เมื่อวานแอดคุยกับเพื่อน แล้วเพื่อนเล่าให้ฟังถึงว่าเห็นคำถามนี้ของน้องที่ถามกันในโซเชียล แอดเองก็นึกได้ว่า คงมีน้องหลายคนที่กำลังสงสัยคำถามนี้อยู่เหมือนกัน วันนี้แอดเลยจะมาเล่าความรู้คณิตศาสตร์ในการเรียนคณะเภสัชฯ ให้นะคะ
เนื้อหาที่แอดเอามาอาจจะยังไม่ครอบคลุมหมด แต่ก็พอให้น้องนึกภาพออกว่า เนื้อคณิตศาสตร์ระดับมัธยม จะมีอะไรบ้างที่จะต้องเอามาใช้ในการเรียนเภสัชเนอะ
1. เทียบบัญญัติไตรยางศ์
เรื่องพื้นฐานที่คณะไหนก็น่าจะเจอแหละเนอะ น้องต้องเทียบสัดส่วน เทียบบัญญัติไตรยางศ์ต่าง ๆ ให้แม่น เพราะการเทียบบัญญัติไตรยางศ์คือความรู้ทางคณิตศาสตร์ที่ใช้เยอะที่สุดในการเรียนเภสัช รวมไปจนถึงการทำงานในวิชาชีพเภสัชกร
2. ปริมาณสารสัมพันธ์
พูดถึงการคำนวณในคณะเภสัช ไม่สามารถมองข้ามเรื่องปริมาณสารสัมพันธ์ไปได้เลย โมล โมลาร์ โมแลล เปอร์เซนต์โดยมวล เปอร์เซนต์มวลต่อปริมาตร เอาให้แม่นนะคะ อีกเรื่องคือเรื่องกรดเบส บัฟเฟอร์ ถือว่าค่อนข้างยาก ก็ต้องค่อย ๆ เรียนรู้กันไป
3. สมการเส้นตรง สมการลอการิทึม และสมการหลายตัวแปร
เจอเยอะเหมือนกัน บางครั้งเราก็ต้องใช้สมการต่าง ๆ ในการวิเคราะห์ยา และบางครั้งสมการเพียงสมการเดียวไม่สามารถนำมาแก้สูตรจนได้คำตอบที่เราต้องการได้ ดังนั้นเลยจะต้องเอาหลาย ๆ สมการมาคิดรวมกัน เกิดเป็นสมการหลายตัวแปร นอกจากนี้ก็มีสมการลอการิทึม ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ฐาน 10 มีฐานธรรมชาติบ้างแต่น้อย ควรจะต้องแก้สมการ Log ถอด Antilog อะไรพวกนี้ให้คล่องประมาณนึง การเรียนจะได้ราบรื่น
4. กราฟ และสมการของกราฟรูปแบบต่าง ๆ
ส่วนใหญ่ที่ใช้ จะเป็นกราฟเส้นตรง และกราฟลอการิทึม ดังนั้น น้องต้องสามารถที่จะใช้กราฟและสมการของกราฟให้ได้ การใช้กราฟในคณะเภสัช จะเรียกกันว่า “Calibration Curve” เพื่อใช้ในการเทียบสัดส่วนของการตรวจสอบวิเคราะห์เชิงปริมาณต่าง ๆ (เอ่อออ แอดว่าแอดน่าจะลงรายละเอียดลึกไป น้องข้ามมันไปเถอะ 55555) เอาเป็นว่า น้องต้องแม่นสมการเส้นตรง การเทียบสัดส่วน ความชัน แม่นสมการของกราฟลอการิทึม สามารถแก้สมการหาแกน x แกน y ได้ และมีสกิลการใช้โปรแกรม Excel หรือโปรแกรมการคำนวณอื่น ๆ เพื่อช่วยในการวาดกราฟและคำนวณสมการค่ะ
5. สูตรทางเคมีฟิสิกส์
อันนี้ก็ไม่ใช่คณิตศาสตร์เสียทีเดียว แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องการคำนวณเรื่องหนึ่งที่ต้องเจอ พวกสมการไฟฟ้าเคมีต่าง ๆ บางครั้งก็ต้องเอามาใช้ในการวิเคราะห์ยาด้วยเครื่องวิเคราะห์ที่ใช้หลักการทางฟิสิกส์ด้วย แล้วก็เรื่องคลื่น วีเท่ากับเอฟแรมดา แรมดาคืออะไร ความถี่ของคลื่นคืออะไร การดูดกลืนคลื่นแสงเป็นแบบไหน ช่วงความยาวคลื่นส่วนใหญ่ที่ใช้ในการวิเคราะห์ทางเภสัชกรรมจะเป็นพวก Infrared, visible light และ UV ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องวิเคราะห์สารอะไร มีส่วนประกอบแบบไหน
อย่างไรก็ตาม การเรียนที่คณะเภสัชอาจจะมีความเมตตากว่าตอนเรียนมัธยมเล็กน้อย (เล็กน้อยแบบเล็กน้อยจริง ๆ) 555555 ตรงที่บางครั้งก็ไม่ต้องท่องจำสูตร แต่ อ. จะให้สูตรสำเร็จมากับข้อสอบ เพราะจุดประสงค์ในการเรียนเรื่องคำนวณตอนนี้ จะไม่ใช่เรียนแค่เพื่อจำสูตร แต่จะเรียนเพื่อให้สามารถนำสูตรสมการต่าง ๆ ไปใช้ได้อย่างถูกต้องในการทำงานจริง โดยที่ในการทำงานจริงบางครั้งเราก็เสิร์ชหาสูตรเอาได้เนอะ ดังนั้น เรื่องการท่องสูตรก็ไม่จำเป็นต้องท่องไก่กาไปซะทั้งหมดหรอก ท่องแค่สูตรพื้นฐาน สูตรที่ใช้เยอะ ส่วนที่เหลือก็เอาให้พอรู้ว่าสูตรนี้คืออะไร เอาไปใช้ยังไงบ้างเท่านั้นพอ
ป.ล. ลิสต์หัวข้อที่แอดเอามา แอดสรุปรวบรวมจากการเรียนในหลักสูตรของมหาลัยที่แอดเรียนเอง ซึ่งตามหลักสูตรจะแยกสาขาตอนปี 5 ดังนั้นนักศึกษาปี 1-4 เลยต้องเรียนเนื้อหาของทั้งสายบริบาลและอุตสาหการไปทั้งคู่ ดังนั้นมันเลยจะแน่นมาก แล้วแอดก็ไม่แน่ใจว่า ม. อื่นที่แยกสายตั้งแต่ตอนปี 1 ที่เขาจะเรียนเฉพาะทางกับสายของตัวเองมากกว่า จะได้เรียนตามที่แอดลิสต์มามั้ย อาจจะมีบางอย่างที่ไม่ได้เรียน หรือบางอย่างที่เรียนเพิ่มเติมมาก็ได้ ดังนั้นน้องก็อย่าเพิ่งปักใจเชื่อว่า ฉันจะต้องเจออันนี้ ๆ แน่ ๆ อ่านไว้พอให้นึกภาพออกพอนะคะ ว่าต่อให้เภสัชจะเน้นทางเคมีและชีวะขนาดไหน แต่ยังไงก็หนีฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ไม่พ้นอยู่ดี 555TT555
Share this: