คณะแพทย์และคณะเภสัช ต่างกันยังไง

ช่วงนี้เห็นมีน้องสงสัย อาจจะเพราะเป็นคณะสายสุขภาพเหมือนกัน การสอบเข้าค่อนข้างใกล้เคียงกัน (หรือเปล่านะ 55555) หรือหลายๆ คนอาจจะแอบมีความคิดว่า “ถ้าจะเรียนเภสัช เรียนหมอดีกว่ามั้ย” แต่จริงๆ แล้วทั้งหมอและเภสัชต่างก็มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่ใช่ว่าคณะไหนดีกว่าคณะไหน แต่มันเป็นว่าคณะไหนเหมาะกับใครมากกว่ากันนั่นแหละค่ะ

เข้าเรื่องกันเลย

แพทย์ : คีย์ของการเรียนคณะแพทยศาสตร์คือ เรียนให้รู้ให้ได้ว่าถ้าผู้ป่วยมาอยู่ตรงหน้าเรา เราจะรักษาผู้ป่วยคนนี้ได้อย่างไร
เน้นเรียนเพื่อรักษาคนไข้ เรียนให้รู้ว่าคนไข้มีอาการนี้ คือป่วยอย่างนี้นะ ก็คือพวกวินิจฉัยโรคต่างๆ และหาหนทางรักษาคนไข้ให้ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยา งานหัตถการ (เช่น ผ่าตัด เย็บแผลคนไข้ ฉีดยา) หรืออื่นๆ

การเรียนของแพทย์จะเน้นว่า ถ้าเจอคนไข้แล้ว จะรักษายังไงดี จะจำเรื่องยาน้อยกว่าเภสัชมาก แต่ก็ต้องจำรายละเอียดเรื่องโรคต่างๆ มากกว่าเภสัชเช่นกัน
คณะแพทย์ในระดับปริญญาตรีไม่มีการแบ่งสาขา คือทุกคนที่เรียนแพทย์ในหลักสูตร แพทยศาสตร์บัณฑิต (Doctor of Medicine) จะเรียนในหลักสูตรเดียวกัน เนื้อหาเหมือนกันหมด

6 ปีของการเรียนแพทย์ แบ่งเป็นชั้นพรีคลินิค 3 ปีแรก ที่จะเรียนในคณะ และชั้นคลินิค 3 ปีสุดท้าย ที่จะฝึกงานในโรงพยาบาล ซึ่งก็ถือว่าหนักหน่วงอยู่เหมือนกัน (เป็นกำลังใจให้นักศึกษาแพทย์ทุกคนค่ะ 😭)

เมื่อก่อนการเรียนจะแบ่งเป็นบล็อค คือไม่มีสอบมิดเทอมไฟนอลเหมือนคณะทั่วไป แต่จะเป็นการสอบถี่ๆ และมีปิดเทอมน้อยมากหรือไม่มีเลย 😭 แต่สำหรับรุ่นน้องที่กำลังเข้ามา อาจมีการเปลี่ยนแปลงเป็นสอบมิดเทอมไฟนอลเหมือนคณะทั่วไปแล้ว ข้อมูลตรงนี้แอดมินก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน ยังไงก็ลองไปสอบถามนักศึกษาแพทย์กันดูนะคะ

แถมอีกนิด เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้แอดตัดสินใจบ๊ายบายคณะแพทย์ คือแอดกลัวการทำงานหัตถการ 😭 แต่ถ้าน้องคิดว่าอยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยงานหัตถการพวกนี้จริงๆ เชิญได้เลยค่ะ เพราะงานแบบนี้นี่แหละที่สามารถเปลี่ยนชีวิตของคนคนนึงได้ และถือเป็นอะไรที่แอดชื่นชมทีเดียว

เภสัช : คีย์ของการเรียนคณะเภสัชศาสตร์คือ เรียนให้รู้ให้ได้ว่ายาในมือของเรานั้นผลิตมาได้ยังไง ใช้อย่างไร และเมื่อเข้าร่างกายของคนไข้แล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง

เน้นเรียนเรื่องยา ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการใช้กับผู้ป่วย ปฏิกิริยาต่างๆ ของยา ทั้งในกระบวนการผลิตยา และปฏิกิรยาของยาในร่างกายของคนไข้ เภสัชคือคนที่สามารถวินัจฉัยเบื้องต้นและให้การรักษาด้วยยาได้ แต่ยาบางตัว (เช่น สารเสพติดต่างๆ) ก็ต้องผ่านแพทย์ก่อน

การเรียนเภสัชในระดับปริญญาตรีในหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต (Doctor of Pharmacy) สามารถแบ่งได้สองสาขา (แต่บางมหาลัย อาจจะสามสาขา) คือ สาขาเภสัชอุตสาหการ ที่จะเรียนเรื่องการผลิตยาในโรงงาน และสาขาการบริบาลเภสัชกรรม ที่จะเรียนเรื่อง การผลิตยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย และการใช้ยากับคนไข้

พี่จะสรุปให้ว่าการเรียนเภสัชคือเรียนทุกอย่างเกี่ยวกับยา ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการบริโภค ไปจนถึงการดูแลคนไข้หลังการบริโภคยา ปฏิกิริยาเคมีต่างๆ ของยาทั้งในกระบวนการผลิต และปฏิกิริยาของยาในร่างกายคนไข้ ชีวิตน้องจะมีแต่ ยา ยา ยา และยา ว้าว! โลกนี้มีแต่ยา (ล้อเล่นนะคะ 555555) ไปจนถึงเรียนเครื่องจักรการผลิตยาเลยแหละ 55555

น้องสามารถอ่านรีวิวคณะเภสัชเพิ่มเติมได้ที่ รีวิวเรียนเภสัช The series

การฝึกงานของนักศึกษาเภสัช จะไม่ใช่ฝึกงาน 3 ปีอย่างต่อเนื่องในโรงพยาบาลแห่งเดียวเหมือนนักศึกษาแพทย์ ระบบการฝึกงานของคณะเภสัชจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละมหาวิทยาลัย โดยอาจจะมีการแบ่งเป็นผลัด และมีสถานที่ฝึกงานที่หลากหลาย ทั้งโรงงาน ร้านขายยา และโรงพยาบาล ก็ต้องไปดูรายละเอียดของแต่ละ ม. อีกที

การเรียนเภสัช จะมีระบบการเปิดปิดเทอมเหมือนคณะทั่วไป มีเทอมหนึ่งเทอมสอง มีการสอบเป็นมิดเทอมและไฟนอล อาจจะมีสอบควิซต่างๆ ด้วย แต่การสอบรอบใหญ่ๆ ก็คือมิดเทอมไฟนอลนี่แหละค่ะ

ถ้าการเรียนแพทย์มีงานหัตถการ การเรียนเภสัชเราก็มีแลปจ้า 55555 แลปทำยา แลปตรวจสอบยา แลปอะไรต่างๆ เยอะแยะไปหมด ถ้าน้องเป็นคนชอบยาและชอบทำแลป เรียนเชิญค่ะ รับรอง สนุก! (กัดฟันพูด 5555)

สรุปคือ ด้วยความที่คณะเภสัชเป็นคณะที่จบไปแล้วทำงานได้หลากหลาย แต่เภสัชกรที่คนทั่วไปเห็นมีเพียงไม่กี่สายงาน ถ้าให้เปรียบเทียบ ก็เหมือนคนก็เห็นกันแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งลักษณะงานตรงยอดภูเขาน้ำแข็งนั้น (เภสัชกรร้านขายยา เภสัชกรในโรงพยาบาล) อาจจะมีรูปแบบการทำงานบางอย่างคล้ายแพทย์อยู่บ้าง ทำให้หลายคนเข้าใจไปว่าเภสัชคล้ายแพทย์ได้ แต่จริงๆ แล้ว สองอาชีพนี้ ยังไงก็คือต่างอาชีพที่มีลักษณะการทำงานต่างกันอยู่มาก

และยังมีงานใต้ภูเขาน้ำแข็งอีกมากมาย (อย. โรงงานผลิตยา สายงานการคุ้มครองผู้บริโภคต่างๆ เภสัชสายวิจัย ฯลฯ) ที่ลักษณะงานแทบจะเรียกได้ว่าต่างจากแพทย์โดยสิ้นเชิง แต่เภสัชกรที่ทำงานตรงนี้คนส่วนใหญ่อาจจะไม่ค่อยเห็นเท่านั้นเอง

แพทย์และเภสัชเป็นคณะที่ระยะเวลาการเรียนนาน 6 ปีเท่ากัน แต่ 6 ปีของแพทย์และเภสัช เป็น 6 ปีที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งวิชาเรียนและการฝึกงาน การทำงานของแพทย์และเภสัช ไม่ว่ายังไงก็ไม่มีทางเหมือนกัน และไม่สามารถแทนที่กันได้

ก่อนเลือกคณะ เลือกเส้นทางความฝันของตัวเอง กลับไปคิด ทบทวนตัวเอง และศึกษาข้อมูลดีๆ เพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเองนะคะ


Share this:

Posted in บทความ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *