จริงๆ วัตถุประสงค์ของ TCAS เรื่องวัดใจเด็กเก่ง บีบให้เลือกว่าจะเอาตอนรอบไหน คือ ถ้าเลือกเร็วไปอาจเสียโอกาสในรอบหลัง แต่ถ้าช้าไปอาจเสียของดีในรอบแรก จะว่าไป มันก็ไม่ได้ถูกทั้งหมด แต่ก็ไม่ได้ผิดซะทีเดียว
Entrance
สมัยก่อน entrance วัดกันรอบเดียวไปเลย ใครได้คะแนนเยอะก็เลือกคณะดีๆไป แต่ยังไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไร เพราะเด็กเยอะกว่าที่นั่งในมหาลัยมาก ยังไงก็มีคนเรียนเต็มทุกคณะ
Admission
ต่อมา admission ตอนนั้นเด็กยังเยอะอยู่ แต่ที่นั่งในมหาลัยก็เพิ่มขึ้นตาม
ตอน admission ในช่วงแรก เกิดปัญหาว่า มหาลัยต่างๆไม่เชื่อถือระบบ admission จึงเกิดระบบรับตรงของตนเองขึ้นมากมาย คราวนี้ก็กลายเป็นว่า มีการเปิดให้สมัครหลายๆรอบ แตกย่อยโครงการต่างๆ เก็บเงินค่าสมัคร ค่าสอบกันมากมาย ประกอบกับเป็นช่วงที่มหาลัยออกนอกระบบเยอะมาก มหาลัยเองต้องพยายามหารายได้ และเป็นช่วงที่ภาคพิเศษเกิดขึ้นเยอะมาก
คราวนี้ ปัญหาเกิด เพราะเด็กที่มีความพร้อม สอบได้หลายแห่ง สอบได้ก็กั๊กที่ไว้ เพื่อรอเลือกที่ๆดีที่สุด จึงเกิดระบบ clearing house เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แรกเริ่มเดิมที clearing house ใช้เฉพาะมหาลัยที่ร่วมมือกัน จับมือเพื่อแก้ปัญหาเด็กลงทับซ้อนกับมหาลัยพันธมิตร ต่อมาจึงมีการตัดสิทธิใน admission ด้วย แต่ระบบ clearing house นี้ ยังเป็นระบบสมัครใจ มีอีกหลายโครงการที่ไม่เข้าร่วม clearing house ประกอบกับช่วงท้ายของระบบ admission เด็กเริ่มน้อยลงมาก แต่ที่นั่งในมหาลัยยังคงเพิ่มขึ้นไม่หยุด ทำให้มหาลัยเล็กๆ หรือคณะที่ไม่เป็นที่นิยมเริ่มขาดแคลนเด็กไปเรียน รวมถึงขาดคนเก่งๆไปเรียน เพื่อแก้ปัญหานี้จึงเกิดระบบ tcas ขึ้นมา
TCAS
อย่างที่น้องเห็นครับ tcas รับเป็นรอบๆ จึงวัดใจเด็กพอสมควรว่า จะเลือกรอบไหน น้องลองสังเกตดูก็ได้ว่า ทุกมหาลัยพยายามวางกลยุทธเพื่อดึงเด็กเก่ง และเด็กระดับ talent ให้มาอยู่กับตัวเองตั้งแต่รอบแรกๆกันทั้งนั้น ถ้าทำแบบนี้ มหาลัยเล็กๆ หากวางกลยุทธได้ดี ก็จะยังมีเด็กระดับ talent ไปเรียนอยู่เรื่อยๆ
ถ้ายังจำกันได้ ตอนออกข่าว tcas มาครั้งแรกๆ คือออกมาบอกว่าจะรื้อระบบ entrance ตอนนั้น ราชภัฏ กับ เทคโน รีบออกตัวทันทีว่า จะไม่เข้าร่วมระบบใหม่นี้ แต่จะขอรับกันเอง ซึ่งเค้าก็ให้เหตุผลชัดเจนว่า ถ้าวัดแบบ entrance จะไม่มีเด็กเก่งๆเหลือถึงเค้า แต่เค้าก็จำเป็นต้องมีเด็กเก่งๆไปเรียนเหมือนกัน
ต่อมา พอระบบเริ่มชัดเจนขึ้น ราชภัฏ กับ เทคโน ก็เข้าร่วมระบบใหม่นี้ แต่ขอไม่เข้าร่วมรอบ 4 คือ admission โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะช่วงนั้นเปิดภาคเรียนแล้ว แต่ถ้าน้องพิจารณาให้ดีๆก็จะเห็นว่า มหาลัยเล็กๆทุกแห่ง พยายามหนีรอบ 4 อยู่แล้ว เพราะเป็นรอบที่ตนเองเสียเปรียบ ม.ใหญ่ๆ ในการดึงเด็กมาร่วมเข้าร่วม
(แต่ในอนาคตก็ไม่แน่นะ เมื่อเด็กน้อยลงมาก ก็อาจต้องมารับรอบ 4 ด้วย เพราะรอบ 4 เป็นรอบที่มีเด็กเข้าสู่สนามสอบเยอะที่สุดแล้ว)
มองในแง่ดี พี่ว่าระบบนี้ก็น่าจะทำให้น้องสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้นเมื่อติดในคณะที่ตัวเองอยากเรียนแล้ว ไม่ต้องมาพะวงหน้าพะวงหลัง หรือรักพี่เสียดายน้องเมื่อน้องมีคะแนนสูงพอจะเข้าในคณะยอดนิยม
ส่งท้าย
ส่วนเรื่องดึง talent ไม่ใช่เรื่องเล่นๆนะครับ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เรามีเด็กรุ่นละ 1.3 ล้านคน มี iq เฉลี่ย 100 ถ้าเรามองว่า iq ที่ 130+ คือ talent ในทางสถิติ จะพบว่าเมื่อ iq เฉลี่ยที่ 100 จะมีคน iq 130+ อยู่ประมาณ 5% หรือราวๆ 65000 คนต่อปี แต่ข้อมูลล่าสุด iq เฉลี่ยเด็กไทยเราเหลือประมาณ 90 (ถึงแม้ว่าส่วนตัวพี่จะไม่เคยเชื่อถือระบบวัด iq ในเด็กไทยก็เหอะ) ถ้าเด็กไทย iq เฉลี่ย 90 จะมีเหลือเด็กที่ iq 130+ แค่ 1% เท่านั้นนะครับ แล้วปัจจุบัน เด็กรุ่นนึงเรามีแค่ 6 – 8 แสนคนเท่านั้น (ในขณะที่อนาคตใน 10 ปีนี้ กำลังจะเหลือแค่ 5 แสน) หมายความว่าเราเหลือ talent แค่ 6000 – 8000 คนต่อรุ่นเท่านั้นเอง ซ้ำร้าย ที่ iq เฉลี่ย 90 เราจะมีคนที่ iq ต่ำกว่า 80% อยู่ถึง 5% ซึ่งหมายความว่าเรามีคนที่ฉลาดกว่าลิงชิมแพนซีแค่นิดเดียวอยู่ถึง 5%
แต่เอาเถอะ ยังไงซะ iq ไม่ได้สัมพันธ์กับเรื่องประสบความสำเร็จสักหน่อยนินา การพูดถึงแต่ iq ก็เป็นการมองแค่มิติเดียวเกินไปหน่อย
ที่แน่ๆ ในอนาคต คณะดีในมหาลัยดังๆคงไม่มีปัญหา แต่กับคณะที่ความนิยมน้อยๆหรือมหาลัยเล็กๆ ศึกแย่งชิงเด็กมาเรียนจะดุเดือดมากแน่นอนครับ
ปล.เรื่องมหาลัยออกนอกระบบ ทุกมหาลัยจะพูดเหมือนกันว่า ค่าเทอมไม่จำเป็นต้องแพงขึ้น แต่จะมีข้อดีในเรื่องของการบริหารที่รวดเร็วและเป็นอิสระมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เราก็ได้ให้เห็นแล้วว่า มีมหาลัยแค่ 10% เท่านั้นที่สามารถตรึงค่าเทอมไม่ให้แพงขึ้นกว่าเดิมมาก (คือไม่ได้แพงเร็วกว่าอัตราเงินเฟ้อ) ส่วนที่เหลือ ทำไม่ได้ครับ ขึ้นค่าเทอมกันในระดับ 100-300% เลย
Share this: