คำถามนี้ จะว่าตอบง่ายก็ง่าย จะว่าตอบยากก็ยาก ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้ถาม
ถ้าหากถามเพราะอยากรู้ว่าควรมีพื้นฐานวิชาไหน แน่นๆ ตอนไปเรียนจะได้เรียนได้อย่างไม่มีปัญหา หรืออยากรู้ว่าวิชาที่ตนถนัดนั้น เหมาะกับคณะเภสัชศาสตร์หรือเปล่า
เอาจริงๆแล้ว เนื้อหาทางเภสัชศาสตร์จะหนักไปทางเคมีกับชีวะ แต่ที่ขาดไม่ได้เลยก็คืออังกฤษ เพราะไม่ว่าสไลด์อาจารย์ ตำรับตำราทางเภสัช รวมถึงรายงานวิจัยต่างๆล้วนเป็นภาษาอังกฤษทั้งนั้น
มาพูดถึงเคมีกันก่อน
เคมีเป็นพื้นฐานของเภสัชศาสตร์ เพราะยาร้อยละ 99% เป็นสารเคมี (แต่ในอนาคตมีแนวโน้มว่ายาจะมาจากสิ่งมีชีวิต โดยเทคนิคทางพันธุวิศวกรรมมากขึ้นเรื่อยๆนะครับ) ดังนั้นหากน้องมีความชอบและความถนัดในวิชาเคมีเป็นทุนเดิม ก็สามารถทำให้น้องเรียนได้อย่างมีความสุข แต่เนื้อหาเคมี ม.ปลาย มันก็เป็นแค่พื้นฐานจริงๆ เพราะฉะนั้นคนไม่เก่งเคมี ม.ปลาย แต่มาตั้งใจเรียนตอนมหาวิทยาลัย มันก็พอไหว สิ่งที่พี่อยากให้น้องได้จากวิชาเคมีจริงๆ คือ ตรรกะและกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ ความรอบคอบ ระบบความคิดแบบนักเคมี จะให้ดีก็ควรได้ sense แบบนักเคมีมาด้วย รวมถึงจิตใจที่ชอบวิชาเคมีเป็นทุนเดิม เพราะน้องจะต้องเจอวิชาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเคมีเกือบทุกปีที่น้องเรียนในคณะเภสัชศาสตร์
ถ้าไม่เก่งเคมี และไม่ชอบเคมีจะไปรอดไหม
ขึ้นอยู่กับความมานะพยายามครับ พี่มีเพื่อนที่ไม่ชอบเคมีเอามากๆ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับเคมีแต่ละครั้งเป็นเรื่องทุกข์ทรมานใจสำหรับเธอมาก ก่อนสอบวิชาทางเคมีทุกครั้ง เธอจะร้องไห้ แต่สุดท้ายเธอก็จบพร้อมเพื่อนๆ ด้วยเกรดเฉลี่ยที่ดีด้วย เพราะเธอมีความจำและมุมานะเป็นเลิศ เธอไม่เข้าใจ เธอก็อดทนท่องเอาครับ ท่องเอาจริงๆ ท่องจนจำได้หมด แม้ว่าจะไม่ค่อยเข้าใจที่ท่องไป ในชีวิตน้องก็จะเจอเภสัชที่ไม่เก่งเคมีเยอะครับ แต่เภสัชเหล่านั้นก็สามารถประสบความสำเร็จในอาชีพการงานของเค้า ความสำเร็จของเภสัชไม่ได้ขึ้นอยู่กับเก่งหรือไม่เก่งเคมีอย่างเดียว มันมีองค์ประกอบหลายๆอย่างรวมกันครับ
มาพูดถึงชีวะกันบ้าง
เอาจริงๆชีวะเป็นวิชาท่อง ผสมกับความเข้าใจ แต่ได้ใช้จริงๆก็แค่ปี 1 แหละ ถ้าเกินปี 1 เนื้อหาชีวะ ม.ปลาย ก็ไปไม่ถึงแล้ว แต่แน่นอนครับว่า ถ้าใครมีพื้นฐานที่ดีย่อมได้เปรียบ อย่างไรก็ตาม ชีวะมันเป็นวิชาท่อง อาศัยความขยัน เพราะฉะนั้นใครขยันก็สามารถตามทันกันได้หมด สิ่งที่พี่อยากให้น้องได้จากวิชาชีวะจริงๆ คือ ระบบความคิดและความจำที่เป็นระเบียบ ซึ่งจะทำให้น้องสามารถจำและเข้าใจสิ่งต่างๆได้อย่างรวดเร็ว การสังเคราะห์และวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งจะทำให้น้องรู้จักย่อยข้อมูลและประกอบข้อมูลต่างๆเข้าด้วยกัน และการมองหาความสัมพันธ์และเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ทำให้น้องมองภาพรวมได้เก่ง และต่อยอดความรู้ได้ง่าย
หลายๆครั้งเราอาจเห็นคนที่ไม่เก่งชีวะเลย ไปเรียนหมอ สอบเข้าหมอไปด้วยคะแนนเลขกับฟิสิกส์ แต่ก็สามารถจบออกมาได้ด้วยคะแนนที่สวยงามได้ นั่นเป็นเพราะ จริงๆเค้าไม่ได้ไม่เก่งชีวะ คนเก่งเลขนี่ต้องหัวดีนะครับ ต้องคิดวิเคราะห์เก่ง ในหัวสมองต้องมีตรรกะ แต่ขี้เกียจท่องก็เลยห่วยชีวะ แต่พอเค้าเริ่มโตเป็นผู้ใหญ่ อยู่ในสังคมที่มีแต่คนขยัน ก็ทำให้เค้ามีวินัยและความรับผิดชอบที่สูงขึ้น สุดท้ายเค้าก็สามารถเรียนได้ดี
อังกฤษละ
อังกฤษเป็นวิชาที่ได้ใช้ตลอด อย่างที่บอกไปแล้วว่า ไม่ว่าสไลด์อาจารย์ ตำรับตำราทางเภสัช รวมถึงรายงานวิจัยต่างๆล้วนเป็นภาษาอังกฤษทั้งนั้น แต่เอาเข้าจริงๆ มันก็ไม่ได้น่ากลัวอะไรขนาดนั้นครับ เพราะหลักๆทักษะภาษาอังกฤษที่ใช้ตอนเรียนมีอย่างเดียวคือ “อ่าน” แล้วพอน้องเรียนไปเรื่อยๆ น้องจะรู้ว่ามันไม่ได้ยากที่หลักภาษา หรือต้องตีความหมายลึกซึ้งแบบนักภาษา หรือมีแกรมม่าที่ซับซ้อน มันค่อนข้างจะตรงตัว และเป็นศัพท์เฉพาะซะมากกว่า เพราะฉะนั้นถึงน้องจะไม่เก่งภาษาอังกฤษ แต่น้องมีความพยายามสักนิดก็สามารถอ่านทำความเข้าใจได้ (แต่ถ้าไม่ได้จริงๆ ตอนเรียนก็คงต้องตั้งใจฟังอาจารย์ให้มากๆ แล้วตอนทำสัมมนากับโปรเจค ก็คงต้องจ้างแปล ไม่ก็ให้เพื่อนช่วย) แต่ยังไงซะ ปัจจุบันนี้ ใครเก่งภาษาย่อมได้เปรียบ เภสัชกรก็เช่นเดียวกัน คนเก่งภาษาสามารถเข้าเรียนต่อได้ง่ายกว่า คนเก่งภาษาไม่มีข้อจำกัดในการศึกษาต่อยอด คนเก่งภาษาสามารถไปทำงานในบริษัทระดับ inter ได้ง่ายกว่า คนที่เก่งภาษามีโอกาสได้ไปทำงานในต่างประเทศมากกว่า เพราะฉะนั้นพยายามทำให้เก่ง อะไรๆจะง่ายขึ้นเยอะ
เอาจริงๆนะ พี่ว่า พอถึงเวลาจริง สถานการณ์บังคับ สภาพแวดล้อมพาไป เดี๋ยวน้องก็พยายามถีบตัวเอง เค้นศักยภาพของตัวน้องออกมาเองอยู่ดีแหละ
ถ้าหากถามเพื่อที่จะได้รู้ว่า ตอนสอบเข้า ต้องเน้นวิชาไหน
พี่ก็ขอตอบว่า ตอนสอบเข้าเภสัช มันได้ใช้เกือบทุกวิชาแหละ ต่างกันที่สัดส่วนของน้ำหนักคะแนนในแต่ละรอบ ของการรับเข้าเท่านั้น ยกตัวอย่างรับตรง มข. ปีการศึกษา 2560 คณะเภสัชศาสตร์ ใช้สัดส่วนคะแนนดังนี้
ภาษาไทย 6%
สังคม 6%
ภาษาอังกฤษ 18%
คณิตศาสตร์ (วิทย์) 18%
เคมี 19%
ชีวะ 18%
ฟิสิกส์ 15%
และกลุ่มสาระวิชาหลักทุกรายวิชา จะต้องได้คะแนนขั้นต่ำไม่น้อยกว่าร้อยละ 25
อ้างอิง https://admissions.kku.ac.th/access/files/applykku60.pdf
หรือ Admission คณะเภสัช (ปี 2560) ก็ใช้ GAT 10% PAT2 40% O-NET 30% และ GPAX 20%
จะเห็นได้ว่า ถ้าน้องจะสอบเข้าเภสัช น้องได้ใช้ทุกวิชาแหละ ต่างกันแค่สัดส่วนคะแนน เพราะฉะนั้นถ้าน้องมีเวลา พี่ก็อยากให้น้องโฟกัสทุกวิชา แต่ถ้าไม่ทันแล้ว ต้องเลือก focus ก็ต้องถามน้องว่าน้องสามารถเสริมตรงจุดไหนแล้วเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตามเวลาที่เหลืออยู่ และเมื่อเทียบกับสัดส่วนคะแนนที่ต้องใช้แล้ว จะทำให้ได้คะแนนรวมสูงสุด แต่โดยมากแล้วส่วนใหญ่การสอบเข้าคณะเภสัช น้ำหนักคะแนนจะไปอยู่ทางด้านวิทยาศาสตร์เยอะ โดยเฉพาะเคมีกับชีวะ
แต่ถ้าหากถามไปเพื่ออยากรู้ว่าตอนเรียนเภสัชจริงๆ ได้ใช้วิชาไหนบ้าง
เอาจริงๆนะ ได้ใช้ทุกวิชาแหละ
คณิตศาสตร์ ได้ใช้ Calculus กับสถิติครับ ได้ใช้จริงๆนะครับ ไม่ได้โกหก ไม่ได้ขู่ด้วย แต่! เอาจริงๆอ่ะ คนเรียนเภสัช มันมีคนไม่เก่งเลขเยอะ แล้วเราไม่ได้มุ่งไปสู่แก่นของคณิตศาสตร์อะไรขนาดนั้น เพราะฉะนั้น เวลาเรียนจริงๆ มันมีสูตรสำเร็จ ให้ใช้เยอะแยะ พวกสถิติก็กด excel เอาก็ได้ (หรือเครื่องคิดเลขวิทยาศาสตร์ ก็พอทำได้) เพราะฉะนั้น หากไม่เก่ง ก็ไม่ต้องกลัวครับ แต่ถ้าเก่ง ก็ยิ่งดีครับ เพราะคนที่เก่งคณิตศาสตร์ความคิดในหัวสมองเค้าจะเป็นระบบและเป็นระเบียบมาก ทำให้คนพวกนี้หัวไว และเรียนรู้ได้เร็ว
ส่วนตัวพี่ขี้เกียจจำสูตรเยอะ พี่เลยจำแค่อันหลักๆไม่กี่อัน แล้วไปดริฟท์ๆ อินทิเกรดต่อเอาเองในห้องสอบครับ
ฟิสิกส์ ได้ใช้พวกกับวิชาทางซูติกกับการผลิตครับ อย่างตอกยา มันมีแรงอะไรเกิดขึ้นบ้าง ถ้าแรงไหนเยอะไป หรือน้อยไปจะเกิดอะไรขึ้น เวลาปั่นครีมมีแรง shear ตรงไหน ตรงไหนเป็นจุดบอด หรือปรากฏการณ์ที่ผิวประจัน พวกนี้เป็นฟิสิกส์ทั้งหมดครับ ในระดับ ป.ตรี อาจไม่ได้ใช้ฟิสิกส์มากมาย หรือคำนวณอะไรลึกซึ้ง แต่ถ้าต่อยอดไปชั้นสูง เราก็ต้องเข้าใจ concept ของฟิสิกส์ในระดับนึงครับ ฟิสิกส์เป็นวิชาที่ศึกษาธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับสสาร พลังงาน และการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นการบด ผสม ปรุง ก็ถือเป็นฟิสิกส์ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราคงหนีฟิสิกส์ไม่พ้น
เคมี แน่นอนครับว่า เภสัชยังไงก็หนีเคมีไม่พ้น ยาร้อยละ 99 เป็นสารเคมีทั้งนั้น ถ้าน้องเก่งเคมี และชอบเคมี จะทำให้น้องเรียนได้อย่างสบายและมีความสุขขึ้นมาก
ชีวะ ชีววิทยา เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต ยาถ้ามันอยู่นอกร่างกายมนุษย์ มันก็ไม่ต่างอะไรจากสารเคมีชนิดนึง แต่สารเคมีชนิดนั้นเราต้องเอามาใช้กับร่างกายมนุษย์ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเข้าใจกลไกและกระบวนต่างๆที่เกิดขึ้นในร่างกาย ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจว่ายามันทำอะไรกับร่างกายเรา แก้ไขความผิดปกติที่ตรงไหน และร่างกายเรามันทำอะไรกับยาบ้าง ดังนั้นพื้นฐานทางชีววิทยาจึงได้ใช้ในการเรียนเภสัชอย่างแน่นอนครับ
อังกฤษ อย่างที่บอกไปข้างบนครับ อังกฤษเป็นวิชาที่ได้ใช้ตลอด อย่างน้อยๆ ชีทอาจารย์ ตำราเรียน รายงานการวิจัยต่างๆส่วนใหญ่ก็เป็นภาษาอังกฤษครับ
สังคม สังคมนี่แล้วแต่ว่าน้องจะเอามาประยุกต์ใช้ยังไงนะครับ แต่ยังไงเราก็หนีสังคมไม่พ้น จริงๆเนื้อหาสังคมมันแทรกอยู่ตามเนื้อหาที่เราเรียนต่างๆอย่างแนบเนียน เช่น เชื้อโรคตัวนี้เป็นเชื้อโรคที่อยู่ในดิน ซึ่งพบการระบาดในเปลือกโลกแผ่นนี้ แล้วเปลือกโลกแผ่นนี้มันจังหวัดไหนบ้างละ? หรือทฤษฎีทางระบาดวิทยาก็มีเรื่องเกี่ยวกับลักษณะภูมิประเทศและสังคมมาเกี่ยวข้อง พวกทางสายเภสัชสังคม ก็ต้องใช้วิชาทางการตลาด แม้แต่การบริหาร stock ในห้องยารวมถึงการจัดหาเวชภัณฑ์ต่างๆ ก็ต้องอาศัยหลักการทางเศรษฐศาสตร์ในการบริหาร พระราชบัญญัติยา, เครื่องสำอาง, อาหาร, ยาเสพติด, วัตถุออกฤทธิ์, วัตถุอันตราย พวกนี้ก็กฏหมายทั้งนั้นครับ
ภาษาไทย ภาษาไทยได้ใช้ทุกวันอยู่ละ เขียนรีพอร์ต พรีเซนต์งาน สรุปโปรเจค ทำสัมมนา ถ้าน้องเก่งภาษาไทยจะทำให้น้องใช้ภาษาและรูปแบบภาษาได้อย่างถูกต้อง ดูเป็นมืออาชีพครับ
พละ ได้ใช้ตอนกีฬาน้องใหม่ครับ ใครเล่นกีฬาเก่งๆจะดูหล่อขึ้นในสายตาเพศตรงข้าม 20-50% ครับ อิอิ แล้วก็ตอนเรียนรู้สึกจะต้องลงวิชาพละอย่างน้อย 1 ตัวครับ
การงาน ได้ใช้ตอนทำกิจกรรม ทำพาน เย็บปักถักร้อย ออกค่ายอาสา ทำโรงทาน อะไรแบบนี้
ศิลปะ ฝึกไว้ครับ เพราะตอนเรียนจะได้ใช้แต่สมองซีกซ๊ายอย่างหนักหน่วง ตอน ม.ปลายมีโอกาสบริหารสมองซีกขวาในวิชาศิลปะ ก็ฉวยโอกาสนี้เอาไว้ครับ มันจะช่วยเราได้เยอะตอนที่เราต้องคิดงาน creative อันนี้เรื่องจริงเลยนะครับ พี่ทำงาน QC ในโรงงาน วันดีคืนดี พี่ก็ต้องไปดู layout ของพวกวัสดุบรรจุ ซึ่งพี่ต้องเป็นคนเซนต์อนุมัติแบบ layout ให้เอาไปผลิตจริง พี่ก็ต้องคิดนะครับ นอกจากจะคิดว่า มันออกแบบมาเป็นแบบนี้ จะมีปัญหาอะไรในทางกฏหมายไหม ข้อมูลขาดตกบกพร่องตรงไหนหรือเปล่า พี่ก็ต้องคิดด้วยว่า สีนี้ตัดกับสีนี้เข้ากันไหม ดูโดดเด่นสะดุดตาหรือเปล่า หรือสีนี้ในแบบแผ่นไวนิล พอเอาไปพิมพ์ใส่แผ่นอลูมิเนียมจริงๆสีจะเป็นยังไง ตัวอักษรจะชัดไหม เรื่องแบบนี้ วิชาศิลปะก็มา นะ เออ
พุทธศาสตร์ ไม่รู้เดี๋ยวนี้ยังมีเรียนวิชานี้กันอยู่หรือเปล่า จริงๆ ฝึกไว้ก็ดีนะครับ เวลาสอบ เครียด อ่านหนังสือไม่ทัน จิตใจจะได้สงบ ไม่ตื่นเต้น ไม่ฟุ้งซ่าน ฮ่าๆๆๆๆ
Share this:
????