ถ้าไม่ได้เป็นเภสัชกร แล้วไปยืนขายยาได้ไหม ไปแล้วจะมีความผิดอะไรบ้าง?

ถ้าไม่ได้เป็นเภสัชกร ไม่ได้มีใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม แล้วไปยืนขายยา จะมีความผิดอะไรไหม?

บทความนี้จะโฟกัสเฉพาะความผิดของคนขายอย่างเดียวนะครับ ไม่ได้โฟกัสความผิดของผู้รับอนุญาตหรือเจ้าของร้านและความผิดของผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการหรือตัวเภสัชกรที่ปล่อยให้คนอื่นขายแทน

ความผิดคนขายยา ที่ไม่ใช่เภสัชกร

การจะดูว่ามีความผิดอะไรบ้างนั้น ต้องดูว่ายาที่ขายคือยาประเภทอะไร

กรณีขายยาสามัญประจำบ้าน

ถ้ายาที่ขายนั้น เป็นยาสามัญประจำบ้าน ก็ไม่มีความผิดอะไร ไม่ว่าจะขายที่ไหน ในร้านยา นอกร้านยา มีใบอนุญาตขายยาหรือไม่มี ในเวลาทำการหรือนอกเวลาทำการก็ตาม ไม่มีความผิดอะไรทั้งสิ้น

กรณีขายยาบรรจุเสร็จ

  • ถ้าขายยาบรรจุเสร็จในร้านขายยาที่มีใบอนุญาตถูกต้อง ในเวลาทำการ คนขายไม่มีความผิด แต่เภสัชกรมีความผิดฐานไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ (คือโทษที่ว่าเภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่มีอะไรบ้าง มันมีหลาย พรบ. หลายมาตราที่เกี่ยวข้องมากๆ ต้องดูลักษณะของความผิดด้วย เช่น ไม่อยู่แล้วมีวัสดุบิดบังว่าจะไม่ขายไหม หรือว่ามี เลยขอไม่พูดถึงในบทความนี้ เพราะจะยาวเกินไป)
  • ถ้าขายยาบรรจุเสร็จในร้านที่มีใบอนุญาตขายยา แต่นอกเวลาทำการ อันนี้คนขายไม่มีความผิด แต่ผู้รับอนุญาตหรือเจ้าของมีความผิดตามมาตรา 26(7) ของ พรบ.ยา 2510 ตามการตีความของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาท
  • ถ้าขายยาบรรจุเสร็จในร้านที่ไม่มีใบอนุญาตขายยา เช่น ร้านขายของชำ อันนี้จะมีผิดฐานขายยาโดยไม่มีใบอนุญาตขายยา ซึ่งผิดตามมาตรา 12 และมีบทลงโทษตามมาตรา 101 ของ พรบ.ยา 2510 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

ในกรณีของยาบรรจุเสร็จ อาจจะมีความคลุมเครืออยู่ว่า คนขายมีผิดฐานปฏิบัติวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้ใบอนุญาต ตาม พรบ.วิชาชีพเภสัชกรรม หรือไม่ เพราะถ้าตีความตาม พรบ.วิชาชีพเภสัชกรรม การจ่ายยาถือว่าเข้าข่ายนิยามวิชาชีพเภสัชกรรมตามมาตรา 4 ของ พรบ.วิชาชีพเภสัชกรรม แต่ในส่วนของ พรบ.ยา ระบุเพียงว่ายาบรรจุเสร็จต้องจำหน่ายในร้านที่ใบอนุญาตขายยาเท่านั้น แต่ไม่ได้ระบุว่าการขายนั้นต้องควบคุมโดยเภสัชกรเหมือนกับยาอันตรายหรือขายควบคุมพิเศษ

แล้วจะดูยังไงว่าอันนี้คือยาบรรจุเสร็จ

ยาบรรจุเสร็จเป็นปัญหาในการจำแนกมากๆ เพราะคนชอบจำสับสนกับยาสามัญประจำบ้าน วิธีดูง่ายๆว่าอันไหนคือยาบรรจุเสร็จ คือดูที่กล่องหรือฉลาก ถ้าไม่มีคำว่ายาสามัญประจำบ้านที่เขียนด้วยตัวอักษรสีเขียว หรือเขียนว่ายาอันตรายที่เขียนด้วยตัวอักษรสีแดง หรือไม่มีเขียนว่ายาควบคุมพิเศษ เอาง่ายๆคือไม่มีเขียนประเภทยาไว้บนกล่องหรือฉลากเลยนั่นแหละ อันนี้คือยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ เรียกสั้นๆว่า “ยาบรรจุเสร็จ”

กรณีขายยาอันตรายหรือขายควบคุมพิเศษ

  • ถ้าขายยาอันตรายหรือขายควบคุมพิเศษในร้านที่มีใบอนุญาตถูกต้อง ในเวลาทำการ คนขายมีความผิดฐานปฏิบัติวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้ใบอนุญาต ตาม พรบ.วิชาชีพเภสัชกรรม (ส่วนบทลงโทษจะพูดแยกในอีกหัวข้อนึงด้านล่าง) ส่วนผู้รับอนุญาตหรือเจ้าของร้านมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 32 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000 – 5,000 บาท ส่วนเภสัชกรมีความผิดฐานไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่
  • ถ้าขายยาอันตรายหรือขายควบคุมพิเศษในร้านที่มีใบอนุญาตถูกต้อง แต่นอกเวลาทำการ คนขายมีความผิดฐานปฏิบัติวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้ใบอนุญาต ตาม พรบ.วิชาชีพเภสัชกรรม ส่วนผู้รับอนุญาตหรือเจ้าของร้านมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 32 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000 – 5,000 บาท และมีความผิดตามมาตรา 26(7) ของ พรบ.ยา 2510 ตามการตีความของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาท
  • ถ้าขายยาอันตรายหรือขายควบคุมพิเศษในร้านที่ไม่มีใบอนุญาตขายยา เช่น ร้านขายของชำ อันนี้จะมีผิดฐานขายยาโดยไม่มีใบอนุญาตขายยา ซึ่งผิดตามมาตรา 12 และมีบทลงโทษตามมาตรา 101 ของ พรบ.ยา 2510 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และมีความผิดฐานปฏิบัติวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้ใบอนุญาต ตาม พรบ.วิชาชีพเภสัชกรรม

ความผิดฐานปฏิบัติวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้ใบอนุญาต ตาม พรบ.วิชาชีพเภสัชกรรม

อันนี้จะมาพูดถึงว่า ถ้าเราไม่ได้เป็นเภสัชกร ไม่ใบประกอบ แล้วเราไปขายยา เราจะผิดฐานปฏิบัติวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้ใบอนุญาต แต่ทีนี้ ความผิดมันมีอะไรบ้างล่ะ

ขอเท้าความก่อนว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นของกฎหมายข้อนี้ หลักๆ 90% เลย คือร้านยาแขวนป้าย กล่าวคือ เภสัชอยู่แต่ป้าย แล้วตัวไม่อยู่ แล้วให้คนอื่นมาขายยาแทน ดังนั้นคนที่โดนลงโทษเรื่องนี้ ส่วนมากจึงเป็นคนที่กระทำความผิดในร้านที่มีใบอนุญาตขายยาถูกต้อง เพียงแต่ตัวเค้าเองไม่ใช่เภสัชกร

สำหรับบทลงโทษฐานปฏิบัติวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้ใบอนุญาต ตาม พรบ.วิชาชีพเภสัชกรรม คือการฝ่าฝืนมาตรา 28 ของ พรบ.วิชาชีพเภสัชกรรม มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จะเห็นได้ว่า โทษจริงๆแล้ว มีโทษจำคุกด้วย แต่เราไม่เคยเห็นใครขายยาแล้วติดคุกเลยใช่ไหมครับ ถ้าไม่ได้มีผู้เสียหายฟ้องร้อง หรือมีคนตาย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าในอดีตที่ผ่านมา สภาเภสัชกรรม ลงโทษความผิดนี้เพียงโทษปรับเท่านั้น แต่ว่าการทำเช่นนี้เกิดปัญหามาก เพราะว่าคนทำผิดไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย โดนจับไปจ่ายค่าปรับก็จบ ในขณะที่เภสัชกรที่มีใบอนุญาตถูกต้อง หากไม่อยู่ร้านยา กลับถูกสภาลงโทษหนักมาก คือพักใช้ใบประกอบถึง 2 ปี ทำให้หลายๆคนมองว่าโทษระหว่างคนในกับคนนอกไม่เท่ากัน ในปี 2566 เป็นต้นมา สภาจึงปรับใหม่ คราวนี้ฟ้องคนขายยาที่ไม่ใช่เภสัชกรโดยมีโทษจำคุกด้วย ซึ่งก็มีผลพิพากษาเป็นคดีตัวอย่างแล้ว ดังรูป

จะเห็นได้ว่า คราวนี้มีการดำเนินคดีอาญา โดยศาลได้ตัดสินให้เสียค่าปรับ 12,000 บาท และลงโทษจำคุก 6 เดือน (จากบทกำหนดโทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) แต่เนื่องจากเป็นการกระทำความผิดครั้งแรก โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไปก่อน 1 ปี

หลายคนก็อาจคิดว่า อ้าว สุดท้ายก็รอลงอาญาอยู่ดี โดนแค่โทษปรับเหมือนเดิม แต่จริงๆมันไม่เหมือนเดิมซะทีเดียวครับ เพราะว่า ถ้ากระทำความผิดซ้ำเดิมอีก มันจะไม่ใช่รอลงอาญาละ แต่เป็นติดคุกจริงๆ นอกจากนี้ การโดนคดีอาญายังมีผลเสียอีกมาก เช่น ทำให้มีประวัติต้องโทษอาญาติดตัวไปตลอดชีวิต และเสียโอกาสที่ดีในอนาคตได้ (เพราะมีหลายหน่วยงานที่ตรวจสอบประวัติไปที่กรมตำรวจหากพบว่าเคยต้องโทษอาญาจะไม่รับเข้าทำงาน) เป็นต้น


Share this:

Posted in บทความ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *