เรื่องสัญญาผูกพันฝ่ายเดียว กับการจับสลากใช้ทุน

มีน้องถามๆมา 2-3 คน อาจเป็นเพราะช่วงนี้น้องๆที่กำลังจะขึ้นปี 1 หลายคนได้เริ่มเซ็นต์สัญญากันไปบ้างแล้ว

อธิบายก่อนว่า ถ้าน้องเรียนเภสัช ม.รัฐ น้องจะได้เซ็นต์สัญญาใช้ทุนที่เป็นสัญญาผูกพันฝ่ายเดียว

สัญญาผูกพันฝ่ายเดียวคืออะไร?

สัญญาผูกพันฝ่ายเดียว แปลง่ายๆก็คือ ถ้าเค้าให้น้องใช้ทุนหลังเรียนจบ น้องก็ต้องไป แต่ถ้าเค้าบอกไม่ต้องไป น้องก็ไม่ต้องไป

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัตินักศึกษาที่จบมาในแต่ละปี (+สอบใบประกอบผ่าน) มีจำนวนมากกว่าจำนวนตำแหน่งใช้ทุนที่มีอยู่แล้ว ดังนั้น จึงใช้ระบบสมัครใจ คือ ใครอยากใช้ทุนก็ใช้ไป ใครไม่อยากใช้ก็ได้ ไม่ว่ากัน ซึ่งในทุกๆปี จำนวนคนสมัครใจใช้ทุน ก็จะมากกว่าตำแหน่งที่มีในปีนั้นเสมอๆด้วย จึงต้องใช้วิธีการจับสลากว่าใครจะได้ใช้ทุน

ถามว่าโอกาสได้เยอะไหม? อันนี้ก็แล้วแต่ปี อย่างปีพี่มีคนสมัครใจใช้ทุน 700 คน มีตำแหน่ง 350 ตำแหน่ง ก็ประมาณครึ่งๆ

สมัครใจใช้ทุนดีอย่างไร ทำไมหลายคนถึงสมัครใจใช้ทุน?

คำตอบง่ายๆก็คือ ได้งานทำเลย และตำแหน่งที่มี 95% เป็นตำแหน่งราชการ (5% เป็นของรัฐวิสาหกิจอย่างองค์การเภสัชกรรม) ซึ่งถ้าน้องจับสลากใช้ทุนได้ น้องจะได้บรรจุเป็นข้าราชการทันที ซึ่งถ้าหากน้องอยากเป็นข้าราชการ แต่ไม่ได้ใช้ทุน น้องอาจต้องใช้วิธีอื่น เช่น สอบ กพ. ซึ่งมีความยากและซับซ้อนมากกว่า หรือเป็น พนักงานหรือลูกจ้างของโรงพยาบาลไปก่อน แต่ก็อาจต้องรอบรรจุนานมากหากไม่มีเส้น

ทีนี้เรื่องวิธีการจับสลาก

อันนี้พี่ไม่รู้ว่าแต่ละปีเหมือนกันไหม ถ้าเป็นของปีพี่ เค้าจะจับสลาก 2 รอบ โดยเริ่มแรกให้เลือกที่ๆสนใจ ถ้าที่นั้นมีคนเลือกเกิน เค้าจะใช้วิธีการจับสลากว่าใครจะได้ไป การจับจะเป็นการจับตัวเลข 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 จับหลักหน่วย ครั้งที่ 2 จับหลักสิบ รวมคะแนนแล้วใครได้มากกว่าคนนั้นก็ได้ไป ส่วนในรอบที่ 2 นั้นก็เหมือนกับรอบแรก แต่มีเงื่อนไขว่าต้องเลือกที่ๆไม่มีคนเลือกให้เต็ม ห้ามว่าง!!!

ซึ่งการเลือกก็แล้วแต่เทคนิคของแต่ละคน บางคนเน้นเลือกที่ๆไม่มีคนเลือกเพื่อให้ได้แน่ๆไปก่อน จะได้บรรจุ จากนั้นค่อยทำเรื่องย้าย บางคนก็เลือกที่ๆอยากได้ไปเลย

น้องบางคนกังวลว่าถ้ารอบแรกไม่ได้ แล้วรอบ 2 ต้องเลือกให้เต็ม ถ้าเป็น 3 จังหวัดภาคใต้ ไรงี้ จะทำอย่างไร? พี่ขอตอบว่า พี่เห็น 3 จังหวัดภาคใต้ก็มีคนเลือกเต็มตลอดนะ คนท้องถิ่นเค้าก็อยากกลับบ้านเค้า


Share this:

Posted in ข้อมูล/ข่าวแวดวงเภสัช.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *