หลังจากได้พักผ่อนกันอย่างเต็มที่แล้ว ก็เตรียมตัวสู่ปี 3 กัน สำหรับปี 3 นั้น เรายังเหลือวิชาคณะแพทย์อีก 2 ตัวที่ต้องเรียน ที่เหลือจะเป็นวิชาของคณะเภสัช จากหัวข้อที่พี่ใช้คำว่า “กลุ่มวิชาชีพบังคับ” เพราะว่าไม่ว่าจะเรียนสาขาไหน ก็ต้องเรียนวิชานี้เหมือนกัน เนื่องจากมันเป็นพื้นฐานที่เภสัชกรต้องรู้และสามารถปฏิบัติได้ไม่ว่าจะจบจากสาขาไหนก็ตามนั่นเองครับ
ในส่วนของปี 3 นี้ พี่ว่าเนื้อหาไม่ได้เยอะเท่าปี 2 แต่จะเพิ่มดีกรีของความยากขึ้นมา ต้องใช้ความเข้าใจสูงขึ้น มีจินตนาการมากขึ้น ไม่ได้ท่องแบบตะบี้ตะบันท่องเหมือนตอนปี 2
การเรียน ปี 3
พยาธิวิทยาสำหรับนักศึกษาเภสัชศาสตร์ – Pathology for Pharmaceutical Science Students (ระดับความยาก 4/5, ระดับความเยอะ 4/5)
วิชาคณะแพทย์ตัวเกือบสุดท้ายครับ
เห็นพยาธิวิทยา ไม่ได้เรียนเกี่ยวกับพยาธินะครับ พยาธิอันนั้นมัน Parasite พยาธิตัวนี้คือพยาธิสภาพครับ
เราเรียนไปแล้วในวิชา Physiology ว่าในสภาวะปกติ ร่างกายเราทำงานกันยังไง วิชานี้จะตรงกันข้ามครับ คือถ้าร่างกายเราผิดปกติ มันจะเป็นยังไง ก็จะเรียนตั้งแต่กลไกการเกิดโรคในระดับเซลล์ ตามด้วยเนื้อเยื่ออวัยวะหรือกลุ่มอวัยวะ จนถึงการทำงานของระบบต่าง ๆ เมื่อเกิดพยาธิสภาพครับ
เภสัชวิทยา 1 สำหรับนักศึกษาเภสัชศาสตร์ – Pharmacology I for Pharmaceutical Science Students (ระดับความยาก 4/5, ระดับความเยอะ 4/5)
จริงๆ วิชานี้ ควรจะเป็นวิชาคณะเภสัช
แต่มันดันเป็นวิชาคณะแพทย์ (ตัวสุดท้าย)
เอาจริงๆพี่ก็ไม่รู้ทำไมว่าวิชาอย่าง Pharmacology ที่ มข. ถึงกลายเป็นวิชาคณะแพทย์ไปได้ พี่เข้าใจว่าหลายมหาวิทยาลัย วิชานี้เป็นวิชาของคณะเภสัช (แต่หลายๆแห่งก็อยู่ในคณะแพทย์เหมือนกัน) เข้าใจว่า อาจเป็นเพราะจะได้สะดวกในการบริหารจัดการ เพราะที่ มข. นักศึกษาในสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ จะต้องเรียนพื้นฐานวิชาคณะแพทย์เหมือนกัน แต่จะต่างกันตรงจำนวนหน่วยกิตที่เรียนซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละคณะ การให้ภาควิชา Pharmacology อยู่ในความรับผิดชอบของคณะแพทย์ไปเลยจึงน่าจะง่ายและสะดวกในการบริหารจัดการ แต่การที่ภาควิชา Pharmacology อยู่ในคณะแพทย์นั้น ก็ทำให้เนื้อหาที่ได้เรียนจริงๆ ถูกวิจารณ์ว่า ไม่ใช่ Pure Pharmacology แต่เป็นลูกครึ่งระหว่าง Pharmacology กับ Pharmacotherapy ในขณะที่อาจารย์ที่เป็น Pure Pharmacology แบบเภสัชจริงๆ ต้องไปอยู่ในภาควิชา Toxicology แทน อย่างไรก็ดีวิชา Pharmacology ถือเป็นหัวใจของเภสัชศาสตร์ เพราะฉะนั้นคณะเภสัชศาสตร์จึงได้เรียนวิชานี้เยอะที่สุดในกลุ่มคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยต้องเรียนถึง 8 หน่วยกิต (แบ่งเป็น I กับ II ภาคละ 4 หน่วย) ถ้าน้องเข้าใจวิชานี้เป็นอย่างดี จะทำให้น้องต่อยอดไปวิชา Pharmacotherapy และ Biopharmaceutic ได้ง่ายขึ้นมาก
ในส่วนของวิชา Pharmacology หลักๆเลยจะเรียนเกี่ยวกับกลไกการออกฤทธิ์ของยา สำหรับวิชา Pharmacology I นี้ เราจะเรียนความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการบริหารยา หลักการเกี่ยวกับเภสัชจลนศาสตร์ การออกฤทธิ์ของยาในเชิงเภสัชพลศาสตร์ กลไกการออกฤทธิ์ของยาในระดับชีวโมเลกุล กลไกการออกฤทธิ์ที่สัมพันธ์กับพยาธิสรีรวิทยาของโรค ประโยชน์ทางคลินิก และอาการไม่พึง ประสงค์ของยา โดยจะลงรายละเอียดตามระบบในร่างกายที่ยานั้นไปออกฤทธิ์ ได้แก่ ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบต่อม ไร้ท่อ ระบบสืบพันธุ์ระบบเลือด ระบบทางเดินอาหาร และระบบทางเดินหายใจ
ถ้าใครไม่รู้จักคำว่าเภสัชพลศาสตร์เดี๋ยว พี่อธิบายคำนี้ตอนพี่ในวิชา Biopharmaceutics นะครับ
วิชานี้มีแลบด้วยครับ ทำแลบครั้งนึงก็ประมาณ 3 ชั่วโมง แลบส่วนใหญ่จะเป็นการทดลองในหนูครับ พวกทดสอบกลไกการออกฤทธิ์ของยา อย่างเอาหนูมาโหนบาร์ทดสอบกล้ามเนื้อ (พี่จำไม่ได้ว่าทดสอบ effect อะไรของยานะ แต่หนูกล้ามเนื้อหนูจะแข็งจนปล่อยบาร์ออกมาไม่ได้เลย) จับหนูว่ายน้ำ ฉีดยาแก้อักเสบแล้วเอาหนูไปวางบนเตา (พี่จำได้เลยว่าหนูที่ไม่ฉีดยาจะเด้งโดดหนีออกมา แต่หนูที่ฉีดยา จะยืนอยู่จนขาพองเลยครับ น่าสงสารมาก) แล้วน้องต้องจับหนูฉีดยา ไม่ก็กรอกยาเข้าปากหนู ไม่ก็ดูฉีดยากระตุ้น parasympathetic แล้วเอาเข็มดูดเสมหะจากคอหนู สงสารก็สงสารนะครับ หนูที่ทดสอบจะมี 2 ประเภทคือหนู mouse กับหนู rat หนู mouse จะเป็นตัวเล็กๆ วิ่งเร็ว ซนมาก และชอบกัดมากๆ ใครไม่ใส่ถุงมือโดนเฉาะนิ้วแน่นอน ส่วนหนู rat จะเป็นหนูตัวใหญ่ๆ เรียบร้อย อยู่ นิ่งๆ ไม่ค่อยกัด แต่กัดทีถุงมือขาด ต้องใส่ถุงมือหนาๆหน่อย อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าหนูพวกนี้จะรอดตายจากการทดลองหรือเปล่า ชะตากรรมที่มันต้องเผชิญเหมือนกันหมด คือมันต้องโดนฆ่าด้วยการรมแก๊สพิษ เรียกได้ว่าตอนเรียนวิชานี้ ทำบาปทำกรรมกันไปพอสมควรเลย เพราะฉะนั้น ตั้งใจเรียนนะครับ สัตว์ทดลองตายตั้งมากมายเพื่อให้น้องศึกษาหาความรู้ น้องก็ต้องเอาความรู้ที่ได้ไปช่วยเหลือคนอื่นต่อไป อย่าให้พวกมันต้องตายโดยเปล่าประโยชน์
การทดลองในหนูจะทดลองคล้ายๆในคลิปนี้ครับ
นอกจากจะมีแลบที่ทำลองในหนูแล้ว วิชานี้ยังมีแลบแห้ง โดยอาจารย์จะให้ case study มา เป็น problem based learning เหมือนวิชา Microbiology หน้าที่เราคือเตรียมข้อมูลให้พร้อมที่สุด จากนั้น brainstorm กับเพื่อนในกลุ่ม แล้วเขียนแสดงวิธีคิด วิธีหาข้อมูลขึ้นบนกระดานส่งอาจารย์ครับ
การบริบาลทางเภสัชกรรม – Pharmaceutical Care (ระดับความยาก 1/5, ระดับความเยอะ 2.5/5)
วิชานี้เรียนเกี่ยวกับ บทบาทหน้าที่ของเภสัชกรในการให้การบริบาลทางเภสัชกรรม กระบวนการทางการบริบาลทางเภสัชกรรม ทักษะที่จำเป็นสำหรับการให้การบริบาลทางเภสัชกรรม การบันทึกและการดึงข้อมูลจากบันทึกทางการแพทย์เพื่อการบริบาลทางเภสัชกรรม กิจกรรมในการให้การบริบาลทางเภสัชกรรม ซึ่งถ้าน้องเรียนวิชานี้จบ น้องจะเริ่มมองภาพออกแล้วว่า แนวทาง Pharm care มันใช่สำหรับน้องหรือเปล่า พี่เป็นคนนึงที่ตัดสินใจไม่เรียน Pharm care เพราะวิชานี้เลยครับ สำหรับพี่ วิชานี้ไม่ยาก แต่เป็นวิชาที่จุกจิกและน่าเบื่อมากครับ
การวิเคราะห์ยา 2 – Pharmaceutical Analysis II (ระดับความยาก 3/5, ระดับความเยอะ 3/5)
ตอนปี 2 น้องเรียน Pharmaceutical Analysis I ไปแล้ว คราวนี้เราจะมาเรียนภาคต่อของมัน จำได้ไหมครับว่า Pharmaceutical Analysis I จะเรียนเกี่ยวกับการวิเคราะห์และเทคนิคการควบคุมคุณภาพเภสัชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์แบบ conventional โดยเน้นการไทเทรทเป็นหลัก ใน Pharmaceutical Analysis II นี้ เราจะเรียนวิธีวิเคราะห์และเทคนิคการควบคุมคุณภาพเภสัชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์โดยใช้เครื่องมือที่เป็นเทคโนโลยีชั้นสูงครับ อย่างเช่น เครื่องสเปกโตโฟโตมิเตอร์ชนิดแสงอัลตราไวโอเลต (UV-Spectrophotometry) ชนิดแสงอินฟาเรด (IR) และชนิดอะตอมมิกแอพซอบชั่น (AA) เครื่องสเปกโตฟลูโอโรมิเตอร์ (FLD) เครื่องอิเล็กโทรฟอรีซิส (Electrophoresis) เครื่องโพลาริมิเตอร์ (Polarimeter) เครื่องรีแฟรคโตมิเตอร์ (Reflectometer) เครื่องทินเลเยอร์โครมาโทรกราฟี (HPTLC) เครื่องก๊าซโครมาโทรกราฟี (GC) เครื่องไฮเพอร์ฟอร์มานซ์ลิควิทรดโครมาโทรกราฟี (HPLC)
วิชานี้มีแลบเช่นเคยครับ โดยแลบวิชานี้จะเป็นการทดลองใช้พวกเครื่องมือที่เราเรียนไปในชั่วโมงเลคเชอร์ครับ
เภสัชการ 2 – Pharmaceutics II (ระดับความยาก 3/5, ระดับความเยอะ 3/5)
ภาคต่อของเภสัชการ 1 แต่คราวนี้เราจะมาเรียนตำรับเกี่ยวกับตำรับยาน้ำแขวนตะกอน emulsion ยาเตรียมสำหรับผิวหนัง ยาเหน็บ หากให้พูดรวมๆก็คือในวิชานี้จะเรียนเกี่ยวกับตำรับยาที่เป็นยาน้ำแขวนตะกอนกับพวก semisolid dosage form เป็นหลัก พวกครีมเอย โลชันเอย เราก็จะเรียนกันวิชานี้แหละครับ แต่การที่เราจะเรียนพวกนี้ได้ เราต้องมีความรู้พื้นฐานเรื่อง พอลีเมอร์ในทางเภสัชกรรม วิทยาการการไหล คอลลอยด์ และปรากฏการณ์ที่ผิวประจัน ซะก่อน เพราะฉะนั้นเราก็จะได้ทฤษฎีพวกนี้ในวิชานี้ด้วย ดังนั้นวิชานี้ ได้ใช้ฟิสิกส์นะครับ กลศาสตร์การไหล มาแน่นอน แต่ไม่ได้มาเยอะแยะจนน่ากลัว หรือคำนวณวุ่นวายจนปวดหัวครับ
ปฏิบัติการเภสัชการ 2 – Pharmaceutics Laboratory II (ระดับความยาก 2/5, ระดับความเยอะ 2/5)
วิชานี้ก็คือแลบของวิชาเภสัชการ 2 นั่นเองครับ ในแลบนี้เราก็ทดลองเกี่ยวกับพอลีเมอร์ในทางเภสัชกรรม วิทยาการการไหล คอลลอยด์ ปรากฏการณ์ที่ผิวประจัน จากนั้นเราก็จะทดลองการตั้งตำรับและประเมินตำรับยาน้ำแขวนตะกอน ยาอิมัลชัน ยาเตรียมสำหรับใช้ทางผิวหนัง และยาเหน็บครับ
เภสัชเวท – Pharmacognosy (ระดับความยาก ?/5, ระดับความเยอะ 4.5/5)
จำได้ไหมครับ ในตอนที่ 3 พี่บอกว่า พี่ไปอ่านคำอธิบายรายวิชาของวิชานี้ แล้วพี่ต้องร้อง เห้ย!!! คือมันเป็นแบบนี้ครับ
สมัยพี่ตอนพี่เรียน 5 ปี วิชาของภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์จะมีอยู่ 2 วิชา คือ Source of Medicine ซึ่งเป็นวิชาท่องพืชแบบสะบั้นหั่นแหลก ท่องหูดับตับไหม้ กับ Natural Health Product ซึ่งจะเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ได้จากธรรมชาติ ทั้งยา อาหารเสริม และเวชสำอาง แต่ส่วนใหญ่แล้วที่อื่นเค้าจะเรียน Pharmacognosy I II และ III โดยจะเรียนเกี่ยวกับโครงสร้างของพืช จำพืชชนิดต่างๆ และกลไกในระดับเซลล์ของพืช อย่างการสังเคราะห์สาร อะไรพวกนี้ ทีนี้ตอนเป็นหลักสูตร 5 ปี ก็มีการถกเถียงกันอยู่ว่าวิชา Natural Health Product ควรเปลี่ยนเป็นวิชา Pharmacognosy แล้วเรียนอะไรที่ Source of Medicine ยังไม่ได้เรียน อย่าง Pathway การสังเคราะห์สารของพืช แต่พอพี่มาเปิดหลักสูตร 6 ปีนี้ขึ้นมาดู ทำไมมันดูเหมือนว่าวิชา Source of Medicine เปลี่ยนชื่อวิชาเป็น Pharmaceutical Biology แล้ว Natural Health Product เปลี่ยนชื่อเป็น Pharmacognosy โดยที่เนื้อหาไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก (แต่ที่เปลี่ยนแปลงแน่ๆคือ Pharmacognosy มีเพิ่มเรื่องการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชเข้ามา)
เอาเป็นว่า พี่ไม่รู้แล้วกันครับ ว่าที่มาที่ไปมันเป็นยังไง แล้วมันเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในรายวิชานี้มากน้อยขนาดไหน แต่ที่อ่านคร่าวๆ น่าจะเรียนเยอะกว่าสมัยพี่เรียน สำหรับคำอธิบายรายวิชานี้มีดังนี้ครับ
“ยาหรือเภสัชภัณฑ์ที่ได้จากธรรมชาติทั้งพืช สัตว์ จุลชีพ แร่ธาตุ สารองค์ประกอบที่เป็นยาซึ่งได้จาก ธรรมชาติ เคมีของสารประกอบเหล่านั้น ผลิตภัณฑ์ยาจากธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง โภชนภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการบำบัดทางเลือกอื่นๆ และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช”
ปล. วิชานี้มีชั่วโมงปฏิบัติการด้วย 3 ชั่วโมงนะครับ
เภสัชวิทยา 2 สำหรับนักศึกษาเภสัชศาสตร์ – Pharmacology II for Pharmaceutical Science Students (ระดับความยาก 4/5, ระดับความเยอะ 4/5)
การเรียนของวิชา Pharmacology 2 จะเหมือนกับ Pharmacology 1 เลยครับ การทำแลบก็จะเหมือนๆกัน คือมีทั้งทดลองในหนู กับทำ Case study ในส่วนของวิชา Pharmacology 2 เราจะเรียนต่อจากวิชา Pharmacology 1 โดยในวิชา Pharmacology 2 เราจะเรียนกลไกการออกฤทธิ์ที่สัมพันธ์กับพยาธิสรีรวิทยาของโรค ประโยชน์ทางคลินิก และอาการไม่พึงประสงค์ของยาของกลุ่มยาเคมีบำบัด ยาระงับปวด-ลดไข้ยาแก้อักเสบ ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทกลาง ยาที่ออกฤทธิ์ปรับเปลี่ยนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เภสัชพันธุศาสตร์ และอันตรกิริยา ระหว่างยาและทางเลือกในการรักษาโรคโดยไม่ใช้ยาแผนปัจจุบันครับ
ชีวเภสัชกรรม – Biopharmaceutic (ระดับความยาก 5/5, ระดับความเยอะ 3/5)
พี่เคยติดว่าจะอธิบายเภสัชพลศาสตร์ตอนพี่อธิบายวิชานี้ใช่ไหมครับ
วิชานี้หลักๆเราจะเรียนอยู่ 2 เรื่อง คือ เภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetics) กับ เภสัชพลศาสตร์ (Pharmacodynamics) อธิบายให้เข้าใจง่ายๆก็คือ
- เภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetics) คือเป็นศาสตร์ที่ศึกษาว่าร่างกายทำอะไรกับยา ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็นการดูดซึม การกระจายตัว เมแทบอลิซึม และการกำจัดยา
- เภสัชพลศาสตร์ (Pharmacodynamics) คือเป็นศาสตร์ที่ศึกษาว่ายาทำอะไรกับร่างกาย เช่น ไปจับกับ receptor ตรงไหน มีกลไกการออกฤทธิ์เป็นอย่างไร ประมาณนี้ครับ
การที่เราจะศึกษาวิชานี้ได้เข้าใจอย่างถ่องแท้เราต้องเข้าใจผลกระทบของคุณสมบัติทางด้านเคมีฟิสิกส์ และสูตรตำรับของยา เพราะฉะนั้นความรู้เคมีใดๆในโลกที่น้องเคยเรียนทั้งหมด จะถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนวิชานี้ครับ
วิชานี้เป็นวิชาที่อาศัยความรู้หลายศาสตร์ในการทำความเข้าใจไม่ว่าจะเป็นเคมี เคมีเชิงฟิสิกส์ เคมีอินทรีย์ ชีวโมเลกุล วิทยาการตั้งตำรับยา เภสัชวิทยา ทำให้วิชานี้ดูเหมือนยาก (ซึ่งพี่ว่า มันก็ยากจริงแหละ) แล้วการคำนวณในวิชานี้ ใช้พื้นฐานคณิตศาสตร์เรื่อง Calculus ในการคำนวณ เพราะฉะนั้นใครเก่งเรื่อง Calculus ก็จะสบายหน่อย
หลังจากเราเข้าใจเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetics) กับ เภสัชพลศาสตร์ (Pharmacodynamics) อย่างถ่องแท้แล้ว เราก็จะเข้าใจว่าทำไมยาตัวนี้ ต้องกำหนดความถี่และขนาดการให้ยา เป็นเท่านี้ ถ้าเกินหรือขาดจะเกินอะไรขึ้น แล้วจะแก้ไขยังไง ซึ่งน้องจะเรียนได้ในวิชานี้ด้วยเหมือนกัน
ยังไม่หมดครับ วิชานี้เรื่องจะได้เรียนเรื่อง การประเมินความเท่าเทียมทางการรักษาและชีวประสิทธิผลของยา อันตรกิริยาระหว่างยากับยา และยากับอาหารทางเภสัชจลนศาสตร์และเภสัชพลศาสตร์ด้วย
การจ่ายยาและการให้คำแนะนำ 1 – Dispensing and Counseling I (ระดับความยาก 2/5, ระดับความเยอะ 1.5/5 ความจุกจิก 5/5)
ตอนพี่เรียนเนื้อหาวิชานี้ยังรวมอยู่ในวิชาเภสัชบำบัด (Pharmacotherapeutic) อยู่ แต่พอปรับมาเป็นหลักสูตร 6 ปี วิชานี้ออกก็แยกออกมาเป็นวิชานึง ซึ่งก็ดีครับ เพราะจะทำให้น้องฝึกปฏิบัติจริงได้อย่างเต็มที่มากขึ้น วิชานี้เป็นวิชาปฏิบัติการนะครับ ฝึกปฏิบัติสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง
อย่างที่บอกไปครับว่าแต่ก่อนวิชานี้รวมอยู่ในวิชาเภสัชบำบัด (Pharmacotherapeutic) เพราะฉะนั้นถ้าบอกว่าเภสัชบำบัดคือทฤษฎี ส่วนวิชานี้คือปฏิบัติจริงก็คงไม่ผิดนัก วิชานี้จะฝึกเกี่ยวกับการจ่ายยา การซักประวัติผู้ป่วย กระบวนการมาตรฐานในการจ่ายยา และกระบวนการจ่ายยาที่ดีสำหรับผู้ป่วยโรคต่างๆ รวมทั้งกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพแก่ประชาชน
การสอบวิชานี้จะคล้ายๆการสอบ ospe ครับ คือจะเล่นบทบาทสมมติ อาจารย์จะเป็นผู้ป่วย ส่วนเราอาจจะจำลองเป็นเภสัชกรร้านยา หรือเภสัชกรในโรงพยาบาล หน้าที่ของเราคือแก้ไขปัญหาตามสถานการณ์ที่กำหนดมาให้ได้ภายในเวลา 3 นาที เช่น อาจจะต้องซักประวัติเพื่อค้นหาปัญหาการใช้ยา หรือเลือกจ่ายยาให้ถูกต้อง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์สมมติในขณะนั้นครับ
วิชานี้บางคนก็ว่ายาก บางคนก็ว่าง่าย แต่พี่ว่ามันจุกจิกมากกว่า คือพี่ไม่ค่อยชอบอะไรจุกจิกอ่ะ แบบต้อง step 1 2 3 4 5 ทำอันนี้ได้ 1 คะแนน ลืมทำอันนี้หัก 1 คะแนน อะไรแบบนี้ นี่เป็นอีกเหตุผลที่พี่เรียนสาย science ฮ่าๆๆๆๆๆ
เภสัชบำบัด 1 – Pharmacotherapeutics I (ระดับความยาก 3/5, ระดับความเยอะ 4/5)
วิชานี้ถือเป็นหัวใจของสำหรับสายบริบาลเลยก็ว่าได้ ที่ผ่านว่าเราเรียนทฤษฎีเกี่ยวกับยามามากมาย แต่คราวนี้เราจะเรียนแล้วว่า เจอผู้ป่วยจริงต้องทำยังไง รักษายังไง ในส่วนของวิชาเภสัชบำบัด 1 นี้ เราจะเรียนโรคทางตา หู คอ จมูก, โรคติดเชื้อ (ตอนที่ 1),โรคผิวหนัง, โรคทางสูตินรีเวช, โรคทางเดินอาหาร (ตอนที่ 1) และโรคระบบประสาท (ตอนที่ 1) ซึ่งก็จะเรียนตั้งแต่สาเหตุ อาการและพยาธิสภาพของโรค เป้าหมายของการรักษา การวางแผนการรักษา การจัดการเวชภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด เทคนิคการจ่ายยาและการให้คำปรึกษาด้านยาแก่ผู้ป่วย การใช้ยาเพื่อบำบัดรักษาโรคตามอาการและพยาธิสภาพของโรค เภสัชจลนศาสตร์คลินิก โภชนบำบัด การติดตามอาการไม่พึงประสงค์ การให้บริการเภสัชสนเทศ และการประเมินการใช้ยา
วิชานี้มีแลบด้วยนะครับ แต่แลบของวิชานี้จะเป็นแลบแห้ง เหมือนมีเคส หรือกรณีศึกษามาให้แก้ไขปัญหาตามทฤษฎีที่เรียนมา แล้วเราก็มานั่งเขียน SOAP ซึ่งพี่เบื่อมากกกก…….กกก (ก ไก่ ล้านตัว)
คือ SOAP เนี่ย มันเป็นเหมือนวิธีคิดอย่างเป็นระบบว่า ผู้ป่วยเป็นแบบนี้ มีปัญหาแบบนี้ เราจะจัดการยังไง แก้ไขยังไง ซึ่งเราก็ต้องพิจารณาตั้งแต่
Subjective data คือ ข้อมูลจากการสังเกตุของเรา หรือจากคำบอกเล่าของผู้ป่วย
Objective data คือ ข้อมูลที่วัดได้เป็นตัวเลข มีลายลักษณ์อักษร เช่น ข้อมูลผู้ป่วยที่ได้จากแฟ้มประวัติ ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ หรือผลประเมินผู้ป่วยจากเครื่องมือและแบบทดสอบต่างๆ
Assessment คือ การประเมินการรักษา เป็นการวิเคราะห์ ประมวล และประเมินจากข้อมูลและองค์ความรู้ทั้งหมดที่เรามี เพื่อหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
Plan คือ การวางแผนการรักษา โดยหลังจากเราประเมินเสร็จแล้ว เราก็ต้องเขียนแผนออกมาว่า เราจะรักษาหรือแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร
ซึ่งการเขียน SOAP เนี่ย จริงๆมันก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้เรามีระบบและวิธีคิดอย่างเป็นระบบในการรักษาหรือแก้ไขต่างๆให้กับผู้ป่วย พอเราฝึกจนได้ความคิดที่เป็นระบบแล้ว เวลาเราทำงานจริง เราก็ไม่ต้องมานั่งเขียนอีก (เพราะมันเขียนอยู่ในหัวเราเรียบร้อยโดยอัตโนมัติ) แต่พี่เบื่อครับ ฮ่าๆๆๆๆ เขียน SOAP เคสนึงก็ปาไป 5-6 หน้า เขียนไหนยากๆหน่อยปาไป 10-20 หน้า แล้วเราต้องค้นหาข้อมูล หา reference อ้างอิง ซึ่งพี่ว่ามันเสียเวลามากเลยอ่ะ แต่คนที่เค้าเรียนทางบริบาลเค้าก็ชอบกันนะครับ
หมายเหตุ ที่วงเล็บไว้ว่าตอนที่ 1 เพราะเรามีเรียนตอนที่ 2, 3 ต่อในเภสัชบำบัด 2/3/4
เภสัชการ 3 – Pharmaceutics III (ระดับความยาก 3/5, ระดับความเยอะ 3/5)
มาตั้งตำรับยา ปรุงยากันต่อ ใน Pharmaceutics II เราเรียนเรื่องอะไรกันไป จำได้ไหมครับ (เฉลยยาน้ำแขวนตะกอน กับยารูปแบบกึ่งเหลวกึ่งแข็ง)
คราวนี้เราจะมาทำยาในรูปแบบของผง (Powder) กับของแข็ง (Solid dosage form) กันบ้าง ได้แก่ พวกยาเม็ด ยาแคปซูลนั่นเองครับ
เราจะเรียนวิธีการตั้งตำรับ การเตรียม และการประเมิน ยาผง แคปซูล เม็ด (และยาเม็ดเคลือบ) ซึ่งเราก็เรียนตั้งแต่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอนุภาคขนาดเล็ก ไปจนถึงการละลาย การปลดปล่อย การดูดซึมยา รวมทั้งระบบนำส่งยา ยาพ่น และบรรจุภัณฑ์ครับ
ปฏิบัติการเภสัชการ 3 – Pharmaceutics Laboratory III (ระดับความยาก 2/5, ระดับความเยอะ 2/5)
แลบของวิชา Pharmaceutics III ครับ คราวนี้เราก็ได้ลองทำแกรนูล ตอกยาเม็ด อัดแคปซูล เคลือบฟิล์ม เคลือบน้ำตาล กันจริงๆ ซึ่งเราก็ศึกษาตั้งแต่เครื่องมือที่ใช้ในการผลิตยารูปแบบของแข็ง ฝึกเตรียมยา พัฒนาสูตรตำรับ ประเมินตำรับยาในรูปแบบของแข็ง และทดสอบการละลาย การปลดปล่อย และการดูดซึมยาครับ
เคมีเชิงเภสัชศาสตร์ 1 – Pharmaceutical Chemistry (ระดับความยาก 4.5/5, ระดับความเยอะ 3/5)
คราวนี้เราจะเคมีเชิงเภสัชศาสตร์กันจริงๆสักทีนะครับ ที่เราเจอมาก่อนหน้านี้เป็นแค่พื้นฐานทางเคมีเฉยๆ ซึ่งทั้งหมดจะเป็นพื้นฐานของวิชานี้ครับ ในวิชานี้เราจะเรียนคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีของยาที่สัมพันธ์กับการออกฤทธิ์ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของยาในร่างกายและผลทางเภสัชวิทยาของเมตาบอไลท์ ลักษณะโครงสร้าง ความสัมพันธ์ระหว่างสูตรโครงสร้างกับคุณสมบัติชีวภาพของยากลุ่มต่าง ๆ และกรณีศึกษาต่างๆครับ
เพราะฉะนั้นสิ่งที่น้องเจอหลักๆในวิชานี้คือโครงสร้างของยา พวกโครงสร้างของยากลุ่มหลักๆ และส่วนประกอบหลักๆของโครงสร้างยา น้องต้องจำได้ และสามารถทำนายได้ว่าการที่มันมีโครงสร้างแบบนี้ ทำให้ยามันมีผลเป็นยังไง มีผลทางชีวภาพเป็นยังไง จะดัดแปลงโครงสร้างยังไงให้ได้ผลตามที่เราต้องการ เช่น ดัดแปลงให้ทนกรด ทนด่าง หรือเพิ่มการออกฤทธิ์ต้องดัดแปลงตรงไหน อย่างไร ประมาณนี้ครับ ซึ่งการจะเข้าใจเรื่องพวกนี้ได้ดี พื้นฐานทางเคมีสำคัญมากครับ (แต่น้องที่ไม่เก่งเคมีก็ไม่ต้องกลัวนะครับ คนที่ไม่เก่งเคมีก็สามารถทำได้ครับ แต่ว่าต้องอดทนและพยายามมากกว่าคนอื่นสักหน่อยครับ)
วิชานี้ตอนพี่เรียน 5 ปี พี่ต้องเรียนทั้งหมดในเทอมเดียว แต่หลักสูตร 6 ปี แยกออกมาเป็นภาค 1 กับ 2 ซึ่งก็ดีครับ ทำให้เนื้อหาไม่อัดแน่นและหนักจนเกินไป มีเวลา คิด วิเคราะห์มากขึ้นครับ
นอกจากวิชาหลักทั้งหมดแล้ว ที่ มข. ยังมีวิชาศึกษาทั่วไปอย่างชีวิตกับสุนทรียะ (Life and Aesthetics) ให้เรียนในเทอมนี้ด้วย สงสัยอยากให้นักศึกษาผ่อนคลาย เนื้อหาไม่อัดแน่นจนเกินไปมั้งครับ ฮ่าๆๆๆๆ
กิจกรรม
เอาจริงๆนะ กิจกรรม พี่จำได้อย่างเดียวอ่ะ คือปี 3 ที่ มข. เค้าจะให้เป็น staff พยาบาลตอนเชียร์คณะครับ ที่เหลือพวกไหว้ครู ลอยกระทง พวกนี้มันตาม events ปกติอ่ะ ไม่รู้จะพูดทำไม นอกนั้นพี่ก็จำไม่ได้ละครับ
ปิดเทอม
เหมือนปี 2 ครับ ใครใคร่กลับบ้านก็กลับ ใครใคร่อยากเที่ยวก็เที่ยว ใครอยากช่วยอาจารย์ทำวิจัยก็ไปช่วย ใครอยากลงซัมเมอร์ก็เรียนซัมเมอร์ไป หรือใครติด F ตัวไหนต้องซ่อมก็ลองไปหาอาจารย์ดูครับ บางทีติดแค่ 2-3 คน อาจารย์คนไหนใจดีเปิดสอนให้ก็มีครับ
โดยรวมแล้วปี 2 ถึง ปี 4 สบายกว่าสมัยพี่เรียนตอนหลักสูตร 5 ปี เยอะครับ หลายๆวิชาที่เนื้อมันหนักก็แยกๆออกมาเรียน 2-3 เทอม หรือไม่ก็แยกออกมาเป็นวิชาใหม่ไปเลย หน่วยกิตที่เรียนต่อเทอมก็ลดลง (ตอนหลักสูตร 5 ปีพี่เรียนเทอมละ 21-22 หน่วยเป็นเรื่องปกติ ของ 6 ปีจะเรียน 18-20 หน่วยต่อเทอม) ตอนพี่เรียนปี 2 ถึง ปี 4 เสาร์-อาทิตย์นี่มีก็เหมือนไม่มีครับ เพราะอาจารย์สอนไม่ทัน (เนื้อหาเยอะเกิน) ต้องนัดมาชดเชย ไม่ก็ต้องนั่งทำงานกลุ่ม เตรียมพรีเซนต์งานกันตลอด ซึ่งพี่ว่าดีนะครับ มันทำให้น้องมีเวลาศึกษา ทำความเข้าใจ ฝึกปฏิบัติ และตกตะกอนความคิดมากขึ้น วิชาที่พี่ว่าน่าจะเรียนหนักกว่าสมัยพี่เรียนก็มีวิชา Pharmaceutical Biology (ตอนปี 2) กับวิชา Pharmacognosy แหละครับ ที่พี่เห็นว่า เนื้อหาน่าจะเยอะกว่าตอนพี่เรียนอีก
เอาละ มากันได้ครึ่งทางแล้ว เตรียมตัวเข้าปี 4 กันต่อครับ
ก่อนหน้า
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 1 : ภาพรวม ปฐมบท
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 2 : ปี 1 สดใส ลั้ลล้า
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 3 : ปี 2 Welcome to คณะแพทย์
อ่านต่อ
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ภาค 5 : ปี 4 ทางเลือก
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 6 : ปี 5 ทางเดินที่แตกต่าง
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 7 : ปี 6 นักบินฝึกหัด
Share this: