จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเภสัชเก็บ CPE ไม่ทัน

บทความนี้จะกล่าวถึงระเบียบข้อคับของสภาเภสัชกรรม จะออกไปทางทฤษฎี ถ้าในทางปฏิบัติจริงพี่เขียนอัพเดทไว้แล้วที่บทความ เก็บ CPE ไม่ทันทำอย่างไรดี (ภาคปฏิบัติ)

หลังจากน้องจบและสามารถสอบใบประกอบวิชาชีพเพื่อเป็นเภสัชกรอย่างเต็มภาคภูมิได้แล้ว  น้องจะต้องเก็บหน่วยกิจการศึกษาต่อเนื่อง หรือ CPE ซึ่งจะมีระยะเวลา 5 ปี ต่อรอบในการเก็บ เพื่อเป็นการอัพเดทความรู้ทางวิชาการ ซึ่งกระบวนการเก็บหน่วยกิตก็มีหลากหลาย เช่น อ่านบทความและทำข้อสอบ ไปประชุมวิชาการ หรือไปเป็นวิทยากรบรรยายการประชุมวิชาการ เป็นต้น โดยในแต่ละปีจะต้องเก็บได้ไม่น้อยกว่า 10 หน่วยกิต และรวม 5 ปี จะต้องได้ไม่น้อยกว่า 100 หน่วยกิต

ทำอย่างไร หากเก็บ CPE ไม่ทัน

หากน้องเก็บ CPE ไม่ทัน ต้องดูว่าน้องเก็บไม่ทันแบบไหน ถ้าเก็บไม่ทันแบบมีปีใดปีหนึ่งในรอบ 5 ปี ของการเก็บหน่วยกิต มีหน่วยกิตการศึกษาไม่ถึง 10 หน่วยกิต ให้เขียนใบคำขอเก็บหน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่องเพิ่มเติม วิธีการเขียนดูได้ตามนี้ครับ >>>>> วิธีการเขียนใบคำขอเก็บหน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่องเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นเอาหน่วยกิตของปีปัจจุบัน ไปเติมปีที่ขาด เช่น ปี 2558 กับ 2560 เก็บหน่วยกิตไม่ครบ ปีปัจจุบันคือ 2562 ก็จะใช้หน่วยกิตสะสมของปี 2562 โอนเข้าไปตามจำนวนหน่วยกิตที่ต้องเก็บเพิ่มของแต่ละปีที่ขาด แต่ก็จะมีค่าธรรมเนียมการขอเก็บหน่วยกิตเพิ่มเติมด้วย เพราะฉะนั้นถ้าหากไม่อยากเสียเงินฟรีๆ พยายามเก็บหน่วยกิตให้ครบตั้งแต่แรกดีกว่าครับ

อีกกรณีนึงคือหลังครบรอบ 5 ปี ของการเก็บหน่วยกิตไม่ครบ 100 หน่วยกิต อันนี้ตาม ข้อบังคับสภาเภสัชกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขึ้นทะเบียน การออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต แบบและประเภทใบอนุญาต ของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2558 ระบุไว้ว่าให้เก็บหน่วยกิตเพิ่มตามที่ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามข้อบังคับว่าด้วยการจัดการศึกษาต่อเนื่องแก่ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมให้ครบถ้วน ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ใบอนุญาตหมดอายุ

ทีนี้ ถ้าเป็นข้อบังคับสภาเภสัชกรรม ว่าด้วยการจัดการศึกษาต่อเนื่องแก่ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2558 เนี่ย ระบุไว้ชัดเจนว่า ในกรณีที่เก็บหน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่องไม่ครบ 100 หน่วยกิตภายใน 5 ปี ให้พักใช้ใบอนุญาต หากจะพ้นจากการพักใช้ใบอนุญาตต้องเก็บหน่วยกิตให้ได้ 2 เท่า ของที่ขาดไป ภายใน 6 เดือน หลังจากครบรอบเวลาเก็บ 5 ปี แต่ปัญหาคือ ข้อบังคับสภาเภสัชกรรม ว่าด้วยการจัดการศึกษาต่อเนื่องแก่ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2558 เนี่ย มันยกเลิกไปแล้ว เพราะมันมีหลักเกณฑ์ข้อบังคับสภาเภสัชกรรม ว่าด้วยการจัดการศึกษาต่อเนื่องแก่ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2559 ออกมาแล้ว แต่ปัญหาคือไอปี 2559 มันไม่มีพูดถึงว่า ถ้าเก็บไม่ครบต้องทำยังไง อย่างไรก็ดี เคสนี้ ยังไม่เคยเกิดขึ้น เพราะรอบแรกของการศึกษาหน่วยกิต จะครบในสิ้นปี 2562 ที่จะถึงนี้ ดังนั้นจึงยังไม่มีเคสที่ว่าครบ 5 ปี แล้ว ยังเก็บไม่ถึง 100 หน่วยกิต (เพราะมันยังไม่ครบ 5 ปี) แต่พี่เชื่อว่า เดี๋ยวพอใกล้ๆเวลาจริงๆ สภาเภสัชกรรมคงมีข้อบังคับออกมาว่าให้ทำอย่างไรบ้าง เดี๋ยวถึงตอนนั้นค่อยมาอัพเดทกันอีกทีนะครับ

ถ้าเก็บ CPE ไม่ครบตามเกณฑ์ที่กำหนดจะเกิดอะไรขึ้น

ตรงนี้ น้องต้องเข้าใจว่า ใบประกอบเภสัช ตอนนี้ มี 2 รอบ คือแบบมีอายุ 5 ปี กับแบบไม่มีอายุ (ไม่มีวันหมดอายุ) ดังนั้นผลที่เกิดขึ้นจะไม่เหมือนกันครับ

ปล.ถึงแม้ใบจะมีอายุ 5 ปี แต่ถ้าต่ออายุแล้วได้เลขที่ใบเดิมนะครับ ไม่ใช่ได้เลขใหม่

สำหรับน้องที่ได้ใบประกอบหลังวันที่ 27 มีนา 2558 (คือหลังพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 บังคับใช้) ขอแสดงความยินดีด้วย เพราะใบประกอบน้อง หมดอายุได้ (มีอายุ 5 ปี) และหากน้องเก็บ CPE ไม่ครบตามเกณฑ์ที่กำหนด จะเป็นไปตามข้อบังคับสภาเภสัชกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขึ้นทะเบียน การออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต แบบและประเภทใบอนุญาต ของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2558 ซึ่งระบุไว้ว่า

  1. ถ้าเก็บไม่ครบ ให้ดำเนินเก็บให้ครบภายใน 1 ปี ที่ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามข้อบังคับว่าด้วยการจัดการศึกษาต่อเนื่องแก่ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมระบุไว้ แล้วมารับการประเมินความรู้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สภาเภสัชกรรมกำหนด
  2. ถ้าเก็บไม่ครบ แล้วภายใน 1 ปี หลังจากวันที่ใบหมดอายุยังเก็บไม่ครบอีก ให้รับการสอบความรู้เฉพาะรายตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สภาเภสัชกรรมกำหนด

ดูที่พี่ทำตัวหนาไว้นะครับ หมายความว่าถ้าน้องเก็บไม่ครบตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ สภาเภสัชสามารถประเมินความรู้หรือให้น้องสอบวัดความรู้ได้ ซึ่งขึ้นกับว่าสภาเภสัชจะกำหนดอย่างไร ถ้าว่าตามข้อบังคับที่เขียนเอาไว้ ในขั้นเลวร้ายที่สุด สภาเภสัชกรรมสามารถให้น้องไปสอบใบประกอบใหม่ได้เลย

สำหรับน้องที่ได้ใบประกอบก่อน วันที่ 27 มีนา 2558 ถือว่าน้องโชคดีหน่อย เพราะว่าใบประกอบน้องเป็นแบบไม่มีอายุ (ไม่มีวันหมดอายุ) ซึ่งจะเป็นไปตาม ข้อบังคับสภาเภสัชกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมที่ได้รับใบอนุญาตก่อนวันที่พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้ พ.ศ.2559 ซึ่งระบุไว้ว่า

  1. ถ้าเก็บไม่ครบ ให้หยุดการประกอบวิชาชีพที่กระทำต่อประชาชนโดยตรงหรือผู้ใช้บริการไปพลางก่อน โดยไม่มีผลต่อตำแหน่งหรือการอื่นใดของทางราชการ และไปดำเนินการเก็บให้ครบตามเกณฑ์ที่กำหนด
  2. หากต้องหยุดการประกอบวิชาชีพนานเกิน 1 ปี (คือเกิน 1 ปีแล้วยังเก็บไม่ครบตามเกณฑ์ที่กำหนดอีก) สภาเภสัชกรรมจะประกาศรายชื่อผู้ประกอบวิชาชีพคนนั้นให้ประชาชนรับทราบด้วย
  3. สุดท้ายแล้ว หากไม่ดำเนินการแก้ไขอะไร ไม่ไปเก็บ CPE ให้ผ่านเกณฑ์ สภาเภสัชกรรมจะดำเนินตามข้อบังคับสภาเภสัชกรรม ว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรมแทน (คือไม่สามารถจัดการด้วยข้อบังคับเรื่องต่อใบอนุญาตได้ เพราะใบประกอบมันไม่มีวันอายุ ก็เลยไปใช้ข้อกำหนดเรื่องจรรยาบรรณมาจัดการแทน)

สุดท้ายนี้ อยากจะฝากไว้ว่า พยายามเก็บกันให้ครบเถอะครับ จะได้ไม่ยุ่งยาก วุ่นวาย ปวดหัวกันทีหลัง


Share this:

Posted in ข้อมูล/ข่าวแวดวงเภสัช.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *