ทำไมจึงการสอบเข้าต้องใช้วิชา “คณิตศาสตร์”

จากสัดส่วนคะแนนในการสอบเข้าคณะใดๆ สำหรับรอบแอดมิชชัน PAT 1 (ความสามารถทางคณิตศาสตร์) ถือเป็นวิชาสำคัญ แม้ไม่ใช้ในการสอบเข้าคณะเภสัชศาสตร์ก็ตาม แต่สำหรับรอบรับตรงร่วมกัน ในโครงการ กสพท คณิตศาสตร์กลับเป็นวิชาสำคัญที่ต้องใช้ในสัดส่วนมากที่สุด

น้องหลายคนคงสงสัย…พี่เองก็เช่นกัน

ทั้งๆ ที่เราอาจจะไม่ได้ใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ เช่นพวกลอการิทึม หรือแคลคูลัสในการประกอบอาชีพเลยแท้ๆ แล้วทำไมเราถึงต้องมานั่งเรียนหัวโต ทำไมถึงต้องทนอ่านมันเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยล่ะ แอดเองก็เพิ่งได้คำตอบจากการคุยกับเพื่อนเมื่อกี้นี้ เลยอยากนำมาแบ่งปันกันค่ะ

สิ่งที่เราจะได้จากการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ นอกจากความรู้และสูตรคำนวณต่างๆ อีกเหตุผลที่แฝงอยู่และแทบจะเป็นจุดประสงค์หลักเลยคือ

  1. ฝึกทักษะการให้เหตุผล
  2. ฝึกให้เรามีสติเมื่อเผชิญปัญหา
  3. ฝึกการประยุกต์ใช้ความรู้เดิมและทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
  4. ฝึกการเรียงลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องในระยะเวลาที่จำกัด

ซึ่งทั้งหมดนี้คือสิ่งสำคัญ ไม่ใช่เพียงสำหรับวิชาชีพในสายการแพทย์เท่านั้น แต่หมายรวมถึงทุกๆ อาชีพ

เมื่อเราเจอข้อสอบคณิตศาสตร์ที่ยากและเยอะ สิ่งแรกที่เราต้องทำคือการรวบรวมสติและสมาธิ เพื่อหาทางในการแก้ไขปัญหา โจทย์แต่ละข้อที่มีทั้งส่วนที่เราทำได้และไม่ได้ ทั้งที่ใช้เวลานานและไม่นาน ซึ่งจะฝึกให้เรารู้จักจัดการเรียบลำดับความสำคัญว่าโจทย์ข้อไหนควรทำก่อนหรือหลัง และโจทย์ซึ่งเราได้รับ แน่นอนว่าเป็นโจทย์ยากๆ ที่ความรู้ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอในการหาคำตอบได้ แต่ต้องอาศัยทักษะในการคิดวิเคราะห์ และพลิกแพลงความรู้ที่มีเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหา ที่สำคัญ ทุกๆ บรรทัดที่เราจรดปากกาลงไป ทุกๆ ตัวอักษร ทุกๆ ตัวเลขที่เราเขียน ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ด้วย “เหตุผล” ในการถูกสร้างขึ้นและมีอยู่ของมัน

น้องลองจินตนาการ สมมติว่าน้องกำลังยืนอยู่ตรงหน้าความเป็นความตายของคนไข้ น้องต้องใช้ “สติ” ในการคิดหาหนทางรักษาที่ถูกต้อง หนทางการรักษานั้นต้อง “สมเหตุสมผล” ที่จะใช้ในการรักษาคนไข้ โดยใช้ “การคิดวิเคราะห์” ประยุกต์ใช้ความรู้ที่มีในการรักษาคนไข้ที่มีกรณีแตกต่างกันคนต่อคน โดยทั้งหมดนั้นต้อง “บริหารจัดการในระยะเวลาที่จำกัด” และในระหว่างการรักษา หากมีปัญหาใดเกิดขึ้น เช่น คนไข้แพ้ยา ทักษะการ “แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า” นั้นก็เป็นสิ่งสำคัญ

องค์ความรู้ทางวิชาชีพ เป็นสิ่งที่สามารถฝึกสอนกันได้ ในขณะที่ทักษะต่างๆ ที่พี่กล่าวมาข้างต้น ล้วนเป็นทักษะที่ต้องใช้ระยะเวลาในการฝึก และเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กับความเก่งและความชำนาญในองค์ความรู้ของวิชาชีพเลยล่ะค่ะ

อ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว น้องๆ เริ่มเห็นความสำคัญของวิชานี้ขึ้นมาหรือยังคะ

ถ้าเห็นแล้ว…รีบกลับไปเปิดหนังสือแล้วฝึกทำโจทย์ได้แล้วนะ 🙂

ขอบคุณข้อมูลประกอบการเขียนจาก อาจารย์ท่านหนึ่งในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


Share this:

Posted in บทความ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *