รีวิววิชาเภสัช “Organic Chemistry” เคมีอินทรีย์ที่มีเนื้อหาต่อจากมัธยมปลาย

คำว่า Organic Chemistry ถ้าแปลเป็นภาษาไทยก็จะแปลว่าเคมีอินทรีย์ ซึ่งสำหรับน้องๆ ม.ปลายก็จะได้เริ่มเรียนกันตอน ม.6 ว่าด้วยเรื่องสารต่างๆ ที่ประกอบด้วยคาร์บอนและไฮโดรเจนเป็นอะตอมหลัก

วิชานี้เราจะได้ศึกษาความหลากหลายของการสร้างพันธะของอะตอมคาร์บอนกับอะตอมอื่นๆ เรามาทวนกันหน่อยว่าคาร์บอนเนี่ย จะอยู่หมู่สี่ในตารางธาตุ นั่นหมายความว่า มีเวเลนซ์อิเล็คตรอนทั้งหมดสี่ตัว แล้วตัวเวเลนซ์อิเล็คตรอนนี่ก็สามารถนำไปสร้างพันธะกับอะตอมอื่นๆ ได้สูงสุดสี่พันธะ (1 เวเลนซ์อิเล็คตรอนต่อหนึ่งพันธะ)

ถ้าเป็นระดับ ม.6 เราจะได้ศึกษาให้รู้จักสารเคมีอินทรีย์ (สารไฮโดรคาร์บอน) แต่ละชนิด ฝึกให้ดูให้ออกว่าสารตัวนี้คือสารเคมีอินทรีย์ชนิดไหน…แอลเคน แอลคีน แอลไคน์ เอมีน เอไมด์ อะไรต่างๆ รวมถึงปฏิกิริยาเคมีต่างๆ อย่างคร่าวๆ เช่น ปฏิกิริยากับโบรมีน อันไหนใช้แสงอันไหนไม่ใช้แสง หรือปฏิกิริยากับโพแทสเซียมเปอร์แมงกาเนต (ด่างทับทิม)

แต่พอขึ้นมาเรียนวิชานี้ในรั้วเภสัช เราจะได้เรียนลึกขึ้น โดย Organic Chemistry ใน ม. ของแอดจะเริ่มเรียนตอนปี 1 เทอม 2 ส่วนพอขึ้นมาปีต่อๆ จะเรียนเป็นวิชา Medicinal Chemistry ที่เฉพาะเจาะจงกับสารประกอบไฮโดรคาร์บอนในตัวยามากยิ่งขึ้น

เนื้อหาของ Organic Chemistry จะว่าด้วยเรื่องสารประกอบไฮโดรคาร์บอนและการเกิดปฏิกิริยา เราจะเริ่มเรียนรู้ถึง resonance effect หรือการเคลื่อนที่ของอิเล็คตรอนภายในโมเลกุลหนึ่งๆ และการเคลื่อนที่ของอิเล็คตรอนระหว่างโมเลกุลของสารเมื่อนำสารไปทำปฏิกิริยา

เราจะได้เห็นภาพชัดเจนว่า…

เออ…เพราะอย่างนี้นี่เองถึงต้องใช้แสงในแอลเคน แอลเคนถึงเกิดปฏิกิริยากับโบรมีน

อ๋ออย่างนี้นี่เอง…ทำไมแอลคีนกับแอลไคน์ถึงเกิดปฏิกิริยากับโบรมีนได้เลยโดยไม่ต้องใช้แสง

อ๋อ…การดูว่าสารตัวไหนเป็นกรดหรือเบสเขาดูกันอย่างนี้เหรอ

เออ…แม้เป็นสารที่มีโครงสร้างคล้ายกัน แต่ถ้ามีหมู่ฟังก์ชันต่างกันก็ส่งผลต่อคุณสมบัติต่างๆ ของสารตัวนั้นด้วยนะ

จุดประสงค์ของการเรียนวิชาเคมีอินทรีย์ ก็เพื่อต่อยอดใช้เป็นความรู้ในการพอจารณาโครงสร้างยา พอเราผ่านวิชานี้ไป เราจะเริ่มดูออกว่าสารตัวไหนเสถียร สารตัวไหน active พร้อมเกิดปฏิกิริยา ซึ่งสามารถนำมาต่อยอดในการดูยาจากโครงสร้างได้ว่ายาตัวนี้จะมีความคงทนไหม หรือตอนหมดอายุ มันจะเกิดปฏิกิริยาอย่างไร รวมถึงสามารถดูปฏิกิริยาเคมีต่างๆ ในการผลิตมาซึ่งยาตัวหนึ่ง

เรียกได้ว่าตั้งแต่เริ่มทำยายันยาหมดอายุ รวมไปถึงปฏิกริยาเคมีที่ยาทำกับสารต่างๆ หลังมันเข้าไปในร่างกาย องค์ความรู้เรื่องเคมีอินทรีย์ล้วนมีบทบาทสำคัญ
ในความรู้สึกส่วนตัวของแอดเอง แอดค่อนข้างชอบวิชานี้เลยนะคะ ถามว่ามันยากมั้ย ยากสิ ยากน้ำตาไหลเลย 555555 แต่สิ่งที่เราได้จากวิชานี้คือการใช้เหตุผลในการวิเคราะห์สิ่งต่างๆ คือกว่าที่เราจะสังเคราะห์ยาตัวหนึ่งขึ้นมาได้ ก่อนหน้านั้นเราจะต้องใช้กระบวนการต่างๆ ในการค่อยๆ คิด วิเคราะห์ สกัดความรู้ออกมาว่าจะต้องใช้สารอะไร เกิดปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น และถ้ามี by product หรือสารที่เราไม่ต้องการเกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการผลิตยา เราจะจัดการได้อย่างไร

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการประกอบวิชาชีพเภสัชกร ถ้าน้องเป็นเด็กเคมีจริง น้องจะต้องหลงเสน่ห์ของวิชานี้อย่างแน่นอนค่ะ

รีบสอบเข้ามานะคะ ออเคมรอคุณอยู่ 🔥


Share this:

Posted in การเรียนเภสัช.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *