น้องๆหลายคนประสบปัญหาว่าไม่รู้จะเลือกคณะอะไร ไม่รู้ว่าชอบคณะนี้จริงๆหรือเปล่า ซึ่งตอนน้องเลือกคณะจริงๆ มันจะมีทั้งปัจจัยเรื่องอารมณ์ ความรู้สึก เหตุผล มาผัวพันมากมาย สุดท้ายคณะที่น้องเลือก น้องก็เห็นเป็นภาพเบลอๆ ยังไม่ชัวร์ว่าจริงๆเราชอบทางนี้จริงๆหรือเปล่า ซึ่งคราวนี้พี่มีเทคนิคดีๆในการเลือกคณะ ซึ่งจะช่วยทำให้น้องวิเคราะห์ความต้องการของตัวเองได้ละเอียดขึ้น และตัดปัจจัยเรื่องอารมณ์ออกไปได้ วิธีการที่ว่านั้นคือ Decision Matrix
Decision Matrix กับการเลือกคณะ
เห็นชื่อ Matrix สำหรับน้องๆที่ไม่ชอบคณิตศาสตร์ อย่าพึ่งเป็นวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ไปซะก่อน จริงๆแล้วมันง่ายมาก หลายๆคนชอบบ่นว่าเรียน Matrix ไม่เห็นรู้เลยมันเอาไปใช้ทำอะไรได้ วันนี้น้องจะได้ใช้ประโยชน์จากมันละครับ มันช่วยน้องเลือกคณะได้นะเฟ้ย!!!
อย่างแรก น้องสร้างตารางขึ้นมาครับ ใส่คณะที่น้องสนใจไว้ด้านซ๊ายมือ แล้วใส่ความต้องการในชีวิตของน้องไว้ด้านบนของตารางดังรูปครับ
(อันนี้ทำเป็น Thumbnail ไว้ให้กดดูนะครับ เผื่อรูปแรกมันไม่ชัด)
อย่างตารางนี้ พี่มีคณะที่พี่สนใจอยู่ 6 คณะ คือ
– คณะแพทยศาสตร์
– คณะเภสัชศาสตร์
– คณะบริหารธุรกิจ
– คณะเศรษฐศาสตร์
– คณะนิติศาสตร์
– คณะวิศวกรรมศาสตร์
แล้วพี่พิจารณาจากความต้องการใน 11 ด้านของพี่คือ
– มีเวลาให้ครอบครัว
– ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ
– เงินเดือน
– ความปลอดภัยในการใช้ชีวิต
– มีเสน่ห์ต่อเพศตรงข้าม
– มีเกียรติ ได้รับการยอมรับนับถือ
– โอกาสความก้าวหน้า
– ได้เรียนอะไรที่หลากหลาย
– ได้อยู่บ้าน
– ความมั่นคง
– ความรักในอาชีพนั้น
เพราะฉะนั้นการพิจารณาเลือกคณะแบบนี้ น้องมีการบ้านที่น้องจะต้องไปทำก่อนใช้วิธีนี้คือ
- พิจารณาว่า น้องสนใจในคณะไหนบ้าง
- พิจารณาว่า น้องมีความต้องการอะไรในชีวิตบ้าง หรือน้องอยากจะมีชีวิตแบบไหน
- ศึกษาข้อมูลในแต่ละคณะให้ละเอียด เพื่อที่จะได้กรอกคะแนนในแต่ละด้านของความต้องการให้ถูกต้องตามความเป็นจริง (ซึ่งคะแนนที่ให้ขึ้นอยู่กับจริตของน้องด้วยนะครับ)
ในส่วนของคะแนนเต็ม น้องอาจจะให้น้ำหนักคะแนนไม่เท่ากัน ขึ้นกับว่าน้องให้ความสำคัญกับความต้องการอันไหนในชีวิต หรือเรื่องไหนที่น้องให้ความสำคัญ และตอบโจทย์ในชีวิตน้องมากกว่าน้องก็ให้น้ำหนักตรงนั้นเยอะ อย่างของพี่ พี่ให้น้ำหนักเรื่องความรักในอาชีพนั้นมากที่สุด พี่เลยกำหนดคะแนนเต็มถึง 20 คะแนน หรือน้องอาจจะกำหนดคะแนนเต็มเท่ากัน แต่ปรับด้วยตัวคูณ (Multiplier) ไปก็ได้ เช่น อันไหนที่น้องให้น้ำหนักเยอะ คะแนนอันนั้นก็อาจคูณด้วย 2 หรือ 3 เป็นต้น
ในส่วนของคะแนนรวมนั้น น้องอาจใช้การบวกหรือการคูณก็ได้ อย่างตัวอย่างที่พี่ใช้ พี่ใช้การบวก แต่ถ้าคะแนนมันใกล้เคียงกันมาก จนน้องมองเห็นความต่างของแต่ละอันไม่ชัดเจนน้องก็ใช้การคูณครับ
ทีนี้ เมื่อได้คะแนนรวมแล้ว น้องก็จะเห็นว่าคณะไหน ตอบโจทย์ความต้องการโดยรวมในชีวิตน้องมากที่สุด แล้วน้องก็จะเห็นภาพในแต่ละ column ด้วยว่า คณะนั้นตอบโจทย์เรื่องไหนในชีวิตของน้องดีกว่ากัน
เป็นไงบ้างครับกับวิธี Decision Matrix วิธีนี้เหมาะสำหรับการพิจารณาที่มีหลายตัวเลือกและความต้องการหลายๆด้านไปพร้อมๆกัน นอกจากวิธีนี้จะช่วยในการเลือกคณะได้แล้ว น้องยังสามารถประยุกต์ใช้วิธีนี้กับอย่างอื่นได้อีก เช่น เลือกงานที่ทำ, เลือกสถานที่ทำงาน, พิจารณาโปรเจคที่ต้องเลือกทำ และอื่นๆอีกมากมายครับ ข้อดีของวิธีนี้คือทำให้ได้สิ่งที่เราต้องการมากที่สุด ตามปัจจัยที่เรากำหนดไว้ โดยตัดตัวแปรเรื่องอารมณ์ออกไปได้เยอะมาก แต่ข้อเสียก็คือวิธีนี้เป็นการมองจากข้างนอกเข้ามาหาตัวเอง ว่าสิ่งนั้นตอบโจทย์อะไรให้ตัวเองได้บ้าง แต่ไม่ได้เป็นการมองจากข้างในออกสู่ข้างนอกว่าตัวเองถนัดเรื่องอะไรครับ ซึ่งก็สามารถแก้ปัญหาได้โดยเอาเรื่องความถนัดเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ต้องพิจารณาในช่องความต้องการ แต่การทำแบบนั้นน้องก็ต้องรู้จักตัวเองเป็นอย่างดีว่าน้องถนัดเรื่องนี้จริงไหม
มีวิธีอีกหลายวิธีที่ช่วยให้น้องเลือกคณะได้ ถ้าเป็นอาจารย์แนะแนวจะชอบให้น้องทำแบบทดสอบจิตวิทยา ค้นหาบุคลิกภาพ แล้วก็บอกว่าบุคลิกแบบนี้ เหมาะกับอาชีพนี้ ซึ่งจริงๆก็เป็นวิธีที่ดีครับ การพิจารณาที่ดีที่สุดก็ควรใช้หลายๆวิธีประกอบกัน แต่ส่วนตัวแล้วพี่ชอบวิธี Decision Matrix มากที่สุดครับ เพราะพี่เลือกที่จะ design ชีวิตตัวเอง กำหนดรูปแบบความต้องการและการใช้ชีวิตของพี่เองว่าชอบแบบไหน มากกว่าให้น้ำหนักกับสิ่งที่พี่ถนัดครับ มันก็เหมือนน้องต้องเลือกระหว่าง คนที่รักน้อง กับคนที่น้องรักแหละครับ แต่พี่เลือกคนที่รักครับ และเผอิญคนๆนั้นเค้าก็รักพี่ด้วย ก็เลย Happy Ending
Share this: