วันนี้วิชาที่แอดอยากมานำเสนอคือวิชาหนึ่งที่แอดคิดว่าโหดที่สุดในปีสาม (พอกันกับวิชาเภสัชวิทยา Pharmacology) เป็นวิชาที่ครึ่งเทอมแรกดูเหมือนง่าย หลักการพื้นฐานที่เรารู้อยู่แล้ว พอมาครึ่งเทอมหลังเท่านั้นแหละ…ร้องแหะแบบไม่เว้นวัน
วิชาเภสัชจลนศาสตร์ เป็นวิชาที่ว่าด้วยเรื่อง “เมื่อเรากินยาเข้าไปในร่างกาย ร่างกายทำอะไรกับยาบ้าง” ไล่ไปตั้งแต่การดูดซึมยาเข้าสู่กระแสเลือด การกระจายยาในกระแสเลือด การเกิดปฏิกิริยาของยาในร่างกาย ไปจนถึงการขับถ่ายยา (ปัสสาวะ เหงื่อ น้ำตา อุจจาระ)
สิ่งที่ต้องเรียนในวิชานี้ มีทั้งหลักการและสมการคณิตศาสตร์ โดยสมการคณิตศาสตร์นั้นถูกเขียนมาเพื่อใช้อธิบายเหตุการณ์ต่าง ๆ ทางเภสัชจลนศาสตร์ เช่น ปริมาณยาในกระแสเลือดที่เปลี่ยนไปในเวลาต่าง ๆ หรือ อัตราการขับถ่ายยาที่เปลี่ยนไปเมื่อผู้ป่วยป่วยด้วยโรคตับ หรือโรคไต
ในการเรียนวิชานี้ น้องจะได้เจอกับกราฟต่าง ๆ และสมการของกราฟที่เยอะมาก…กราฟเส้นตรง กราฟลอการิทึม ไปจนถึงกราฟหน้าตาแปลก ๆ บางกราฟต้องใช้แคลคูลัสในการอธิบาย เป็นวิชาที่มีการพิสูจน์สูตรเยอะมาก จนแทบจะใกล้เคียงกับการย้อนไปเรียนฟิสิกส์สมัย ม.ปลาย
ต่อให้ไม่ชอบคณิตศาสตร์ขนาดไหน เมื่อมาเจอวิชานี้ก็ต้องสะกดจิตตัวเองให้ชอบให้ได้ ไม่งั้นผลอาจเป็น สมองแตกตลอดคลาส 555555 การพิสูจน์สูตรเยอะจริง ๆ ค่ะ ต้องตั้งสติให้ทัน ไม่งั้นเราจะหม่รู้เลยว่า สูตรนี้เป็นสูตรของอะไร สามารถใช้ในสถานการณ์ไหนได้บ้าง
สรุปคือ วิชานี้อาจเป็นวิชาในฝันของคนชอบคณิตศาสตร์ ที่โหยหาการเรียนคณิตศาสตร์ในเภสัชมานาน ส่วนคนที่ไม่ชอบ ก็นั่งคำนวณกันเหงือกแห้ง กดเครื่องคิดเลขมือหงิกไปค่ะ 😂
การเรียนวิชานี้เป็นการกระชากแอดมินออกจากคอมฟอร์ตโซนจริง ๆ ในการเรียนเภสัชไม่เคยคิดว่าจะต้องเอาตัวเองมาจมกับการเรียนวิชาไหนขนาดนี้มาก่อน
อย่างไรก็ตาม วิชานี้จะเป็นวิชาที่สำคัญมาก ๆ ในการคิดค้นยาใหม่ การที่เราคิดค้นยาใหม่ขึ้นมาสักตัว สิ่งที่สำคัญนอกจากฤทธิ์การรักษาและความปลอดภัยในการใช้ยาแล้ว คือการตั้งคำถามว่าสรุปเมื่อยานั้นเข้ามาในร่างกาย แล้วจะออกฤทธิ์รักษาได้จริงหรือเปล่า ร่างกายจะทำลายยาเกลี้ยงตั้งแต่ในกระเพาะเลยหรือไม่ หรือปรากฎว่าร่างกายขับถ่ายยาออกไปไม่ได้ กลายเป็นตกค้างในร่างกายและเกิดพิษ
วิชาเภสัชจลนศาสตร์จะช่วยอธิบายในจุดที่ว่านี้ ดังนั้น น้องคนไหนที่เข้ามาเรียนเภสัชเพราะใฝ่ฝันอยากคิดค้นยาใหม่ อยากวิจัยค้นคว้าทดลองยา การเรียนวิชาเภสัชจลนศาสตร์เป็นสิ่งจำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉะนั้น สร้างจิตวิญญาณความชอบในวิชาคณิตศาสตร์ซะตั้งแต่สมัยมัธยมกันเถอะนะคะ วิชาคณิตศาสตร์น่ะเรียนสนุกน้า (กัดฟันพูด) 5555555
Share this: