โรคซึมเศร้ากับการเรียนคณะเภสัช Part 1

*เนื้อหาที่กำลังจะโพสต์ต่อไปนี้นั้น “ยาวมาก” ดังนั้น แอดจะแบ่งเนื้อหาออกเป็นสองพาร์ทนะคะ

คำถามที่แอดเคยได้รับจากน้องอยู่ช่วงนึงสมัยเรียนอยู่ปีหนึ่ง คือ “ป่วยซึมเศร้าแล้วจะเรียนเภสัชได้มั้ยคะพี่” ตอนนั้นแอดเป็นเด็กปีหนึ่งที่ประสบการณ์การเรียนในคณะเภสัชก็ยังไม่ได้เยอะ เลยทำได้แค่ให้กำลังใจน้องไป ว่าไหวแน่นอน ต้องสู้ได้แน่ ตอนนั้นแอดไม่คิดเลยว่าอีกสองสามปีต่อมา ในตอนที่แอดได้ขึ้นมาถึงชั้นปีที่สาม แอดจะได้มีโอกาสใกล้ชิดกับเพื่อนที่เป็นโรคซึมเศร้าตรง ๆ

มันทำให้แอดได้รู้เลยว่า โรคซึมเศร้ากับการเรียนเภสัช อาจจะไม่ถึงขั้นทำให้ผ่านปัญหาไปไม่ได้ แต่มันไม่ง่ายขนาดนั้นแน่
(เรื่องต่อไปนี้อ้างอิงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งแอดได้ทำการขออนุญาตเจ้าของเรื่องและทุกคนที่เกี่ยวข้องก่อนนำมาเผยแพร่แล้ว ขอให้ทุกคนรับสาสน์อย่างมีวิจารณญาณนะคะ)

เพื่อนของแอด ขอเรียกเพื่อนด้วยนามสมมติว่า “แกะ” ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า รักษามาก่อนจะเข้าคณะ เดิมทีเพื่อนเป็นเด็กเรียนเก่ง เป็นอันดับต้น ๆ ของโรงเรียน แต่ในขณะเดียวกัน เพื่อนต้องเจอกับปัญหาหลายอย่างรอบตัวนอกจากเรื่องเรียนมากมาย แต่ดูเหมือนว่าช่วงต้น เพื่อนจะยังสามารถจัดการกับทุกอย่างได้ดี
แต่การมาเรียนเภสัชมันไม่ง่าย ด้วยเนื้อหาการเรียนที่หนักหน่วง บวกกับปัญหารอบตัวที่เพื่อนเจอ ในที่สุด มันก็มาถึงจุดที่ทำให้เพื่อนล้มลง

เพื่อนเข้ารับการรักษาจากจิตแพทย์ ได้รับยามา แต่แล้วก็ต้องเจอกับปัญหาที่เกิดจากผลข้างเคียงของยา (ผลข้างเคียงของยาซึมเศร้าก็เช่น นอนหลับแล้วตื่นยาก ท้องไส้ปั่นป่วน น้ำหนักขึ้น) ปรากฎว่าปัญหาจากผลข้างเคียงของยามันกลับสร้างปัญหาให้เพื่อนได้เหมือนกัน การตื่นไปเรียนตอนเช้าเป็นเรื่องที่ลำบากมาก หลายวันก็ถึงขั้นตื่นไม่ได้ ไม่มาเรียนเลย ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ทุกอย่างแย่ลง

ช่วงนั้นแทบจะเป็นช่วงที่ลำบากที่สุด ทั้งในสถานการณ์ของเพื่อน และในสถานการณ์ของเรา (ขอแทนตัวแอดว่า “เรา” เพื่อความสมูทในการเล่าเรื่องค่ะ) เองที่อยู่กับเพื่อนคนนั้น ตอนนั้นทั้งเราทั้งเพื่อนคนอื่น ๆ ที่อยู่ด้วยกัน พยายามเตือนแกะว่า “แกะ มาเรียนนะ” “แกะ อ่านหนังสือหรือยัง” “แกะ พรุ่งนี้ต้องส่งการบ้านนะ แกะทำหรือยัง” แต่ด้วยความที่หลายครั้ง ไม่ได้รับการตอบสนองที่ดีจากแกะ มันเลยทำให้ขัดใจกันอยู่แบบนั้น

ในสายตาของเพื่อนตอนนั้น เพื่อนมองว่าแกะเป็นคนขี้เกียจ ทำไมแกะถึงได้ขี้เกียจขนาดนี้ เรียนก็ไม่ค่อยจะเข้า งานก็ส่งช้า อ่านหนังสือก็ไม่อ่าน ซึ่งภายหลัง แกะก็บอกกับแอดเองว่า ยอมรับว่าขี้เกียจก็ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่ง มาจากความรู้สึกว่า “ทำไม่ได้ ทำไปก็ไม่มีประโยชน์ ทำไปก็ทำไม่ได้ งั้นก็ไม่ต้องทำ จะได้ไม่เหนื่อย” นี่ไม่ใช่ความรู้สึกของแกะแค่คนเดียว แต่เป็นความรู้สึกร่วม ของทั้งแกะและเพื่อนสนิทของแกะอีกคน

มันเป็นการยาก ที่เวลาเราต้องเจอนิสัยมุมที่ไม่ดีของเพื่อน แล้วเราไม่สามารถแยกแยะได้ว่า สรุปแล้วนิสัยมุมนั้น เกิดจากโรค เกิดจากยา หรือเพราะเพื่อนเป็นแบบนั้นอยู่แล้วจริง ๆ อีกทั้งตอนนั้น เราเองก็มีความลำบาก มีปัญหาของเราที่ต้องเผชิญ เราอาจไม่อยู่ในสถานการณ์ที่จะสามารถเข้าใจ และตามประกบดูแลเพื่อนได้ขนาดนั้น แม้เราจะรู้แก่ใจว่าเพื่อนป่วย และต้องได้รับการดูแลก็ตาม

สุดท้ายแล้ว เพื่อนและเราก็ไม่สามารถดึงแกะเอาไว้ได้ ผลการเรียนของแกะแย่ลงเรื่อย ๆ จนมาถึงจุดหนึ่ง แกะก็เริ่มเข้าหา ‘อาจารย์’

และพ้อยต์นี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราอยากเขียน ร้อยเรียงเรื่องราวเหล่านี้ออกมาให้ทุกคนได้รับรู้

ที่เราเคยบอกน้องไปว่า “น้อง มีปัญหาอะไรก็ไปปรึกษาปัญหากับอาจารย์เถอะนะคะ อย่าเก็บปัญหาไว้คนเดียว” ตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงตอนนี้ คำพูดนี้เราก็ยังสามารถใช้แนะนำน้องต่อไปได้เสมอ

เพราะอาจารย์ คือกุญแจสำคัญที่ทำให้เพื่อนสามารถลุกขึ้นมาต่อสู้กับปัญหาได้

อ่านต่อ Part 2


Share this:

Posted in บทความ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *