รู้ทันภาวะใจตนกับ The 5 stages of grief

เวลานี้เป็นช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้าของประเทศไทย แต่มันก็ทำให้พี่นึกถึงเรื่องนึง เรื่องที่อาจารย์คณะแพทย์เคยพูดผ่านๆ ตอนปี 2 ไม่รู้อะไรดลใจให้จังหวะนั้นตื่นมาฟังอาจารย์พูดพอดี (ก่อนหน้านี้ หลับตลอด) จริงๆ เรื่องนี้เราเรียนกันไปเพื่อให้รู้เท่าทันเวลาผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยได้รับข่าวร้าย หรือมีอะไรกระทบกระเทือนจิตใจรุนแรง เพื่อจะได้เข้าใจปฏิกิริยาตอบสนองของผู้ป่วยหรือญาติที่ได้รับข่าวร้ายเหล่านั้น

The 5 stages of grief

5 Stages of Grief มีที่มาจากหนังสือเรื่อง “On Death and Dying” ของ Elsabeth Kubler-Ross ที่พูดถึงภาวะของคนที่กำลังจะตาย หรือรับรู้ว่าตัวเองต้องตายแน่ๆแล้ว โดยคุณหมอ Kubler-Ross ได้นำเสนอ Kübler-Ross Model ซึ่งเป็นกระบวนการของมนุษย์ที่จะจัดการกับความโศกเศร้าและความทุกข์ใจอย่างร้ายแรง โดยแรกเริ่มนั้นมุ่งเน้นไปที่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ไม่มีทางรักษา และกำลังจะเผชิญหน้ากับความตาย ต่อมา Model นี้จึงกลายมาเป็น 5 Stages of Grief  และถูกนำไปใช้อธิบายในวงกว้างมากขึ้น คือไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะผู้ป่วยระยะสุดท้าย แต่ขยายไปถึงการใช้ในการอธิบายผู้ที่สูญเสียของรัก หรือเผชิญความผิดหวังร้ายแรงในช่วงอารมณ์ที่เปราะบางของชีวิต เช่น การตกงาน, การสูญเสียเสรีภาพ เป็นต้น

5 Stages of Grief อธิบายว่าเมื่อคนเราเผชิญความผิดหวัง เผชิญข่าวร้าย ตกอยู่ในความโศกเศร้า จะต้องผ่านช่วงเวลา 5 ช่วง โดยแต่ละช่วงจะใช้เวลาไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับกระบวนการจิตใจของแต่ละคน ช่วงเวลา 5 ช่วงได้แก่

1. Denial (ปฏิเสธ)

ช่วงนี้ คือ ช็อค รับไม่ได้ ปฏิเสธว่าไม่จริง คนที่อยู่ในภาวะนี้ จะพูดประมาณว่า “ไม่จริง” “เรื่องนี้เป็นเรื่องโกหก” “เป็นแค่ข่าวลวง” “กำลังเล่นมุกอยู่ใช่ไหม” ประมาณนี้ครับ

2. Anger (โกรธ)

ช่วงนี้ คือ โกรธ อารมณ์เห็นใครทำอะไรก็ผิดไปหมด คนที่ติดอยู่ในขั้นนี้นั้นน่ากลัวที่สุด เพราะโกรธได้หมด โกรธได้อย่างไม่มีขีดจำกัด โทษได้ทุกคนไม่ว่าจะเป็น เพื่อน หมอ ครอบครัว ไม่เว้นแม้แต่ฟ้าดิน หรือพระเจ้า ส่วนมากญาติคนไข้เวลาผิดหวังกับผลการรักษาและเกิดการด่าทอหมอ ฟ้องร้องหมอเป็นคดีความ ก็เพราะยังติดอยู่ในขั้นนี้เป็นส่วนใหญ่ หรือบางคนทำธุรกิจล้มละลายก็จะโทษเศรษฐกิจ โกรธรัฐบาล ไม่เว้นแม้แต่หุ้นส่วน หรือเพื่อนร่วมงาน พี่ว่าช่วงนี้ที่ล่าแม่มดกันหนักๆ เพราะหลายๆ คนก็ยังติดอยู่ในขั้นนี้เหมือนกัน

3. ฺBargaining (การต่อรอง)

Bargaining จะเป็นการต่อรองกับตัวเอง โดยมักเป็นการต่อรองกับตัวเองในอดีต ในการต่อรองนั้นจะมีลักษณะว่า ในอดีตตนเองนั้นทำผิดไป อยากย้อนกลับไปแก้ไขความผิดพลาดของตัวเองในอดีต เช่น
“ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ จะไปทำสิ่งนี้”
“ถ้าตอนนั้นได้ทำแบบนี้ วันนี้ก็คงไม่เป็นแบบนี้”
“ฉันยอมทำทุกอย่าง เพื่อให้สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นแค่ฝันร้าย”
“ถ้าวันนั้นฉันตัดสินใจไปตรวจ วันนี้ก็คงไม่เป็นแบบนี้”
“ถ้าได้อ่านหนังสือสอบตั้งแต่วันนั้น วันนี้ก็คงไม่เป็นแบบนี้”

4. Depression (เศร้า)

เมื่อพบความจริงว่าเรานั้นย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีตไม่ได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือความเศร้าโศกเสียใจ คนที่อยู่ในขั้นนี้จะมีอาการซึมเศร้า หมดแรง มองโลกในแง่ลบ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ อยากตาย ความเศร้าและความว่างเปล่าจะแทรกซึมอยู่ในอณูของความคิด อย่างไรก็ตาม ระยะเศร้านี้ไม่ได้หมายความว่าคนนั้นเป็นโรคซึมเศร้า เป็นเพียงอาการเศร้าเพราะจิตใจตอบสนองต่อการสูญเสีย และเป็นกระบวนการปกติที่จะเกิดขึ้นในการเยียวยารักษาจิตใจ อย่างไรก็ตามหากคนนั้นไม่สามารถหลุดออกจากช่วงนี้เป็นเวลานานกว่าคนปกติทั่วไป แสดงว่ากระบวนการทางจิตใจเริ่มมีปัญหา หากปล่อยทิ้งไว้นานเกินไปก็อาจเป็นโรคทางจิตเวชได้

5. Acceptance (ยอมรับ)

ระยะนี้เป็นระยะที่เราสามารถยอมรับสิ่งเลวร้ายนั้นๆได้แล้ว สามารถยอมรับความจริง พร้อมที่จะเผชิญสิ่งที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามระยะนี้ไม่ได้หมายความเรา “โอเค” กับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่หมายความว่าเราสามารถยอมรับสิ่งร้ายๆที่เกิดขึ้นนั้นได้แล้ว

เรารู้เรื่อง 5 Stages of Grief ไปทำไม

หากเราทำงานในโรงพยาบาล การบอกข่าวร้ายกับใครสักคนคงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เข้าสักวัน ดังนั้นการที่เราเข้าใจว่าคนเรานั้นกว่าจะยอมรับเรื่องร้ายๆนั้นได้ เค้าต้องผ่านช่วงเวลาไหนบ้าง ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจและรู้เท่าทันความรู้สึกของคนๆนั้น อย่างตอนนี้มีข่าวการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หากน้องสังเกตดูคอมเม้นต่างๆในโลก social ก็จะพบว่าอารมณ์ของใครยังอยู่ขั้นไหนใน 5 ขั้นนี้บ้าง และถ้าจำเป็นเราก็ต้องช่วยเค้า หากเค้าติดอยู่ในขั้นใดขั้นนึงนานเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ เช่น ญาติคนไข้กำลังโกรธ หากเค้าติดอยู่ขั้นนั้นเป็นเวลานาน ก็มีโอกาสสูงที่จะเกิดการฟ้องร้อง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม มนุษย์แต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทั้งในแง่ของประสบการณ์ที่เคยผ่านมาและเรื่องราวที่ต้องประสบ ดังนั้นลำดับขั้นอาจไม่ได้เรียงตามนี้เป๊ะ และอาจมีการข้ามขั้นกันเกิดขึ้นครับ (หรืออาจเกิดขั้นนั้นสั้นมาก จนไม่รู้สึกว่ามีขั้นนั้นเกิดขึ้น)

ปล. เห็นช่วงนี้ใช้คำว่าล่าแม่มดผิดกันเยอะ คำว่าล่าแม่มดมีที่มาจากสมัยยุโรปยุคกลางซึ่งมีการกล่าวหาว่าคนธรรมดาเป็นแม่มด และคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดจะต้องถูกนำไปเผา ดังนั้นการล่าแม่มดจึงหมายถึงการใส่ร้ายคนดีว่ามีความผิด รวมถึงการลงโทษคนดีที่ไม่ได้ทำอะไรผิด อย่างเช่นมีคนไม่ได้ใส่เสื้อดำ เพราะเสื้อเค้าหมด แต่ก็มีคนถ่ายรูปแล้วเอามาประจานลง social media แบบนี้เรียกล่าแม่มด แต่ถ้าคนๆนั้นด่าในหลวง แล้วมีคนไปทำร้ายร่างกายคนนั้น แบบนี้ไม่เรียกว่าล่าแม่มด เพราะคนนั้นทำผิดจริงๆ แต่คนนั้นก็ไม่สมควรถูกทำร้ายร่างกาย ดังนั้นต้องเรียกว่า บันดาลโทสะ หรือทำเกินกว่าเหตุมากกว่า

five-stages-of-grief

รูปภาพจาก http://www.thepositiveencourager.global/wp-content/uploads/2014/10/Slides-Managing-Setbacks.004.png


Share this:

Posted in บทความ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *