เรียนเภสัช ม.ไม่รับรอง จะเกิดอะไรขึ้น จะสอบใบประกอบได้ไหม

เป็นคำถามที่มีมาเรื่อยๆทุกปี สำหรับคำถามที่ว่า ถ้าเรียนเภสัชมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้ผ่านการรับรองจากสภาเภสัชกรรมแล้วจะเกิดอะไรขึ้น จะสามารถสอบใบประกอบได้ไหม บลาๆๆๆๆ ซึ่งมันเป็นเรื่องของกฏหมายค่อนข้างเยอะ พี่จะพยายามอธิบายเท่าที่พี่เข้าใจละกัน

จุดเริ่มต้นของความสงสัยนี้ มันเริ่มมาจาก พรบ.อุดมศึกษาปี 2562 นั่นแหละ เพราะใน พรบ. มีมาตรา 16 ที่ระบุไว้ว่า

“สภาวิชาชีพจะออกข้อบังคับหรือหลักเกณฑ์เพื่อจัดระเบียบการประกอบอาชีพโดยมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติหรือก้าวก่ายการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษามิได้”

ซึ่งจากข้อนี้เอง เลยเกิดความสงสัยว่า อ้าว เห้ย แล้วแบบนี้ ที่สภาวิชาชีพต่างๆ ออกมารับรองหลักสูตร รับรองสถาบัน มันก็ทำไม่ได้แล้วน่ะสิ แบบนี้ เรียนมอรับรอง หรือไม่รับรอง ก็ไม่มีผลแล้วน่ะสิ

ใช่ครับ สภาวิชาชีพ ทำไม่ได้แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า มันจะไม่มีผลอะไร

คือต้องเข้าใจก่อนว่า ทุกวันนี้มหาลัยก็ต้องหนีตายเหมือนกัน เพราะเด็กเกิดน้อยลงทุกปี ถ้าไม่สามารถเปิดคณะยอดนิยมได้ ก็กลายเป็นว่าที่นั่งเรียนว่างกันตรึม มหาลัยก็ต้องเปิดคณะยอดนิยมให้ได้ แต่การเปิดคณะนิยมก็ไม่ง่าย เพราะมีเรื่องการรับรองหลักสูตร รับรองสถาบัน ของสภาวิชาชีพ เข้ามาเป็นก้างขวางคอเนี่ยแหละ เลยพยายามอย่างยิ่ง ที่จะไม่ให้สภาวิชาชีพเข้ามาก้าวก่ายการเปิดหลักสูตรของตน จนเมื่อ พรบ.อุดมศึกษา ก็พยายามยัดประเด็นตรงนี้ให้ชัดเจน ซึ่งก็ทำสำเร็จ

ถ้ายังจำกันได้ ตอน พรบ.นี้จะออกมาใหม่ๆ มีสภาวิชาชีพจำนวนมาก ออกมาคัดค้าน แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญและที่ปรึกษา
คณะกรรมาธิการวิสามัญ ยืนยันว่า มาตรา 16 นี้ นำมาจากรัฐธรรมนูญมาตรา 40 ที่ว่า

“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงหรือเศรษฐกิจของประเทศ การแข่งขันอย่างเป็นธรรม การป้องกันหรือขจัดการกีดกันหรือการผูกขาด การคุ้มครองผู้บริโภค การจัดระเบียบ การประกอบอาชีพเพียงเท่าที่จำเป็น หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น

การตรากฎหมายเพื่อจัดระเบียบการประกอบอาชีพตามวรรคสอง ต้องไม่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติหรือก้าวก่ายการจัดการศึกษาของสถาบันการศึกษา”

สรุปง่ายๆก็คือ คนไทยมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ และการควบคุมดูแลการประกอบอาชีพต่างๆ จะมาก้าวก่ายการจัดการศึกษาของสถาบันการศึกษาไม่ได้

ดังนั้นประเด็นนี้ จึงตกไป สรุปว่า สภาวิชาชีพ รับรองหลักสูตรไม่ได้ จะมาบอกมหาลัยไม่ได้ว่า เอ็งต้องสอนแบบนี้ๆๆๆๆ มีโครงสร้างหลักสูตรแบบนี้ๆๆๆๆ ต้องทำๆๆๆๆๆ ถึงจะเปิดคณะได้ เป็นอำนาจของบอร์ดมหาลัยจะไปพิจารณากันเอาเอง สภาวิชาชีพห้ามยุ่ง

อย่างไรก็ดี สภาวิชาชีพ พยายามแย้งว่า “การห้ามมิให้สภาวิชาชีพมีอำนาจในการรับรองหรือกำหนดการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับสภาวิชาชีพของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งอาจส่งผลให้การผลิตบุคลากรเพื่อเข้าสู่วิชาชีพไม่มีคุณภาพหรือมาตรฐานเพียงพอ และไม่มีหลักประกันว่าผู้สำเร็จการศึกษาจะสามารถทดสอบความรู้เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อผู้เรียนรวมทั้งอาจส่งผลต่อคุณภาพและมาตรฐานของผู้ประกอบวิชาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาชีพที่มีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพหรือความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน หากมีการประกอบวิชาชีพอย่างขาดมาตรฐานแล้วย่อมจะส่งผลกระทบต่อประชาชนและสังคมได้ ทั้งนี้ การรับรองหลักสูตรของสภาวิชาชีพนั้น มิได้เป็นการก้าวก่ายการจัดการเรียนการสอนของสถาบันอุดมศึกษาแต่เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ และเป็นไปตามหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของแต่ละสภาวิชาชีพ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างมาตรฐานของวิชาชีพนั้น ๆ อันเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของสังคมและประชาชนที่เป็นผู้รับบริการจากผู้ประกอบวิชาชีพ

ซึ่งก็ประสบความสำเร็จมานิดหน่อย เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) พิจารณาแล้วมีความเห็นว่าสถาบันอุดมศึกษาและสภาวิชาชีพเป็นองค์กรที่จะต้องดำเนินการอย่างสอดประสานกันโดยสถาบันอุดมศึกษามีหน้าที่ผลิตบุคลากรที่จะเข้าสู่การประกอบวิชาชีพต่าง ๆ ผ่านการจัดการเรียนการสอนในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ส่วนสภาวิชาชีพเป็นองค์กรที่มีหน้าที่กำกับดูแลการประกอบวิชาชีพให้มีมาตรฐานตามหลักวิชา รวมทั้งดูแลให้ผู้ประกอบวิชาชีพประพฤติปฏิบัติตนตามกรอบของจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพนั้น ๆ ซึ่งการดำเนินการของทั้งสถาบันอุดมศึกษาและสภาวิชาชีพที่ดำเนินการอย่างสอดประสานกันดังกล่าวจะก่อให้เกิดการพัฒนาบุคลากรและมาตรฐานของวิชาชีพ นำไปสู่การที่ฝ่ายเลขานุการฯ ได้เพิ่มบทบัญญัติว่า การแจ้งเรื่องการรับรองปริญญา โดยกำหนดให้เมื่อคณะกรรมการมาตรฐานฯ ได้ให้การรับรองปริญญา อนุปริญญาหรือประกาศนียบัตรแล้ว ให้แจ้งเรื่องดังกล่าวต่อองค์กรกลางบริหารงานบุคคลและองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเพื่อทราบ (ซึ่งก็นิดหน่อยจริงๆนั่นแหละ)

จะเห็นได้ว่าฝ่ายเลขานุการ ได้พยายามใส่คำว่าการรับรองปริญญาเข้ามา แต่สุดท้ายก็โดนแก้ไข กลายเป็นการรับรองมาตรฐานการอุดมศึกษาแทน ดังประโยคต่อไปนี้

“ทั้งนี้ ได้มีการแก้ไขในเรื่องการประกาศรับรองปริญญา อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตร เป็นการรับรองมาตรฐานการอุดมศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับที่ได้มีการแก้ไขหลักการในเรื่องนี้ โดยกำหนดว่า เมื่อคณะกรรมการมาตรฐานฯ ได้ให้การรับรองมาตรฐานการอุดมศึกษาแล้ว ให้แจ้งเรื่องดังกล่าวต่อองค์กรกลางบริหารงานบุคคลและสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเพื่อทราบ”

ซึ่งตรงนี้ เป็นประเด็นใหญ่มาก ที่เปลี่ยนคำว่า การรับรองปริญญา ไปเป็นคำว่า การรับรองมาตรฐานการอุดมศึกษา แทน

ดังนั้นมันมีอีกประเด็นให้ถกเถียงกันคือ เรื่องการรับรองปริญญา !!!!!

จริงๆ แต่เดิม เรื่องการรับรองปริญญา เป็นอำนาจของสภาวิชาชีพอยู่แล้ว แต่มีความพยายามจะแทรกตรงนี้ไปว่า มหาลัยก็ทำได้ด้วย โดยการเพิ่มประโยคว่า

“เมื่อคณะกรรมการมาตรฐานฯได้ให้การรับรองปริญญา อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรแล้ว ให้ถือว่าองค์กรวิชาชีพหรือหน่วยงานอื่นที่กฎหมายกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ในการรับรองปริญญา อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรได้ให้การรับรองปริญญา อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรดังกล่าวแล้ว โดยการประกาศรับรองปริญญา อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตร ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนที่ผู้เรียนรุ่นแรกจะจบการศึกษาในหลักสูตรนั้น”

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ว่า เมื่อเมื่อคณะกรรมการมาตรฐานฯได้ให้การรับรองแล้ว ให้องค์กรวิชาชีพรับรองปริญญาด้วยโดยอัตโนมัติ โดนคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ตีตกไป โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ให้ความเห็นว่า

“การกำหนดว่าเมื่อคณะกรรมการมาตรฐานฯ ได้ให้การรับรองปริญญาแล้ว ให้ถือว่าองค์กรวิชาชีพหรือหน่วยงานอื่นได้ให้การรับรองปริญญาด้วยนั้น เป็นบทบัญญัติที่มีหลักการในทำนองเดียวกับร่างมาตรา 80/5 ที่เป็นเรื่องการรับรองหลักสูตร ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้ตัดร่างมาตราดังกล่าวออกแล้ว จึงเห็นสมควรตัดความดังกล่าวออกด้วย”

นอกจากนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณาร่างมาตรานี้และมีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับที่ได้แก้ไขบทบัญญัติเรื่องการตรวจสอบหรือพิจารณาหลักสูตรโดยแก้ไขจากเดิมที่กำหนดให้คณะกรรมการมาตรฐานฯ “ประกาศรับรองปริญญา” เป็น “ประกาศรับรองมาตรฐานการอุดมศึกษา” โดยกำหนดให้ในกรณีที่ผลการตรวจสอบปรากฏว่าการจัดการศึกษาในหลักสูตรการศึกษาใดในสถาบันอุดมศึกษาเป็นไปตามที่ได้แจ้งไว้ ให้คณะกรรมการมาตรฐานฯประกาศรับรองมาตรฐานการอุดมศึกษาในหลักสูตรการศึกษาดังกล่าว ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนที่ผู้เรียนรุ่นแรกจะจบการศึกษาในหลักสูตรการศึกษานั้น

สรุปก็คือ ประเด็นเรื่องมหาลัยรับรองปริญญาได้ โดนตีตกไป การรับรองปริญญา เป็นอำนาจของสภาวิชาชีพ เหมือนเดิม

ตอนนี้ในประกาศสภาเภสัชกรรม ก็เลี่ยงไปใช้คำว่า ปริญญาเภสัชศาสตรบัณฑิตที่สภาเภสัชกรรม ให้การรับรองเพื่อประโยชน์ในการสมัครเป็นสมาชิกของสภาเภสัชกรรม โดยสภาเภสัชกรรมให้การรับรองสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่เป็นเจ้าของหลักสูตรเภสัชศาสตร์ โดยอ้างอิง พรบ.วิชาชีพเภสัชกรรม 2 ประเด็น คือ 1 สภาเภสัชกรรม มีหน้าที่รับรองปริญญา ประกาศนียบัตรในวิชาเภสัชศาสตร์หรือวุฒิบัตรในวิชาชีพเภสัชกรรมของสถาบันต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการสมัครเป็นสมาชิก และ 2 กำหนดว่าผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกสภาเภสัชกรรมต้องมีความรู้ในวิชาชีพเภสัชกรรมโดยได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรในวิชาเภสัชศาสตร์จากสถาบันการศึกษาที่ทบวงมหาวิทยาลัยรับรองหรือที่สภาเภสัชกรรมรับรอง 

สรุป

สรุปก็คือ พรบ.อุดมศึกษาอันใหม่ ให้ความชัดเจนว่า สภาวิชาชีพ ไม่มีสิทธิรับรองหลักสูตร ดังนั้น การเปิดหลักสูตรใหม่ เปิดคณะใหม่ เป็นหน้าที่ของมหาลัย ทำให้มหาลัยจะเปิดคณะแพทย์ ทันตะ เภสัช ยังไงก็ได้ ขึ้นกับการพิจารณาของสภามหาลัย และผู้เรียนมีสิทธิสมัครเรียนตามสิทธิเสรีภาพทางการศึกษาและประกอบอาชีพที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่เปิดการเรียนการสอนแล้ว จบมาแล้ว จะสมัครเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพได้หรือไม่นั้น ทางฝั่งสภาวิชาชีพก็บอกว่า ไม่เป็นไร อยากเปิดๆไป แต่จบมาแล้วจะสามารถประกอบวิชาชีพตามที่กฏหมายระบุไว้ได้นั้น (คือไม่ได้ห้ามประกอบอาชีพนะ แต่จะประกอบอาชีพในส่วนที่กฏหมายให้อำนาจไว้เฉพาะวิชาชีพได้ไหม เช่น เป็นเภสัชแล้วจ่ายยาได้ไหม) คุณจะต้องมาเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพซะก่อน ซึ่งหนึ่งในข้อกำหนดในการสมัครเป็นสมาชิก (นอกจากเหนือสอบใบประกอบให้ผ่าน บลาๆๆๆๆ) ก็คือ คุณต้องจบจากสถาบันที่สภาวิชาชีพให้การรับรองปริญญา ดังนั้นถ้าคุณจบมาจากสถาบันที่ไม่ผ่านการรับรอง คุณก็สมัครเป็นสมาชิกไม่ได้ เพราะคุณสมบัติคุณไม่ครบ

แต่ทีนี้ ในรายละเอียดเรื่องเกณฑ์การรับรองปริญญา มันก็มีเนื้อหาว่า โครงสร้างหลักสูตรต้องเป็นยังไง มีสัดส่วนอาจารย์ต่อนักศึกษาเป็นเท่าไร ซึ่งตรงนี้ ถือว่าเป็นการก้าวก่ายสถาบันการศึกษาหรือไม่ อันนี้ยังไม่มีการออกข้อกำหนด หรือตีความออกมาให้ชัดเจน อันนี้อาจจะต้องให้มีคนจบจากสถาบันที่ไม่ผ่านการรับรอง แล้วฟ้องศาล เพื่อให้เกิดการตีความดู ว่าจะตีความว่ายังไง

แต่ถ้าถามพี่นะ เรียนมอที่รับรองเหอะ จบๆ ตัดปัญหา วุ่นวาย ไม่ปวดหัว

ส่วนประเด็นเรื่องจบ ม.ไม่รับรอง แล้วจะสอบใบประกอบได้ไหม อ่านได้ที่บทความ จบมอไม่รับรอง สามารถสอบใบประกอบวิชาชีพตาม พรบ.อุดมศึกษาตัวใหม่ใช่ไหม?


Share this:

Posted in บทความ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *