เรียนเภสัชที่ ไทย vs นอก (ป.ตรี ป.โท ป.เอก) กับการเป็นเภสัชกรขึ้นทะเบียนที่ไทย

ขอบอกก่อนว่าบทความนี้เป็นบทความที่ไม่เคยอยู่ใน list ที่พี่จะเขียนเลย แต่ช่วงนี้เห็นน้องมีหลายคนถามมาเกี่ยวกับการเรียนเภสัชที่นอก vs ไทย กับการมาขึ้นทะเบียนเป็นเภสัชกรที่ไทยกันเยอะ และเห็นว่าน้องๆยังเข้าใจคลาดเคลื่อนไปในหลายๆประเด็น ซึ่งบอกตามตรงว่า พี่คิดว่าน้องจะเข้าใจกันหมดแล้วซะอีก (คือถ้ารู้ต้นสายปลายเหตุ น้องจะเข้าใจว่าทำไมมันถึงเป็นแบบนั้น แต่ถ้าน้องไม่เข้าใจ เวลาพี่บอกไปว่ามันต้องเป็นแบบนี้ น้องก็จะงงๆว่า ทำไมเป็นแบบนี้ เป็นแบบนี้ไม่ได้หรอ) แต่เราไม่รู้ เราก็เลยมาถาม  นั่นแหละถูกต้องแล้ว ผิดที่พี่ต่างหาก ที่เข้าใจว่าทุกคนเข้าใจหมดแล้ว เลยไม่เคยได้อธิบายเรื่องนี้ก่อน

การจะเข้าใจเรื่องนี้ไม่ยากครับ มันอยู่ 2 เรื่องหลักๆที่น้องต้องเข้าใจก่อน นั่นคือ ระบบการศึกษา และ ระบบกฏหมาย

การศึกษา

อย่างแรก น้องต้องเข้าใจก่อนว่า จุดประสงค์ของการเรียน ป.ตรี ป.โท และ ป.เอก นั้นไม่เหมือนกัน

ป.ตรี เราเรียนองค์ความรู้ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันเพื่อ นำความรู้ที่เรียน ไปใช้ในการปฏิบัติงาน

ป.โท เราเรียนไปเพื่อ ต่อยอดองค์ความรู้เดิมที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน

ป.เอก เราเรียนไปเพื่อ สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ในศาสตร์นั้น

จะเห็นได้ว่า การเรียน ป.ตรีนั้นเรียนไปเพื่อปฏิบัติงานและประกอบวิชาชีพ แต่ ป.โท+เอก จะหนักไปทางการวิจัยและค้นคว้าซะมากกว่า ดังนั้นการสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเพื่อประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม จึงกำหนดให้ต้องจบ ป.ตรี เภสัชศาสตรบัณฑิตเท่านั้น จึงมีสิทธิสอบได้ ไม่เกี่ยวกับการจบ ป.โท หรือ ป.เอก แต่อย่างใดนะครับ

ทีนี้มันก็มีคำถามอีกว่าถ้าไม่ได้จบเภสัช ป.ตรี แต่อยากเรียนต่อโท หรือเอกทางเภสัชได้ไหม คำตอบคือ “ได้ครับ”

อย่างที่บอกไปว่าการเรียน ป.โท กับ ป.เอก มันจะโฟกัสไปที่การวิจัยและค้นคว้า ดังนั้น การเรียนจึงค่อนข้างเปิดกว้างให้แก่ผู้ที่สนใจจะศึกษาในศาสตร์นั้นๆ การกำหนดวุฒิ ป.ตรี ที่มาสมัคร ป.โท ป.เอก จึงไม่ได้ fix เรื่องสาขาวิชามากนัก แต่ก็มีกำหนดไว้บ้างเหมือนกัน ซึ่งตรงนี้น้องต้องศึกษาให้ดีว่า ถ้าจะต่อโท หรือเอก สาขานี้ เค้ากำหนดไว้ว่าจบ ป.ตรีสาขาไหนมาบ้างถึงต่อได้ (ซึ่งมักจะกำหนดไว้กว้างมาก) ถ้าของเภสัช ส่วนมากถ้าจบมาทางวิทยาศาสตร์หรือวิทย์-สุขภาพก็ต่อได้เกือบหมด หรือไม่ได้กำหนดสาขาที่จบของ ป.ตรี เลยก็มี ซึ่งตรงนี้ตรงศึกษาดีๆว่าเค้ามีข้อกำหนดไว้อย่างไรบ้าง

ทีนี้ ต้องบอกไว้ก่อนว่า การเรียน โท-เอก ในคณะเภสัชศาสตร์ ไม่ใช่ว่าจะได้วุฒิ โท-เอก ทางเภสัชศาสตร์ทุกสาขานะครับ หลายๆสาขาได้วุฒิเป็นวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต-ดุษฎีบัณฑิต ซึ่งตรงนี้ บางคนก็ไม่ซีเรียส ขอให้ได้เรียนในสิ่งที่สนใจก็พอ แต่บางคนโดยเฉพาะข้าราชการที่ต้องนำวุฒิไปปรับฐานเงินเดือน ก็ต้องพิจารณาตรงนี้ด้วย (แต่การได้วุฒิทางเภสัชใน ป.โท-ป.เอก ก็ไม่เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมอยู่ดีนะครับ ตามที่อธิบายไว้แล้วก่อนหน้านี้)

สำหรับสาขาต่างๆของ ป.โท-เอกนั้น มีเยอะมากครับ ซอยกันยิบย่อยเต็มไปหมด และแต่ละมหาวิทยาลัยก็เปิดสอนไม่เหมือนกัน ดังนั้นน้องต้องรู้ว่าน้องสนใจด้านไหน และมหาวิทยาลัยไหนมีสาขาที่น้องสนใจเปิดสอน ถ้าเป็นไปได้ น้องควรรู้ด้วยว่าอาจารย์คนไหนทำเรื่องอะไรอยู่ และน้องอยากทำเรื่องนั้นเหมือนอาจารย์คนนั้นไหม เพราะน้องก็มักจะได้ทำเรื่องแนวๆเดียวกับที่อาจารย์คนนั้นกำลังทำอยู่นั่นแหละ (จะว่าไปมันก็คล้ายๆระบบฝากตัวเป็นศิษย์นะ)

การศึกษาต่อ นอกจากจะต่อไปทาง ป.โท ป.เอก แล้ว ซึ่งเน้นไปทางด้านงานวิจัยแล้ว ยังมีการศึกษาอีกแบบ ซึ่งจะเน้นไปทางด้านการสร้างทักษะเพื่อความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้วยนะครับ การเรียนแบบนี้ ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็อย่างเช่น หมอเรียนต่อหมอเฉพาะทาง เป็นต้น ส่วนของเภสัชก็มีเหมือนกัน อย่างเช่น วิทยาลัยเภสัชบำบัด (สอนเภสัชเฉพาะทางด้านเภสัชบำบัด) และ วิทยาลัยคุ้มครองผู้บริโภค  (สอนเภสัชเฉพาะทางด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ) แต่ว่าการเรียนเพื่อเป็นเภสัชเฉพาะทางในไทยยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไรครับ

กฎหมาย

วิชาชีพเภสัชกรรมเป็นวิชาชีพที่ดูแลเกี่ยวกับยาตั้งแต่ผลิตไปจนถึงนำยาให้ผู้ป่วย ดังนั้นจึงเป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคน เพราะฉะนั้นแต่ละประเทศจึงมีกฎหมายมาควบคุมค่อนข้างเข้มงวด ซึ่งกฎหมายของแต่ละประเทศนั้นไม่เหมือนกัน แต่โดยส่วนมากแล้ว จะมีการตั้งองค์กรวิชาชีพและออกกฎหมายมาควบคุมดูแลผู้ประกอบวิชาชีพฯ โดยในรายละเอียดจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเทศนั้นๆ

เพราะฉะนั้น การควบคุมมันจะเป็น individual นะครับ เป็นปัจเจก คือประเทศใคร ประเทศมัน กฎหมายของประเทศไหน ก็ของประเทศนั้น เภสัชกรไม่มี licensed พี่ worldwide ทั่วโลกแบบเป็นเภสัชที่ประเทศนี้ แล้วจะไปเป็นเภสัชกรอีกประเทศได้เลย แบบนี้ไม่มีนะครับ ส่วนที่ว่าเปิดอาเซียนแล้ว จะเป็นเภสัชกรในประเทศเพื่อนบ้านนี่ ขอบอกว่า “ยังไม่ได้นะครับ” ในส่วนของเภสัชกรยังไม่มีกฎหมายรองรับและความร่วมมือในระดับนั้น ซึ่งเอาตรงๆมันก็เป็นเรื่องอนาคตครับ แล้วเป็นอนาคตที่ไกลมากๆด้วย เพราะตอนนี้ความร่วมมือยังอยู่แค่ในระดับการค้าและการเดินทางเท่านั้น และประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้จริงใจต่อกันขนาดนั้น เอาเป็นว่าแค่ในระดับการค้า ก็มีแค่กลุ่ม CLMV (เขมร ลาว พม่า เวียดนาม บวกไทย) เนี่ยแหละ ที่ค้าขายกันสนุก เอาละ เรื่องอาเซียนพอแค่นี้ก่อน เดี๋ยวออกทะเล

ก็อย่างที่บอกไปว่าเรื่องการควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมเนี่ย มันเป็นเรื่องของประเทศใคร ประเทศมัน ดังนั้นหากน้องอยากไปเป็นเภสัชกรที่ต่างประเทศ น้องก็ต้องทำตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับของเค้า ซึ่งก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ อาจจะต้องสอบภาษา เก็บชั่วโมงฝึกงาน หรือแม้แต่เรียนเพิ่มเติม จนมีคุณสมบัติพอที่จะสามารถสอบเพื่อนขึ้นทะเบียนเภสัชกรที่ประเทศนั้นๆได้

ทีนี้ถ้าน้องจบเภสัชจากนอกแล้วอยากมาเป็นเภสัชกรที่ไทยล่ะ

จริงๆ พี่เคยเขียนเรื่องนี้เอาไว้แล้วในนี้ >>>> เรียนเภสัชต่างประเทศ แล้วจะมาเป็นเภสัชกรที่ไทยได้ไหม แต่ถ้าใครขี้เกียจตามไปอ่าน พี่จะสรุปสั้นๆให้ว่า

  • จบต่างประเทศก็สามารถมาสอบขึ้นทะเบียนเป็นเภสัชกรที่ไทยได้ โดยที่ผ่านๆมาคนที่จบมาจากต่างประเทศมักจะต้อง เรียนเพิ่มเติมทั้งในรายวิชาศึกษาทั่วไป รายวิชาชีพและวิชาเฉพาะสาขา และมักจะต้องฝึกงานใหม่หมดประมาณ 2,000 ชั่วโมง ซึ่งมักกินเวลาประมาณ 2-3 ปี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับหลักสูตรและสถาบันที่น้องจบมาด้วยว่า มีความคล้ายคลึงกับหลักสูตรที่ไทยขนาดไหน หากหลักสูตรเหมือนกันมาก ก็แทบไม่ต้องเรียนเพิ่มเติมเลย อาจมีเพียงแค่ฝึกงานเพิ่มเติมในประเทศเท่านั้น
  • จากประกาศสภาเภสัชกรรมที่ 43/2558 ระบุว่า “สภาเภสัชกรรมจะให้การรับรองปริญญาของผู้สำเร็จการศึกษาเภสัชศาสตร์จากสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ เฉพาะหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตที่มีมาตรฐานเทียบเท่าหลักสูตร 6 ปี ของประเทศไทย (นับรวม pre-pharmacy และฝึกงาน) โดยให้มีผลบังคับใช้สำหรับผู้ที่เริ่มไปศึกษาเภสัชศาสตรบัณฑิตที่ต่างประเทศตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป” หรือสรุปง่ายๆก็คือ ต่อไปนี้ จะรับรองให้แต่คนจบหลักสูตร 6 ปี ของเมืองนอกเท่านั้น

เพราะฉะนั้นหากน้องต้องการไปเรียนเภสัชศาสตร์ (เฉพาะ ป.ตรีนะ ป.โท ป.เอก ไม่เกี่ยว อย่าสับสน) แล้วต้องการกลับมาเป็นเภสัชกรที่ไทย น้องควรถามสภาเภสัชให้ชัวร์ๆก่อนว่า น้องจะไปเรียนที่มหาวิทยาลัยนี้ หลักสูตรเป็นแบบนี้ แล้วอยากกลับมาเป็นเภสัชกรที่ไทยได้ไหม ถ้าได้ ต้องเรียนหรือฝึกงานเพิ่มเติมตรงส่วนไหนบ้าง เพราะจริงๆแล้ว สภาเภสัชกรรม เค้ามี list มหาวิทยาลัยต่างประเทศที่เค้าเคยรับรองปริญญาไว้อยู่แล้ว ถ้าหลักสูตรของมหาวิทยาลัยนั้นยังไม่ได้เปลี่ยน และสภาเภสัชกรรมยังไม่ได้เปลี่ยนกฎหรือนโยบายใดๆ ก็สามารถรู้ได้ทันทีเลยว่า สามารถกลับมาสอบเป็นเพื่อเป็นเภสัชกรที่ไทยได้ไหม แล้วต้องเรียนหรือฝึกงานเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง โดยอ้างอิงจากคนก่อนๆที่จบจากมหาวิทยาลัยนั้นมาก่อนหน้านี้ครับ

 

 

 

 

 


Share this:

Posted in บทความ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *