ระหว่างเรียนต่อเฉพาะทางเภสัชบำบัดเป็น Resident Pharmacist กับเรียนต่อ ป.โท สาขาคลินิกต่างกันอย่างไร

ถ้าให้ตอบคำถามนี้ง่ายๆ ก็เหมือนถามน้องว่า หลังจากจบ ม.3 จะเลือกเรียนต่อสายอาชีพ (ปวช, ปวส) หรือสายสามัญ (ม.4-ม.6) นั่นแหละครับ ถ้าเรียนต่อเป็น Resident Pharmacist ก็เหมือนเลือกเรียนต่อในสายอาชีพ เพื่อเน้นให้มีความชำนาญในการประกอบวิชาชีพ แต่ถ้าเลือกเรียน ป.โท ก็เหมือนเลือกเรียนต่อในสายสามัญ เพื่อเน้นให้เป็นนักวิชาการ-นักวิจัย

สิ่งที่ควรรู้ไว้อีกอย่างคือ การเรียน resident แล้วสอบวุฒิบัตรได้ กพ. ก็จะตีค่าเงินเดือนเทียบเท่าคนที่จบ ป.เอก ด้วย (การเรียนจบหลักสูตร resident แล้วได้วุฒิบัตร (วภ). ทั้ง กพ. และ สกอ. ก็จะถือว่าเทียบเท่า ป.เอก นะครับ)

สรุปอีกรอบ resident pharmacist จะเน้นที่การฝึกปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความชำนาญเฉพาะด้าน คล้ายๆแพทย์เฉพาะทาง เรียนจบแล้วจะได้ประกาศนียบัตรแสดงความชำนาญเฉพาะด้านนั้นๆ ในขณะที่การเรียน ป.โท ป.เอก จะเน้นที่การวิจัย เพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสาขานั้นๆ จบแล้วได้ปริญญา

ยกตัวอย่าง สมมติเรียน resident pharmacist ด้านเภสัชบำบัด ก็จะฝึกปฏิบัติด้านเภสัชบำบัดจนเชี่ยวชาญจนได้ประกาศนียบัตรรับรอง แต่ถ้า ป.โท จะออกแนว ศึกษาผลของยาชนิดนี้ ต่อคนไข้ เป็นงานวิจัย อะไรแบบนี้

ถ้าสนใจเรื่อง Resident Pharmacist ลองอ่าน แนะนำวิทยาลัยเภสัชบำบัดแห่งประเทศไทย ดูครับ

อ่านเพิ่ม โครงสร้างหลักสูตรการฝึกอบรมเป็นผู้มีความรู้ความชํานาญในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมสาขาเภสัชบําบัดวิทยาลัยเภสัชบําบัดแห่งประเทศไทย

การรับรองวุฒิบัตรแสดงความชำนาญเภสัชกรรม สำหรับผู้ที่สำเร็จการฝึกจากสถาบันในต่างประเทศ

Fellowship ของหมอกับเภสัชต่างกันอย่างไร

พอพูดถึง resident ก็ต้องพูดถึง Fellowship ว่าแต่ Fellowship ของหมอกับเภสัชต่างกันอย่างไรล่ะ?

จริงๆ Fellowship ของหมอกับเภสัชมีความหมายต่างกันเล็กน้อย เพราะ fellowship ของแพทย์จะหมายถึงแพทย์ประจำบ้านต่อยอดซึ่งจะรับคนที่ได้ วว แล้วหรือกำลังเรียน resident ปีสุดท้ายมาเรียนต่อ ส่วนของเภสัช วภ จะต้องเรียน resident 3 ปี + ทำ research fellowship 1 ปี จึงจะเทียบเท่า ป.เอก ดังนั้นหมอที่เรียน วว (อายุรศาสตร์) เรียน resident 3 ปีพร้อมกับทำวิจัยไปด้วย จบมาก็เทียบเท่า ป.เอก แล้วครับ fellow ของหมอจึงน่าจะเหมือน Post Doc

ทำไมการเรียนต่อเป็น resident pharmacist จึงยังไม่ค่อยได้รับความนิยม

ปัญหาจริงๆของการเรียนต่อเภสัชเฉพาะทาง คือเรื่องผลตอบแทนและผลประโยชน์ที่ได้เพิ่มขึ้นหลังเรียนจบ ยกตัวอย่าง หมอเฉพาะทางในโรงพยาบาล มีตำแหน่ง มีเงินพิเศษ ในขณะที่เภสัชยังได้แค่วุฒิเทียบเท่า ป.เอก ซึ่งเอาจริงๆ เงินมันก็เพิ่มไม่ได้เยอะ สู้ทำงานในระบบต่อ ไม่ต้องมาเรียนต่อ ยังได้เงินเพิ่มเยอะกว่า หรือในกรณีส่วนตัวอย่างของหมอ เป็นหมอเฉพาะทางยังออกมาเปิดคลินิกเฉพาะของตัวเองได้ แต่ของเภสัช เคยเห็นร้านยาเฉพาะทางไหมครับ??? ไม่เคยมีเลยจริงไหม


Share this:

Posted in ข้อมูล/ข่าวแวดวงเภสัช.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *