พี่ จะสัมภาษณ์แล้ว เค้าจะถามอะไรบ้าง?
ก่อนสัมภาษณ์ หนูต้องไปอ่านตรงไหนเพิ่มไหมคะ?
Portfolio ต้องเตรียมไปไหมครับ?
น้องๆหลายคนเวลาค่อนข้างกังวลเวลาสัมภาษณ์ อาจเป็นเพราะยังไม่เคยเจอสถานการณ์แบบนี้มาก่อน ซึ่งจริงๆแล้วไม่ได้มีอะไรเลย ถ้าหากเป็นการสัมภาษณ์ที่ไม่คัดคนออก น้องติดไปแล้ว 99.99% อีก 0.01% คือ น้องจิตใจไม่ปกติ หรือไปทำอะไรเพี้ยนๆใส่กรรมการ
แล้วสัมภาษณ์คณะเภสัชเค้าถามอะไรกันบ้าง?
จริงๆ คำถามที่เจอ แต่ละคนก็เจอไม่เหมือนกัน และขึ้นอยู่กรรมการที่ทำการสัมภาษณ์ด้วยว่าเค้าอยากจะทดสอบอะไรน้อง ซึ่งอาจารย์ส่วนมาก เค้าจะดูแค่ความสนใจในคณะนี้ ทดสอบว่ามาเนี่ย มาแบบจริงจัง จะเอาจริงๆนะ ไม่ได้มาลองเล่นๆไปเรื่อยๆ หรือโดนพ่อแม่บังคับมา แล้วก็ดูพวกไหวพริบ ว่าน้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เก่งไหม จะแก้ปัญหาในสภาวะที่กดดันและเร่งด่วนได้ยังไง และสุดท้ายคือจะดูว่าสภาพจิตใจน้องปกติหรือเปล่า คือไม่ต้องปกติ 100% ก็ได้ แต่ต้องไม่ร้ายแรงจนมีปัญหากับการเรียนและการประกอบวิชาชีพตามมา สำหรับคำถามที่มักพบบ่อยๆก็อย่างเช่น
ทำไมถึงเลือกเรียนคณะเภสัชศาสตร์?
คำถามนี้เป็นคำถามที่เจอบ่อยมากที่สุด จริงๆคำถามนี้ไม่ได้มีอะไร เค้าแค่อยากรู้ว่า ทำไมเราถึงสนใจคณะนี้ มุมมองของน้องต่อวิชาชีพเภสัชเป็นยังไง และดูว่าน้องได้พอทำการบ้านเกี่ยวกับคณะนี้มาบ้างไหม ซึ่งมันจะเป็นคำถามที่ต่อยอดไปสู่คำถามอื่นๆได้ เช่น ถ้าน้องบอกว่า อยากเป็นเภสัชโรงพยาบาล อาจารย์ก็อาจถามเพิ่มว่า แล้วบทบาทไหนของเภสัชโรงพยาบาลที่เราชอบหรือประทับใจ มีอะไรบ้าง หรือว่ารู้ไหมว่า เภสัชกรโรงพยาบาลมีบทบาทหน้าที่อะไรบ้าง
ทำไมเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยนี้?
คำถามเบสิค จริงๆก็ไม่ได้มีอะไร ตอบอะไรไปก็ได้ แต่อย่าหลุดโลกจนอาจารย์เค้าสงสัยเรื่องสภาพจิตละกัน
บางทีอาจารย์อาจจะถามต่อเรื่องการเดินทาง การใช้ชีวิต บางทีมาตัวคนเดียว ไม่มีคนรู้จัก ไม่มีรูมเมท อาจารย์เค้าก็เป็นห่วงว่า จะปรับตัวได้ไหม หรือบางเรื่องจะส่งผลให้การเรียนมีอุปสรรคหรือเปล่า
ถามข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับคณะ และมหาวิทยาลัย
คำถามนี้ไม่มีอะไร แต่น้องต้องทำการบ้านมาบ้าง อย่างสีประจำคณะ สีประจำมหาวิทยาลัย สัญลักษณ์ของวิชาชีพ ถ้าน้องตอบได้ อาจารย์เค้าก็จะมองว่าน้องมีความตั้งใจ สนใจที่จะเรียนที่มหาวิทยาลัย และคณะนี้จริงๆ ไม่ใช่มาเพื่อลองข้อสอบเล่นๆ แต่ถ้าไม่รู้ ก็ตอบตรงๆว่า ไม่ทราบครับ/ค่ะ (แล้วอาจจะเสริมไปว่า จะไปศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม) หรือถ้าน้องมีไหวพริบที่ดี จะแก้ปัญหาด้วยกึ๋นของน้องไปเลย ก็ยิ่งดี แต่อย่าแถ เป็นพอ เพราะคำถามนี้ มันมีคำตอบตายตัว มันแถไม่ได้จริงๆ (หลายๆครั้ง คำตอบมันอยู่ที่หน้าห้องรอสัมภาษณ์ ก่อนทางเดินขึ้นตึก แถวๆป้ายคณะ หรือหน้ามหาวิทยาลัย พี่ว่านะ บางที อาจารย์เค้าก็แค่อยากรู้ว่า เอ็งเดินดุ่ยๆมาสัมภาษณ์โดยไม่สนโลกเลยหรือเปล่า หรือมีความช่างสังเกต เก็บรายละเอียดบ้างไหม)
คำถามลักษณะนี้ พี่ตั้งข้อสังเกตว่า มักพบบ่อยในการสัมภาษณ์ที่มีผู้เข้าสัมภาษณ์มาก และมีเวลาสัมภาษณ์ต่อคนน้อย แต่ถ้าอาจารย์มีเวลาในการสัมภาษณ์เรามาก อาจารย์มักจะชวนคุย เพื่อทำความรู้จัก และทำความเข้าใจเกี่ยวกับมุมมอง และทัศนคติของเราที่มีต่อคณะ และมหาวิทยาลัยแทน
แนะนำตัวเอง
อันนี้เจอบ่อยพอๆกับ คำถาม ทำไมถึงเลือกเรียนคณะเภสัชศาสตร์เลย จริงๆคำถามนี้ไม่มีอะไร อาจารย์แค่อยากรู้จักน้องให้มากขึ้น ว่าน้องมีประวัติ มีพื้นเพ ความเป็นมายังไง คำถามนี้ให้น้องนึกไว้เลยว่า จะพูดอะไรบ้าง อย่าง ชื่ออะไร บ้านอยู่ที่ไหน มีพี่น้องกี่คน พ่อแม่ทำงานอะไร เคยเรียนที่ไหนมาบ้าง ถ้าอาจารย์ยังไม่ได้ถามว่าทำไมสนใจคณะเภสัชศาสตร์ น้องก็อาศัยจังหวะนี้อธิบายไปด้วยเลย หรือน้องมีผลงานหรืออะไรอยากจะ present ก็อาศัยจังหวะนี้แหละพูดไป หรือถ้าเตรียม Portfolio มา จะเอาพอร์ทมาประกอบคำอธิบายน้องด้วยก็ได้ แต่อย่างที่บอกไปแต่แรกว่า คำถามนี้เป็นเหมือนคำถามที่ทำให้อาจารย์รู้จักน้องมากขึ้น ดังนั้น คำถามต่อยอดก็จะเป็น เช่น อ่อ จบจากโรงเรียนนี้หรอ โรงเรียนเดียวกับอาจารย์เลย ตอนนี้ครูคนนี้ยังสอนอยู่ไหม ประมาณนี้ หรือถ้าน้องบอกว่าน้องเก่งภาษาอังกฤษ อาจารย์ก็อาจจะให้ลองพูดภาษาอังกฤษให้ฟัง หรือน้องบอกว่า น้องสนใจยาจีน แล้วอาจารย์ท่านนั้นแม่นตำรายาจีนด้วย อาจเจอถามว่า รู้จักตำรับยาจีน ตำรับไหนบ้าง ประมาณนี้
แต่ถ้าน้องดวงไม่ดี (หรืออาจจะเป็นโอกาสได้โชว์ของ สำหรับบางคน) จากให้แนะนำตัวเอง มันจะกลายเป็น Introduce yourself in English แทน
ถามสายการเรียนที่น้องสนใจ หรืออนาคตน้องอยากทำงานเกี่ยวกับเภสัชด้านไหน
พี่ว่าคำถามนี้ อาจารย์สาย Science จะถามบ่อยกว่าอาจารย์สาย Care นะ (ฮา) อันนี้น้องต้องทำการบ้านครับว่า เภสัชศาสตร์มีสาขาอะไรบ้าง แต่ละสาขาไปประกอบวิชาชีพด้านไหนได้บ้าง คืออาจารย์แต่ละท่าน เค้าจะมีเรื่องที่เค้าสนใจ และเขี่ยวชาญเฉพาะด้านอยู่ บางทีซาวเสียงดูก่อนว่า น้องมีเรื่องที่สนใจเป็นพิเศษมาก่อนไหม วางแผนอนาคตของตัวเองไว้ยังไงบ้าง ดีไม่ดี อาจได้ทำโปรเจคด้วยกันในอนาคตก็ได้ อย่างตอนพี่สอบสัมภาษณ์ พี่ก็เจอคำถามนี้ แล้ว อาจารย์ 3 ใน 4 คน เป็นสาย R&D (มารู้ทีหลังนะ) และเป็น R&D คนละด้านกันด้วย หลังจากพี่ตอบไปว่า อยากทำ R&D หลังจากนั้น คำถาม ไหลตามมาเป็นน้ำพุเลยครับ อยากทำ R&D ด้านไหน รู้ไหมประเทศไทยมี R&D เกี่ยวกับอะไรบ้าง รู้ไหมว่า R&D ยาสักตัว มันมีกี่ระยะ แล้วเราสนใจอยู่ตรงส่วนไหน ยาวไปครับ ยาวไปเลย
ชอบทำกิจกรรมอะไร เคยทำกิจกรรมอะไรมาแล้วบ้าง?
ส่วนมากอาจารย์ที่ถามคำถามนี้ เค้าอยากรู้ความชอบ และความสนใจของน้องเฉยๆ หรือถ้าเค้ามองน้องออกว่า น้องไม่ค่อยทำกิจกรรม ไม่ค่อยเข้าร่วมกิจกรรม อาจารย์เค้าก็อาจใช้คำถามนี้ เพื่อดูว่าน้องจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้ายังไง
บอกข้อดี ข้อเสีย ของตนเอง
เป็นคำถามที่เจอบ่อยเหมือนกัน ถ้าเจอคำถามข้อนี้ อาจต้องใช้ไหวพริบเล็กน้อยในการตอบ คำถามข้อนี้ มันใช้ดูอะไรได้หลายอย่าง อย่างดูว่า เราเป็นคนซื่อๆหรือเปล่า ถ้าซื่อๆก็ตอบตรงๆ หรือว่ามีไหวพริบที่ดี ถ้ามีไหวพริบดี ต่อให้ต้องพูดข้อเสีย ก็สามารถที่จะพูดให้ดูดีขึ้นมาได้ ดูว่าเราคนมองตัวเองเป็นแบบไหน เราเป็นคนมองโลกในแง่บวก หรือแง่ลบ แล้วยังใช้ในการเจาะเปิดตัวเราด้วยว่า เรามีจุดอ่อนตรงไหน เรื่องอะไร
แต่ในหลายๆครั้ง อาจารย์เค้าก็ถามเพื่ออยากรู้จักเรามากขึ้นเฉยๆนะ
ความสามารถพิเศษ และงานอดิเรก
ตอบตามความเป็นจริงไปแหละครับ แต่ต้องพร้อมนิดนึง ถ้าไปบอกอะไรที่สามารถทำได้เดี๋ยวนั้นเลย มักจะได้ทำจริงๆ เช่น ร้องเพลง มีโอกาส 80% ที่อาจารย์จะให้ร้องเพลงให้ฟังเดี๋ยวนั้นเลย
คำถามเชิงความรู้รอบตัว และการคิดวิเคราะห์
พวกนี้เป็นคำถามเชิงคิดวิเคราะห์ ผสานกับไหวพริบ (พี่ว่าอาจารย์สายสังคม สายการตลาดอ่ะ ชอบถาม) น้องอาจต้องตามเหตุบ้าน การเมืองว่า มีอะไรที่มันจะส่งผลกระทบต่อวิชาชีพได้บ้าง อย่างเช่น ช่วงเปิด AEC ก็อาจมีคำถามว่า คิดว่าหลังเปิด AEC จะมีผลกระทบอะไรกับวิชาชีพเภสัชบ้าง หรือตอนที่ Pseudoephedrine กำลังดัง มีข่าวเภสัชโดนจับ ก็อาจโดนถามในประเด็นเกี่ยวกับยาตัวนี้ได้
คำถามเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันในวงการยา
ต้องบอกว่าแนวทางการสัมภาษณ์ช่วงหลังๆมานี้ เน้นทางด้านสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะ อาจเป็นเพราะหลังๆมา มีข่าวเกี่ยวกับวงการยาเยอะด้วยแหละ คำถามที่อาจารย์ถามน้องๆ พี่ว่าอาจารย์ต้องการเช็คดูว่าน้องสนใจเกี่ยวกับวงการนี้จริงๆไหม รวมถึงศึกษารายละเอียดของวงการนี้มาเยอะขนาดไหน คำถามประเภทนี้ มักอิงกับสถานการณ์ตอนนั้นมากๆ เช่น ช่วงนึงที่มีดราม่าเกี่ยวกับ พรบ.ยา ฉบับใหม่จนเป็นกระแสสังคมช่วงนึง อาจารย์ก็ถามเกี่ยวกับเรื่อง พรบ.ยา บางทีก็ถามรายละเอียด หรือบางทีก็ให้วิเคราะห์ก็มี หรือช่วงที่จะมีการปลดล็อคกัญชา กระท่อม ก็มีถามเกี่ยวกับเรื่อง พวกกัญชา กัญชง กระท่อม ต่างๆ หรือช่วงไวรัสโควิดระบาด ก็มีถามเกี่ยวกับวัคซีน อะไรประมาณนี้ ซึ่งพี่ว่าคำถามพวกนี้ บางทีก็ง่าย เพราะเป็นข่าวในกระแสสังคมอยู่แล้ว แต่บางทีก็ยาก เพราะถ้าต้องวิเคราะห์ หรืออธิบายรายละเอียด แม้แต่คนในวงการเภสัชเอง หากไม่ได้ศึกษามาก่อนก็ตอบยากเหมือนกัน อันนี้ต้องระวังไว้ครับ
คำถามหยั่งอารมณ์
คำถามประเภทหยั่งอารมณ์ พบบ่อยในการสัมภาษณ์ประเภทที่ต้องคัดคนออกในรอบสัมภาษณ์ อาจารย์มักจะถามจี้เรื่องที่เราอึดอัด เรื่องที่อาจารย์จับทางได้ว่าเป็นจุดอ่อนของเรา และปั่นอารมณ์เราขึ้นมา ปกติแล้วคณะแพทย์มักมีการถามในลักษณะนี้บ่อยกว่า บางครั้งเค้าอาจจะสงสัยเรื่องบุคลิกและความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของเรา อาจารย์ก็อาจจะถามจี้ไปเล่นๆ เช่น ติดที่อื่นก่อนหน้านี้แล้ว จะมากันที่คนอื่นทำไม, ฐานะทางบ้านไม่ดี ทำไมเลือกเรียนภาคพิเศษ จะจ่ายค่าเทอมไหวหรอ ซึ่งถ้าเราคุมสติและควบคุมอารมณ์ไม่ได้ อาจารย์ก็จะได้กาชื่อออกไปเลย ง่ายดี ในทางตรงกันข้าม หากเรามีสติและควบคุมอารมณ์ได้ดี ก็ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้แสดงวิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และได้แสดงออกถึงวุฒิภาวะของเราด้วย
คำถามอื่นๆ แปลกๆที่เจอกันมาจริงๆ
ตอนพี่ไปสัมภาษณ์ พี่ไม่ค่อยเจอคำถามอะไรแปลกๆเท่าไร แต่เพื่อนมีเจอกันบ้าง เช่น ในห้องนี้มีแอร์กี่ตัว (แอร์อยู่ด้านหลัง) คือพี่ว่าอาจารย์เค้าอยากดูว่า ดูซิ เอ็งจะแก้ปัญหายังไงมากกว่านะ (ฮา) แล้วก็บันไดที่ขึ้นมามีกี่ขั้น (พี่ว่า ถ้าตอบข้อนี้ได้นะ อาจารย์เค้าอาจจะมองว่า เอ็ง วิตกจริต ไม่ค่อยปกติ ก็ได้นะ ฮ่าๆๆๆๆๆ)
เป็นยังไงบ้างครับ น่าจะพอได้แนวทางกันไปบ้างแล้วว่า จะต้องเจอคำถามประมาณไหน และต้องไปเตรียมตัวทำการบ้านเพิ่มเติมในประเด็นไหนบ้าง น้องๆแต่ละคน อาจเจอคำถามที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับอาจารย์ และบุคลิกของน้อง บางครั้ง ถ้าน้องดูจริงจัง อาจารย์เค้าก็ถามจริงจัง แต่ถ้าน้องสนุกๆเฮฮา อาจารย์เค้าก็อาจจะเฮฮาไปกับน้อง (แต่ก็ต้องดูเรื่องกาลเทศะ และดูด้วยว่า อาจารย์แกเล่นด้วยไหม)
ถ้าเป็นการสัมภาษณ์ที่ไม่มีการคัดคนออก คำถามมักสบายๆ และถามเพื่อพูดคุยทำความรู้จักกันให้มากขึ้น (ถ้าไม่บ้าขั้นร้ายแรง ไม่ตกสัมภาษณ์แน่ๆ) แต่ถ้ามีการคัดคนออก ลักษณะของคำถามมักจะเข้มข้นกว่า และมีการเล่นจิตวิทยามากกว่า แต่ยังไงซะ พี่จะบอกว่า ส่วนใหญ่แล้ว คะแนนรอบสัมภาษณ์แทบไม่มีผล หลายๆครั้ง ต่อให้คัดคนออก ก็ไม่นำคะแนนรอบสัมภาษณ์มาคิดเลยด้วยซ้ำ หรือถ้านำมาคิด ก็เป็นสัดส่วนน้อยมาก เมื่อเทียบกับคะแนนข้อเขียน และแต่ละคน มักได้คะแนนสัมภาษณ์ไม่ค่อยแตกต่างกันมาก (เว้นแต่จะเด่นจริงๆ หรือแย่มากไปเลย) ทำให้สุดท้ายแล้ว ใครจะติดเป็นตัวจริง ขึ้นอยู่กับคะแนนสอบข้อเขียนเป็นหลักมากกว่า เว้นแต่ว่าคะแนนสอบข้อเขียนจะคู่คี่สูสีกันมาก คะแนนสัมภาษณ์จึงเริ่มมีผลต่อการคัดตัวจริง
จะรู้ได้ยังไงว่า โดนเล่นจิตวิทยามากน้อยแค่ไหน
จริงๆ เรื่องนี้ เป็นรายละเอียดที่ไม่ค่อยมีใครสนใจนัก หรือในบางครั้ง อาจารย์เค้าก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ
วิธีเบสิคเลยที่พี่ใช้ดู คือห้องสัมภาษณ์ครับ หากห้องสัมภาษณ์เปิดโล่ง ทั้งฝั่งอาจารย์และฝั่งเรา หรือในบางครั้งสัมภาษณ์ในห้องเรียนธรรมดา มีโต๊ะยาวๆคั่นกลาง กรรมการกับนักเรียน นั่งบนเก้าอี้แบบเดียวกัน คนละฝั่ง สามารถมองเห็นคู่สัมภาษณ์คู่อื่น ที่กำลังนั่งสัมภาษณ์อยู่พร้อมๆกัน โดยไม่มีอะไรขวางกั้น แบบนี้ คือ ไม่ได้เล่นจิตวิทยาอะไรเลยครับ น้องจะรู้สึกผ่อนคลายและสบายมากๆ ไม่รู้สึกว่าตนเองเสียเปรียบ ทำให้บรรยากาศการสนทนาและสัมภาษณ์มักเป็นกันเอง และลดความกดดันเรื่องบรรยากาศระหว่างการสัมภาษณ์ไปได้มาก
ถ้าน้องเข้าไปในห้องแล้ว เป็นห้องที่มีกรรมการนั่งอยู่ฝั่งตรงกันข้าม ที่เก้าอี้นั่งของกรรมการสูงกว่าเก้าอี้ของน้อง รวมถึงมีพนักพิงที่ใหญ่กว่า กว้างกว่า ด้านหลังทึบ อาจเป็นตู้ขนาดสูงใหญ่ ในขณะที่ฝั่งน้อง ด้านหลังเป็นพื้นโล่ง หรือถ้าแย่กว่านั้นก็เป็นประตู หรือหน้าต่างที่กำลังเปิด ดีไม่ดี อาจมีคนนั่งอยู่ด้านหลังอีกทีด้วย แบบนี้มักพบในการเจรจาธุรกิจ เป็นเทคนิคที่นักธุรกิจใช้เพื่อชิงความได้เปรียบระหว่างการเจรจาต่อรอง ถ้าห้องสัมภาษณ์น้องเป็นลักษณะนั้น น้องจะค่อนข้างเสียเปรียบมาก น้องจะรู้สึกว่าฐานะของตัวเองต้อยต่ำกว่า ความกดดันและความตื่นเต้นจะสูงกว่าแบบแรกมาก
แบบสุดท้าย การสัมภาษณ์หมู่ เป็นการสัมภาษณ์ที่สร้างความกดดันมากเช่นกัน วิธีการคือน้องต้องอยู่ในห้องร่วมกับนักเรียนคนอื่น กรรมการสอบสัมภาษณ์มักอยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบ เช่นอยู่หลังห้องที่สามารถมองเห็นได้ทุกคน และมักนั่งในตำแหน่งสูงกว่าทุกคน หรือหากเป็นการประชุมแบบโต๊ะกลม กรรมการมักนั่งอยู่ที่มุมห้อง กรรมการมักมีมากกว่า 2 คน วิธีการคือ ผู้ถูกสัมภาษณ์จะออกมาพูดทีละคน โดยมีกรรมการผลัดกันยิงคำถามใส่ โดยที่นักเรียนคนอื่นในห้อง ก็ทราบด้วยว่าน้องตอบอะไรไปบ้าง หรือในบางครั้ง อาจใช้วิธีการจับสลากคำถาม ออกแล้วไปตอบคำถามที่ตัวเองได้รับทีละคน การสัมภาษณ์แบบหมู่นี้ จะมีข้อดีตรงที่สามารถวัดพฤติกรรมกลุ่ม คือดูความเป็นผู้นำ ความมั่นใจ ทักษะการสื่อสาร การรับมือกับปัญหาที่มีความกดดันสูง นอกจากนี้ ยังสามารถดูได้ด้วยว่า คนที่นั่งฟังอยู่ เป็นผู้ฟังและผู้ตามที่ดีไหม สนใจและตั้งใจที่คนอื่นพูดหรือเปล่า และมักมีการสัมภาษณ์แบบส่วนตัวอีกครั้งนึง หลังจบการสัมภาษณ์แบบหมู่แล้วด้วย อย่างไรก็ดี พี่ไม่เคยเห็นคณะเภสัชที่ไหนใช่การสัมภาษณ์แบบหมู่มาก่อน ที่พี่เคยเห็นว่ามีการใช้ก็จะมีคณะแพทย์ กับ MBA (Master of Business Administration Program)
Portfolio ต้องเตรียมไปไหม?
ต้องเตรียมไหมเนี่ย จริงๆ เตรียมไปก็ดี แต่ไม่เตรียมไปก็ได้ครับ คือ ถ้าเค้าบอกให้เตรียม ก็ต้องเตรียมไป แต่ถ้าเค้าไม่ได้บอกให้เตรียม น้องต้องทำใจนิดนึงว่าอาจารย์ประมาณ 50 – 70 % จะปิดแฟ้ม แล้วปัดมันออกไปข้างๆ และจะไม่เปิดดูมันเลยตลอดการสัมภาษณ์ แต่บางครั้ง มันก็ช่วยน้องได้ ในกรณีที่อาจารย์เค้าเปิดดู เค้าก็จะเปิดไป ถามไป ถ้าเค้าไม่รู้จะถามอะไร เค้าก็จะถามๆ โดยดูจากในแฟ้มนั่นแหละ ทำให้เรา control ทิศทางคำถามของกรรมการได้ง่ายกว่า และเรื่องในแฟ้ม มักเป็นเรื่องที่น้องมักตอบได้ดีอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังช่วยให้น้องแนะนำตัวเองได้ดีและมั่นใจขึ้นด้วย อันนี้เรื่องจริง พี่เจอกับตัวเลย คือพี่ ไม่ได้ทำ Portfolio ไป แต่คนสัมภาษณ์ห้องข้างพี่ เธอเตรียมมา 4 แฟ้ม!!! แล้วพอดีห้องมันกั้นด้วยไม่อัด ทำให้เสียงมันลอดถึงกันได้ คนที่นั่งห้องข้างๆพี่ โดนถามแค่ประมาณ 3 คำถามอ่ะ แค่คำถาม ทำไมสนใจคณะเภสัช เธอ ร่ายยาว เปิดแฟ้มโชว์ อธิบายโน่นนั่นนี่ เคยไปร้านยา มาดูงานโรงพยาบาล บลาๆๆๆๆๆ กรรมการแทบไม่ได้พูดอะไรเลย เธอ solo คนเดียวตลอด 30 นาที (แต่พี่ว่าเธอพูดไม่ค่อยเว้นช่องให้กรรมการพูดเลย แบบนี้ถ้าสัมภาษณ์แบบจริงจัง อาจโดนตัดคะแนนได้นะ พี่ว่า)
เอาเป็นว่าถ้าน้องมีเวลา และผลงานที่อยากจะโชว์ มีไว้ดีกว่าไม่มีครับ (แต่ถ้าไม่มี ก็ไม่ได้เสียหายร้ายแรงอะไร เพราะมันไม่ค่อยมีผลต่อคะแนนสัมภาษณ์อยู่แล้ว) แต่ถ้าน้องเตรียมแล้ว พบว่า แฟ้มมันโล่งมาก แบบทั้งชีวิตยังหาอะไรเจ๋งๆไปโชว์เค้าไม่ได้เลย แบบนี้ ไม่เตรียมไปดีกว่าครับ
เล่าประสบการณ์ตอนพี่ไปสัมภาษณ์ให้ฟังหน่อยสิ
ตอนนั้นเป็นรอบรับตรง ของ มข. ครับ มีคนติดข้อเขียนไป 30 คน แล้วเค้าก็รับ 30 ที่พอดี เพราะฉะนั้นไม่มีใครตกสัมภาษณ์แน่นอน เป็นรอบที่ได้กันชัวๆทุกคน (เว้นแต่จะมีปัญหาด้านจิตใจ) ใน 30 คนนี้ เค้าแบ่งเป็นรอบเช้า 15 คน รอบบ่าย 15 คน มีห้องสอบสัมภาษณ์ 2 ห้อง แต่ละห้องมีกรรมการ 4 ท่าน เวลาสัมภาษณ์ตกคนละประมาณ 30 นาที
คำถามที่พี่เจอส่วนมากเป็นคำถามเบสิค เช่น แนะนำตัวเอง, ทำไมถึงเลือกเรียนคณะเภสัช, ทำไมถึงเลือกที่มหาวิทยาลัยนี้, อยากเรียนด้าน Pharm sci หรือ Pharm care, จะเรียน Sci ไปทางด้านไหน, ทำไมถึงเลือก R&D รู้ไหมว่าเภสัชมีบทบาทหน้าที่อะไรบ้าง, จากนั้นก็เจาะลึกเกี่ยวกับ R&D ไปยาวๆเลย, อยู่โรงเรียนทำกิจกรรมอะไรบ้าง, เคยทำอะไรเพื่อสังคมบ้าง, นอกจากที่นี่แล้วเลือกที่ไหนไว้อีก, ถ้าได้อีกที่ แล้วจะเอาที่ไหน นอกนั้นอาจารย์ก็ชวนคุยเล่นไปเรื่อยเปื่อย ไม่มีอะไรครับ
สิ่งสุดท้ายที่อยากฝากไว้
จริงๆ พี่ไม่อยากให้น้องตายน้ำตื้นนะ พวกสิ่งหลักๆ เช่น มารยาท, การแต่งกาย, ยกมือไหว้สวัสดีกรรมการ, บุคลิกภาพ, การวางมือ (อย่าไปเผลอเท้าคาง ไรแบบนี้) มันเป็นเบสิคนะครับ อาจารย์รุ่นใหม่บางท่านอาจไม่ซีเรียสมาก แต่อาจารย์หลายๆท่านยังคงพิจารณาเรื่องพวกนี้อยู่มาก มีอาจารย์ท่านนึง แกบอกพี่ว่า “ทั้งชีวิต ผมเคยให้เด็กตกสัมภาษณ์แค่คนเดียว เด็กคนนั้นเป็นเด็กผู้ชาย ใส่ตุ้มหู ถุงเท้า 2 ข้างยาวไม่เท่ากัน เข้ามานั่ง ไม่ยกมือไหว้สวัสดี มานั่งมองหน้าผมเฉยๆ ผมก็เลยบอกให้ออกไปข้างนอก แล้วผมก็ให้ตกสัมภาษณ์”
เรื่องความประทับใจครั้งแรก สำคัญนะครับ
ถ้าน้องสัมภาษณ์ภาคอินเตอร์ ภาษาอังกฤษล้วนๆ ไม่มีไทยผสมแน่นอนครับ
อาจารย์รุ่นหลังๆ คำถามจะค่อนข้าง creative ขึ้นเรื่อยๆนะครับ ขอให้น้องๆทุกคนโชคดีครับ
Share this: