พอเภสัชหลักสูตร 6 ปี ไปทำงานในโรงพยาบาลรัฐ ทำให้เวลาคิดเงินเดือน เทียบเท่าวุฒิ ป.โท มีความก้าวหน้าไวกว่า และเภสัชกร 6 ปี ก็เริ่มแสดงออกถึงความสามารถ ด้วยความที่มีชั่วโมงฝึกงานมาก ทำให้พร้อมทำงานได้ทันที อีกทั้งยังเปิดบทบาท และมิติใหม่ๆให้กับเภสัชกรโรงพยาบาลได้อีก ทำให้เภสัชกรหลักสูตร 6 ปี เริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้น พี่ๆในโรงพยาบาลหลายคน หากมีน้องมาสมัคร และคุณสมบัติใกล้เคียงกัน ก็มักพิจารณา 6 ปี ก่อน เพราะพร้อมทำงานมากกว่า ทำให้เภสัช Pharm sci ที่ตอนนั้นมีแต่หลักสูตร 5 ปี ค่อยๆถูกกันออกจากงานโรงพยาบาลไปทีละนิด

แต่อย่างไรซะ งานเภสัชกรโรงพยาบาล หลักๆก็ยังเป็นโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งข้อกำหนด เค้าค่อยระบุสาขาหรอกว่าต้องเป็น Pharm sci หรือ Pharm care (แต่ Pharm care มักได้เงินเดือนมากกว่าและก้าวหน้าไวกว่า) ทำให้คนจบ Pharm sci มีช่องทางเข้าไปทำงานในโรงพยาบาลรัฐเรื่อยๆ อย่างตอนจับฉลากใช้ทุน เค้าก็ไม่แบ่ง Pharm sci หรือ Pharm care ใครจับฉลากได้ ก็ได้บรรจุเป็นข้าราชการเลย น้องๆที่จบ Pharm sci จะเสียเปรียบ Pharm care ก็ตอนที่โรงพยาบาลรับสมัครคนของเค้าเอง ตรงนี้ Pharm care มักได้รับการพิจารณาก่อน แต่ถ้าน้องเข้ามาโดยการจับฉลากใช้ทุน หรือสอบ ก.พ. เข้ามา เรื่องสาขาไม่ค่อยมีผลอะไรนัก แต่มีผลต่อความก้าวหน้าในระยะยาว บางที่น้องๆ Pharm care จะได้โอกาสในการทำงานที่ยากกว่าและเปิดบทบาทการทำงานในหน้าที่ใหม่ๆ ส่วน Pharm sci อาจต้องอยู่แต่ OPD แต่ทั้งนี้ มันก็เป็นเฉพาะโรงพยาบาล และขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละโรงพยาบาล (แต่เอาจริงๆนะ ถ้าโรงพยาบาลรับเองอ่ะ มีเส้นกับ ผอ.รพ. มีชัยไปกว่าครึ่ง)

ในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนนั้น มักไม่ค่อยแบ่ง Pharm sci กับ Pharm care เท่าไร อันที่จริงเภสัชกรโรงพยาบาลเอกชนหลายๆแห่งมี turn over rate สูง เพราะบางคนก็ทำไปก่อน เพื่อรอการทำงานในโรงพยาบาลรัฐ และหลายๆแห่งไม่ได้ดึงศักยภาพของ Pharm care ออกมาใช้อย่างเต็มที่ ขอแค่ทำงานในส่วนที่เค้าต้องการได้ก็พอ ทำให้เค้ารู้สึกว่า Pharm care กับ Pharm sci ไม่ค่อยต่างกัน อย่างไรก็ดี หากน้องจบ Pharm care โดยตรง ก็ยังมีภาษีดีกว่า Pharm sci อยู่ดีในตอนสมัครงาน

กล่าวโดยสรุปก็คือ Pharm sci สามารถทำงานในโรงพยาบาลได้ เพราะคนจบ Pharm sci หลายคน ก็สามารถทำผลงานได้ดีในวงการเภสัชกรโรงพยาบาล ทำให้ Pharm sci ยังได้รับการยอมรับ และมีช่องทางในการเข้าไปทำงานในโรงพยาบาลเรื่อยๆ อย่างไรก็ดี ตำแหน่งงานเภสัชกรในโรงพยาบาลของรัฐไม่ได้ขาดแคลนมากมายเท่าแต่ก่อน หากโรงพยาบาลมีโอกาสคัดคนด้วยตัวเองก็มักเลือก Pharm care ก่อน และความก้าวหน้า โอกาสเติบโต ของคนที่จบ Pharm care โดยตรงก็ยังมีภาษีดีกว่าคนจบ Pharm sci

มาดูทางฝั่งร้านยากันบ้าง

ทางฝั่งร้านยา หากน้องเปิดร้านยาเอง ไม่ว่าสาขาไหนก็เปิดได้อยู่แล้ว ไม่มีปัญหา แต่ถ้าน้องไปสมัครงาน น้องต้องเข้าใจว่าตลาดงานของเภสัชกรในร้านยา หรือที่รู้จักกันในชื่อ เภสัชกรชุมชน ยังขาดแคลนค่อนข้างมาก เพราะร้านยา Chain store ใหญ่ๆของไทยเร่งขยายการเปิดสาขาใหม่ๆ ทำให้ต้องการเภสัชกรไป fill ตามร้านต่างๆมาก อีกทั้งเภสัชกรร้านยาต่างๆ ก็มี turn over rate สูง เพราะหลายๆคนอยู่ร้านยาไปก่อนเพื่อรอทำงานในโรงพยาบาล และงานร้านยามันอยู่ก้ำกึ่งระหว่างธุรกิจกับจรรยาบรรณ ดังนั้นร้านยาไหนที่เน้นไปทางด้านธุรกิจมากกว่าคุณธรรมและความถูกต้อง ก็จะมีคนลาออกบ่อย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ทำให้ร้านยาต่างๆแทบจะไม่สนใจว่าน้องจบ Pharm sci หรือ Pharm care ขอแค่น้องมาทำงานให้เค้า ให้เค้ามีเภสัชกรประจำร้าน และทำยอดตามเป้าที่เค้าต้องการได้ เค้าโอเคหมด

สำหรับ Pharm sci นั้น งานจะค่อนข้างหลากหลายมาก แต่ขนาดของตลาดงานยังสู้เภสัชกรโรงพยาบาล และร้านยาไม่ได้ งานที่ได้ทำงานตรงสายของ Pharm sci ก็จะเป็นงานในอุตสาหกรรมยาเป็นหลัก (Production, QC, QA, R&D, ขึ้นทะเบียน) ซึ่งในอุตสาหกรรมยา หลักๆเลยก็จะเป็นโรงงานยา

งานในโรงงานยา

โรงงานยาของไทยทุกวันนี้(บางที่)ขาดแคลนเภสัชกรค่อนข้างมาก (คือเอาตรงๆนะ มันไม่ได้ขาดเพราะไม่มีคนเข้าไป แต่มันขาดเพราะ คนเข้าไปได้สักพัก แต่อยู่ไม่ได้ ก็ลาออก) อย่างไรก็ดี พี่ๆที่ทำงานโรงงานยาไม่ได้ open เรื่องสาขาที่จบ เท่า พี่ๆ เภสัชกรโรงพยาบาล เพราะว่าน้อยมากที่คนจบ Pharm care จะมาทำงานในโรงงานยา และหากได้มาทำ ก็มักทำได้ไม่นาน (แม้แต่จบ Pharm sci อยู่ได้นานเกิน 6 เดือน ก็ถือว่าเก่ง และถ้าอยู่ได้ ก็จะอยู่ยาวไปได้อีก 3-4 ปี เลย และหากอยู่ได้เกิน 3 ปี มักจะอยู่กัน 10 ปีขึ้นเลยทีนี้) และคนที่จบ Pharm care แล้วมาประสบความสำเร็จในวงการโรงงานยา น้อยมาก แทบไม่มี ถ้าให้พี่นึก ตอนนี้พี่ก็นึกออกอยู่สองคน ทำให้พี่ๆในโรงงานยากลัวมากคือ กลัวน้องทำไม่ได้ และทำได้ไม่ทน เวลาพี่ๆในโรงงานยาสัมภาษณ์งาน จะดูอยู่ไม่กี่อย่างคือ จบสายการเรียนอะไร เรียนวิชาอะไรมาบ้าง ทำโปรเจคเรื่องอะไรมา ฝึกงานที่ไหนมาบ้าง หากไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยาเลย โอกาสได้งานของน้องจะค่อนข้างน้อยมาก คือถ้าได้งานอาจจะเป็นจังหวะที่ไม่มี candidate ที่จบมาทาง sci โดยตรงมาสมัครพอดี แล้วต้องเป็นช่วงที่พี่ๆเค้าพร้อมสอนงานพอดี หรือไม่ก็อาจจะโดนกดเงินเดือนไปเลย

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าน้องที่จบ Pharm care หรือน้องที่จบ Pharm sci แต่ไปทำโรงพยาบาลซะนาน จะหมดโอกาสทำงานในโรงงานยาไปซะทีเดียว เอาจริงๆช่องทางก็มีพอมี อย่าง พี่อาร์ท ที่เป็น QA Manager ที่ R.X. manufacturing อยู่ในขณะนี้ พี่เค้าก็ผ่านการทำงานโรงพยาบาลมาก่อนถึง 3 ปี ก่อนจะค่อยๆเปลี่ยนมาทำงานทางด้าน R&D และ QA ในที่สุด แต่ในยุคของพี่อาร์ทนั้นต้องบอกว่าช่วงนั้นยังบังคับให้เภสัชกรใช้ทุน (แต่ช่วงนั้น ถ้าใครอยากทำงานโรงงานจริงๆ โรงงานมักจองตัวไว้ แล้วออกเงินค่าใช้ทุนให้เลย) ดังนั้นการที่ไปทำงานโรงพยาบาลมาก่อนจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ หรือในโรงงานยาที่เป็นของราชการอย่าง โรงงานเภสัชกรรมทหาร (หรือรัฐวิสาหกิจอย่าง GPO) หากน้องสอบเข้าไปได้ น้องก็เข้าไปทำงานได้  (เพราะเค้าไม่ได้กำหนดสาขาที่จบ) แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานในโรงงานเภสัชกรรมทหารเอง ก็ไม่ได้จบตรงสายอย่าง เคมี หรือ ไมโคร เพราะเค้ากำหนดแค่วุฒิวิทยาศาสตร์ ทำให้มีคนจบสิ่งแวดล้อม ฟิสิกส์ คอมพิวเตอร์ ก็เข้าไปทำงานได้ หากสอบเข้าไปได้ อย่างไรก็ดี ขึ้นชื่อว่าหน่วยงานราชการ ก็อาจจะมีเรื่องของเส้นสายเข้ามาบ้าง เป็นเรื่องปกติครับ

อีกคนนึงที่พี่เจอว่าทำมาทางด้านโรงพยาบาลมาก่อน แล้วมาทำโรงงานและค่อนข้างประสบความสำเร็จ คือพี่วาสที่ ASP ซึ่งตอนนี้ขึ้นเป็น Production Manager แล้ว (หรือตอนนี้อาจจะไปถึง Senior Production Manager แล้วด้วย)

จริงๆ ถ้าอยากย้ายสายงานมาทำโรงงานจริงๆ อาจจะไปเก็บ profile ที่ GPO ก่อนก็ได้ครับ เพราะถ้าย้ายมาทำเอกชนโดยไม่มี profile อะไรเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยาเลยเนี่ย มันใช้ดวงด้วยค่อนข้างเยอะอ่ะ จังหวะต้องดี แล้วต้องเจอพี่ที่(ว่าง)พร้อมสอนงานพอดี แล้ว GPO มันเปิดรับเภสัชแทบจะตลอดทุกปี (และหลายๆตำแหน่งมีคนสมัครน้อยกว่าจำนวนตำแหน่งที่เปิดด้วย) ทำให้เข้าไปได้ค่อนข้างง่าย แล้วพี่ๆในนั้นมีคนจบทางคลินิกหลายคนด้วย ทำให้เค้าไม่ค่อยซีเรียสเรื่องสายการเรียนกัน แบบหาคนมาช่วยได้ก็พอใจละ แต่ก็มีบางแผนกเหมือนกันที่พี่เค้าซีเรียสเรื่องสายการเรียน คือตอนพี่อยู่ที่ GPO มีกองนึงที่คนจบสายแคร์มาสมัคร โดนตีตกหมดเลย ไม่ว่าจะกี่รอบๆ (ไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้ยังเป็นแบบนี้อยู่ไหมนะ) เลยคิดว่าพี่ๆในกองนั้นค่อนข้างอยากได้คนเป็นงานมาระดับนึง แต่ว่าคนที่ตกที่กองนั้นก็ได้ตำแหน่งที่กองอื่นนะ (คือ GPO มันสมัครทีนึงได้หลายตำแหน่ง มันก็ได้ตัวจริงสักตำแหน่งนึงแหละ) ถ้าอยากทำที่กองนั้นจริงๆ ก็แนะนำว่าสมัครตำแหน่งอื่นไปก่อน แล้วค่อยทำเรื่องย้ายมากองนั้นทีหลังก็ได้ครับ เพราะ GPO มันทำเรื่องย้ายได้

หากจะให้พี่กล่าวโดยสรุปก็คือ หากน้องจบ Pharm care แล้วไปทำงานของ Pharm sci ในทางทฤษฎีน่ะ เป็นไปได้ แต่ในทางปฏิบัติ ค่อนข้างยากทีเดียว น้องอาจต้องหาวิธีชุบตัวเองก่อน เช่น เรียนต่อ ป.โท เกี่ยวกับ Pharm sci หรือทำงานด้าน Pharm sci ในหน่วยงานราชการที่เค้าไม่ได้ระบุสาขาที่จบตอนรับเข้า เพื่อหาประสบการณ์ไปก่อน ก็ทำให้น้องพอมีโอกาสที่จะย้ายสายงานได้สำเร็จครับ

แล้วงานอื่นๆละ

งานอื่นๆของเภสัชกร เช่น ผู้แทนยา, product manager, อย., กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, สสจ., ศูนย์วิจัย พวกนี้ สายการเรียนไม่ค่อยมีผลครับ อย่างถ้าเป็นงานทางด้านการตลาดอย่าง ผู้แทนยา, product manager เค้าจะดูที่บุคลิกและ Performance ของน้องเป็นหลักมากกว่าสายการเรียน ส่วนงานราชการอย่าง อย., กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, สสจ. ถ้าน้องสอบเข้าไปได้ สายการเรียนก็ไม่ค่อยมีผลมาก ยกเว้นงานเฉพาะทางอย่าง กองยา ที่ต้องตรวจดู GMP ของโรงงานต่างๆ แบบนี้ คนที่จบสาย sci และทำงานโรงงานมาก่อน ก็จะมีเครดิตดีกว่าครับ

ในอนาคตจะเป็นอย่างไร

ในอนาคตจะเป็นอย่างไรพี่ตอบไม่ได้ จริงๆจุดเด่นของเภสัชกรคือความหลากหลาย แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป เราต้องการความเฉพาะทางมากขึ้น ก็ทำให้เริ่มมีแนวความคิดเกี่ยวกับการแยกปริญญาของทั้ง 2 สาขา ซึ่งจะนำมาสู่การแยกใบประกอบในอนาคต หรือในทุกวันนี้ ก็มีแนวความคิดที่ว่า ยังไม่แยกปริญญาและใบประกอบ แต่ให้เภสัชกรที่จบจากสาขาที่ต่างกัน ได้สอบใบประกอบด้วยข้อสอบคนละชุดกัน เป็นต้น ดังนั้น อนาคตก็คือเรื่องของอนาคต เพราะแนวคิดพวกนี้ก็มีทั้งคนสนับสนุนและคัดค้าน ถ้าหากมีการแยกปริญญาและแยกใบประกอบขึ้นมาจริงๆเมื่อไร การทำงานข้ามสาขาก็จะเป็นเรื่องยากมากขึ้นอย่างแน่นอนครับ


Share this:

Posted in บทความ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *