อันนี้ขอเท้าความก่อนว่า การเปิดคณะเภสัช หน้าที่ของคนที่รับรองหลักสูตรเภสัชดังกล่าวคือสภามหาวิทยาลัย ตาม พรบ.อุดมศึกษา ดังนั้นการเปิดคณะเภสัช เป็นเรื่องของมหาวิทยาลัย สภาเภสัชไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่การที่คนที่จบเภสัชจากสถาบันนั้นๆมา จะมาเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ตาม พรบ.วิชาชีพเภสัชกรรมได้ไหม อันนี้ต้องให้สภาเภสัชรับรองปริญญาเสียก่อน ดังนั้นถ้าบัณฑิตจากสถาบันไหนไม่ผ่านการรับปริญญาจากสภาเภสัชกรรม ก็จะขาดคุณสมบัติตามมาตรา 12(2) ของ พรบ.วิชาชีพเภสัชกรรม
แต่!!! มาตรา 12(2) ของ พรบ.วิชาชีพเภสัชกรรม เขียนไว้แบบนี้
จะเห็นได้ว่า มาตรา 12(2) จริงๆ เขียนไว้ว่าคุณสมบัติของสมาชิกจริงๆนั้น ต้องได้ปริญญาเภสัชศาสตร์ (ป.ตรี เท่านั้น) ที่สภาเภสัชกรรมรับรอง หรือทบวงมหาวิทยาลัยรับรอง!!!
จะเห็นได้ว่า ทบวงมหาวิทยาลัยรับรองก็ได้!!! ซึ่งอันนี้ไม่เหมือนกับของวิชาชีพอื่นๆเช่น แพทย์ ระบุเพียงว่าต้องให้สภาวิชาชีพรับรองปริญญาเท่านั้น !!! ทบวงมหาวิทยาลัยรับรองไม่ได้ ตัวอย่างของวิชาชีพแพทย์ดังรูปด้านล่าง
ซึ่งในสายวิชาชีพด้านสุขภาพทั้งหมด จะมีเพียง เภสัชกร และ ทันตแพทย์ เท่านั้น ที่ พรบ.วิชาชีพ ระบุว่าให้ทบวงมหาวิทยาลัยรับรองก็ได้
อ้าว แล้วแบบนี้ ก็ให้ทบวงมหาวิทยาลัย รับรองแทนสภาเภสัชก็ได้สิ!!!
ช้าก่อนครับ มันมีรายละเอียดยิบย่อยกว่านั้น
คือถ้าไปดูตาม ข้อบังคับสภาเภสัชกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์การสอบความรู้เพื่อขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2560 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม จะพบว่าในหมวดที่ 2 การสอบและการจัดสอบความรู้ ข้อที่ 8 (1) (2) ระบุคุณสมบัติของผู้เข้าสอบว่า “เป็นผู้ที่กำลังศึกษาหรือสำเร็จการศึกษาหลักสูตรเภสัชศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยที่สภาเภสัชกรรมให้การรับรองปริญญา” เท่านั้น!!!
จะเห็นได้ว่า แม้ว่า พรบ.วิชาชีพเภสัชกรรมจะระบุคุณสมบัติสมาชิกว่า ให้ทบวงมหาวิทยาลัยรับรองปริญญาก็ได้ แต่การสมัครเป็นสมาชิก จำเป็นจะต้องมีคะแนนสอบใบประกอบวิชาชีพตามที่สภาเภสัชกรรมระบุ เพื่อนำคะแนนสอบนั้นไปแสดงตนว่ามีสิทธิขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมตามมาตรา 13(1) แห่ง พรบ.วิชาชีพเภสัชกรรม ซึ่งหากไม่ได้จบจากสถาบันที่สภาเภสัชกรรมรับรองปริญญา จะไม่สามารถสมัครเข้าสอบได้อยู่ดีเนื่องจากขาดคุณสมบัติตาม ข้อบังคับสภาเภสัชกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์การสอบความรู้เพื่อขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2560 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม นั่นเอง
Share this: