เมื่อมีน้องมาถามพี่ว่า เภสัชศาสตร์ กับ เภสัช-วิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง ต่างกันยังไง

ก่อนอื่น ต้องออกตัวก่อนว่า พี่เป็นเภสัชกร ไม่รู้เหมือนกันว่าวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางเค้าเรียนอะไรกันบ้าง ดังนั้นพี่จึงขอตอบเท่าที่พี่รู้นะครับ

พี่ดูจากหลักสูตรของ มน. http://admin.pha.nu.ac.th/Documents/curriculum/cosmetic22032012.pdf ก็พบว่า จริงๆแล้ว มันก็คือ ยาที่ตัดตัวยาออกฤทธิ์ (active) ออกไปดีๆนี่เอง (แต่ใส่ active ของเครื่องสำอางมาแทน) ถ้าให้เทียบกับหลักสูตรของเภสัช 6 ปี ก็เหมือนกับเนื้อหาในส่วนของอุตสาหการที่โดนตัดตัวยาออกไป แล้วก็ตัดเนื้อหาส่วนของคลินิกออกไปเกือบหมด เหลือแต่พื้นฐานของการทำงานของร่างกายมนุษย์ที่เกี่ยวกับด้านเครื่องสำอาง เช่น biochem, physiology (สังเกตุว่าวิชาพื้นฐานทางคลินิกที่เกี่ยวกับโรคอย่าง pathology, parasite โดนตัดออกไปเลย)

วิชาหลักๆ ที่อยู่เหลืออยู่ มันก็คือวิชาของอุตสาหการเวอร์ชันตัดตัวยาออกดีๆนี่เอง แต่พี่เข้าใจว่า ในการเรียน เวลาเรียนจริงๆ คงเน้นคนละแบบ อย่างเภสัช สมมติยาครีม เราจะสนใจว่า ยานั้นจะต้องคงสภาพ นำส่งยาเข้าสู่เป้าหมายที่ต้องการได้ แต่ของเครื่องสำอาง เราคงต้องไปเน้นเรื่อง texture ของเนื้อครีมมากขึ้น สัมผัสแรกของการใช้ สี กลิ่น (ยาจะไม่ได้โฟกัสเรื่องนี้มากเท่าไร อารมณ์ประมาณว่าเน้นดูว่าผลลัพธ์สุดท้าย ในขณะที่เครื่องสำอางต้องพิจารณาเรื่องความพึงพอใจของผู้ใช้มากกว่า)

นอกจากนี้ function ระหว่างยากับเครื่องสำอางก็ต่างกัน อย่างเช่น ยา หลักๆเรา function หลักๆคือ รักษา แต่เครื่องสำอางเราใช้เพื่อทำความสะอาด ขัดผิว พอกตัว ระงับกลิ่น บำรุงผิว กันแดด น้ำหอม ดังนั้นแง่มุมในการพิจารณาเพื่อตั้งตำรับ ย่อมแตกต่างกัน เพราะ function ที่จะนำไปใช้ ไม่เหมือนกัน

หรือประเด็นเรื่องราคา เครื่องสำอาง คงต้องมองในมุมธุรกิจมากกว่า เช่น ทำเรทราคาตามลูกค้ากลุ่มต่างๆ แต่ถ้าเป็นเภสัชจะสนใจเรื่องต้นทุนประสิทธิผลอะไรพวกนี้แทน

อีกประเด็นนึง ที่น้องต้องเข้าใจคือ ถึงแม้ว่า สาขาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง หลายๆที่จะอยู่ในคณะเภสัชศาสตร์ แต่ว่าใช้เวลาเรียน 4 ปี และจบมาแล้วได้วุฒิ วท.บ. ซึ่งไม่สามารถสอบใบประกอบวิชาชีพเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกสภาเภสัชกรรมได้ ไม่เหมือนเภสัชที่เรียน 6 ปี และจบมาแล้วได้วุฒิ ภ.บ. นะครับ

เพื่อความเข้าใจมากขึ้น ขอยกตัวอย่างรายวิชาหลักๆในหลักสูตรนี้

1. การตั้งตำรับเครื่องสำอาง

วิชานี้ จะบอกว่าเป็นร่างอวตาลของวิชาอย่าง Pharm Tech, Ceutics หรือ Formulation ของเภสัชก็ได้ แต่เข้าใจว่าประเด็น แง่มุม รายละเอียดในการตั้งตำรับนั้นแตกต่างกันอย่างที่อธิบายไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่พี่คิดว่าในส่วนของเทคนิคการตั้งตำรับไม่น่าจะแตกต่างกันมากนัก

2. เคมีวิเคราะห์ในวิทยาศาสตร์เครื่องสําอาง

ถ้าให้เทียบกับรายวิชานี้กับเภสัช ก็คงเหมือนกับวิชาอย่าง QC หรือ Analysis เพียงแต่เปลี่ยนจากวิเคราะห์ยาเป็นเครื่องสำอาง แต่พี่ว่า มันก็ไม่เหมือนกันซะทีเดียว ยกตัวอย่าง หากน้องจะวิเคราะห์ยาสักตัว น้องสามารถไปเปิดเภสัชตำรับอย่าง USP BP มาใช้ได้เลย แล้วทำตามนั้น หากน้องไปเอาวิธีอื่นนอกเภสัชตำรับมาใช้ ชีวิตน้องจะวุ่นวายมากๆ กว่า อย. และหน่วยงานตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพอื่นๆจะโอเคกับวิธีของน้อง แต่เครื่องสำอาง น้องจะเอาวิธีจากไหน แน่นอนว่าใน USP ไม่มีวิธีวิเคราะห์ครีมชาเขียว ครีมหอยทากแน่นอน แล้วน้องจะวิเคราะห์ยังไงล่ะ? >>> ไม่รู้ ถามคนเรียนเครื่องสำอางแล้วกัน

ปล.ถึง USP จะไม่มีวิธีวิเคราะห์ครีมชาเขียว แต่ USP มีวิธีวิเคราะห์ Powdered Decaffeinated Green Tea Extract นะเฟ้ย

ทั้งนี้ เวลาทำงานจริง ปัญหามันก็คนละแบบ อย่างของยา คือต้องวิเคราะห์เยอะ ตรวจนู่นตรวจนี่เต็มไปหมด แต่ของเครื่องสำอาง ไม่มีบังคับนะครับ บังคับอย่างมากก็แค่ตรวจเชื้อ แต่ถ้าไม่วิเคราะห์เลย จะมั่นใจได้ยังไงว่าเครื่องสำอางเรามีคุณภาพ ฝ่ายผลิตไม่ใส่สารผิดๆถูกๆมาให้ มีปัญหาขึ้นมา แบรนด์พังนะครับ ที่อุตส่าห์ปั้นมากว่าแบรนด์จะเกิดได้ พังหมด แต่คำถามคือ จะวิเคราะห์อะไร สารตัวไหน และจะวิเคราะห์หัวข้อไหนบ้าง (ไม่วิเคราะห์เลย หรือวิเคราะห์แค่บางอัน เกิดผู้บริโภคมีปัญหาขึ้นมา ซวยอีก แล้วจะเลือกยังไงดี ในขณะที่ทุกการวิเคราะห์การทำให้ต้นทุนสูงขึ้น  พี่ว่าอันนี้สิยาก)

3.จุลชีววิทยาทั่วไป

วิชานี้ ถ้าเป็นเภสัช จะโฟกัสไปที่จุลินทรีย์ก่อโรคเป็นหลัก ส่วนเภสัชจะได้เรียนจุลินทรีย์อีกที ก็ตอน QC ที่ต้องหาเชื้อในยา กับทดสอบประสิทธิภาพของสารกันเสียในยา ซึ่งจะอิงตามตำรายาโดยเฉพาะ USP เป็นหลัก

แต่ในของวิทย์เครื่องสำอาง พี่ไม่แน่ใจว่าพวกวิธีต่างๆเค้าอิงตามอะไร อาจจะอิงตาม ISO อะไรพวกนี้ แต่ถ้าอิงตามคำอธิบายรายวิชาก็พูดถึงโครงสร้างและหน้าที่ของเซลล์จุลินทรีย์อาหาร การเจริญและการสืบพันธุ์ เมตาบอลิสึม วิธีการควบคุมจุลินทรีย์ การจดหมวดหมู่และพันธุศาสตร์ อะไรพวกนี้นะ เหมือนเรื่องทั่วๆไปของจุลินทรีย์

ความคงตัวและการรักษาความคงสภาพของผลิตภัณฑ์เครื่องสําอาง

การศึกษาความคงสภาพ อันนี้ถ้าเป็นยาเราจะอิงตามพวก ASEAN Guideline หรือ ICH เป็นหลัก

ทีนี้มาดูในคำอธิบายรายวิชาของวิทย์เครื่องสำอาง เขียนว่า

“การนําเอาอุณหพลศาสตร์ และจลนศาสตร์มาอธิบายกลไกการเสื่อมสลายของสารสําคัญในตํารับเครื่องสําอางศึกษากลไกการสลายตัวของสารสําคัญทั้งในการศึกษาความคงตัวแบบระยะยาวและในภาวะเร่ง และปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการเสื่อมสลายของสารสําคัญ เพื่อประยุกต์ใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสําอางให้มีความคงตัว”

สิ่งที่แตกต่างจากยา อย่างแรกมีพูดถึงการนําเอาอุณหพลศาสตร์ และจลนศาสตร์มาอธิบายกลไกการเสื่อมสลายของสารสําคัญในตํารับด้วย คือถามว่ายาเอามาใช้ไหม ตอบว่า เอามาใช้เหมือนกันครับ แต่ว่าไม่ได้ยึดเป็นสรณะ เอาไว้แค่ประเมินคร่าวๆเฉยๆ เพราะปัจจุบัน guideline ทุกอันของยา บอกว่าจะคำนวณอุณหพลศาสตร์ และจลนศาสตร์มายังไง ก็ต้องศึกษา shelf life จริงอยู่ดี (ในขณะที่เครื่องสำอางตามกฏหมายกำหนดอายุให้เลย 3 ปี แต่จะกำหนดน้อยกว่านั้นก็ได้)

อย่างที่สอง ข้อกำหนดต่างๆของเครื่องสำอาง น่าจะมีความแตกต่างของยา ซึ่งของยา อย่างที่บอกไปแล้วว่ายึดตาม ASEAN Guideline หรือ ICH เป็นหลัก แต่เครื่องสำอางพี่ไม่รู้เหมือนกันว่ายึดตามอะไรเป็นหลัก

ส่วนเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความคงตัว พี่ว่าหลักการยากับเครื่องสำอางน่าจะคล้ายๆกัน แต่ว่ามีความแตกต่างกันที่รายละเอียด

ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่ใช้ในเครื่องสําอาง

อันนี้ถ้าเป็นเภสัชจะโฟกัสไปที่ยาหรือเภสัชภัณฑ์ที่ได้จากธรรมชาติ และเคมี+โครงสร้างของสารประกอบเหล่านั้น แล้วมาศึกษาต่อว่ามันมีฤทธิ์ทางยายังไง

ซึ่งในเครื่องสำอาง พี่อ่านจากคำอธิบายรายวิชาแล้ว พี่ว่าคล้ายๆกับของยา แต่เน้นที่เอามาใช้กับเครื่องสำอางแทน

กฎหมายและจริยธรรมทางวิทยาศาสตร์เครื่องสําอาง

อันนี้ถ้าเป็นเภสัช เราจะได้เรียน พรบ.ของผลิตภัณฑ์สุขภาพและกฏหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะ ยา เครื่องสำอาง อาหาร วัตถุอันตราย แต่ว่าจะลงลึกถึงกฏหมายลูกละเอียดๆ โดยเฉพาะพวกกฏกระทรวงต่างๆแค่ยาเพียงอย่างเดียว

แต่ในส่วนของวิทย์เครื่องสำอางนั้น จะโฟกัสที่ตัว พรบ.เครื่องสำอาง รวมถึงกฏหมายลูกของเครื่องสำอางเป็นหลักเลย นอกจากนี้ยังเรียนกฏหมายทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น  วัตถุอันตราย ยา การโฆษณา ทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิบัตร แนวคิดเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค

ส่วนเรื่องจริยธรรมของเภสัช เภสัชจะมีกฏหมาย พรบ.วิชาชีพเภสัชกรรม และข้อบังคับสภาเภสัชกรรม
ว่ด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม ส่วนของเครื่องสำอางในหลักสูตรเขียนไว้ว่า จริยธรรมในการประกอบอาชีพ ซึ่งพี่ไม่รู้เหมือนกันว่า จะเป็นยังไงบ้างนะ เพราะของเภสัชมันมีสภาวิชาชีพอยู่แล้ว เลยเขียนไว้ชัดเจนกว่า

หลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตและการตรวจสอบความถูกต้องของกระบวนการผลิต

อันนี้ จะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ หลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต หรือ GMP กับ การตรวจสอบความถูกต้องของกระบวนการผลิต หรือ Process Validation

ในส่วนของ GMP ยากับเครื่องสำอางจะไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นยาจะอิงตาม GMP PIC/s ตามลิ้งนี้ แต่ของเครื่องสำอางอิงตาม ASEAN COSMETIC GMP ตามลิ้งนี้

ส่วนการตรวจสอบความถูกต้องของกระบวนการผลิต หรือ Process Validation ของยาจะอิงตาม ASEAN Guideline หรือ ICH เป็นหลัก แต่ของเครื่องสำอางเค้ายึด guideline ตัวไหนเป็นหลักพี่ไม่รู้เหมือนกันครับ

ความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์เครื่องสําอาง

อันนี้ concept หลักๆคล้ายๆกับยาครับ แต่พวกข้อกำหนดต่างๆในการประเมิน ระยะเวลาในการทดสอบความปลอดภัยในเฟสต่างๆ อันนี้ไม่เหมือนกันยา

การประเมินผลิตภัณฑ์เครื่องสําอาง

อันนี้ ถ้าเป็นการประเมินผลิตภัณฑ์ยา จะทำกันยาวนานมากครับ ตั้งแต่ทดลองในหลอดทดลอง เสร็จแล้วมาทดลองในสัตว์ทดลอง เสร็จแล้วก็มาทดสอบในคนอีก 4 Phase กว่าจะได้ยามา ใช้เวลา 10-15 ปี เป็นอย่างน้อย

แต่ในเครื่องสำอาง เค้าทดสอบประสิทธิภาพกันในหลอดทดลองกันเป็นหลัก ส่วนในสัตว์ทดลองแต่ก่อนมีเยอะ แต่หลังๆคนแอนตี้กันเยอะ แล้วทำให้ภาพลักษณ์แบรนด์เสียด้วย หลายๆแบรนด์ก็เลยเลิกทดลองในสัตว์ทดลองกัน ส่วนการทดสอบในมนุษย์ถ้าเป็นยาจะมีข้อกำหนด มีจริยธรรมอะไรวุ่นวายมาก แต่ของเครื่องสำอางจะไม่ได้กำหนดละเอียดขนาดนั้น จะฟีลเหมือนแจก tester ไปทดลอง แล้วดู feedback ว่าเป็นยังไง แล้วเก็บ feedback ไปพัฒนาต่อ อะไรแบบนี้ ความยากของเครื่องสำอางน่าจะเป็นการให้ได้มาซึ่งข้อมูลความพึงพอใจของผู้บริโภคจริงๆมากกว่า

การพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสําอาง

อันนี้พี่อ่านดูแล้ว เหมือนวิชาพวก Phartech หรือ Pharmaceutics ของเภสัช เด๊ะๆเลย

ส่งท้าย

เป็นยังไงบ้างครับ อันนี้พี่ตอบในมุมของเภสัชเป็นหลัก เพราะพี่ไม่เคยเรียนวิทย์เครื่องสำอาง แต่คิดว่าน่าจะช่วยให้น้องๆเห็นภาพคร่าวๆมากขึ้น ว่าสาขาวิทย์เครื่องสำอาง กับสาขาเภสัชศาสตร์นั้น แตกต่างกันอย่างไรบ้าง


Share this:

Posted in บทความ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *