เภสัชกรล้นตลาดแล้วหรือยัง

เภสัชกรล้นตลาดแล้วหรือยัง

เภสัชกรล้นตลาดหรือยัง คณะเภสัชเปิดมากไปหรือเปล่า เรียนจบแล้วจะหางานได้ไหม จบเภสัชแล้วจะตกงานหรือเปล่า นับเป็นคำถามของน้องๆ ที่พี่เจอบ่อยเป็นอันดับต้นๆเลย บางคนก็ได้ยินมาว่า เภสัชเปิดกันเยอะไปหมด จบแล้วตกงาน อย่าเรียนเลยเภสัช ร้านยาก็เปิดกันเยอะแยะไปหมด แต่พอไปถามรุ่นพี่บางคน รุ่นพี่ก็บอกว่า พี่ก็หางานกันได้ทุกคนนะ จบมาไม่ถึง 3 เดือน ก็ได้งานกันหมดแล้ว ขนาดไม่มีใบประกอบยังหางานได้เลย ยิ่งไปดูตัวเลขของคณะเภสัชที่เก็บสถิติเอาไว้ ตัวเลขตกงานก็เป็น 0% แล้วตกลงมันเป็นยังไงกันแน่ เภสัชเยอะไปแล้วจริงหรือเปล่า จบแล้วจะหางานทำได้ไหม ไปถามใครก็ได้มาแต่ข้อคิดเห็น ตามมุมมองของแต่ละคนทั้งนั้น แล้วความจริงมันเป็นยังไงกันแน่

จริงๆ ถ้าน้องอยากได้คำตอบที่เป็น fact ของคำถามนี้จริงๆ ไม่ยาก เพราะมีรายงานการวิจัยเกี่ยวกับอัตรากำลังคนอยู่เต็มไปหมด ยิ่งสายงานเภสัชกรเป็นสายงานที่ถูกนำมาคำนวณด้วยเสมอๆ ในการจัดสรรอัตรากำลังของบุคลากรด้านสาธารณสุข เพราะฉะนั้นรายงานพวกนี้ มีเพียบ แต่ที่ยากคือ เมื่อน้องเรียนจบไป 6 ปีแล้ว อีก 6 ปีข้างหน้า สถานการณ์มันจะเป็นยังไง อันนี้ ยาก! ถ้าอนาคตมันทำนายกันง่ายๆ ก็คงไม่คนถูกหวยกันเต็มไปหมดแล้ว จริงไหมครับ แต่อย่างไรเสีย เรื่องแบบนี้ มันก็พอที่เอาสถิติในอดีต ดูเหตุการณ์ในปัจจุบัน เพื่อคาดการณ์อนาคตได้อยู่บ้าง

ก่อนตอบคำถามนี้ พี่อยากให้น้องดูรูปสรุปจากรายงานชิ้นนึงครับ

ความต้องการคนด้านเภสัชกรรม

ที่มา : รายงานเรื่องความต้องการกำลังคนด้านเภสัชกรรมใน 10 ปี ข้างหน้า คณะทำงานกำลังคนวิชาชีพเภสัชกรรม สิงหาคม 2552

รายงานชิ้นนี้ทำในปี 2552 เป็นรายงานหนึ่งในไม่กี่ชิ้นที่มีการทำนายความต้องการในอนาคตข้างหน้า น้องๆเห็นอะไรบ้างไหมครับ

ให้เวลาคิดก่อน 30 วินาที ก่อนจะเลื่อนไปอ่านข้างล่าง

.

.

.

.

.

เป็นไงครับ เห็นตัวเลขความต้องการเภสัชแล้ว เอาละ มาเฉลยกัน

  1. น้องจะเห็นว่าความต้องการเภสัชกรในช่วงปี 2552 – 2562 เพิ่มขึ้นอย่างมาก เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวในเวลาเพียง 10 ปี ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรครับ บทบาทหน้าที่ของเภสัชกรขยายกว้างขึ้นในหลายๆด้านทั้งในแนวระนาบและแนวดิ่ง ประกอบกับตลาดสุขภาพเติบโตไปพร้อมๆกับสังคมผู้สูงอายุ ทำให้วิชาชีพด้านสุขภาพเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างรวดเร็ว
  2. น้องจะเห็นว่าเภสัชกรโรงพยาบาลเป็นตลาดงานที่ใหญ่ที่สุด และมีความต้องการเพิ่มขึ้นมากที่สุด
  3. น้องจะเห็นว่าเภสัชกรชุมชน (สำหรับน้องๆที่ไม่รู้ว่าเภสัชชุมชนคืออะไร เภสัชกรชุมชนคือเภสัชกรที่อยู่ตามร้านยานะครับ) เป็นสายงานที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุด

เอาละ น้องๆที่อ่านมาถึงตรงนี้ คงสบายใจกันบ้างแล้วว่า ความต้องการเภสัชกรของตลาดเติบโตเร็วมาก แต่อย่าพึ่งดีใจไปครับ มาดูความจริงอีกด้านก่อน

  1. จากตาราง ในปี 2562 มีความต้องการเภสัชกร 39,345 คน และตัวเลขใบประกอบของปี 2559 นี้อยู่ที่ประมาณ 36,xxx ถ้าคิดว่าทั้งประมาณ 36,000 ยังทำงานอยู่ หมายความว่าเรามีความต้องการเภสัชกรในอีก 3 ปีข้างหน้า = 39,345 – 36,xxx = ประมาณ 3,000 คนเท่านั้น
  2. ตอนนี้เภสัชจบต่อปี จากทุกมหาวิทยาลัยประมาณเกือบๆ 2,000 คนต่อปี แสดงว่าอีกแค่ประมาณ 2 ปี เภสัชก็จะล้นตลาด (อย่างนั้นจริงหรือ?)

เอาละน้องๆ อ่านถึงตรงนี้อย่าพึ่งเครียดหรือท้อไปซะก่อน มาดูในอีกแง่มุมนึงกันบ้างครับ

  1. ปี  2558 มีร้านยาประมาณ 15,600 ร้าน และทาง chain store ใหญ่ๆยังมีแผนจะขยายออกไปอีกเรื่อยๆทั้ง extra (ของ 7), boots, watson, pure หมายความว่าในปี 2562 หากคิดว่าแต่ละร้านต้องมีเภสัชอย่างน้อย 1 คน แสดงว่ายังมีความต้องการเภสัชในสายเภสัชกรชุมชนที่มากกว่าตัวเลขนี้อยู่อีกมาก แต่นั่นต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ว่า ทุกร้านมีเภสัชกรอย่างน้อย 1 คน นั่นหมายความว่า ทุกร้านต้องไม่มีร้านหมอตี๋ หรือร้านยาที่ไม่มีเภสัชกรประจำอยู่อีกต่อไป ซึ่งจะทำได้หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นและจริงจังของการบังคับใช้กฏหมายจากเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ
  2. เห็นตัวเลขของเภสัชอุตสาหกรรม แล้วรู้สึกอะไรไหมครับ ใช่ครับมันน้อยมาก จริงๆแล้วอุตสาหกรรมควรเป็นฐานรองรับตลาดงานได้มากไม่แพ้เภสัชกรโรงพยาบาล แต่ที่ตัวเลขเป็นแบบนี้ เพราะประเทศเราเลือกแล้วว่า เราจะให้ผู้ป่วย เข้าถึงยาในราคาถูก เราจะ drive ไปทางการบริบาลผู้ป่วยเป็นหลัก ทำให้อุตสาหกรรมยาอ่อนแอ และเล็กกว่าที่ควรจะเป็นมาก หากมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมยาอย่างจริงจัง และมีการเสริมเรื่องนวัตกรรม เข้าไปในอุตสาหกรรมยาไทย ตัวเลขความต้องการในสายงานอุตสาหกรรมจะพุ่งสูงกว่านี้อีกมาก
  3. ถึงแม้ว่าด้านเภสัชอุตสาหกรรมจะมีความต้องการคนน้อย แต่ก็เป็นสายงานที่มีการขาดแคลนบุคลากรเป็นอันดับต้นๆ เอาง่ายๆนะครับ พี่สมัครสมาชิก TIPA (TIPA คือสมาคมของเภสัชที่ทำงานด้านอุตสาหกรรม) เมื่อปีที่แล้ว (ปี 2558) เลขที่สมาชิกของพี่คือ 980 ครับ ซึ่งปกติแล้วใครที่ทำโรงงานนานๆ ไม่ใช่ว่าทำงานแปบเดียวแล้วลาออก มักจะสมัคร TIPA กันเกือบทุกคนอยู่แล้ว คิดดูครับว่ามีเภสัชที่ทำงานด้านอุตสาหกรรมน้อยขนาดไหน แล้วสายงานนี้ขาดแคลนคนขนาดไหน
  4. การคิดตัวเลขว่าเลขใบประกอบเท่ากับจำนวนเภสัช เป็นการคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะนั่นหมายความว่า ที่ผ่านมา เภสัชต้องไม่ตายเลย และเภสัชกรทุกคน ต้องไม่มีใครเลิกเป็นเภสัชเลย ดังนั้นจำนวนเภสัชที่ active อยู่จริงๆ ต้องน้อยกว่าจำนวนเลขใบประกอบ แต่น้อยกว่าเท่าไร พี่ตอบไม่ได้ อันที่จริง หากมองในมุมของพี่ มีคนที่เลิกเป็นเภสัช ค่อนข้างเยอะเหมือนกัน เพราะเภสัชนั้นเรียนค่อนข้างหลากหลายมาก ทำให้คนที่จบมา หลายๆคนค้นพบตัวเอง แล้วก็หลุดจากวงโคจรของวิชาชีพไป แต่คนเหล่านี้มีมากเท่าไรนั้น พี่ตอบไม่ได้ รอประมาณปี 2563 ซึ่งจะเป็นปีที่สภาเภสัชกำหนดให้เก็บ CPE ครบ 5 ปี พอดี ถึงตอนนั้นคงได้รู้ว่า มีคนที่ทิ้งใบประกอบ ไม่ต่ออายุใบประกอบแล้ว มีกี่คนกันแน่
  5. การศึกษานี้ ไม่ได้พูดถึงเภสัชสายวิจัย ซึ่งก็เป็นที่เข้าใจได้ เพราะว่าเภสัชศาสตร์ศึกษา ก็คืออาจารย์ตามมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจารย์มักต้องทำวิจัยควบคู่ไปด้วยเสมอๆอยู่แล้ว แต่ทำให้เราตอบไม่ได้ว่า มีเภสัชสายวิจัย ที่ไม่ได้ทำงานสอนไปด้วยอยู่เท่าไร ซึ่งหากในอนาคต ประเทศเราดำเนินโครงการตามนโยบาย Thailand 4.0 อย่างจริงจัง เราจะต้องการนักวิจัยมากกว่านี้อีกมาก

เป็นยังไงบ้างครับ อ่านแล้วสบายใจขึ้น หรือเครียดกว่าเดิม (ฮา) อย่าลืมว่าตัวเลขนี้ เป็นตัวเลขที่ทำขึ้นเมื่อ ปี 2552 ดังนั้น ยังมีปัจจัยอีกหลายๆอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่ยังไม่ได้นำมาคำนวณ ถ้ามองจากนโยบายของประเทศ ตัวที่จะช่วยเพิ่มความต้องการ (demand) ของเภสัชได้ก็จะมีพวกเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) กับ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ซึ่งถ้าหากทำสำเร็จก็จะ drive demand ของตลาดงานเภสัชได้อีกมาก

สำหรับน้องๆที่คิดว่าจะรับราชการแน่ พี่อยากให้ดูกรอบอัตรากำลัง GIS ของบุคลากรด้านสาธาณสุข ซึ่งหน่วยงานราชการจะใช้กรอบตัวนี้ในการจัดสรรกำลังว่า จังหวัดนี้ เขตนี้ ยังขาดคนอีกเท่าไร โดยคำนวณจากจำนวนประชากรในเขตพื้นที่นั้น อย่างไรก็ดี เรื่องกรอบอัตรากำลัง GIS เป็นตัวเลขคร่าวๆ ในความเป็นจริงแล้ว บางพื้นที่มีแรงงานต่างด้าวเยอะ มีคนต่างถิ่นเยอะ การใช้กรอบอัตรากำลัง จึงอาจล้าสมัยและไม่ทันต่อเหตุการณ์ อีกทั้งภาระงาน ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆทุกปี ทำให้บางพื้นที่จริงๆแล้วขาดคน แต่ไม่มีตำแหน่งมาให้ก็มี อย่างไรก็ดี การดูกรอบอัตรากำลังนี้ จะช่วยน้องๆที่อยากรับราชการได้คร่าวๆว่า ในมุมมองของภาครัฐ เขตพื้นที่ที่น้องอยากไปอยู่ เค้าขาดคนอีกเท่าไร

สุดท้ายนี้น้องๆก็ต้องตัดสินใจด้วยตนเองว่า จะเลือกเรียนเภสัชหรือไม่ ตลาดงานที่รองรับ ก็เป็นเพียงปัจจัยหนึ่ง สำหรับการตัดสินใจเท่านั้น ยังมีปัจจัยอีกมากที่ต้องนำมาคิดและตัดสินใจ หากน้องกังวลเรื่องตลาดงาน น้องก็ต้องคิดว่า น้องจะมาสายงานนี้ เพราะอะไร เพราะชอบ เพราะมีงานทำแน่นอน เพราะเงิน เพราะหน้าตาในสังคม หรืออื่นๆ แล้วตัวน้องเอง เชื่อใน Health care theme ไหม เชื่อไหมว่านโยบายต่างๆของรัฐบาลจะทำเร็จ เพราะมันก็เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับ demand ของตลาดงานเภสัชในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จึงๆแล้ว มีงานวิจัยอีกชิ้น ที่สดใหม่กว่า และตัวเลขที่ถูกต้องกว่านี้มาก เพราะมีการคำนวณอัตราการสูญเสียลงไปด้วย ซึ่งในรายงานการวิจัยนั้น เภสัชกรโรงพยาบาล มีความต้องการถึง 28,000 คน  ในปี 2562 แต่พี่ไม่ได้เอามาพูดถึงในที่นี่ตอนนี้ เพราะว่า ตัวรายงาน ยังเป็นนิพนธ์ต้นฉบับอยู่ เอาไว้พี่เห็นมันรายงานการวิจัยตัวสมบูรณ์แล้ว พี่จะมาอัพเดทให้น้องๆฟังอีกทีนึง แต่ถ้าใครอดใจรอไม่ไหว เข้าไปอ่านกันได้ที่ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เรื่อง การคาดการณ์กำลังคนสำหรับการวางแผนอัตรากำลังเภสัชกรในประเทศไทย (กดที่ลิ้งเพื่ออ่านนิพนธ์ต้นฉบับนะครับ ก่อนอ่านเราต้องเลือกวัตถุประสงค์ในการดาวน์โหลดก่อน)

เป็นยังไงกันบ้างครับ ได้เห็นภาพรวมของตลาดงานเภสัชในภาพมุมกว้างกันไปแล้ว เอาไว้ว่างๆ พี่จะเขียนเกี่ยวกับความต้องการแต่ละสายงานในเชิงลึกกันบ้าง แต่คงไม่ได้เขียนเป็นรายงานการวิจัยลึกซึ้งขนาดนี้ แต่จะเขียนจากมุมมองและประสบการณ์ส่วนตัวของพี่เองที่ไปเจอมาครับ

 


Share this:

Posted in บทความ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *