ผลการสอบใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ปี 2556

อันดับมหาวิทยาลัยสมัครเข้าสอบผ่าน MCQผ่าน OSPE*% ผ่าน
1ม.ศิลปากร15915815799.37
2ม.เชียงใหม่12812812698.44
3จุฬา18017917296.09
4ม.มหิดล11011010393.64
5มศว72716692.96
6ม.วลัยลักษณ์86867890.70
7ม.สารคาม16716715190.42
8ม.รังสิต1011018988.12
9ม.สงขลา15515413587.66
10ม.พะเยา36363186.11
11ม.นเรศวร12512510684.80
12ม.อุบล98988283.67
13ม.ขอนแก่น13013010076.92
14ม.หัวเฉียว17717713073.45
15ม.อีสเทิร์น1818950.00
16ม.พายัพ79793746.84
17ม.สยาม54542444.44
*ปี 2556 ห้ามเปิดเผยผลสอบ OSPE เนื่องจากข้อสอบรั่ว

อ่านเพิ่มเติมเรื่องข้อสอบรั่ว

คำชี้แจง คณะกรรมการสภาเภสัชกรรม กรณีข่าวข้อสอบรั่ว

คณะกรรมการสภาเภสัชกรรม ได้มีการประชุมคณะกรรมการวาระพิเศษ เพื่อพิจารณากรณี
มีข่าวข้อสอบรั่วของสภาเภสัชกรรม ในการสอบครั้งที่ ๒/๒๕๕๖ (OSPE) เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๖ โดยมีข้อความที่เป็นคำสำคัญที่มีความเห็นว่าเกี่ยวข้องกับข้อสอบ คือ ยาสวน enema, ยาคุม ๒๐
ไมโคร, เกลื้อน, Levigate ยา ๒ ตัว, Phenytoid ปรากฏในสื่อสังคมนั้น
คณะกรรมการสภาเภสัชกรรมได้พิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้วขอชี้แจงว่าจากข้อมูลหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะสามารถสรุปได้ชัดเจนว่ามีข้อสอบรั่วจริงหรือไม่ อย่างไร
ด้วยเหตุผลดังนี้

๑. ในส่วนของการจัดการสอบที่สนามสอบฯ ที่เกี่ยวข้อง พบว่าได้ปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติ (SOP) ที่ศูนย์สอบความรู้ฯ กำหนด อย่างเข้มงวดทุกขั้นตอน อย่างไรก็ตามคณะกรรมการฯ
มีความเห็นว่าในกระบวนการขั้นตอนที่ศูนย์สอบความรู้ฯ ได้กำหนดไว้ ซึ่งมีความเข้มงวดมากพอสมควร
ยังมีบางขั้นตอนที่จำเป็นต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้ระบบการสอบมีหลักประกัน ความมั่นใจและความสบายใจ ต่อผู้เกี่ยวข้องกับการสอบทั้งหมด และลดความเสี่ยงของผู้เกี่ยวข้อง ที่จะต้องแบกรับภาระกรณีมีข้อบกพร่องเกิดขึ้น ซึ่งคณะกรรมการสภาเภสัชกรรมและศูนย์สอบความรู้ฯ จะเร่งรัดการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อไป

๒. การสอบความรู้ (OSPE) เป็นการจัดการสอบเพื่อที่จะประเมินทักษะในการประกอบวิชาชีพที่จำเป็นที่ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมจะต้องสามารถปฏิบัติได้ เป็นการประเมินว่าผู้สอบความรู้ฯ แต่ละท่านมีทักษะผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำของวิชาชีพที่พร้อมจะออกไปปฏิบัติงานหรือไม่ ไม่ได้เป็นการมุ่งประเมินเพื่อเปรียบเทียบว่าผู้เข้าสอบคนใดเก่งกว่ากัน หรือสถาบันใดมีคะแนนสอบสูงกว่าสถาบันใดหรือไม่อย่างไร การประเมินส่วนใหญ่จะประเมินขั้นตอนการปฏิบัติ มากกว่าที่จะมุ่งเน้นเพียงคำตอบคำสำคัญคำใดคำหนึ่ง

๓. ข้อมูลที่ระบุว่ามีการรั่วไหลของข้อสอบ เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลย่อจากการพูดคุยของนักศึกษา ๒ คน โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบันการศึกษา และหากจะพิจารณาว่าข้อสอบรั่ว ลักษณะของข้อมูลที่ปรากฏจะต้องเหมือนกับคำถามของข้อสอบอย่างชัดเจน ซึ่งจากการวิเคราะห์ คำสำคัญทั้ง ๕ คำที่ปรากฏดังกล่าว จะพบว่ามีคำสำคัญที่ตรงกับคำถามในข้อสอบจริง เพียง ๑ คำสำคัญ คือ คำว่า enema
สำหรับคำสำคัญอีก ๔ คำ ไม่ได้ตรงหรือสอดคล้องกับคำถามข้อสอบโดยตรงแต่อย่างใด และการจะได้คำตอบตามคำสำคัญในแต่ละข้อดังกล่าว จะต้องผ่านกระบวนการในการหาข้อมูลจากผู้ป่วย (ซักประวัติอย่างละเอียด) ก่อนที่จะสามารถสรุปว่าเป็นคำสำคัญดังกล่าว ซึ่งนักศึกษาต้องมีทักษะในการซักประวัติจึงจะสามารถได้คำตอบตามคำสำคัญดังกล่าว ประเด็นดังกล่าวจึงไม่น่าจะถือว่าเป็นข้อสอบรั่ว

๔. สภาเภสัชกรรมมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมความสามัคคีและผดุงเกียรติของสมาชิก ขอให้สมาชิกได้มั่นใจว่าการจัดสอบความรู้เพื่อขอขึ้นทะเบียนและรับอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สภาเภสัชกรรมให้ความสำคัญและเข้มงวดอย่างมากในการดำเนินการในทุกขั้นตอน เพื่อสามารถประเมินว่าผู้สอบความรู้ฯแต่ละท่านมีทักษะผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำของวิชาชีพที่พร้อมจะออกไปปฏิบัติงานได้จริง

แถลงการณ์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
กรณีการสอบความรู้เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ครั้งที่ 2/2556

จากคำชี้แจง คณะกรรมการสภาเภสัชกรรม กรณีข่าวข้อสอบรั่ว ในการสอบความรู้เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ครั้งที่ 2/2556 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2556 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรขอชี้แจงข้อมูลเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1.การจัดการสอบความรู้เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์สอบความรู้ฯ สภาเภสัชกรรม และทางศูนย์สอบความรู้ฯ ได้ขอความอนุเคราะห์ให้คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นสนามสอบดังกล่าว มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ทั้งนี้ในการดำเนินการจัดสอบทุกครั้งสนามสอบ มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ดำเนินการตามแนวปฏิบัติการจัดสอบทักษะทางวิชาชีพ OSPE ของศูนย์สอบฯ อย่างเคร่งครัดและเป็นไปตามที่ศูนย์สอบฯ ได้กำหนดไว้ทุกประการ

2.ตั้งแต่ปีการศึกษา 2552 เป็นต้นมา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้สนับสนุนให้นักศึกษาดำเนินโครงการทบทวนความรู้ ฝึกซ้อมทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการสอบความรู้ฯ อย่างเป็นระบบ และต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายได้มีการเตรียมความพร้อมมาตั้งแต่ต้นปีการศึกษา ซึ่งนักศึกษาเป็นผู้ออกแบบข้อสอบ สร้างข้อสอบและจัดการซ้อมสอบกันเอง โดยยึดแนวทางในคู่มือทักษะตามเกณฑ์ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม คณะวิชาเพียงแต่สนับสนุนให้ใช้ห้องบรรยาย ห้องปฏิบัติการ ตลอดจนอุปกรณ์ และสารเคมีต่าง ๆ ซึ่งจะเห็นว่านับตั้งแต่มีโครงการทบทวนความรู้อย่างเป็นระบบ ผลการสอบความรู้ฯของนักศึกษาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มีจำนวนนักศึกษาที่สอบผ่านเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพฯ ในจำนวนที่มากขึ้น
สำหรับการเตรียมความพร้อม การสอบ OSPE ของนักศึกษาครั้งนี้ จากข้อมูลที่ได้รับจากนักศึกษา ทราบว่า มีการออกแบบข้อสอบและจัดการซ้อมสอบกันเอง วันละสองรอบ ติดต่อกันทุกวันอย่างต่อเนื่องกัน ในระหว่างวันที่ 16 – 27 ก.พ. 2556 รวมแล้วไม่น้อยกว่า 20 รอบ

3.สำหรับข้อความที่ปรากฏในสื่อสังคมจำนวน 5 ข้อความในวันที่ 1 มี.ค. 2556 นั้น จากการตรวจสอบกับนักศึกษาที่จัดทำโครงการทบทวนฯ พบว่า ข้อความดังกล่าวนั้น ได้ปรากฏอยู่ในระหว่างการฝึกซ้อมของนักศึกษามาก่อนหน้านั้นแล้ว (ทั้งนี้นักศึกษาได้ส่งมอบหลักฐานเอกสารต่อคณะอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่สภาเภสัชกรรมแต่งตั้งเรียบร้อยแล้ว) อย่างไรก็ตาม ด้วยวัตถุประสงค์ของการสอบทักษะ จะมุ่งเน้นการทบทวนทักษะที่นักศึกษาได้เรียน และมีความสำคัญต่อการประกอบวิชาชีพ ซึ่งสภาเภสัชกรรม ได้กำหนดทักษะที่จำเป็นไว้แล้วในคู่มือทักษะตามเกณฑ์ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม จึงไม่เป็นเรื่องที่ผิดปกติที่การฝึกซ้อมจะมีความใกล้เคียงกับหัวข้อที่จะใช้สอบจริง

4.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับคำยืนยันจากนักศึกษาผู้ที่ถูกพาดพิงและนักศึกษาผู้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คว่า นักศึกษาทั้ง 2 คนได้แลกเปลี่ยนข้อมูลที่ได้มาจากการทบทวนฯ รวมถึงข้อความสำคัญ 5 ข้อความดังที่ปรากฏนั้น เป็นระยะๆ ตั้งแต่วันที่เริ่มกระบวนการทบทวนความรู้ และยืนยันว่าข้อความสำคัญ 5 ข้อความนั้นไม่ได้มาจากข้อสอบแต่อย่างใด (ซึ่งไม่ตรงกับข้อสรุปของศูนย์สอบฯ ที่สรุปว่าข้อสอบรั่วมีมูล) แสดงให้เห็นว่าข้อความสำคัญดังกล่าวได้มีการแลกเปลี่ยนกันก่อนหน้าที่จะมีการดำเนินการสอบในวันที่ 1 มีนาคม 2556 แต่ด้วยเหตุที่มีข้อความปรากฏในสื่อสังคมโดยการโพสต์ลงในเฟซบุ๊คในวันที่ดำเนินการสอบในวันที่ 1 มีนาคม 2556 จึงอาจทำให้เข้าใจไปได้ว่าเกิดข้อสอบรั่วขึ้นในวันดังกล่าว

5.ข้อมูลที่ระบุว่ามีการรั่วไหลของข้อสอบ เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลย่อจากการพูดคุยของนักศึกษา 2 คน โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบันการศึกษา และหากจะพิจารณาว่าข้อสอบรั่ว ลักษณะของข้อมูลที่ปรากฏจะต้องเหมือนกับคำถามของข้อสอบอย่างชัดเจน ซึ่งจากการวิเคราะห์ คำสำคัญทั้ง 5 คำที่ปรากฏดังกล่าว จะพบว่ามีคำสำคัญที่ตรงกับคำถามในข้อสอบจริง เพียง 1 คำสำคัญ คือ คำว่า enema
สำหรับคำสำคัญอีก 4 คำ ไม่ได้ตรงหรือสอดคล้องกับคำถามข้อสอบโดยตรงแต่อย่างใด และการจะได้คำตอบตามคำสำคัญในแต่ละข้อดังกล่าว จะต้องผ่านกระบวนการในการหาข้อมูลจากผู้ป่วย (ซักประวัติอย่างละเอียด) ก่อนที่จะสามารถสรุปว่าเป็นคำสำคัญดังกล่าว ซึ่งนักศึกษาต้องมีทักษะในการซักประวัติจึงจะสามารถได้คำตอบตามคำสำคัญดังกล่าว ประเด็นดังกล่าวจึงไม่น่าจะถือว่าเป็นข้อสอบรั่ว (อ้างอิงจากคำชี้แจงกรณีข่าวข้อสอบรั่ว ข้อที่ 3 ของสภาเภสัชกรรม วันที่ 30 มีนาคม 2556)

6.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มีข้อเสนอแนะต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ดังนี้
6.1คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เห็นด้วยกับสภาเภสัชกรรมที่จะดำเนินการปรับปรุงแนวปฏิบัติการจัดสอบทักษะทางวิชาชีพ OSPE ของศูนย์สอบฯ ให้มีความสมบูรณ์และรัดกุมยิ่งขึ้น เพื่อเป็นหลักประกันและให้ความมั่นใจในกระบวนการจัดสอบความรู้ฯ ของทุกสนามสอบ
6.2คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ขอเสนอแนะแนวทางในการออกข้อสอบ OSPE ว่าควรเน้นการสอบทักษะที่เภสัชกรทั่วไปควรปฏิบัติได้ ซึ่งนักศึกษาเภสัชศาสตร์จากทุกสถาบันที่ได้ผ่านการเรียนการสอนและฝึกปฏิบัติวิชาชีพจากหลักสูตรที่สภาเภสัชกรรมให้การรับรองแล้วสามารถสอบผ่านได้ ไม่ควรเป็นข้อสอบในลักษณะที่เน้นการท่องจำ หรือข้อสอบในลักษณะ speed test หรือเป็นข้อสอบที่มีลักษณะเฉพาะเป็นกรณีที่ไม่พบโดยทั่วไป เพราะจะเป็นการส่งเสริมให้มีการจัดติวมากยิ่งขึ้น
6.3การประกาศผลสอบความรู้ฯ ควรเป็นสิทธิเฉพาะบุคคลในการรับทราบผลการสอบ จำนวนร้อยละของนักศึกษาที่สอบผ่านของแต่ละสถาบันควรเป็นสิทธิของแต่ละสถาบันในการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เป็นการส่งเสริมให้เกิดการเปรียบเทียบระหว่างสถาบัน เนื่องจากการที่สถาบันใดมีจำนวนร้อยละของนักศึกษาที่สอบผ่านได้มากหรือน้อยเป็นเพียงการบอกว่านักศึกษามีความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมตามเกณฑ์มาตรฐานของสภาวิชาชีพฯ เท่านั้น

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ขอขอบคุณทุกท่านที่มีใจเที่ยงธรรม พร้อมที่จะรับฟังข้อมูลรอบด้านอย่างมีสติ และมีวิจารณญาณ ไม่ด่วนสรุปและตัดสินผู้อื่น เพื่อที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อของสังคมออนไลน์ และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ด้วยกระบวนการควบคุมภายในที่เกี่ยวข้องกับการสอบ และความเคร่งครัดต่อการดำเนินการตามข้อกำหนดของศูนย์สอบฯ เป็นหลักประกันได้ว่าการสอบความรู้ผู้ขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ณ สนามสอบ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มีความโปร่งใส บริสุทธิ์ และอำนวยความยุติธรรมให้กับผู้เข้าสอบได้ โดยสามารถให้คำยืนยันได้ว่า ผู้ที่ผ่านการสอบความรู้ฯ จากสนามสอบ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และมีทักษะที่ผ่านเกณฑ์ประเมินของศูนย์สอบความรู้ฯ อย่างแท้จริง

ทั้งนี้คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มีปณิธานแน่วแน่ที่จะผดุงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ ยุติธรรม จรรยาบรรณ คุณธรรม จริยธรรม หากมีข้อผิดพลาดใดๆ ที่คณะฯ สามารถตรวจสอบได้ว่ามีผู้ใดเจตนาที่จะทำการทุจริตในการสอบครั้งนี้หรือครั้งใดๆ ก็ตาม ไม่จำเป็นต้องรอให้ผู้อื่นมาตรวจสอบ คณะฯ จะไม่ช่วยเหลือปกปิดข้อเท็จจริงและพร้อมที่จะลงโทษผู้ที่ทำการทุจริตดังกล่าวจนถึงที่สุด สำหรับการสอบในครั้งนี้คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ทำการตรวจสอบอย่างแน่ชัดแล้วว่าการจัดสอบครั้งนี้เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม และพร้อมที่จะต่อสู้อย่างถึงที่สุดตามกระบวนการและครรลองของวิญญูชนที่พึงกระทำและขั้นตอนทางกฏหมายเพื่อผดุงไว้ซึ่งเกียรติยศและศักดิ์ศรีของพวกเราชาวเภสัชฯ ศิลปากร

เภสัชกรหญิง รองศาสตราจารย์ ดร.จุไรรัตน์ นันทานิช
คณบดี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร


Share this:

Posted in ข้อมูล/ข่าวแวดวงเภสัช.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *