“ทักษะการใช้ภาษาไทย” สิ่งสำคัญที่ใครหลายคนเผลอมองข้าม

สวัสดีค่ะ วันนี้แอดมินมาพร้อมกับคอนเทนต์ใหม่ที่ไม่ได้เจาะจงกับคณะเภสัชศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่นี่เป็นปัญหาที่แอดมินเจอ และคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ควรเอามาเขียนเป็นบทความเผยแพร่ให้ทุกคนได้อ่านกันสักหน่อย

ด้วยความที่คณะเภสัชศาสตร์เป็นคณะที่มีเอกสารประกอบการเรียนเป็นภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ การใช้ภาษาอังกฤษ ถ้าไม่ติดปัญหาเรื่องภาษาตั้งแต่แรก ก็ไม่ค่อยมีอะไรน่าห่วง แต่กลับกัน สิ่งที่น่าห่วงกลับกลายเป็นการใช้ภาษาไทยไปซะได้

ตลอดการเรียนในคณะเภสัชศาสตร์มา แอดมินแก้ไขเรื่องการใช้ภาษาในงานของเพื่อนมามากมาย ทั้งปัญหาการสะกดคำผิด การเว้นวรรคระหว่างคำภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ การใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ ไปจนถึงการเปลี่ยนฟอนต์ของงานให้เป็นฟอนต์ทางการ หรือแม้กระทั่งการจัดหน้ากระดาษรายงานต่าง ๆ
ที่เห็นชัดที่สุดคือ ไม้ยมก (ๆ) มีคนสังเกตหรือเปล่าคะว่าทุกครั้งที่แอดมินพิมพ์ใช้ไม้ยมก แอดจะเว้นหน้าหลัง นี่คือหลักการเว้นวรรคของไม้ยมกที่ถูกต้องค่ะ
สิ่งเหล่านี้อาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยที่เหมือนจะไม่ค่อยสำคัญในการเรียน แต่แอดบอกตามตรงว่า การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องเป็นหนึ่งใน soft skills ที่สำคัญ ที่จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพ (Professional) ในการทำงานของเรา แอดเชื่อว่าจะต้องมีใครหลายคนที่หงุดหงิดกับการใช้ภาษาไทยผิด ๆ ในรูปเล่มรายงานที่เป็นทางการ และใช่ค่ะ แอดก็เป็นหนึ่งในนั้น 😥

เนื้อหาในรูปเล่มรายงาน ถึงจะดูดีมีประเด็นขนาดไหน แต่ถ้าการใช้ภาษาไทยผิด รูปแบบความเป็นทางการของรายงานหาย หรือมีการจัดย่อหน้าที่ไม่ถูกต้อง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่จะลดทอนคุณค่าของรูปเล่มรายงานลงอย่างไม่น่าเชื่อเลยล่ะค่ะ

จบประเด็นเรื่องการพิมพ์ไปแล้ว มาที่การพูดกันบ้าง

ปัญหาการสื่อสารด้วยการพูดภาษาไทยที่แอดมินเจอ คือปัญหาเรื่องการใช้ “ระดับภาษา” ค่ะ หลายคนพรีเซนต์งานทางการด้วยภาษาในระดับภาษาพูด ซึ่งสิ่งนี้เป็นอีกอย่างหนึ่งที่จะลดทอนความเป็นมืออาชีพและคุณค่าในการนำเสนองานของเราเป็นอย่างมาก

ระดับภาษาที่ใช้ในการพรีเซนต์ที่เหมาะสม แอดมินว่าอย่างน้อยที่สุดควรเป็นภาษาระดับ “กึ่งทางการ” ค่ะ

การพรีเซนต์งานด้วยระดับภาษากึ่งทางการคืออะไร คือการที่เราพรีเซนต์งานด้วยภาษาในระดับที่พรีเซนต์กับอาจารย์ หรือผู้มีคุณวุฒิต่าง ๆ ไม่ใช่กำลังสอนการบ้านเพื่อนให้เข้าใจกัน…แอดคิดหาประโยคตัวอย่างนานมาก แต่สารภาพว่าคิดไม่ได้ค่ะ 55555 บางทีของแบบนี้มันต้องไปอยู่หน้างาน แล้วถ้าเกิดมีการพรีเซนต์งานโดยใช้ภาษาระดับไม่เหมาะสมเกิดขึ้น มันจะตกใจและตะหงิดใจขึ้นมาเอง

ไม่ว่าจะเป็นรูปประโยค คำที่เลือกใช้ หรือน้ำเสียง ทั้งหมดนั่นคือสิ่งที่จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพและความไหลลื่นของการพรีเซนต์งานได้ทั้งหมด
ขอย้ำอีกสักครั้งว่า รายละเอียดเหล่านี้ ถึงจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ก็เป็นเรื่องสำคัญนะคะ อาจารย์ระดับมหาลัยหลายท่านเขาไม่มานั่งสั่งแก้งานหรือจ้ำจี้จ้ำไชการใช้ภาษาไทยหรือรายละเอียดยิบย่อยของรูปเล่มรายงานให้นักศึกษาแล้ว (ถึงมีก็น้อยมาก) แต่โผล่มาอีกทีอาจเป็นการหักคะแนนโดยที่เราไม่รู้ตัวเลยก็ได้
สิ่งที่แย่ที่สุดคือเมื่อเราไม่รู้ว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องผิด แล้วปล่อยให้ความผิดพลาดเหล่านี้ติดตัวไปเรื่อย ๆ จนถึงชั้นปีที่สูงขึ้น หรือไปถึงระดับของชีวิตการทำงาน เราไม่มีทางรู้เลยค่ะว่าอะไรจะตามมาบ้าง ทางที่ดีคืออย่าให้มันไปถึงขั้นนั้นเลยนะ 😭

สุดท้ายนี้ แอดขอแนบลิงค์เป็นเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ว่าด้วยการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องใช้ทุกคนลองไปศึกษาดูยามว่างนะคะ
.
.
.
.
ระดับภาษา: https://www.trueplookpanya.com/learning/detail/34242

การเว้นวรรคเครื่องหมายวรรคตอนต่าง ๆ: http://www.thailibrary.in.th/2012/10/29/punctuation-mark/

การจัดรูปเล่มรายงาน: https://www.pingidea.com/th/FrontPagesAction.do?method=openPage&pageId=20&fbclid=IwAR1UqzwAzwOwkZcHz0UmD8xDUerrPCOhkaGmTR9SifenYRPsy2mETNTeyKc (หมายเหตุ: น่าจะเป็นข้อมูลเก่า ฟอนต์ทางการที่ถูกต้องที่ใช้กันในตอนนี้ คือฟอนต์ไทยสารบัญ ไม่ใช่ Angsana New นะคะ)

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน สำหรับตรวจสอบคำผิดในการใช้ภาษาไทย: https://dictionary.orst.go.th/

พจนานุกรม สำหรับตรวจสอบการสะกดคำทับศัพท์ที่ถูกต้อง: https://transliteration.orst.go.th/search


Share this:

Posted in เรื่องเล่า.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *