หลักจากปี 2565 เป็นต้นมา การควบคุมร้านยาก็เข้มข้นจริงจังมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะ GPP เอย กฎใหม่ๆ+ความเข้มงวดของสภาเภสัชเอย
ในส่วนของเภสัช part time ก็เหมือนกัน เป็นที่ทราบกันดีว่า ถ้าเราจะหาเภสัช part time มาลง เราต้องส่งแบบ จภก. ๑ ให้ อย. หรือ สสจ. ประจำจังหวัด แต่ว่าในหลายๆปีที่ผ่านมา ก็ไม่มีใครทำกันหรอก เพราะเสียเวลาและไม่ค่อยสะดวกในทางปฏิบัติ ทางฝั่งผู้ตรวจอย่าง อย. หรือ สสจ. ก็ค่อนข้างอลุ่มอล่วย ขอให้เป็นเภสัชจริงมายืนก็โอเค ยอมๆ หยวนๆไป แต่ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา อะไรๆก็จริงจังขึ้น แบบ จภก. ๑ ก็เหมือนกัน อย. หรือ สสจ.บางจังหวัดเริ่มไม่โอเคแล้ว ถ้าไม่แจ้งก่อนว่าจะมีเภสัช part time มาปฏิบัติหน้าที่แทนผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในเวลาปฏิบัติการที่แจ้งไว้ แต่คำถามก็คือ แล้วยื่นยังไง มีขั้นตอนยังไง ส่งที่ใคร ส่งทางอีเมลล์ได้ไหม ต้องเก็บสำเนาไว้กับตัวเองด้วยไหม เออ นั่นสิ บอกแค่ต้องยื่น แล้วต้องทำไงง่ะ
ความจริง ก็คือ มันไม่มีขั้นตอนบอกจริงๆนั่นแหละครับ เพราะว่า สสจ.แต่ละจังหวัดก็มีวิธีการและขั้นตอนไม่เหมือนกัน ในทางทฤษฎีรู้แค่ว่า ต้องยื่นแบบ แบบ จภก. ๑ เพื่อแจ้ง อย. (ในกรณีเป็นเขตกรุงเทพ) หรือ สสจ. (ในกรณีต่างจังหวัด) และแจ้งก่อนอย่างน้อย 1 เดือน เอาแค่นี้ก็มีปัญหาแล้วครับ
อย่างแรก การ fixed เภสัช part time เป็นเรื่องยากพอสมควร บางครั้ง confirm ล่วงหน้ากันแค่วันต่อวันด้วยซ้ำ ยิ่งมี part time หลายคนยิ่งปวดหัวเข้าไปใหญ่ ดังนั้น การยื่นก่อน 1 เดือน จึงเป็นเรื่องลำบาก ทำให้ สสจ.บางจังหวัดยังไม่ซีเรียสเรื่องระยะเวลาตรงนี้ แต่ขอให้ยื่นเพื่อแจ้งล่วงหน้าก่อนก็พอ
อย่างที่สอง ด้วยความที่การลงเภสัช part time เป็นอะไรที่มีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้แบบ real time และการไปที่ สสจ. บ่อยๆก็ไม่สะดวกโดยเฉพาะร้านที่อยู่ไกลๆ ดังนั้น บางจังหวัดเลยอนุโลมให้ยื่นผ่านอีเมลล์ได้ จะได้รวดเร็วและทันการณ์ และบางจังหวัดมีความพยายามถึงขั้นที่ว่าจะทำเป็นแอพหรือเป็นเว็บให้อัพเดทตารางกันแบบ real time เลย (แต่ไม่รู้ว่าทำถึงไหนแล้ว เพราะยังไม่เคยเห็นมีการใช้จริงเหมือนกัน)
ขอเสริมนิดนึงว่า ถ้าเป็นร้านยา chain มักไม่ค่อยมีปัญหา เพราะร้านยาเชนมักจัดตารางเวลาเภสัช part time ได้ล่วงหน้าแบบเดือนต่อเดือนอยู่แล้ว แล้วมักมีผู้ที่รับผิดชอบในการติดต่อกับ อย. โดยตรงอยู่แล้ว (แล้วด้วยความเป็นร้านยาเชน ก็ทำให้โดน อย. เพ่งเล็งมากกว่าเพื่อนด้วยแหละ เลยต้องเป๊ะนิดนึง แต่หลายๆอย่างก็มีอำนาจต่อรองกับ อย. เยอะกว่าร้านยาเดี่ยว ย้อนแย้งอยู่เหมือนกัน 5555)
อย่างที่สาม ยื่นแล้ว จะรู้ได้ไงว่าเรายื่นไปแล้วเวลาโดนตรวจ อันนี้ง่ายหน่อย สสจ.บางจังหวัดใช้วิธีให้เราถ่ายรูปที่มีเลขที่รับคำขอไว้เป็นหลักฐาน แต่บางที่ก็ให้เราสำเนาตัวที่มีเลขคำขอว่าเรามายื่นแล้ว หรือบางจังหวัดก็แค่ให้ทำเอาไว้ 2 ชุด อีกชุดเก็บไว้กับตัว ไว้เป็นหลักฐาน ไม่ต้องยื่นก็มี
อย่างที่สี่ ใครมีหน้าที่ต้องแจ้ง เจ้าของร้านหรือตัวเภสัชผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ อันนี้ตาม พรบ.ยา 2510 มาตรา 33 ทวิ ระบุไว้ว่า “ในกรณีผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในสถานที่ผลิตยา สถานที่ขายยาหรือสถานที่นำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักรไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นการชั่วคราวไม่เกินหกสิบวัน ให้ผู้รับอนุญาตจัดให้ผู้มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในสถานที่นั้น ๆ เข้าปฏิบัติหน้าที่แทนได้ โดยให้ผู้รับอนุญาตแจ้งเป็นหนังสือต่อผู้อนุญาตก่อน และให้ถือว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการตามมาตรา ๓๘ มาตรา ๓๙ มาตรา ๔๐ มาตรา ๔๐ ทวิ มาตรา ๔๑ มาตรา ๔๒ มาตรา ๔๓ หรือมาตรา ๔๔ แล้วแต่กรณี” ดังนั้น ผู้ที่มีหน้าที่ต้องแจ้งคือผู้รับอนุญาตหรือเจ้าของร้าน แต่ว่าในทางปฏิบัติผู้รับอนุญาตบางทีก็เป็นใครไม่รู้ ไม่ใช่เจ้าของตัวจริง เป็นแค่นอมินี หรือตัวเภสัชเองก็ไม่อยากเสี่ยงโดนเรื่องไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 39 ซึ่งมีบทลงโทษตามมาตรา 109 ซึ่งว่ากันตามตรง ไอบทลงโทษตามมาตรา 109 อ่ะไม่เท่าไร แค่ปรับนิดๆหน่อยๆ แต่ปัญหาคือสภาเภสัชเนี่ยแหละ เกิดโดนสภาพักใช้ใบประกอบขึ้นมา ซวยจัดๆ ไม่คุ้มเลย นอกจากนี้เภสัชคนที่มา part time ยังเสี่ยงผิดมาตรา 45 ซึ่งมีบทลงโทษตามมาตรา 110 อีกด้วย
ทีนี้พอเภสัชเสี่ยงซวย เภสัชผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการที่ไม่อยากเสี่ยงปวดหัวก็เลย ทำเอง ยื่นเอง ให้มันจบๆซะเลย ถึงกฎหมายบอกว่าต้องเป็นหน้าที่ของผู้รับอนุญาตก็เถอะ ซึ่งมันจะนำสู้ประเด็นคำถามอย่างถัดมาคือ ถ้าผู้รับอนุญาตไม่ได้มาเองต้องมีหนังสือรับมอบอำนาจไหม? อันนี้ตอบเลยว่า ที่ไหนเป๊ะ ก็ต้องมีด้วย แต่บางที่ก็อลุ่มอล่วย เออๆ มายื่นก็พอใจละ จะมีหรือไม่มีหนังสือค่อยว่ากันอีกที เพราะยังไงก็มีลายเซนต์ผู้รับอนุญาตในแบบ จภก. อยู่แล้วแหละ
อย่างสุดท้าย ยื่นกับใคร อันนี้ถ้าเป็น สสจ. ไม่ยาก เดินเข้าไป หยิบบัตรคิว แล้วถามเลยว่าเรื่องนี้ใครรับผิดชอบ แต่ถ้าเป็นร้านยาในเขตกรุงเทพ ก็ต้องไปยื่นที่กองยา กลุ่มงานใบอนุญาต
เอาละ ไหนๆก็ไหนๆ ขอสรุปขั้นตอนการส่งเอกสาร จภก. สำหรับร้านยาในเขตกรุงเทพที่ต้องยื่นกับ อย. แล้วกัน แต่ถ้าเป็นจังหวัดอื่น แนะนำไปถามกับ สสจ.ประจำจังหวัดโดยตรงชัวร์สุด คงเขียนทุกจังหวัดไม่ไหว เพราะแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกันจริงๆ
สรุปขั้นตอนการส่งเอกสาร จภก. สำหรับร้านยาในเขตกรุงเทพ
- ทำเอกสาร แบบ จภก. 2 ชุด ประกอบไปด้วย เอกสาร จภก. + สำเนาใบประกอบของเภสัชกรที่ปฏิบัติการแทน พร้อมลานเซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง 1 ชุด โดยใน 2 ชุดนี้ ให้ ส่งกองยา (งานใบอนุญาต) 1 ชุด และอีกชุดให้ทำสำรองเก็บไว้แสดงต่อเจ้าหน้าที่กรณีมีเจ้าหน้าที่มาตรวจที่ร้านยา
- ทำเอกสาร จภก. ได้ไม่เกิน 60 วัน เราสามารถเขียนระบุวันที่เภสัชกรมาปฏิบัติการแทนเป็นช่วงเวลา เช่น 1 มกราคม 2566 ถึง วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566
- เอกสารถ้าไม่สะดวกมายื่นด้วยตนเอง ให้ส่งเป็นจดหมายเท่านั้น ยังไม่สามารถส่งเป็นอีเมลล์ได้
โดยถ้าส่งเป็นจดหมาย ให้ส่งมาที่ๆอยู่ “กองยา (งานใบอนุญาต) โทร 025907200 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เลขที่ 88/24 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000”
Share this: