การสอบเข้ามหาลัยไม่ใช่ตัวตัดสินชีวิต

การสอบเข้ามหาลัยไม่ใช่ตัวตัดสินชีวิตและนักศึกษาเภสัชศาสตร์หลายคน ก็ไม่ได้จบไปเป็นเภสัชกร

อีกไม่นานก็จะเข้าสู่เทศกาลสอบในสนามสอบต่างๆ แล้ว เห็นน้องหลายคนเริ่มเครียดว่าอ่านไม่ทัน เครียดว่าการบ้านที่โรงเรียนเยอะ เครียดว่ากลัวสอบไม่ติด เครียดว่าสอบไม่ติดแล้วชีวิตจะล่มจม

วันนี้แอดเลยมีเรื่องบางอย่างอยากมาบอกเล่า

น่าเสียดายว่าไม่เคยมีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่ถ้าคิดเล่นๆ จากข้อมูลเมื่อปี 61 ที่ผ่านมา ยอดใบประกอบของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมจะอยู่ที่ประมาณ 39,XXX ใบ แต่ในจำนวน 39,000 ใบนั้น มีเภสัชกรที่ยังอยู่ในระบบจริงๆ เพียงประมาณ 26,187 คนเท่านั้น (โดยในนั้นก็จะมีเภสัชกรในโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนจำนวน 16,XXX คน) และยังมีคนที่ทำงานเภสัชแต่อยู่นอกสายตา สธ. เช่น ตามโรงงานเครื่องสำอางต่างๆ อีกประมาณ 2,000-3,000 คน
นั่นหมายความว่าเรามีเภสัชที่ไม่ได้ทำงานเภสัช 10,000 คน ซึ่งก็อาจจะมีทั้งเสียชีวิต เกษียณ และแน่นอน ลาออกด้วย

ยกตัวอย่างกลุ่ม นศภ รุ่นนึง มีประมาณ 150 คน ปัจจุบันเลิกเป็นเภสัชแล้วประมาณ 30-40 คน

ยังไม่เคยมีการศึกษาตัวเลขของจำนวนคนที่ลาออกจากการเภสัชกรอย่างจริงจัง แต่จากการประมาณแล้ว คาดว่าน่าจะมีเภสัชกรออกจากระบบเนื่องจากเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น 30-40%

ซึ่งการเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น หมายถึงไปทำอะไรบ้าง?

ยกตัวอย่างรุ่นพี่ของแอดเอง ก็มีบางคนที่เรียนปริญญาตรีอีกใบในสาขาที่ต่างออกไป เช่นเรียนต่อคณะแพทยศาสตร์ เป็นต้น
การสอบเข้ามหาลัย คือการสอบเข้าเพื่อให้ได้เรียน บางครั้ง มารู้ตัวตอนหลังว่าไม่ใช่หนทางที่ใช่ก็สามารถซิ่วออก พอเรียนจบ ได้ใบปริญญามา ก็สามารถเลือกได้ว่าจะทำอาชีพอะไร

ทางแยกของชีวิต มันมีมาตลอดค่ะ หลายครั้งหลายคราวที่เราต้องเลือก และตัดสินใจในหนทางของชีวิต

การสอบเข้ามหาลัย คือหนึ่งในทางแยกที่เรียกว่ายิ่งใหญ่ แต่หลังผ่านการสอบเข้ามหาลัย เราก็ยังสามารถเลือกทางเดินชีวิตได้อีกมากมาย
ชีวิตคนเราจะมีหรือไม่มีความสุข จะได้ทำหรือไม่ได้ทำสิ่งที่ชอบ บางครั้ง การสอบติดหรือไม่ติดคณะใดๆ ก็ไม่ใช่คำตอบ ไม่ใช่ตัวตัดสิน

ชีวิตการเรียนในระดับปริญญาตรีมี 4-6 ปี แต่ชีวิตของคนเรายืนยาวกว่านั้นมาก

น้องคนไหนที่กำลังเครียด ไม่ต้องเครียดไปนะคะ ไม่ว่าในการสอบเข้ามหาลัยในครั้งนี้ น้องจะติดหรือไม่ติด น้องจะได้เรียนเภสัชหรือไม่ได้เรียน มันก็ไม่ได้หมายความว่าน้องจะไร้ซึ่งหนทางไปตลอดชีวิต

หลังจบปริญญาตรีสาขาอื่น น้องก็ยังสามารถเรียนหลักสูตรเภสัชศาสตร์สำหรับคนจบปริญญาตรีได้ น้องสามารถกลับมาประกอบวิชาชีพเภสัชกรได้
หลังเรียนจบเภสัชศาสตร์ น้องก็ยังสามารถไปทำงานอื่นได้ หรือแม้กระทั่งเรียนปริญญาตรีอีกสักใบก็ยังได้

ถ้าน้องตั้งมั่นในความฝัน สุดท้ายแล้วไม่ว่าน้องจะล้มลงสักเท่าไหร่ แต่หนทางที่ทำให้น้องสามารถลุกขึ้นยืนได้มันก็จะยังคงมีอยู่ ขอแค่ให้เปิดใจ และพยายาม

ป.ล. สำหรับทุกการตัดสินใจ ยิ่งเราตัดสินใจช้าเท่าไหร่ สิ่งหนึ่งที่เราต้องจ่ายคือค่าเสียโอกาสของเวลาที่มากขึ้นตามความล่าช้าในการเลือก จริงอยู่ที่ในเส้นทางของเรา เราสามารถตัดสินใจใหม่ได้ แต่บางครั้ง ค่าของการตัดสินใจก็แพงมหาศาล หากท้ายที่สุดแล้ว การไม่ตัดสินใจเลือกสักทาง คือสิ่งที่เราต้องจ่ายอย่างแพงที่สุด

สู้ต่อไปนะคะ เป็นกำลังใจให้ ❤️


Share this:

Posted in บทความ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *