ยาสัตว์ จะนำมาใช้กับยาคนได้ไหม

หลังจากมีข่าวคนกินยา Ivermectin สำหรับสัตว์แล้วตาย ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ฝั่งหมอ ก็บอกว่ากินได้ ฝั่งสัตวแพทย์บอกว่ากินไม่ได้ ดังนั้น พี่ขอตอบในมุมมองคนทำงานในอุตสาหกรรมยาแล้วกัน

ยาสัตว์จะใช้กัยยาคนได้ไหม

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ยาสัตว์เนี่ย มีหลายแบบ มีทั้งที่เป็นเม็ดเหมือนคนเลย แบบที่ bulk เป็นผงๆ ขายเป็นโลๆให้กับฟาร์มสัตว์ แล้วก็แบบผสมกับรำกับแกลบหรืออาหารสำหรับพร้อมกินได้เลย

อันที่จริง มียาหลายตัวที่มีตัวยาสำคัญเหมือนกับในยาคน ซึ่งอันที่จริงเป็นส่วนใหญ่ซะด้วยที่มีตัวยาสำคัญเดียวกัน เพราะว่าในการวิจัยยา ก่อนจะทดลองกับคน เราต้องทดลองในสัตว์ก่อน เราจึงได้ข้อมูลการใช้ยาในสัตว์พร้อมขนาดการใช้หลังจากวิจัยยาคน แต่ก็มีตัวยาสำคัญบางตัวของคนที่ห้ามนำไปใช้ในสัตว์บางชนิดเด็ดขาด และก็มีตัวยาสำคัญบางอย่างที่มีใช้แต่กับสัตว์ ในคนไม่มีใช้ หรืออาจจะเคยใช้ในคน แต่ปัจจุบันไม่นิยมใช้แล้ว เพราะอาจมีประสิทธิภาพไม่ดี หรือความเป็นพิษสูง แต่ในสัตว์ยังนิยมใช้กันอยู่

ยา Ivermectin ก็เป็นยาที่ใช้ในคนได้ เพียงแต่ค่อนข้างจะนิยมใช้กับสัตว์มากกว่า อย่างที่บอกไปว่ามีตัวยาหลายตัวที่ใช้ได้ทั้งกับคนและสัตว์ ต่างกันเพียงขนาดการใช้เท่านั้น

คิดว่าเรื่องตัวยาสำคัญน่าจะพอเข้าใจกันแล้ว แต่มาตรฐานการผลิตระหว่างยาคนกับสัตว์ล่ะเหมือนกันไหม?

เรื่องมาตรฐานเนี่ย จะบอกมันเหมือนก็เหมือน จะบอกว่าไม่เหมือนก็ไม่เหมือน

ที่ว่าเหมือน คือไม่ว่าจะยาคนหรือยาสัตว์ต่างก็ใช้มาตรฐาน PIC/s GMP ในการผลิตเหมือนกัน

แต่ที่มันไม่เหมือนก็อย่างเช่น ยาผงที่เป็น bulk ใหญ่ๆ ส่งให้ฟาร์มต่างๆ ยาสัตว์เค้าจะค่อนข้างซีเรียสเรื่องราคามาก บางทีชนะกันด้วยราคาต่างกันกิโลละไม่กี่สิบบาท (ขายกันเป็นกิโล) แน่นอนว่าแต่ละ lot ทำออกมาราคาไม่เท่ากัน ดังนั้นเรื่องการลดต้นทุนสำคัญมาก ยกตัวอย่างง่ายๆ ในยาคน ถ้าเป็นยาฉีด วัตถุดิบหลายตัวควรเป็น sterile grade (ปราศจากเชื้อ) โดยเฉพาะกับยาที่ไม่สามารถทำให้ปราศจากเชื้อด้วยความร้อนในขั้นตอนสุดท้ายได้ (Terminal Sterilization) แต่ในยาสัตว์ หลายโรงงานเลือกที่จะใช้วัตถุดิบเกรดธรรมดามาทำยาฉีด โดยเฉพาะกับยาฉีดกลุ่มพวกยาฆ่าเชื้อ (เพราะเชื้อมักโดนตัวยาฆ่าเชื้อกดไว้อยู่แล้ว แต่บางคนอาจบอกว่า USP ให้ทำลายฤทธิ์ก่อนตรวจนิ เอาเป็นว่าขอข้ามไปก่อน เดี๋ยวจะยาว) แล้วไปวัดดวงตอนสุดท้ายว่าเชื้อจะขึ้นหรือเปล่า ถ้าเชื้อขึ้นมันก็มีวิธีแก้ให้ไม่ขึ้นอยู่แหละ แต่ถ้าทำยังไงเชื้อก็ขึ้นอยู่ดี การทิ้งยาเป็นทางเลือกสุดท้ายจริงๆที่เค้าจะทำ เรื่องแบบนี้ เภสัชหลายคนรับไม่ได้ลาออกมาก็มี

หรืออย่างพวกยาผสมเสร็จแบบ animal feeding ผสมพวกแกลบพวกรำ ถ้าจะอิงตาม PIC/s แบบคนจริงๆ มันเอาเข้าสถานที่ผลิตไม่ได้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่ PIC/s ปี 2559 ก็หาทางลงสวยๆให้ด้วยการเพิ่มภาคผนวก 4 เข้ามา ซึ่งเนื้อหาหลักๆก็คือ การยอมลดหย่อนมาตรฐานบางข้อของการผลิตยาคนลงให้ เช่น ยาในกลุ่ม Penicillin ไม่ต้องแยกผลิตในพื้นที่เฉพาะก็ได้ หรือยาฉีดปราศจากเชื้อก็ยอมให้ทำในห้อง Class D ได้ แต่ต้องได้รับการอนุญาตก่อน แต่ทั้งหมดทั้งมวล การจะทำตามได้นั้น มีเงื่อนไขว่า คุณต้องผลิตยาสัตว์เท่านั้นนะ ในโรงงานคุณห้ามแอบไปผลิตยาคน

อีกเรื่องที่ต่างคือมาตรฐานการตรวจใน Pharmacopoeia

ถ้าเป็นใน BP มันจะมี monograph สำหรับ Veterinary โดยเฉพาะ ซึ่งยาใน Monograph เหล่านั้น ก็มีแต่ยาสัตว์จริงๆนั่นแหละ เป็นยาที่เค้าไม่ใช้ในคนกันจริงๆ ส่วนพวกยาที่ใช้ทั้งคนทั้งสัตว์ ก็ตรวจตาม Spec เดียวกับคนนั่นแหละ

แต่! ใน General Monographs หลายหัวข้อ ก็จะบอกไว้ว่า ข้อมูลที่ระบุไว้ ไม่แนะนำหรือไม่บังคับให้ใช้กับยาสัตว์นะ ดังนั้นจะบอกว่ามาตรฐานการตรวจในส่วนของ General Monographs เช่น oral powder, tablets, liquid นั้นหย่อนกว่ายาคนก็ได้ แต่ก็มีหลาย General Monographs ที่เขียนมาเพื่อ Veterinary โดยเฉพาะเหมือนกัน
(อย่าสับสน General Monographs กับ Monograph คนละอันกัน Monograph คือ Monograph ที่เป็นรายละเอียดของยาแต่ละตัวไป ส่วน General Monographs นึกถึง General Chapter ของ USP ที่มันจะเขียนเรื่องทั่วๆไป เช่น Dissolution อะไรพวกนี้)

หรือใน Monograph บางอัน ที่ dosage form มันไม่เป็นยาคนแน่ๆ เช่น Amoxicillin Veterinary Oral Powder ชื่อมันก็บอกเลยว่า Veterinary มันก็มี Spec ของมันเอง ไม่เหมือน capsule/tablets ของยาคน (แต่ถ้ายาสัตว์จะทำ tablets ก็ใช้ spec เดียวกับยาคน ไม่งงเนอะ) หรือยาอย่าง Ivermectin ถ้าจะทำ Ivermectin Injection อิงตาม BP จะคนหรือสัตว์ก็อิง Monograph นี้เหมือนกัน แต่ถ้าเป็น Oral paste BP มีแต่ Ivermectin Veterinary Oral Paste ไม่มีใช้ในคน แต่ใน Monograph ของ BP ไม่มี Ivermectin Tablets ดังนั้น Spec ต่างๆของ Tablets ต้องไปตั้งโดยอิงจาก General Monographs ประกอบกับ ICH ซึ่ง General Monographs อย่างที่บอกไปว่าหลายๆอันเค้าไม่บังคับว่าให้ยาสัตว์ต้องทำตาม เพราะฉะนั้น น่าจะพอมองออกนะว่า มาตรฐานยาคนกับสัตว์ ต่างกันมากน้อยแค่ไหน

ต่อมาในส่วนของ USP
คือ USP ไม่ได้ถึงขนาดแยก Monograph เป็น Veterinary แบบ BP แต่ว่าใน Monograph ของ USP ถ้าตัวไหนมันใช้กับสัตว์ได้ เค้าจะบอกใน Labeling ว่า ให้ Label ด้วยว่าใช้สำหรับสัตว์หรือคน หรือถ้ายาตัวนั้นมีแต่ยาสัตว์ เค้าก็เลยว่าให้ Label ว่าใช้สำหรับสัตว์เท่านั้น

ทีนี้ Spec การตรวจใน Monograph สำหรับยาที่ใช้ได้ทั้งคนและสัตว์ ต่างกันไหม ขอตอบว่า บางตัวก็เหมือนกัน บางตัวก็ต่างกันนิดหน่อย

ยกตัวอย่างเช่น

– หัวข้อ Dissolution ของ Amoxicillin Tablets ยาคนกับยาสัตว์ทำเหมือนกันทุกอย่าง แต่ยาคนใช้รอบการปั่นที่ 75 rpm ส่วนยาสัตว์ใช้รอบที่ 100 rpm ดังนั้น Dissolution ของยาสัตว์จะผ่านง่ายกว่า เพราะใช้รอบในการปั่นสูงกว่า

– ยา Amoxicillin and Clavulanate Potassium Tablets หัวข้อการหา water content ในเม็ดยา ถ้าเป็นยาคนอนุญาติให้มี water content ได้ตั้งแต่ไม่เกิน 7.5 – 11.0 % ขึ้นกับว่าในยาเม็ดนั้น label ปริมาณ Amoxicillin ไว้กี่มิลลิกรัม และขึ้นกับว่ายาเม็ดนั้นกินโดยการกลืนหรือเคี้ยว แต่ถ้าเป็นยาที่ใช้ในสัตว์จะระบุไว้ว่าต้องไม่เกิน 10%

ส่วนยา Ivermectin Tablets ที่เป็นข่าว USP ไม่ได้เขียนอะไรไว้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าคนหรือสัตว์ใช้ Spec เดียวกัน

แต่!!!! ถ้าจะซับซ้อนกว่านั้น เช่น จากการประเมินความเสี่ยงแล้ว พบว่าคุณมีใช้เครื่องมือที่เป็นโลหะ และมี source วัตถุดิบที่มีโอกาสปนเปื้อนด้วยโลหะ บลาๆๆๆๆ คุณจึงทำการวิเคราะห์ปริมาณโลหะในยาสำเร็จรูปตามหัวข้อ <232> <233> Elemental Impurities ด้วยเครื่อง ICP จะ OES หรือ MS ก็แล้วแต่ limit ที่คำนวณได้ กับ sensitivity ที่เครื่องคุณทำได้ บลาๆๆๆ สุดท้ายคุณต้องคำนวณ limit ตาม permitted daily exposure (PDE) ซึ่งมันคงคำนวณ limit ในคนและสัตว์ไม่เหมือนกัน เพราะคนและสัตว์แต่ละสายพันธุ์คงรับธาตุและโลหะได้ไม่เท่ากัน ดังนั้น Spec limit ตรงนี้จึงไม่เท่ากัน (ว่าแต่มีคนทำจริงหรอ)

สรุป

  1. ในข่าวมันเป็นยาปลอม สิ่งใดที่อธิบายไว้ข้างบน ล้วนใช้กับยาในข่าวไม่ได้
  2. ก่อนจะเอายาคนไปใช้ในสัตว์ ควรคำนวณ dose ให้ดีๆ
  3. ก่อนจะเอายาสัตว์ไปใช้ในคน ควรประเมินความเสี่ยงจากข้อมูลข้างต้น
  4. ยาจะดี ดีตามเงิน คอนเฟิร์ม

Share this:

Posted in บทความ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *