ไม่ได้จบเภสัช เปิดร้านขายยาได้ไหม

เห็นมีบางคนมีความฝันอยากจะเปิดร้านขายยา แต่ไม่ได้เป็นเภสัชกร แบบนี้จะสามารถเปิดร้านขายยาได้ไหม

คำตอบ คือ “ได้ครับ” เพราะตัวร้านยานั้น มี 2 ส่วน คือ ผู้รับอนุญาต (ก็คือเจ้าของร้านนั่นเอง) กับอีกส่วนคือ ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ (ก็คือเภสัชกร แต่ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการกับผู้รับอนุญาตอาจจะเป็นคนๆเดียวกันก็ได้ ถ้าเจ้าก็เป็นเภสัช) ดังนั้นถ้าหากจ้างผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ (เภสัช) ให้ถูกต้องตามกฏหมาย ปฏิบัติตามกฏหมาย พรบ.ยา และ ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง การกําหนดเกี่ยวกับสถานที่ อุปกรณ์ และวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชนในสถานที่ขายยาแผนปัจจุบันตามกฎหมายว่าด้วยยา (GPP) ก็สามารถเปิดร้านยาได้ ไม่มีปัญหาอะไร

ถ้าไม่มีความรู้เรื่องยา จะเปิดร้านยาได้ไหม?

พูดกันตามตรง เราทำธุรกิจอะไร หากเราอยากประสบความสำเร็จในธุรกิจนั้น เราก็ควรมีความรู้ ความเข้าใจในธุรกิจนั้น อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีธุรกิจที่มี solution ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้สามารถเปิดร้านขายยาได้ง่ายขึ้น ตั้งแต่รับจัดและตกแต่งร้านให้ถูกต้องตามข้อกฏหมาย รับทำเอกสารต่างๆที่ต้องมีตามกฏหมาย ไปจนถึงรับทำบัญชีธุรกิจสำหรับร้านขายยาก็มี ดังนั้นการเปิดร้านขายยาจึงง่ายกว่าแต่ก่อนมาก เพราะมีธุรกิจที่มี solution มาอำนายความสะดวกให้หมด ถ้าเรามีเงินจ่าย ก็แก้ปัญหาด้วยเงินได้

แต่นั่นก็เป็นเพียงตัวช่วยส่วนนึง ไม่ได้การันตีความสำเร็จหลังจากเปิดร้านไปแล้ว ดังนั้นเจ้าของจึงควรมีความรู้ความเข้าใจในตัวธุรกิจค้าปลีกยาบ้าง รวมถึงข้อกำหนดทางกฏหมายต่างๆที่เจ้าของควรทราบ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหลังจากเปิดร้านไปแล้ว

ถ้าการเปิดร้านขายยามันง่ายขนาดนั้น ทำไมบางคนจึงเปิดไม่ได้?

ปัญหาหลักๆของร้านยาเดี่ยว กรณีที่เจ้าของไม่ใช่เภสัชเลยก็คือ หาเภสัชกรประจำร้านไม่ได้ พูดกันตามตรงก็คือ ปัจจุบันค่าจ้างเภสัชกรร้านยา ราคาค่าตัวพุ่งสูงไปมาก โดยตอนนี้ขึ้นไปอยู่แถวๆ 4-5 หมื่นบาทต่อเดือนกันแล้วสำหรับร้านยาเชน แล้วอย่าลืมว่าร้านยาเชนนั้น มีทั้งสวัสดิการ ตำแหน่ง ความก้าวหน้า ความยืดหยุ่นในการทำงาน ดังนั้นร้านยาเดี่ยวซึ่งมีสิ่งจูงใจน้อยกว่าร้านยาเชนอยู่แล้วจึงหาเภสัชได้ยาก อาจต้องหาจุดเด่น หรือสิ่งจูงใจอย่างอื่น สำหรับร้านไหนขายดีมากๆ อาจสู้ด้วยเงินเดือนที่มากกว่า แต่อย่าลืมว่าร้านยาเดี่ยวส่วนใหญ่ ต้นทุนและทำเล ไม่ได้เหนือกว่าร้านยาเชนด้วยซ้ำ จะมาสู้ด้วยค่าจ้างที่สูงกว่าก็จะเป็นภาระเรื่องต้นทุน

นอกจากภาระเรื่องต้นทุนแล้ว ร้านยาเดี่ยวที่เจ้าของไม่ได้เป็นเภสัชยังเสียเปรียบร้านยาเดี่ยวที่มีเจ้าของเป็นเภสัชเองเรื่อง การเข้าร่วมโครงการต่างๆ ที่มักมีเงื่อนไขต่างๆที่ต้องเป็นร้านที่เภสัชอยู่เองถึงเข้าร่วมได้ หรือไม่ก็บังคับอ้อมๆ เช่น ต้องมีเภสัชอยู่ตลอดเวลาทำการที่เปิดร้านหรือต้องมีทุกวัน หรือต้องมีเภสัช stand by คอย counseling ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการตลอด ซึ่งในทางปฏิบัติหากไม่ใช่ร้านที่เจ้าของเป็นเภสัชเองก็แทบไม่ผ่านเงื่อนไข เพราะถ้าจ้างเภสัชมาอยู่ร้าน ก็มักต้องมีวันหยุด หรือกำหนดเวลาทำงานชัดเจนอยู่แล้ว ทำให้ไม่ผ่านเงื่อนไขจึงไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ไปโดยปริยาย

เราสามารถแก้ปัญหาการหาเภสัชกรไม่ได้ ด้วยการหาใบเภสัชมาแขวนป้ายได้ไหม?

ความจริง เรื่องเภสัชแขวนป้าย ผิดกฏหมายมาตั้งแต่ พ.ศ. 2510 ที่ พรบ.ยา ประกาศใช้มาแล้ว ซึ่งมีความผิดใน พรบ.ยา หลายข้อ ซึ่งเดี๋ยวจะพูดต่อไปในภายหลัง แต่ว่ามันมาเข้มข้นขึ้นหลังมี ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง การกําหนดเกี่ยวกับสถานที่ อุปกรณ์ และวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชนในสถานที่ขายยาแผนปัจจุบันตามกฎหมายว่าด้วยยา (GPP) ซึ่งทำให้การแขวนป้ายทำได้ยากขึ้น เพราะมีข้อกำหนดเรื่องการทำบัญชี ที่ผู้หน้าที่ปฏิบัติการต้องเซนต์ มีการสุ่มตรวจตรวจร้านเป็นประจำทุกปี (ในทางปฏิบัติอาจมียกเว้น เป็นปีเว้นปี สำหรับร้านที่ได้คะแนนดีๆ หรือช่วงที่มีโควิด บางจังหวัดก็ยกเว้นการตรวจ หรือใช้การตรวจแบบ desktop คือเปิดกล้องตรวจจากระยะไกล และส่งเอกสารมาให้ผู้ตรวจอ่าน)

นอกจากนี้ตอนต่อใบอนุญาตขายยาประจำปี ก็มีข้อกำหนดเรื่องต้องผ่าน GPP ของปีนั้นๆ ต้องมีใบรับรองแพทย์เภสัช และอื่นๆบลาๆๆๆ ทำให้เภสัชแขวนป้ายทำได้ยากขึ้นเรื่อยๆ และประเด็นที่สำคัญที่สุดเลยก็คือ เรื่องการตีความ พรบ.ยา มาตรา 14 ว่าหากร้านยาไม่มีเภสัชกรอยู่ตลอดเวลาตามความเป็นจริงแล้วถือว่าขาดคุณสมบัติการเป็นผู้รับอนุญาตขายยาหรือไม่ หากถือว่าขาดคุณสมบัติก็เป็นเหตุให้เพิกถอนใบอนุญาตขายยาได้ กรณีนี้เดิมทีมีการตีความมาตรา 14 (9) ซึ่งใช้ถ้อยคำว่า “มีผู้ที่จะปฏิบัติการ…” จะดูแค่ว่ามีชื่อเภสัชกรหรือไม่ ถ้ายังมีชื่อเภสัชกรอยู่ก็ไม่ถือว่าขาดคุณสมบัติผู้รับอนุญาตขายยา (ดังนั้นไปหาชื่อเภสัชคนไหนมาแขวนก็ได้) จึงไม่สามารถสามารถเพิกถอนใบอนุญาตขายยาได้ (ส่วนกรณีที่อาจจะเข้าข่ายขาดคุณสมบัติผู้รับอนุญาตขายยา เช่น เภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการคนเดิมลาออกจากการเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ แล้วผู้รับอนุญาตไม่สามารถหาเภสัชกรคนใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ได้ในเวลาที่กำหนด) เมื่อจะใช้ช่องทางการไม่ต่ออาบุใบอนุญาตขายยา หากพิจารณาตามกฏกระทรวงฉบับเดิมคือ กฏกระทรวงฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2525) ออกความใน พรบ.ยา 2510 กลับไม่ระบุว่าผู้รับอนุญาตกระทำแบบใดผู้รับอนุญาจจะไม่ต่ออายุใบอนุญาต ผู้อนุญาตจึงไม่กล้าใช้ดุลพินิจในกรณีนี้ แต่พอ GPP ออกมาบังคับใช้ กลายเป็นว่าหากวันที่ไปสุ่มตรวจเจอว่าไม่มีเภสัชกรประจำร้าน พอถึงตอนต่อใบอนุญาตประจำปี จะสามารถตีความตาม พรบ.ยา มาตรา 14 ว่าไม่มีเภสัชกรอยู่ตลอดเวลาเป็นเหตุให้ยึดและเพิกถอนใบอนุญาตร้านยานั้นได้เลย

และเราจะเห็นได้ว่าหลังปี 2557 ที่ GPP บังคับใช้ เราแทบไม่เห็นร้านยาเปิดใหม่เป็นร้านยาแขวนป้ายเลย (หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้มาเพื่อแขวนป้ายเต็มตัวแต่แรก เช่น มีเภสัชตลอดเวลาทำการที่ขออนุญาตจริง แต่นอกช่วงเวลาขออนุญาตก็แอบเปิดร้านด้วย) แต่ร้านยาเก่าๆ เราจะยังเห็นเยอะอยู่ เพราะได้รับการยกเว้น GPP 8 ปี จึงยังใช้ใบเภสัชเก่าๆมาแขวนป้ายยาวๆได้อยู่ แต่ว่าปี 2565 นี้ จะครบกำหนด 8 ปีแล้ว ร้านเก่าๆที่แขวนป้ายก็เริ่มเกิดปัญหาเหมือนกัน มีความพยายามจะรวมตัวกันเพื่อให้เลื่อนการบังคับใช้กฏหมายนี้ออกไป ก็ต้องรอดูต่อไป แต่เบื้องต้นเหมือนจะขอเลื่อนไม่สำเร็จ

พูดกันตามตรง ที่ร้านยาเก่าๆ มีปัญหากับ GPP เยอะ ส่วนนึงเพราะร้านยาเก่าๆ บางส่วนเป็นร้าน ข.ย.2 ที่ขายได้แต่ยาบรรจุเสร็จ (ข.ย.2 ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการไม่ต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพก็ได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการอบรมตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 ซึ่งปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว ไม่มีแล้ว ดังนั้นไม่สามารถไปอบรมเพื่อเปิดร้านขายยา ข.ย. 2 ได้อีกแล้ว) แต่ความจริงคือแอบขายยาอันตราย และ/หรือยาควบคุมพิเศษด้วย เพราะพูดกันตามตรงถ้าขายแต่ยาสามัญประจำบ้าน กับยาบรรจุเสร็จ ในทางธุรกิจจริงๆ มันก็อยู่ไม่ได้หรอก ทีนี้ พอร้าน ข.ย. 2 จะโดนตรวจ GPP ก็เลยพลอยซวยไปด้วย เพราะยาที่ห้ามขายเต็มร้าน ซึ่งตามหลักการจริงๆแล้วต้องสุ่มตรวจ ก็ไม่รู้ว่าจะต้องคอยเอาไปซ่อนวันไหนอีก กลายเป็นลำบากขึ้นเยอะ

ถ้าเปิดร้านโดยไม่มีเภสัช หรืออื่นๆมีโทษอะไรบ้าง?

ถ้าเปิดร้านโดยไม่มีเภสัชเลยแต่แรกคงไม่ได้ เพราะตอนขออนุญาตต้องมีใบเภสัชและตัวเภสัชไปขอเปิดอยู่แล้ว (เว้นแต่จะเป็นร้านยาเถื่อนไปเลย คือไม่ขออนุญาตเปิดร้านตั้งแต่แรก อันนี้จะมีความผิดตามมาตรา 12 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท นอกจากนี้จะถูกริบยา และเครื่องมือ/อุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดทั้งหมดให้แก่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อทำลายหรือจัดการตามที่เห็นสมควร) แต่พอเปิดไปแล้วเภสัชไม่อยู่ร้านจริงๆ เรียกว่าแขวนป้ายนั้นแหละ จะมีบทลงโทษที่จะกล่าวถึงดังต่อไปนี้ แต่ไหนๆก็พูดถึงบทลงโทษทั้งที ขอพูดถึงบทลงโทษทั้งหมดเลยแล้วกัน (ทำผิดกรณีใดๆก็ตาม รวมทั้งความผิดที่เกี่ยวข้องกับการมี/ไม่มีเภสัช) จะได้ครบถ้วนไปเลยทีเดียว

โทษของผู้รับอนุญาต (เจ้าของ)

อย่างแรกที่ต้องรู้คือ ตามมาตรา 16 ของ พรบ.ยา 2510 ระบุไว้ว่า “ให้ถือว่าการกระทำของลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้รับอนุญาตที่ได้รับการคุ้มกันตาม วรรคหนึ่ง เป็นการกระทำของผู้รับอนุญาตด้วย เว้นแต่ผู้รับอนุญาตจะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการสุดวิสัยที่ตนจะล่วงรู้หรือควบคุมได้” ดังนั้นถ้าเภสัช ลูกจ้าง หรือผู้ช่วยประจำร้าน ทำผิดอะไร เจ้าของจะต้องโดนด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าสิ่งนั้นสุดวิสัยที่จะล่วงรู้หรือควบคุมได้จริงๆ

  1. ถ้าขายยานอกสถานที่ในใบอนุญาต (เว้นแต่เป็นการขายส่ง) หรือขายไม่ตรงประเภทใบอนุญาต เช่น ขอขายยาสัตว์ แต่ไปขายยาคน หรือขายยาอันตราย/ยาควบคุมพิเศษให้กับร้าน ข.ย.2 หรือย้ายสถานที่ขายยาโดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษปรับ 2 พันบาท ถึง 5 พันบาท
  2. ไม่จัดให้มีเภสัชกรประจำอยู่ตลอดเวลาที่เปิดทำการ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือปรับไม่เกิน 5 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับเป็นรายวันอีกวันละ 5 ร้อยบาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
  3. ถ้าขายยาภายหลังจากใบอนุญาตสิ้นอายุแล้วไม่ได้ต่ออายุใบอนุญาตต้องระวางโทษปรับเป็นรายวันวันละ 100 บาท ตลอดเวลาที่ใบอนุญาตขาดอายุ
  4. ไม่จัดร้านและทำบัญชีตามที่ระบุในมาตรา 26 ของ พรบ.ยา  หรือระบุไว้ในกฏกระทรวง หรือขายยานอกเวลาทำการที่ขออนุญาตไว้ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 2 พัน ถึง 1 หมื่นบาท
  5. ถ้าใบอนุญาตสูญหายหรือถูกทำลายแล้วไม่ได้แจ้งและขอรับใบแทน  ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 พันบาท
  6. ไม่แสดงใบอนุญาตของตนและเภสัชกร ณ ที่เปิดเผยเห็นได้ง่ายในสถานที่ขายยา ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 พันบาท
  7. เมื่อมีการเปลี่ยนตัวเภสัชประจำร้าน ถ้าไม่แจ้งเปลี่ยน หรือ เภสัชลาออกแล้วไม่แจ้งภายใน 7 วัน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 พันบาท
  8. ถ้าเลิกกิจการแล้วไม่แจ้งภายใน 15 วัน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 พันบาท
  9. ถ้าขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษตอนเภสัชไม่อยู่ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1 พัน ถึง 5 พันบาท (เคยมีคดีความ ประมาณว่า ตอนนั้นเภสัชไม่อยู่ก็จริง ผู้รับอนุญาตเปิดร้านแต่ไม่ได้ขายสักหน่อย ไม่น่าเป็นความผิด ผู้รับอนุญาตยื่นอุทธรณ์สู้คดี ผลคือศาลตัดสินว่า นิยามการขาย หมายถึง “การมีไว้เพื่อขายด้วย” ดังนั้น แค่ตั้งยาไว้เฉยๆในร้าน ก็ถือว่าเป็นการขายแล้วตาม พรบ.ยา)
  10. กรณีเภสัชประจำร้านไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวได้ไม่เกิน 60 วัน เช่น วันหยุด ลาหยุด หรือป่วย ถ้าไม่แจ้งว่าจัดให้เภสัชคนไหนมาปฏิบัติหน้าที่แทนในวันดังกล่าวบ้าง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
  11. สุดท้ายอย่าลืมว่าลูกจ้าง เช่น เภสัช หรือผู้ช่วย ทำผิด เจ้าของจะต้องรับผิดชอบด้วย เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าสิ่งนั้นสุดวิสัยที่จะล่วงรู้หรือควบคุมได้จริงๆ
  12. กรณีพบว่าผู้อนุญาตทำผิด พรบ.ยา หรือกฏกระทรวงอื่นๆที่ออกภายใต้ พรบ.ยา สามารถถูกพักใช้ใบอนุญาตครั้งละไม่เกิน 120 วัน หรือถ้ามีการฟ้องร้องต่อศาลสามารถพักใช้ใบอนุญาตได้จนกว่าคำพิพากษาจะสิ้นสุด
  13. ถ้าผู้รับอนุญาตขาดคุณสมบัติตามมาตรา 14 ของ พรบ.ยา 2510 สามารถถูกเพิกถอนใบอนุญาตได้
  14. ถ้าขายยาระหว่างใบอนุญาตถูกพักใช้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท 

โทษของผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ (เภสัช)

  1. กรณีลาออก หรือไม่ได้เป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการที่ร้านแล้ว ถ้าไม่แจ้งภายใน 7 วัน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 ร้อยบาท
  2. หากเภสัชกรไม่ประจำอยู่ ณ สถานที่ขายยาตลอดเวลาที่เปิดทำการ หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 39 (เก็บ, ขาย, ทำบัญชี, ฉลาก, ส่งมอบยาอันตรายและควบคุมพิเศษ)  ต้องระวางโทษปรับ 1 พัน ถึง 5 พันบาท
    หมายเหตุ: กรณีไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่แต่ปิดม่านตาม GPP จริงๆช่วยได้แค่ว่า จะไม่โดนโทษเรื่องการขาย เพราะการขายตามนิยาม หมายรวมถึง “การมีไว้เพื่อขาย” ด้วย ก็คือแค่ตั้งโชว์ไว้ในร้านเฉยๆก็ถือว่าเป็นการขายแล้ว ดังนั้นถ้าเราปิดม่าน ก็ถือว่าเป็นการบดบังไม่แสดงให้เห็นว่าเรามีไว้เพื่อขายนั่นเอง (ต้องไม่ได้ขายจริงๆนะ เพราะถ้าขายจริงก็ช่วยไม่ได้อยู่ดี ซึ่งตรงนี้จะเซฟประเด็นเรื่องการขาย โดยเฉพาะการขายยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ ทั้งตัวเภสัช ผู้รับอนุญาต และลูกจ้างที่อยู่ร้าน ณ ตอนนั้น) อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ ถ้าเภสัชออกไปทำธุระข้างนอกชั่วคราว เช่น ไปกินข้าว ไปเข้าห้องน้ำ แบบนี้ แล้วในระหว่างออกไปทำธุระปิดม่านเอาไว้อย่างถูกต้อง ก็มักไม่ได้คาดโทษอะไรกัน 
  3. ถ้าเภสัชกรคนไหนที่ไม่ได้ที่ไม่ได้มีชื่อเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการทำหน้าที่แทนผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการต้องระวางโทษปรับ 1 พัน ถึง 5 พันบาท (ในทางปฏิบัติกรณี part time ต้องแจ้งก่อนโดยใช้แบบ จภก.1)
  4. นอกจากนี้หากเภสัชกรทำผิด จะมีโทษทางจรรยาบรรณด้วย ซึ่งที่ผ่านๆมา หากไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในร้านยา สภาเภสัชกรรมมักลงโทษพักใช้ใบประกอบ 6 เดือน ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของความผิดด้วย หากทำผิดหลายกระทง หรือทำผิดแบบเดิมซ้ำๆหลายที หรือแขวนป้ายพร้อมกันหลายๆร้าน สภาเภสัชกรรมก็จะลงโทษรุนแรงมากขึ้นไปเรื่อยๆ จาก 6 เดือน เป็น 9 เดือน 12 เดือน 18 เดือน 24 เดือน จนถึงเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพ อย่างไรก็ ล่าสุด สภาเภสัชกรรมได้มีประกาศแจ้งเตือนว่าต่อไปนี้โทษพักใช้ใบอนุญาตของการแขวนป้ายจะเพิ่มเป็น 2 ปี

โทษของผู้ช่วยเภสัชกรหรือลูกจ้างคนอื่นในร้าน

  1. หากลูกจ้างขายยาแทนในระหว่างที่เภสัชไม่อยู่ร้าน มีความผิดมาตรา 28 แห่ง พรบ.วิชาชีพเภสัชกรรม ที่ระบุไว้ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมทําการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมหรือแสดงด้วยวิธีใดๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ

โทษอื่นๆ

  1. ถ้ามีการขายยาปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-20 ปี และปรับตั้งแต่ 2 พัน ถึง 1 หมื่นบาท ถ้ากระทำโดยไม่รู้ว่าเป็นยาปลอม ปรับตั้งแต่ 1 พัน ถึง 5 พันบาท
  2. ถ้าขายยาผิดมาตรฐาน หรือยาที่ถูกเพิกถอนทะเบียนตำรับ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 5 พันบาท ถ้ากระทำโดยไม่รู้ว่ายานั้นมาตรฐานหรือถูกเพิกถอนทะเบียนตำรับ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท
  3. ถ้าขายยาที่ทะเบียนตำรับถูกยกเลิก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้ากระทำโดยไม่รู้ว่ายานั้นทะเบียนตำรับถูกยกเลิก ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท
  4. ถ้าขายยาเสื่อมคุณภาพ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้ากระทำโดยไม่รู้ว่ายานั้นเป็นยาเสื่อมคุณภาพ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 3 พันบาท
  5. ถ้าขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  6. ถ้าขายยาชุด (ไม่บังคับใช้กับเภสัชกรชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือทันตกรรมซึ่งขายเฉพาะสำหรับคนไข้ของตน) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  7. ถ้าผู้ใดขัดขวางตอนเจ้าหน้าที่ตรวจสอบร้านขายยา หรือเก็บตัวอย่างยา หรืออายัดยาและเครื่องมือต่างๆ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  8. ถ้าทำผิดตามข้อ 1, 2, 3, 4, 5, 6 นอกจากโทษที่ระบุมาแล้ว ยังสามารถถูกริบยา และเครื่องมือ/อุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดทั้งหมดให้แก่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อทำลายหรือจัดการตามที่เห็นสมควร

กิจกรรมภายในร้านอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ เมื่อเภสัชอยู่/ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ที่มา  https://wizsastra.com/2017/10/01/2560-businesshours/
เวลาทำการ

ในเวลาทำการ

นอกเวลาทำการ

กิจกรรมในร้านเภสัชกรอยู่ปฏิบัติหน้าที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่เภสัชกรอยู่ปฏิบัติหน้าที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่
มีการขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษสามารถทำได้ผู้รับอนุญาตไม่สามารถทำได้ เนื่องจากฝ่าฝืน พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 32 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000 – 5,000 บาท

 

หากเภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือไม่มีการควบคุมให้มีวัสดุปิดบังว่าจะไม่ขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษในระหว่างเภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ จะถือว่าเภสัชกรฝ่าฝืนพ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 39 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000 – 5,000 บาท

ผู้รับอนุญาตไม่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 32 แต่ถือว่าเป็นการขายยานอกเวลาทำการฝ่าฝืนพ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 26(7) ตามการตีความของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาทผู้รับอนุญาตไม่สามารถทำได้ เนื่องจากฝ่าฝืน พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 32 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000 – 5,000 บาท และถือว่าเป็นการขายยานอกเวลาทำการฝ่าฝืนพ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 26(7) ตามการตีความของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาท
มีการขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษสามารถทำได้ไม่มีบทลงโทษผู้รับอนุญาต ส่วนเภสัชกรหากไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือไม่มีการควบคุมให้มีวัสดุปิดบังว่าจะไม่ขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษในระหว่างเภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ จะถือว่าเภสัชกรฝ่าฝืนพ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 39 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000 – 5,000 บาทไม่มีบทลงโทษผู้รับอนุญาต แต่ถือว่าเป็นการขายยานอกเวลาทำการฝ่าฝืนพ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 26(7) ตามการตีความของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาทไม่มีบทลงโทษผู้รับอนุญาต แต่ถือว่าเป็นการขายยานอกเวลาทำการฝ่าฝืนพ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 26(7) ตามการตีความของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาท
มีการขายยาสามัญประจำบ้านสามารถทำได้สามารถทำได้ ส่วนเภสัชกรหากไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือไม่มีการควบคุมให้มีวัสดุปิดบังว่าจะไม่ขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษในระหว่างเภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ จะถือว่าเภสัชกรฝ่าฝืนพ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 39 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000 – 5,000 บาทสามารถทำได้สามารถทำได้

เป็นผู้รับอนุญาตดูเสี่ยงเยอะจัง หานอมินีมาเปิดร้านแทนได้ไหม?

ในความเป็นจริง ก็มีหลายคนในนอมินีในการเปิดร้าน เพื่อที่ว่าเวลามีปัญหาอะไรขึ้นมา จะได้ไม่โดนถึงตัวเอง ซึ่งหากเรื่องจบที่ สสจ. มักไม่ค่อยมีปัญหาอะไร แต่ถ้าเรื่องไปถึงตำรวจ ปคบ. หรือถึงขั้นฟ้องร้องกันในศาล ตำรวจมักใช้วิธีเช็คเส้นทางการเงิน เพื่อสืบหาว่า ใครคือเจ้าของร้านตัวจริง ดังนั้นการใช้นอมินี ก็ไม่รอดอยู่ดี

ถ้าเภสัชลาออก ต้องหาเภสัชใหม่ให้ได้ภายในกี่วัน

กรณีผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ (ออก) ลาออก พรบ.ยา ไม่ได้ระบุว่าต้องหาเภสัชใหม่ให้ได้ภายในกี่วัน บอกเพียงแค่ว่าต้องมีเภสัชตลอดเวลาที่เปิดทำการเท่านั้น อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ ทุกๆจังหวัดจะอ้างอิงมติคณะกรรมการยา ที่ให้ผู้รับอนุญาตหาเภสัชกรคนใหม่ภายใน 45 วัน หากไม่สามารถหาได้ภายในระยะเวลาดังกล่าวอาจเป็นเหตุให้ยกเลิกใบอนุญาตร้านขายยาได้


Share this:

Posted in บทความ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *