การเรียนเภสัชกับการเป็นโรคซึมเศร้า

ตั้งแต่พี่คุยกับน้องๆ ม.6 ที่กำลังจะขึ้นปี 1 พี่พบว่าหนึ่งในเรื่องที่น้องๆหลายคนกังวลเล็กๆในใจ คือ เรียนหนักมากไหม เครียดมากหรือเปล่า จะถึงขั้นมีอาการทางจิตไปจนถึงป่วยเลยไหม

อันที่จริงพี่สังเกตุเห็นว่า น้องหลายคน มีอาการตั้งแต่เป็นนักเรียนแล้วด้วยซ้ำ ซึ่งพี่ว่ามันเยอะกว่าแต่ก่อนมาก (เพราะสมัยพี่คนที่ป่วยตั้งแต่เป็นนักเรียนนี่น้อยมากนะครับ ส่วนมากเป็นหลังเข้ามหาลัยกันแล้ว) แต่สิ่งนึงที่พี่รู้สึกได้ก็คือ น้องๆเดี๋ยวนี้ แบกรับความความคาดหวังและความกดดันสูงมาก ซึ่งก็ไม่แปลก ด้วยสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม ในตอนนี้เป็นแบบนี้ แล้วในอนาคตก็ยังมองไม่เห็นทางออกที่ชัดเจนเท่าไร

เอาละ เข้าเรื่องกันดีกว่า พี่รู้สึกว่า น้องหลายคน มีคำถามนึงที่ติดอยู่ในใจ ประมาณว่า “เออ ถ้าหนู ตอนนี้เป็นแบบนี้ เรียนๆไปแล้วจะไหมไหว จะเครียดไหม หรือป่วยจนต้องเข้า รพ.หรือเปล่า”

คือ ถ้าถามพี่นะ ต้องบอกก่อนว่า พี่เป็นคนไม่รู้สึกว่าการเรียนในเภสัชเป็นเรื่องที่ยาก คือมันก็เหนื่อยและกดดันในระดับนึง แต่ก็โอเค ทำหัวโล่งๆเข้าไว้ ทำไม่ได้ อ่านไม่ทัน ก็เครียดนะ แต่พอถึงเวลาจริงๆก็ช่างมัน เอาวะ อย่างมากก็แค่เรียนใหม่อีกเทอม ก็ดี จะได้แน่นๆ แต่เอาจริงๆแล้ว ต้องขอบคุณเพื่อนที่มาติว ชม. สุดท้ายให้แม่นเหมือนจับวาง (แม้จะปล่อยไวรัสไว้บ้างก็เถอะ) ขอบคุณดวงตัวเองที่เวลาถึงจังหวะ 50/50 แล้วเลือกถูก, ขอบคุณสมองตัวเองที่ถึงเวลาวินาทีชีวิต แล้วมันไปขุด memory เสียงอาจารย์ที่แอบซึมตอนหลับในห้องออกมาได้ ก็เลยเอาตัวรอดมาได้ทุกครั้ง แต่ถึงอย่างนั้น พี่ก็เคยถูกรักษาในฐานะผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเหมือนกัน

ย้อนกลับไปตอน ปี 3 พี่ก็มีชีวิตนักศึกษา ที่ค่อนข้างจะดีกว่านักศึกษาเภสัชทั่วไปด้วยซ้ำ ตอนปี 3 เราเริ่มเรียนเลคเชอร์เช้า 9.00 น. แล้วก็บ่ายทำแลบเลิก 17.00 น. ส่วนวันเสาร์อาทิตย์ถ้าไม่มีนัดพรีเซนต์หรือสอนเสริม ก็จะนั่งทำงานกลุ่ม ซึ่งพี่ก็จะเข้าไปเรียนในห้องตอน 9.30 น. เรียนบ้างหลับบ้าง พอเที่ยงลงมากินข้าว ซดกาแฟ 1 แก้ว บ่ายทำแลบ ทำบ้าง โยนให้เพื่อนมั่ง เลิก 17.00 น. ไปวิ่งจนถึง 19.00 น. แล้วก็ว่ายน้ำต่อจนถึง 21.00 น. จากนั้นก็กินข้าวเย็น คุยโทรศัพท์กับแฟน จนถึง ตี 2 ตี 3 ตื่นมาอีกที 8.50 น. โอ้ย ชีวิต แฮปปี้มีความสุขดีมาก จนวันก่อนสอบมิดเทอม 1 วัน แฟนพี่มาบอกว่า เค้าขอเลิก เพราะเค้ามีคนใหม่แล้ว คืนนั้นคือหน้าชา อ่านอะไรก็ไม่เข้าหัว ไม่ได้นอนเลยทั้งคืน แต่ก็พยายามโฟกัสกับการสอบจนผ่านไปได้ ไม่รู้เป็นความโชคดีหรือโชคร้าย ที่คนจัดตารางสอบจัดได้เหี้ยมมาก คือ สอบมันทั้งเช้า-บ่าย 5 วันติด (จริงๆมีวันนึงมีสอบตอนหัวค่ำแถมด้วย แต่วิชานั้นเป็นวิชาเลือก) สัปดาห์นรกก็เลยผ่านไปอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องทรมานกับการสอบนานนัก แต่หลังจากสอบเสร็จ เราก็มีเวลาว่างมากกว่าคณะอื่น ซึ่งไอความว่างนนั่นแหละ คือช่วงที่ทรมานของจริง

มันเริ่มจากการที่นอนเฉยๆทั้งวัน ปล่อยให้ความคิดมันไหลลอยไป ทั้งความเหนื่อยล้าจากการสอบที่อดนอนมาหลายวัน ทั้งเรื่องแฟนที่ยังสลัดออกไปจากในหัวไม่ได้ แล้วมันก็เริ่มทำให้ชีวิตประจำพี่เปลี่ยนไป หลังจากนั้นพี่ก็มีปัญหานอนไม่หลับ มันทำให้พี่ลืมอะไรง่ายๆ ทำงานได้แย่ลง แม้แต่อะไรง่ายๆก็ทำได้ไม่ดีเหมือนแต่ก่อน มันทำพี่หงุดหงิดกับตัวเอง รู้สึกเฟล แล้วก็เครียด ถึงแม้จะกลับมาเรียนแล้ว ด้วยการที่พี่นอนไม่หลับ ทำให้พี่ไม่สามารถเข้าเรียนเลคเชอร์ตอนเช้าได้แม้แต่วันเดียว แต่พี่ก็ประคองตัวเองไปทำแลบแบบมึนๆได้ ไม่ต้องพูดถึงการไปออกกำลังกายเพราะแบกตัวเองไปเรียนก็ลำบากแล้ว เทอมนั้น พี่เกรดร่วงหนักมาก ก่อนหน้านั้นตั้งแต่ ปี 1 – ปี 3 พี่ได้เกรดเฉลี่ย 3.68 แต่เทอมนั้นพี่ได้เกรดแค่ 2.4 เกรดเฉลี่ยนี่ลดฮวบๆเลย น้ำหนักพี่ขึ้นจาก 55 กิโล เป็น 70 กิโลในเวลาไม่ถึง 5 เดือน แม้จะขึ้นเทอม 2 แล้ว อาการก็ยังไม่ดีขึ้น จนพี่เป็นหนักมากถึงขนาดไม่ออกจากห้องเลย 3 วัน 3 คืน แม้แต่แลบก็ไม่เข้า จนเพื่อนพี่สงสัยว่า พี่ตายหรือเปล่า มันเลยบุกมาถึงห้อง แล้วก็ลากพี่ไปหาหมอ

การไปหาหมอครั้งนั้นเอง ทำให้พี่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นซึมเศร้า แล้วก็ออนยา แต่การที่พี่เข้าไปก็ทำให้พี่รู้อะไรบางอย่าง อย่างเช่น ทำให้พี่รู้ว่า ในคณะเภสัช มีนักศึกษาที่ต้องรับยาต้านซึมเศร้าอยู่ 10% (อันนี้คือ สมัยพี่เรียน เมื่อ 10 ปีที่แล้วนะ) ได้รู้ว่ามีเพื่อนอีกหลายคน ที่พี่เห็นว่า เห้ย เค้าเป็นคนร่าเริงมากเลยนะ ไม่น่าเชื่อว่าเค้าก็รักษาอยู่เหมือนกัน (สมัยก่อนเรื่องโรคซึมเศร้ายังไม่ได้เป็นเรื่องที่จะยอมเปิดเผยกันง่ายๆ โดยมากคนไหนป่วยก็รักษาแบบเงียบๆไม่ให้ใครรู้) หรือบางคนที่เค้าดูเป็นคนเก่งมาก ดูชีวิตดี Perfect แต่ลึกๆแล้วเค้ากดดัน เครียด และป่วย แล้วก็ทำให้พี่สนิทกับเพื่อนคนนึงมากขึ้น ซึ่งเพื่อนคนนี้แหละ ที่กลายมาเป็นเพื่อนที่คอยติวตอนพี่อ่านหนังสือไม่ทันทุกครั้ง (ปล. เพื่อนคนนี้มันบอกว่ามันเป็นซึมเศร้า แต่ลึกๆพี่คิดว่าอาการมันไม่ค่อยเหมือนคนเป็นซึมเศร้าเท่าไร แต่มันก็ไม่ปกติแหละ แต่ก็ไม่รู้มันเป็นอะไร ยาที่มันกินก็เป็นยากลุ่มใหม่ๆ ชื่อแปลกๆ แต่ก็ช่างเถอะ)

อย่างไรก็ดี เคสของพี่ ถือว่าโชคดีหน่อย เพราะหลังจากการรับการรักษาแล้ว แค่ 2 เดือน อาการก็ดีขึ้นมากจนกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ (แต่ยามืงจะง่วงไปไหน จากคนนอนไม่หลับ กลายเป็นหลับทั้งวันทั้งคืน 55555)

อย่างที่บอกไปว่าสมัยพี่ มีคนป่วยอยู่ 10% (จริงๆอาจเยอะกว่านั้น แต่ไม่ได้รับการรักษา) แต่พอพี่มาเจอน้องสมัยนี้ เดินมา 10 เป็นซึมเศร้า ไม่ก็ panic ไปซะ 5 (สมัยพี่ไม่ค่อยมีคนเป็น panic นะครับ แต่สมัยนี้เป็นกันเยอะกว่าซึมเศร้าอีก) แต่ก็เป็นเรื่องที่ดีที่สมัยนี้ โรคนี้ได้รับการยอมรับ และเปิดเผยกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมากๆ

เคยมีใครเป็นหนักจนเรียนไม่จบไหม?

สมัยพี่มีอยู่คนนึงครับ และก็ไม่ได้เป็นซึมเศร้าด้วย จริงๆแล้วเธอเป็นคนเรียนเก่งมากด้วยซ้ำ สมัยมัธยมปลายเธอเป็นถึงเด็กโอลิมปิกค่าย 3 ชีววิทยา และความฝันของเธอคือ วิทยาศาสตร์สาขาชีวะ แต่พ่อกับแม่ก็บังคับให้เธอเรียนเภสัช ทุกๆวันเธอทุกทรมานกับการเรียน เธอเหมือนตกนรกในทุกๆวัน และความทรมานนี้ก็ค่อยๆแปรเปลี่ยนเป็นความเกลียดชัง จนเธอเกลียดเภสัชศาสตร์อย่างที่สุด แต่ก็ต้องทนเรียน จนมีวันที่เธอทนไม่ไหว หยิบมีดมาจะแทงเพื่อน เธอจึงถูกส่งไปรักษา และทำให้เธอต้องพักการเรียนไป 1 ปี เพื่อรักษาตัว ทำให้ต้องมาเรียนกับรุ่นน้อง แต่ถึงอย่างนั้นการรักษาก็ทำให้เธออาการดีขึ้นมาก จนกลับมาเรียนได้ตามปกติ แต่ปัญหาคือครอบครัวของเธอ คือไม่ว่าเพื่อนและอาจารย์จะพยายามเต็มที่เพื่อรักษาและประคองให้เธอไปต่อได้ แต่พ่อแม่ของเธอ ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ลูกฉันไม่ได้บ้า ลูกฉันไม่ได้ป่วย แล้วก็โยนปัญหาและความกดดันทั้งหมดให้เธอ ในที่สุดเธอก็สติแตก ไม่ไปรักษา ไม่ไปเรียน แล้วพี่ก็ไม่เห็นเธออีกเลย ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเธอไปไหน ทำอะไรอยู่

สรุป

อะไรที่เราควบคุมได้ เราก็พยายาม handle ให้ได้ อะไรที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา ก็ปล่อยวาง อย่าไปเครียดกับมันมากครับ ถ้าป่วย ก็ไปรักษา อย่าปล่อยทิ้งไว้ อย่างที่พี่บอกไปครับ ว่าพี่เห็นคนป่วยที่เรียนไม่จบแค่คนเดียว แล้วคนนั้นก็ไม่ได้เป็นซึมเศร้าด้วย เอาจริงๆหากน้องรักษา ประคองตัวเองได้ และไม่หมดกำลังใจไปซะก่อน อาจารย์คณะเภสัช ส่วนใหญ่ใจดีมากครับ ยังไงอาจารย์ก็พยายามดันจนน้องจนจบได้ครับ


Share this:

Posted in บทความ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *