ความรู้ ม.ปลาย กับการทำยาในคณะเภสัช

สวัสดีค่า หลังจากที่แอดหายไปนานมากกกก (วิ่งหลบหลังเสา) ในที่สุด วันนี้แอดก็กลับมาแล้ว แล้วก็อาจจะหายไปอีก (…) ไม่ว่ากันเนอะ 555555

วันนี้แอดมาพร้อมคอนเทนต์ที่จะทำให้น้องนึกภาพออกว่า ความรู้สมัย ม.ปลาย ที่เราเรียนๆ มา จะมีอะไรที่พอเอาไปใช้ในการเรียนคณะเภสัชบ้างนะ โพสต์นี้จะออกแนววิชาการหน่อย และน่าจะเหมาะกับน้อง ม.5 ขึ้นไป (น้องที่ผ่านการเรียนปริมาณสารสัมพันธ์ กรดเบส สารละลายต่าง ๆ มาแล้ว น่าจะพออ่านรู้เรื่อง) ส่วนน้องที่ยังไม่เรียน ก็อ่านไปพอบันเทิงพอนะคะ ไม่ต้องซีเรียสมาก 5555555

ตัวอย่างยาที่พี่จะยกมาในโพสต์นี้ คือ ยาหยอดตาค่ะ

ยาหยอดตา ยานี้มีประเด็นหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ “บัฟเฟอร์” บัฟเฟอร์คือสารที่มีหน้าที่ช่วยในการรักษา pH ของสาร ไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากเกินไป ซึ่งพวกบัฟเฟอร์พวกนี้เนี่ย เราก็ต้องทำขึ้นมาเอง โดยการผสมกรด กับเกลือของกรด หรือไม่ก็ด่าง กับเกลือของด่าง ก็ว่ากันไป แล้วทีนี้ สัดส่วนของกรดหรือด่างที่เราจะเอามาทำบัฟเฟอร์ ถือว่ามีความสำคัญ น้องลองนึกภาพตาม สมมติเราเอายาที่เป็นกรดมากๆ มาหยอดตา หรือ ยาที่เป็นเบสเกินไป มาหยอดตา อันตรายแน่นอนค่ะ ถึงขั้นตาบอดได้เลยแหละ

ความรู้ตอน ม.5 ว่าด้วยเรื่อง ปริมาณสารสัมพันธ์ สมการเคมีกรดเบส บัฟเฟอร์ สมการ Henderson–Hasselbalch ค่า K Ka Kb ทุกอย่างถูกยกมาใช้หมด เรียกได้ว่าเป็นความรู้ที่ห้ามทิ้งเลยในการเรียนเภสัช

อีกเรื่องที่ควรนำมาพิจารณาไม่แพ้กกัน คือเรื่องของการทำให้ยาอยู่ในรูปของ “สารละลาย” โดยหลักการในการพิจารณาการละลายของยาในน้ำคือ “like dislove like” หรือ สารที่มีขั้ว จะละลายในสารมีขั้ว และ สารที่ไม่มีขั้ว จะละลายในสารที่ไม่มีขั้ว นี่น่าจะเป็นความรู้จาก ม.4 ที่น้องต้องมาพิจารณาโครงสร้างของสาร ค่า EN การสร้างพันธะของสาร พันธะไอออนิก พันธะโคเวเลนต์ พันธะไฮโดรเจน นู่นนี่นั่น

จริงๆ ถ้าจะลงรายละเอียด ยาที่เป็นยาแขวนตะกอน (suspension) ที่เป็นยาหยอดตาก็มี แต่ตะกอนที่ว่านั่นก็ต้องเล็กมาก ๆ ไม่งั้นก็จะเกิดอันตรายกับตาได้เหมือนกัน แต่ตรงนี้ก็ข้ามมันไปก่อนเนอะ

ถึงอย่างนั้น อย่าทิ้งความรู้ตอน ม.6 นะคะ โดยเฉพาะบทเรื่องสารอินทรีย์ เพราะ ยาส่วนใหญ่ที่ นศภ. ต้องเรียนกัน มันก็คือสารอินทรีย์และการเกิดปฏิกิริยาของมันนั่นแหละค่ะ 555555

สรุปว่า ถ้าน้องถามว่า ความรู้เคมี ม. ไหนบ้าง ที่ใช้ในเภสัช แอดก็ตอบได้แต่ว่า ทุก ม. ค่ะ 55555555

สรุปอีกที แลปการเตรียมยา ถือเป็นแลปไฮไลต์อีกอย่างนึงของการเรียนเภสัช น้องหลายคนอยากเข้าเภสัช เพราะอยากมาทำยา แต่เบื้องหลังของแลปทำยาสนุก ๆ ที่ออกมาเป็นเบื้องหน้าให้น้องเห็น เบื้องหลังก็เกิดจากการนำความรู้ที่สะสมมาตั้งแต่ ม.ปลาย จนถึงการเรียนเภสัช มาประยุกต์ใช้ คิดวิเคราะห์ และวางแผนการทำยาเพื่อให้ได้มาซึ่งยาขวดหนึ่ง การทำยาเป็นอีกงานหนึ่งที่ต้องใช้ความรอบคอบ ระมัดระวัง เพราะทุกความผิดพลาด อาจหมายถึงชีวิตของคนไข้ที่รับประทานยาของเราเข้าไป

และสุดท้ายนี้ แอดขอยินดีต้อนรับน้อง ๆ ที่มีใจอยากเข้าเภสัชทุกคนค่ะ 🙂

*รูปที่นำมาประกอบโพสต์นี้ คือรูปยาเตรียมยาหยอดตาที่พวกเราได้ทำกันในห้องแลปจริง ๆ โดยขวดในรูปคือขวดก่อยติดฉลาก จริง ๆ แล้วหลังเตรียมยาเสร็จ ต้องเขียนฉลากยาบอกรายละเอียดของยา ผู้ทำยา วันหมดอายุ ฯลฯ ก่อนนำไปส่ง อ. ทุกครั้ง หรือนำไปให้คนไข้ใช้งานจริง*


Share this:

Posted in การเรียนเภสัช.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *