ย้ายประเทศ เปลี่ยนสัญชาติ แล้วจะกลับมาเป็นเภสัชกรที่ไทยได้ไหม

ช่วงนี้กระแสการย้ายประเทศมาแรง แล้วมีน้องคนนึงที่ย้ายประเทศสำเร็จมาถามว่า จะย้ายไปประเทศ แล้วจำเป็นต้องเปลี่ยนสัญชาติ ทีนี้ถ้ายังอยากกลับมาเป็นเภสัชกรที่ไทย จะทำได้ไหม?

คำถามนี้ น่าสนใจนะครับ เพราะเอาจริงๆ เมืองไทยยังไม่เคยมีเคสแบบนี้เป็นกรณีศึกษาเลย แต่ถ้าตอบด้วยตัวบทกฏหมายล่ะก็ คำตอบก็คือ ได้ครับ

ความจริงก็คือ ข้อกำหนดของสมาชิกสภาเภสัชกรรม ไม่มีข้อไหนเลย ที่บังคับว่าต้องถือสัญชาติไทยเท่านั้น สัญชาติอื่นก็มาเป็นเภสัชกรที่ไทยได้ เพียงแต่เท่าที่ทราบมาคือ ยังไม่มีชาวต่างชาติคนไหนทำสำเร็จ เพราะติดปัญหาตอนสอบใบประกอบ เนื่องจาก เราบังคับว่า ถ้าจะมาเป็นเภสัชกรที่ไทย นอกจากต้องศึกษาเก็บหน่วยกิต และเก็บชั่วโมงฝึกงานที่ไทยตามคำสั่งสภาเภสัชกรรมแล้ว ยังต้องสอบข้อสอบใบประกอบ version เดียวกับคนไทย ซึ่งเป็นภาษาไทยเท่านั้น ตรงนี้เองที่เป็นกำแพงอันสูงลิ่ว ที่คนต่างชาติที่จะมาเป็นเภสัชกรที่ไทยตกม้าตายกันซะเยอะ เพราะมันไม่ใช่แค่ว่าต้องเก่งภาษาไทยเท่านั้น พวกศัพท์เฉพาะทางต่างๆ ที่เป็นภาษาไทยก็พามึนกันไม่ใช่น้อย อย่าว่าแต่ชาวต่างชาติเลย แม้แต่คนไทยที่เรียนเภสัชภาคอินเตอร์แล้วเจอแต่ศัพท์ภาษาอังกฤษมาตลอด เจอศัพท์ version ภาษาไทยเข้าไป ยังมึนไปเลยเหมือนกัน

นอกจากนี้ ตามมาตรา 14 ในพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม ยังระบุไว้ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาเภสัชกรรมจะสิ้นสุดลงเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๒ (๑) (๒) หรือ (๕)

(๔) คณะกรรมการมีมติให้พ้นจากสมาชิกภาพ เพราะเห็นว่าเป็นผู้นำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพตามมาตรา ๑๒ (๓) หรือ (๔)

ทีนี้มาดูมาตรา 12 ระบุไว้ว่า

มาตรา ๑๒ ผู้สมัครเป็นสมาชิกสภาเภสัชกรรมต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

(๑) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์

(๒) มีความรู้ในวิชาชีพเภสัชกรรมโดยได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรในวิชาเภสัชศาสตร์จากสถาบันการศึกษาที่ทบวงมหาวิทยาลัยรับรองหรือที่สภาเภสัชกรรมรับรอง

(๓) ไม่เป็นผู้ประพฤติเสียหายซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ

(๔) ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกในคดีที่คณะกรรมการเห็นว่าจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ

(๕) ไม่เป็นผู้มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือไม่เป็นโรคที่กำหนดไว้ในข้อบังคับสภาเภสัชกรรม

จะเห็นได้ว่า ไม่มีข้อไหนเลยที่บอกว่าถ้าน้องเป็นสมาชิกสภาเภสัชกรรมอยู่แล้ว แล้วไม่ได้มีสัญชาติไทย น้องจะพ้นสภาพสมาชิกสภาเภสัชกรรมในไทยเลย แม้แต่ข้อเดียว ดังนั้น ในทางกฏหมาย ไม่ว่าต่อมาน้องจะถือสัญชาติอะไร น้องก็เป็นเภสัชกรที่ไทยได้ทั้งนั้นครับ เพียงแต่ น้องอาจจะลำบากกว่าคนอื่นตรงที่ไปอยู่ต่างประเทศแล้ว อาจไม่สะดวกในการต่ออายุหน่วยกิต CPE หรือจ่ายค่าต่ออายุใบประกอบต่างๆ จนใบประกอบหมดอายุไปเองในที่สุด


Share this:

Posted in บทความ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *