แตกประเด็นจากข่าว สภาเภสัชจี้บรรจุเภสัชปีละ 1,602 คน

จากข่าวนี้นะครับ >>>>>> สภาเภสัชกรรมเผยไทยขาดแคลนเภสัชกรหนัก จี้รัฐบรรจุราชการปีละ 1,602 คนติดต่อกัน 10 ปี

ข่าวนี้ จริงๆก็ 3 วันมาละ แต่ไม่พูดถึงคงไม่ได้

ถ้ายังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวไม่บรรจุตำแหน่งให้เภสัช เอาจริงๆ ถ้าไล่ย้อนไปจริงๆ มันจะเป็นตามนี้

  1. พยาบาลออกมาโวยเรื่องยังไม่ได้บรรจุอีกกว่า 8000 ตำแหน่ง
  2. สช.(สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ) รายงานสถานการณ์ความต้องการกำลังคนด้านสาธารณสุขในอีก 10 ปีข้างหน้า
  3. ครม. อนุมัติตำแหน่งบรรจุให้แพทย์ ทันตแพทย์ และพยาบาล โดยพยาบาลนั้นให้ตามข้อเรียกร้องคือบรรจุให้ทั้งหมด 8000 กว่าตำแหน่ง แต่ให้เงื่อนไขว่าจะทยอยบรรจุให้หมดใน 10 ปี ส่วนเภสัชนั้นให้ สธ. ทำรายงานมาเสนอใหม่ (ไม่อนุมัตินั่นแหละ)
  4. สภาเภสัชออกมา take action ตามที่เป็นข่าวด้านล่าง

คือพี่ขออธิบายแบบนี้นะ

ระบบสุขภาพมันพัฒนาไปทุกวัน guideline มาตรฐานใหม่ๆมันก็ไปไกลมาก เพราะฉะนั้นถ้าอยากพัฒนาให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ มันก็ต้องใช้เงินเยอะขึ้นเรื่อยๆทุกปี รวมถึงกำลังคนที่ต้องเติมเข้าไปด้วย

นอกจากนี้เรากำลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบแล้ว คนแก่เต็มประเทศ คนป่วยเต็มโรงพยาบาล ความต้องการใช้เงินและกำลังคนก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่รัฐไม่ได้มีรายได้เพิ่มนะครับ การที่คนแก่เยอะ แต่เด็กน้อย หมายความคนทำงานจ่ายภาษีในอนาคตจะลดน้อยลง นอกจากนี้การที่มีผู้สูงอายุมาก การบริโภคก็จะลดลงไปด้วย ทำให้เศรษฐกิจหดตัว ดังนั้นรัฐก็ต้องเลือกว่าจะเอาอะไร จะพัฒนาส่วนไหน หรือจะประหยัดส่วนไหน เพราะประเทศเราไม่ได้ร่ำรวย แถมในอนาคตก็ยังดูหม่นๆ ไม่รู้จะเอาตัวรอดยังไงดีด้วย (ที่ต้องมาดัน Thailand 4.0 กันก็เพราะว่าถ้าไม่ทำอะไรแล้ว aging มา เราตายแน่ๆ ได้แต่สวดมนต์ให้ท่องเที่ยวค้ำจุนประเทศอย่างเดียวเลย)

ปัญหาคือ “ต่างคนต่างไม่ยอม” ยังไม่ต้องมาถึงเรื่องตำแหน่งงานในสาธารณสุขหรอกครับ มาดูกระทรวงที่ได้งบต้นๆของประเทศทุกปีอย่างกระทรวงศึกษาธิการ ทุกวันนี้นักเรียนหายไปแล้ว 40% เมื่อเทียบกับแต่ก่อน แต่ว่าก็ยังยื้อเรื่องตำแหน่งบรรจุครูรวมถึงงบต่างๆเอาไว้ ทำให้ครูลดลงไปเพียง 10-20% เท่านั้น และการใช้งบประมาณก็ลดลงช้ากว่าที่ควรจะเป็น
แต่ว่า เราก็อาจพูดได้ว่า เด็กลดแต่ไม่จำเป็นต้องลดงบประมาณนิจริงไหม? ก็เอาเงินต่อหัวที่สูงขึ้น ครูต่อนักเรียนที่มากขึ้น มาทำให้เด็กมีคุณภาพมากขึ้นสิ โอเค ตอบแบบนี้อาจจะได้ แต่ที่ผ่านมาผลการประเมินคุณภาพก็ชี้ชัดไปในทางเดียวกันว่า “แย่ลง” หรือไม่ก็ “ดีขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย” (แต่ประเทศอื่นพัฒนาไปไวกว่าเรามาก ทำให้อันดับเราร่วง)

หรือมองกระทรวงอย่างกลาโหม ที่ถึงแม้ว่าจะใช้งบเมื่อคิดเป็น %GDP ของประเทศแล้วไม่ได้สูงมากเหมือนกระทรวงอื่นๆ แต่งบต่างๆก็ดูจะเป็นความลับ เปิดเผยรายละเอียดอะไรไม่ได้มากนัก เนื่องด้วยเหตุผลทางความมั่นคง แต่ก็อดสงสัยไม่ได้จริงๆว่า เราจะเป็นต้องใช้งบเยอะขนาดนี้ไหม โดยเฉพาะในส่วนของทหารระดับสัญญาบัตร ที่มีตำแหน่งเยอะมาก พูดกันตามตรง เรามีนายพลเยอะกว่ากองทัพ NATO ทั้งกองทัพซะอีก

เมื่อไม่มีใครยอมใคร มันก็เลยกลายเป็นว่า ใครที่ไม่ยอมและลุกขึ้นมาเรียกร้องก็ได้ไป (แต่ฝั่งไหนมีอำนาจในมืออยู่แล้วก็สบายหน่อย) แต่อย่าลืมว่าเงินมันมีจำกัด มีคนได้ก็ต้องมีคนเสีย คนไม่เรียกร้องก็กลายเป็นว่าไม่ปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองไปโดยปริยาย

พี่ขอแถมตัวเลขที่ สช. เคยรายงานเรื่องสถานการณ์กำลังคนด้านสุขภาพในอีก 10 ปีข้างหน้าไว้นะครับ (บอกไว้ก่อนว่า ในทางปฏิบัติ ไม่น่าจะทำได้ตามรายงานครับ)

ปริมาณกำลังคนด้านสุขภาพในปัจจุบัน

– แพทย์ มีจำนวน 50,573 คน (1 ต่อ 1,292 คน)
– พยาบาล มีจำนวน 158,317 คน (1 ต่อ 419 คน)
– ทันตแพทย์ มีจำนวน 11,575 คน (1 ต่อ 5,643 คน)
– ทันตาภิบาล มีจำนวน 6,818 คน (1 ต่อ 9,581 คน)
– เภสัชกร มีจำนวน 26,187 คน (1 ต่อ 2,494 คน)
– เทคนิคการแพทย์ มีจำนวน 15,200 คน (1 ต่อ 4,298 คน)
– นักกายภาพบำบัด มีจำนวน 10,065 คน (1 ต่อ 6,490 คน)
– สัตวแพทย์ มีจำนวน 8,000 คน (1 ต่อ 8,165 คน)
– นักวิชาการสาธารณสุข มีจำนวน 27,035 คน (1 ต่อ 2,416 คน)
– เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน มีจำนวน 27,006 คน (1 ต่อ 2,419 คน)
– แพทย์แผนไทย/ประยุกต์ มีจำนวน 30,371 คน (1 ต่อ 2,151 คน)

ความต้องการกำลังคนในปี 2569

แพทย์ 62779 คน
พยาบาล 186992 – 193048 คน
ทันตแพทย์ 17415(18675) คน
เภสัชกร 39913 คน
เทคนิคการแพทย์ 23942 คน
กายภาพบำบัด 11665 คน
สัตวแพทย์ 10252 คน
สาธารณสุข 128729 – 142997 คน
แพทย์แผนไทย/ประยุกต์ 19080 คน

สถานการณ์การผลิตกำลังคนด้านสุขภาพ

– แพทย์ มีการผลิต 21 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 3,121 คน
– พยาบาล มีการผลิต 86 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 11,000 คน
– ทันตแพทย์ มีการผลิต 13 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 616 คน และจะเพิ่มเป็น 826 คน
– ทันตาภิบาล มีการผลิต 7 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 400 คน
– เภสัชกร มีการผลิต 19 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 2,000 คน
– เทคนิคการแพทย์ มีการผลิต 12 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 911 คน
– กายภาพบำบัด มีการผลิต 16 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 850 – 900 คน
– สัตวแพทย์ มีการผลิต 9 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 650 คน
– สาธารณสุข มีการผลิต 69 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 10,988 – 14,197 คน
– แพทย์แผนไทย/ประยุกต์ มีการผลิต 27 สถาบัน ผลิตได้ปีละ 1,080 คน


Share this:

Posted in ข้อมูล/ข่าวแวดวงเภสัช.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *