ประสบการณ์การเรียนและการอ่านหนังสือสอบเภสัช

การสอบครั้งสุดท้ายในวิชาสุดท้ายของปีห้าของแอดมินผ่านไปแล้ว หลังจากหายไปนานมาก (อีกแล้ว) วันนี้แอดมินอยากจะขอเอาประสบการณ์การเรียนและการอ่านหนังสือสอบที่น่าจะผ่านมาแล้วอย่างโชกโชน 5555555 มาแชร์เป็นวิธีเอาตัวรอดทางสุขภาพจิตในคณะเภสัชฯ กันสักหน่อย
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ใช่ฮาวทูเรียนเก่ง หรือฮาวทูอ่านหนังสือยังไงให้เก่งให้ฉลาดนะคะ อันนี้แอดมินก็ไม่รู้ค่ะ สายของแอดคือเน้นอ่านเพื่อเอาตัวรอดไปเทอมต่อเทอมเท่านั้น 55555555

📚 ประเด็นเรื่อง การอ่านหนังสือ 📚

🤯 สำหรับคนที่มีปัญหาสมาธิสั้น หรือในกรณีของแอดคือเป็น depression ร่วมด้วย มีปัญหาในการอ่านหนังสือแน่นอน และใช่ค่ะ ถ้าเทียบเป็นสัดส่วนในหนึ่งวันแล้ว แอดอ่านหนังสือได้มากสุดไม่เกินสี่ชั่วโมง ส่วนใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่สองถึงสามชั่วโมง และการอ่านหนังสือวันละหนึ่งชั่วโมงคือเรื่องปกติสำหรับแอด

💡ทางแก้คือ อ่านน้อยแต่อ่านนานค่ะ โดยปกติแอดจะอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบมิดเทอมหรือไฟนอลเป็นเดือน ๆ ไม่เคยอดนอนเพื่ออ่านหนังสือสอบ นอนน้อยสุดคือสี่ชั่วโมง และนอนน้อยขนาดนั้นนับครั้งได้

✨ การอ่านหนังสือวันละน้อย ๆ มีข้อดีคือทำให้เราจมอยู่กับความเครียดไม่นาน หนึ่งชั่วโมงหรือสองชั่วโมงไม่เกินนั้น ส่วนมากมักไม่ค่อยท้อ และไม่ค่อยเครียดด้วย เพราะยังไงก็อ่านทัน
📖 แอดเป็นสายอ่านแบบสกรีนนิ่ง อ่านเร็วแต่หลายรอบ แอดพบว่าการอ่านสามรอบคือจุด optimum ของคนที่ชอบอ่านหนังสือซ้ำ ๆ ถึงจะจำได้ ถ้าอ่านมากกว่านี้มักค่อนไปทางเครียดเปล่าแล้ว เปิดชีทไปมันก็หน้าตาเหมือนเดิม
(ที่แอดอ่านสามรอบได้ เพราะเป็นคนที่แทบจะไม่จดสรุปเลยค่ะ อ่านแบบอ่านอย่างเดียว มาร์คหน้าสำคัญ ๆ ไว้กลับมาอ่านซ้ำ การอ่านซ้ำจึงสำคัญมาก เพราะไม่งั้นมันจะจำไม่ได้)

📕 #การอ่านหนังสือสอบมิดเทอมสำคัญกว่าการอ่านสอบไฟนอล ที่แอดมองว่าการอ่านสอบมิดเทอมสำคัญกว่าไฟนอล เพราะคะแนนมิดเทอมที่ออกมาจะเป็นตัวบ่งชี้สำคัญเลยว่าครึ่งไฟนอลเราจะเอาไงต่อ ถ้าคะแนนมิดเทอมออกมาดีแบบยังไงก็น่าจะรอดเอฟ การอ่านไฟนอลจะไม่เครียดมาก และคะแนนมิดเทอมสามารถกลายเป็นคะแนนช่วยได้ ถ้าหากว่าในครึ่งไฟนอลเราไม่ไหว ส่วนใหญ่แล้ว ม. ที่แอดเรียน (มหิดล) เนื้อหาไฟนอลจะหนักกว่ามิดเทอมมาก แต่การแบ่งคะแนนสอบก็มักจะมีสัดส่วนเท่า ๆ กันนั่นแหละ เพราะงั้น พยายามเก็บอะไรที่มันง่ายกว่าไว้เถอะ

‼️อันนี้สำคัญ‼️

คะแนนสอบของคนส่วนใหญ่มักจะคลานลงหลุม B และหลุม C (เส้า) แอดเพิ่งมาค้นพบในปีท้าย ๆ นี้เองว่าถ้าคะแนนมิดเทอมไม่ได้โดดเด่นชนิดที่มากกว่า 1-2 SD (standard deviation) ขึ้นไป ในกรณีตัดเกรดอิงกลุ่ม โอกาสได้ A มักจะน้อยมาก ดังนั้นตอนครึ่งไฟนอลก็ไม่ต้องไปฟาดตัวเองมาก เพราะช่วงคะแนนของหลุม B-C มันกว้างกว่าที่คิด สรุปคือถ้าคะแนนมิดเทอมออกมาอยู่ในช่วงมีนหรือบวกลบมีนนิดหน่อยและไม่เสี่ยงเอฟ แล้วเราไม่ได้หวังฟัน A ก็สามารถผ่อนความเครียดในการอ่านหนังสือสอบครึ่งไฟนอลลงมาได้บ้าง

📚 สรุปประเด็น การอ่านหนังสือ 📚

จริง ๆ แล้วทักษะของการอ่านหนังสือมันก็ไม่ต่างจากการใช้ชีวิตในมิติอื่น ๆ สักเท่าไหร่ มันเป็นศิลปะ ทุกคนล้วนมีเนเจอร์และสไตล์การอ่านหนังสือเป็นของตัวเอง ใครค้นพบสไตล์ของตัวเองได้เร็วก็ดีไป ใครค้นพบตัวเองช้าก็ค่อย ๆ ไต่ มันไม่ใช่ว่าอ่านหนังสืออัดเยอะ ๆ มาก ๆ อดหลับอดนอนจะให้ผลดีเสมอไป คนตั้งใจอ่านหนังสือแต่อ่านไม่ถูกจุดแล้วได้ผลออกมาไม่ดีมันน่าเสียดาย แอดเองก็เคยอยู่ในจุดที่ใช้เวลาไปกับการอ่านหนังสือเยอะมากแต่สุดท้ายก็ติดเอฟมาก่อน ตอนนั้นมันนอยด์มากจริง ๆ

🫶 ประเด็นเรื่องการรักษาสุขภาพ (ทั้งกายและจิต) 🫶

💗 การรักษาสุขภาพของตัวเองควรมาก่อนการเรียน ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกายหรือสุขภาพจิตก็ตามแต่ ในระหว่างการเรียนควรหมั่นสำรวจตัวเอง และถามตัวเองเสมอว่า ตอนนี้ฉันเป็นไงบ้าง ฉันยังไหวอยู่มั้ย ฉันต้องการความช่วยเหลืออะไรหรือเปล่า

💗 ไม่ควรเมินความรู้สึกแย่ ๆ หรือสัญญาณบางอย่างที่มันอาจจะเกิดขึ้นจากความเหนื่อยเพราะการเรียนหนัก เพราะมันจะทำให้เราไม่รู้สึกตัว และกว่าจะดึงตัวเองกลับมาได้ก็อาจจะสายเกินไป โรคบางอย่างไม่ว่าจะทางกายหรือทางใจ เมื่อป่วยแล้วครั้งนึงมันอาจจะย้อนกลับมาไม่ได้อีก

🙆🏻‍♀️ หาเพื่อนที่พูดคุยแล้วเข้าใจกัน หรือเข้าสู่ระบบ healthcare เมื่อต้องการความช่วยเหลือ เข้าหาและปรึกษาเรื่องการเรียนกับอาจารย์ที่ไว้ใจ ขอคำแนะนำต่าง ๆ ในการเรียนจากรุ่นพี่ รีวิวรายวิชา หรือรีวิวข้อสอบ เพื่อผ่อนปรนภาระในการอ่านหนังสือของเรา สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาในการทุ่มเทกับการเรียน และอาจจะทำให้เราสามารถค้นพบเทคนิคการเรียนของเราได้เร็วขึ้น
.
.
.
สุดท้ายนี้ แอดอยากฝากไว้ว่าผลการเรียนหรือคะแนนสอบนั้นไม่ใช่ทุกอย่าง ไม่ควรมีใครถูกตัดสิน แบ่งแยก หรือเลือกปฏิบัติจากผลการเรียน สำหรับคนที่เป็นดีเพรสชันจากการเรียน แอดไม่อยากให้เอาคุณค่าในชีวิตของตัวเองไปผูกไว้กับผลการเรียนมากเกินไป คนสอบตกไม่เท่ากับคนล้มเหลว คนเรียนไม่เก่งไม่เท่ากับไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต ชีวิตของคนเรามีมิติมากมายหลายด้านนอกจากการเรียนหรือการเป็นเภสัชเยอะมาก (เรียนคณะเภสัชมาห้าปี ไม่เคยคิดว่าวันนึงตัวเองจะพูดประโยคนี้ออกมา 55555555) อย่าให้ชีวิตแค่ในช่วงหกปีของเรากลายเป็นตัวตัดสินช่วงเวลาที่เหลืออีกทั้งชีวิตเลยนะคะ 🙆🏻‍♀️


Share this:

Posted in การเรียนเภสัช.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *