เภสัช รับรองแบบมีเงื่อนไข

ธุรกิจการศึกษา ความเป็นมา และความหมายที่แท้จริงของการรับรองแบบมีเงื่อนไข

น้องๆหลายคนคงเคยเห็นประกาศรับรองปริญญาเภสัชศาสตรบัณฑิตของคณะเภสัชศาสตร์ต่าง ๆ ที่สภาเภสัชกรรมให้การรับรอง แล้วก็คงสบายใจที่เห็นรายชื่อมหาวิทยาลัยที่ตนเองกำลังจะสอบเข้า หรือสอบติดไปแล้ว มีรายชื่ออยู่ในนี้ (ถ้าไม่มีแจ้งสภาเภสัชฯ ด่วน !!!!)

แต่เอ๊ะ ไปสะดุดตาตรงวงเล็บข้างหลัง ที่เขียนว่า รับรองแบบมีเงื่อนไข !!!!
มันคืออะไร? มันมีอะไรผิดปกติหรอ? เงื่อนไขคืออะไร? ผิดเงื่อนไขแล้วจะซวยด้วยไหม?

คำว่า “มีเงื่อนไข” มันก็ดูน่ากลัวจริงๆแหละ ฮ่าๆๆๆๆ

เพื่อความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและถ่องแท้ พี่ขออธิบายที่มาที่ไปของคำนี้ก่อนละกันครับ

ประวัติความเป็นมา

แต่เดิมนั้น สภาเภสัชกรรมมีหน้าที่เพียงรับรองปริญญาอย่างเดียว คือทำได้เพียงว่า เธอจบคณะเภสัชศาสตร์มาแล้ว สภาเภสัชฯมีหน้าที่รับรองปริญญา เพื่อให้สมัครเป็นสมาชิกของสภาเภสัชฯ และสอบใบประกอบวิชาชีพได้ ไม่สามารถไปยุ่งกับการเปิดปิดหลักสูตรได้  ทำให้การเปิดหลักสูตรคณะเภสัชศาสตร์ขึ้นตรงกับ สกอ. เท่านั้น และที่ผ่านมาเภสัชกรเป็นวิชาชีพคลาดแคลนทำให้มีการขอเปิดหลักสูตรเภสัชศาสตร์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปี พ.ศ.2546 มีคณะเภสัชศาสตร์ทั้งหมด 13 สถาบัน

ต้องยอมรับว่าหลังปี พ.ศ. 2543 ธุรกิจความรู้และการศึกษาเป็นธุรกิจที่กำลังโตและทำเงินได้เป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากร้านหนังสือ SE-ED ที่สามารถเติบโตด้วยเลข 2 หลัก หรือเกือบ 2 หลักมาตลอด มหาวิทยาลัยต่างๆเร่งเพิ่มการรับนักศึกษา เอกชนเปิดคณะใหม่ ภาครัฐก็เปิดภาคพิเศษ

สำหรับคณะที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสภาวิชาชีพจะเปิดหลักสูตรได้ง่ายกว่ามาก แต่คณะที่ทำเงินได้มากที่สุด จะเป็นคณะทางการแพทย์ อีกทั้งมหาวิทยาลัยต่างๆก็อ่านออกว่า หลังปี พ.ศ.2555 นักศึกษาจะเริ่มน้อยลง และหลังจากปี พ.ศ.2565 นักศึกษาอาจลดลงเกินครึ่ง ซึ่งเป็นผลมาจากประชากรเด็กที่ลดลง ทำให้ที่นั่งในมหาวิทยาลัยต่างๆเริ่มว่าง แต่คณะทางการแพทย์จะยังคงมี demand ที่สูง ทำให้ใครเปิดคณะทางการแพทย์ก่อนย่อมได้เปรียบ แต่การเปิดคณะแพทย์ หรือทันตแพทย์เป็นเรื่องยาก เพราะต้องใช้เงินลงทุนที่สูง และมีข้อกำหนดของสภาวิชาชีพที่ยุ่งยาก ในขณะที่การเปิดคณะเภสัชศาสตร์ใช้เงินลงทุนน้อยกว่า ประกอบกับสภาเภสัชฯ มีจุดอ่อนตรงอำนาจไม่สามารถควบคุมการเปิดหลักสูตรได้พอดี ทำให้มีการเร่งเปิดคณะเภสัชศาสตร์ในหลายมหาวิทยาลัยในช่วงปี พ.ศ.2546-2552

หลังจากปี พ.ศ. 2547 สภาเภสัชฯ เริ่มรู้แล้วว่า ตนเองไม่มีอำนาจที่สามารถควบคุมปริมาณและคุณภาพของบัณฑิตคณะเภสัชศาสตร์ที่จบมาได้ ทำให้สภาเภสัชฯ แก้เกมส์โดยระบุว่าการรับรองปริญญาของสภาเภสัชฯ ต้องให้สภาเภสัชกรรมเห็นชอบหลักสูตรและรับรองสถาบันเสียก่อน แต่ช่วงเวลาดังกล่าวก็ใกล้กับการเลือกตั้งสภาเภสัชฯชุดใหม่ในช่วงนั้น ทำให้กว่าเรื่องจะเรียบร้อยและเป็นรูปเป็นร่างก็กินเวลาอีก 1-2 ปี

แต่แล้วก็เกิดสิ่งที่ไม่คาดฝันขึ้น

พ.ศ. 2549  เกิดการรัฐประหาร

การรัฐประหารทำให้กฏหมายหลายๆอย่างต้องตกไป กฏหมายที่สำคัญๆจะถูกนำมาพิจารณาก่อน และแน่นอนว่ากฏหมายอย่างการรับรองปริญญาของสภาเภสัชฯ เป็นกฏหมายลำดับท้ายๆที่จะถูกนำมาพิจารณา และกว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็ล่วงเลยไปถึงปี พ.ศ. 2551

ในช่วงปี พ.ศ.2549 – 2551 จะเห็นว่ามีคณะเภสัชศาสตร์เปิดใหม่ถึง 4 สถาบัน เพราะมหาวิทยาลัยต่างๆอ่านเกมส์ออกว่า หากข้อบังคับอันใหม่ของสภาเภสัชฯ ประกาศใช้ การเปิดคณะเภสัชศาสตร์จะยากขึ้นมาก ทำให้มีการเร่งรัดการเปิดหลักสูตรในหลายๆสถาบัน จริงๆก่อนหน้านั้นมีหลายสถาบันที่เตรียมตัวจะเปิดคณะเภสัชฯ อยู่แล้ว และเปิดได้สำเร็จหลังปี พ.ศ. 2551 ได้แก่ ม.บูรพา ที่เป็นยุทธศาสตร์เรื่องเวชศาสตร์ทางทะเล ม.ธรรมศาสตร์ และ มทส. ที่สร้างโรงพยาบาลและคณะแพทย์ไว้รออยู่แล้ว (ได้ข่าวว่า มทส. ถึงกับเตรียมปั้นเด็กไปเรียนต่อเพื่อกลับมาเป็นอาจารย์แล้วด้วย) แต่หลังจากประกาศฉบับนี้บังคับใช้ ก็ทำให้แผนของคณะเภสัชฯ ม.บูรพา สะดุดไป ได้เปิดจริง พ.ศ.2552 (แบบเร่งรัดพอสมควร) ม.ธรรมศาสตร์เปิดจริง พ.ศ. 2555 (รับนักศึกษารุ่นแรก พ.ศ.2556) และ มทส. ยังไม่มีกำหนด

แม้ว่าจะมีการเปิดคณะเภสัชศาสตร์แบบสายฟ้าแลบถึง 4 สถาบัน แต่สภาเภสัชฯ ก็ไม่ได้เอาหูไปนา เอาตาไร่ ไม่ทันเกมส์ใครเขาซะทีเดียว ออกข้อกำหนดย้อนหลังให้ประกาศฉบับนี้มีผลย้อนหลังตั้งแต่เริ่มมีการพิจารณา นำไปสู่เหตุการณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  มหาวิทยาลัยพายัพ และมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย ไม่ผ่านการรับรอง เรียกได้ว่าเป็นข่าวดังในช่วงนั้นเหมือนกัน
อ่านเพิ่มเติม http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=17665&Key=hotnews

แม้แต่ ม.บูรพา ที่เปิดตามมาในปี พ.ศ. 2552 (แต่รับนักศึกษารุ่นแรก ปี 2553) ก็โดนในปี พ.ศ.2554
อ่านเพิ่มเติม http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000038309 แต่กรณีของ ม.บูรพา เกิดจากใน ปี 2553 ผ่านการรับรอง พอมาปี 2554 อาจารย์ลาออกไป 2 คน ทำให้สัดส่วนอาจารย์ต่อนักศึกษาไม่พอ แม้ว่าในปี 2555 จะผ่านการรับรอง ก็ทำให้นักศึกษาในปี 2554 ไม่อาจสอบใบประกอบได้ แต่ทางมหาวิทยาลัยก็แก้ไขปัญหาโดยให้นักศึกษาปี 2554 มาลงเรียนกับนักศึกษาในปี 2555 แล้วเทียบหน่วยกิตที่เรียนได้

ในช่วงนั้นมีกระแสไม่ยอมรับคณะเภสัชฯ เปิดใหม่อยู่เหมือนกัน เกิดการตั้งคำถามว่า หากมหาวิทยาลัยไม่สนใจ รับเด็กไปก่อน ก็จะทำให้มหาวิทยาลัยนั้นมีอำนาจการต่อรองกับสภาเภสัชฯ ได้มากขึ้นโดยใช้เด็กเป็นตัวประกัน ยิ่งเกิดกรณีของ ม.บูรพา ที่นักศึกษาปี 2554 ไม่ผ่านการรับรอง จนทำให้ต้องมาแก้ปัญหาย้อนหลัง ทำให้คำถามนี้เด่นชัดขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม สภาเภสัชฯ ก็แก้ไขปัญหานี้โดยระบุว่า  สำหรับคณะเภสัชศาสตร์ที่เปิดใหม่ สภาเภสัชกรรมจะต้องให้การรับรองปริญญาโดยให้ความเห็นชอบหลักสูตรและให้การรับรองสถาบันก่อนเปิดรับนักศึกษา

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง การเห็นชอบหลักสูตร
อ่านเพิ่มเติมเรื่อง กําหนดกรอบเวลาการขอการรับรองสถาบัน

การออกกฏหมายต้องรู้จักใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ตอนนั้นสถานการณ์ยังวุ่นวาย สภาเภสัชฯ ก็มีคนและงบประมาณจำกัด จะให้มาไล่ตรวจทุกสถาบันคงไม่ไหว ทำให้สภาเภสัชฯ ต้อง focus ที่มหาวิทยาลัยเปิดใหม่เป็นหลัก จึงเกิดการรับรอง 2 แบบขึ้น คือรับรองแบบมีเงื่อนไข และไม่มีเงื่อนไข โดยกำหนดว่าสำหรับคณะเภสัชศาสตร์เก่าแก่ สภาเภสัชฯจะตรวจประเมินเพื่อรับรองสถาบันทุก 5 ปี สำหรับคณะเภสัชศาสตร์เปิดใหม่ต้องมีการตรวจเยี่ยมเพื่อรับรองสถาบันทุกปีจนกว่าจะมีบัณฑิตที่เข้าสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมของสภาเภสัชกรรมเป็นครั้งแรกในปีนั้น และมีผลการสอบผ่านไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ติดต่อกัน 3 ปี จึงจะสามารถประเมินรับรองสถาบันเป็นครั้งละ 5 ปีได้ เราเรียกการรับรองคณะเภสัชศาสตร์ที่ต้องมีการตรวจเยี่ยมเพื่อรับรองสถาบันทุกปีนี้ว่า “การรับรองแบบมีเงื่อนไข”

แม้ว่าสภาเภสัชฯ จะแก้เกมส์นี้ได้สำเร็จแล้ว โดยจะเห็นได้ว่าในช่วงปี พ.ศ.2552 – 2559 มีคณะเภสัชศาสตร์เปิดใหม่สำเร็จเพียง 2 แห่ง แต่ก็ยังมีคำถามอยู่ว่า หากมีคณะเภสัชศาสตร์ โดยเฉพาะคณะเภสัชฯที่ผ่านการรับรองแบบมีเงื่อนไข ไม่ผ่านการประเมิน จะมีวิธีการดำเนินการอย่างไร หรือคณะเภสัชฯที่ผ่านการรับรองแบบไม่มีเงื่อนไข  สามารถถูกลดไปเป็น ผ่านการรับรองแบบมีเงื่อนไขได้ไหม และหากจำเป็นต้องมีการปิดคณะเภสัชศาสตร์จริงๆ จะใช้เกณฑ์หรือข้อกำหนดอะไรในเพิกถอนการรับรองปริญญา ทำให้สภาออกข้อบังคับสภาเภสัชกรรม เรื่อง ว่าด้วยการเพิกถอนการรับรองปริญญาของสถาบันการศึกษาทางเภสัชศาสตร์ พ.ศ. 2553

พ.ศ. 2558 สภาเภสัชฯออกประกาศ เรื่อง ครุภัณฑ์พื้นฐานสำหรับการจัดการหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต 6 ปี (ฉบับแก้ไข) ทำให้การเปิดคณะเภสัชฯใหม่ๆ ต้องใช้เงินทุนสูงมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มรายละเอียดในส่วนของครุภัณฑ์ เพื่อใช้ในการตรวจประเมินให้ชัดเจน

สรุปความแตกต่างระหว่างรับรองแบบมีเงื่อนไข และรับรอง(แบบไม่มีเงื่อนไข)

สรุปนะครับ รับรองแบบมีเงื่อนไข หมายถึง การที่สภาเภสัชกรรมให้การรับรอง สถาบันเปิดใหม่ ที่มีการเรียนการสอนหลักสูตรเภสัชศาสตร์ โดยการติดตามและประเมินอย่างใกล้ชิด เพื่อความพร้อมในประเด็นต่าง ๆ ตามเงื่อนไขที่สภาเภสัชกรรมประกาศกำหนด โดยสภาเภสัชกรรมจะมีการ

  • ตรวจเยี่ยมเพื่อรับรองสถาบันทุกปีจนกว่าจะมีบัณฑิตที่เข้าสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมของสภาเภสัชกรรมเป็นครั้งแรกในปีนั้น
  • หากมีผลการสอบใบประกอบวิชาชีพผ่านไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ติดต่อกัน 3 ปี (นับเฉพาะบัณฑิตที่สอบเข้าเป็นครั้งแรกในปีนั้น) จะสามารถประเมินรับรองสถาบันเป็นครั้งละ 5 ปีได้ (แบบไม่มีเงื่อนไข)

ส่วนการรับรอง (แบบไม่มีเงื่อนไข) คือสถาบันเก่าแก่  สภาเภสัชฯจะตรวจประเมินเพื่อรับรองสถาบันทุก 5 ปี แต่หากพบว่า

  1. สถาบันผลิตบัณฑิตมีมาตรฐานต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
  2. จัดการเรียนการสอนไม่ตรงตามหลักสูตรที่สภาเภสัชฯเห็นชอบไปแล้ว จนเป็นเหตุให้คุณภาพบัณฑิตตกต่ำลง
  3. สอบใบประกอบวิชาชีพผ่านต่ำกว่าร้อยละ 50 (นับเฉพาะบัณฑิตที่สอบเข้าเป็นครั้งแรกในปีนั้น)

สภาเภสัชอาจมีมติปรับลดการรับรองปริญญาเป็นแบบ รับรองแบบมีเงื่อนไข ได้

อย่างไรก็ตาม สภาเภสัชกรรมอาจมีมติให้เพิกถอนหากรับรองปริญญาได้ หากพบว่า

  1. สถาบันขาดความพร้อม และไม่ปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่สภาเภสัชฯกำหนด
  2. มีผลการสอบใบประกอบวิชาชีพผ่านต่ำกว่าร้อยละ 50 ติดต่อกัน 3 ปี (นับเฉพาะบัณฑิตที่สอบเข้าเป็นครั้งแรกในปีนั้น)
  3. มีผลการสอบใบประกอบวิชาชีพผ่านต่ำกว่าร้อยละ 25 ติดต่อกัน 2 ปี (นับเฉพาะบัณฑิตที่สอบเข้าเป็นครั้งแรกในปีนั้น)

มุมมองของรุ่นพี่ต่อคณะเภสัชศาสตร์เปิดใหม่เป็นอย่างไร

วิชาชีพเภสัชเป็นหนึ่งในวิชาชีพที่มีเรื่องการแบ่งแยกสถาบันมาพัวผันน้อยมาก อย่างไรก็ดี ในช่วงที่มีคณะเภสัชฯเปิดใหม่เยอะๆ หลายๆคนก็มีมุมมองในแง่ลบต่อคณะเภสัชฯเปิดใหม่ไปด้วยเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นคำถามเรื่องคุณภาพของบัณฑิตที่จะจบ หรือความพร้อมของสถาบัน แม้แต่อาจารย์ที่ลาออกเพื่อไปสอนสถาบันเปิดใหม่ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบบ้างเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องปกติที่สถาบันเปิดใหม่ จะต้องดึงอาจารย์เก่งๆและมีชื่อเสียงเข้าไปช่วยก่อตั้งคณะ เพื่อให้คณะมีเครดิตที่ดีและได้รับการยอมรับในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งนี้ทั้งนั้น ในภาวะที่ค่อนข้าง dilemma และคลุมเคลือแบบนี้ เภสัชกรส่วนใหญ่มักจะอยู่เฉยๆและวางตัวเป็นกลางมากกว่า และเมื่อนักศึกษาคณะเภสัชฯเปิดใหม่ได้ลองแสดงฝีมือและความสามารถในการฝีกงานที่ผ่านๆมา ก็ได้รับ feedback กลับค่อนข้างดีจากพี่ๆแหล่งฝึก โดยส่วนใหญ่แล้วน้องๆจากคณะเภสัชฯเปิดใหม่จะได้รับคำชมเรื่อง ความตั้งใจ มีสัมมาคารวะ และเปิดใจต่อการเรียนรู้ ทำให้กระแสด้านลบจางลงไปมากแล้วครับ

อ่านเพิ่มเติม

  1. ข้อบังคับสภาเภสัชกรรม ว่าด้วยการรับรองปริญญา ประกาศนียบัตรในวิชาเภสัชศาสตร์ หรือ วุฒิบัตรในวิชาชีพเภสัชกรรมของสถาบันต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการสมัครเป็นสมาชิก

 

 

 


Share this:

Posted in บทความ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *