เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้วมีโอกาสได้กลับบ้านที่ต่างจังหวัด เห็นหนังสือ “เป็นเภสัชกร ง่ายนิดเดียว” จากฮับ สำนักพิมพ์ในเครือ ยิปซี กรุ๊ป วางขายอยู่ พี่อยากรู้ว่าเป็นยังไงเลยตัดสินใจซื้อมาซะหน่อย เผื่อมีเวลาว่างๆมาอ่านเล่น และวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมาก็ได้ฤกษ์งามยามดี ว่างอ่านสักที อ่านคร่าวๆ 4 ชั่วโมงจบ
อันที่จริง ไม่คิดว่าตัวเองจะอดทนอ่านได้จบด้วยซ้ำ ฮ่าๆๆๆๆๆ
ส่วนตัวแล้ว ผิดหวังมากครับ เดี๋ยวจะอธิบายต่อไปว่าเพราะอะไร
อย่างแรกที่เห็นเลยนะครับ คือ พี่มั่นใจว่าคนเขียนไม่ใช่เภสัชกรแน่นอน เพราะเข้าใจอะไรหลายๆอย่างคลาดเคลื่อนไปมาก หลุดโฟกัสไปในหลายๆจุด ทำไมพี่ถึงพูดเช่นนั้น ลองมาดูกันครับ
สารบัญ
พอเปิดมาหน้าสารบัญจะเห็นอะไรแปลกๆตรงสาขาวิชาชีพของเภสัชกรรม คนเขียนสับสนอย่างมากระหว่างสายงาน กลุ่มวิชา ภาควิชา และสาขาต่างๆของวิชาชีพเภสัช ยำกันมั่วไปหมด
นิยาม ความหมาย
พอมาถึงเนื้อหาหน้าแรก ผู้เขียนไปเอาความหมายของคณะเภสัชศาสตร์ โดยอิงจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2542 ซึ่งตรงนี้ ถามว่าผิดไหม ก็ไม่ผิดครับ แต่ถ้าเป็นเภสัชกรจริงๆ เค้าจะชอบไปเอานิยามความหมายวิชาชีพเภสัชกรรมมาจาก พ.ร.บ. วิชาชีพเภสัชกรรมมาอ้างอิงมากกว่า เพราะบ่งบอกถึงบทบาทหน้าที่ตามกฏหมายได้ชัดเจน
ประวัติวิชาชีพ
ในส่วนของประวัติของวิชาชีพนั้น เอาจริงๆก็คือไปโฟกัสผิดจุด ผู้เขียนให้ความสำคัญกับ กาเลน อย่างมาก แต่คนที่เป็นสัญลักษณ์และเป็นที่รู้จักกว่าอย่าง ฮิปโปเครติส กลับถูกให้ความสำคัญน้อยกว่า และในประวัตินั้นไม่พูดถึงเทพธิดาไฮเจียเลย การเรียงลำดับ timeline และลำดับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ก็มีปัญหาเหมือนยังสับสนอยู่
จากที่ไปค้นในกูเกิ้ล พี่ค่อนข้างมั่นใจว่าผู้เขียน ไปเอาข้อมูลมาจาก https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%A0%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8A%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C แต่ยังขาดความเข้าใจ ทำให้ตัดต่อมาผิดจุด ส่วนสำคัญดันตัดทิ้ง ส่วนไม่สำคัญดันไปโฟกัส
สัญลักษณ์วิชาชีพ
ผู้เขียน focus ไปที่เฉลว โดยให้เหตุผลว่าเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงยันต์ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับยา และเภสัชกรรมสมาคมเอาสัญลักษณ์นี้ไปใช้ พี่ขออธิบายดังนี้นะครับ สัญลักษณ์วิชาชีพเภสัชกรรมจริงๆแล้วมีหลายสัญลักษณ์มาก สัญลักษณ์ที่เป็นสากลและใช้กันบ่อยๆคือ ถ้วยยาไฮเจีย กับ Rx ซึ่งถ้วยยาไฮเจียเป็นสัญลักษณ์ของสภาเภสัชกรรมด้วย (น่าพูดถึงกว่าเภสัชกรรมสมาคมอีก) ในส่วนของเฉลวนั้นเป็นสัญลักษณ์ของเภสัชกรรมไทย สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ เวลาเค้าต้มยาในสมัยก่อน เค้ามักจะเขียนสัญลักษณ์เฉลวไว้ที่ข้างหม้อยา หรือบางครั้งก็พับเฉลวปักลงไปในหม้อยา โดยมีความเชื่อว่าสัญลักษณ์เฉลว สามารถป้องกันสิ่งชั่วร้ายต่างๆได้ ในส่วนของสัญลักษณ์สากลที่ผู้เขียนกล่าวถึง ผู้เขียนเขียนถึง คทางูไขว้ด้วย ซึ่งความจริงแล้วไม่ถูกต้อง คฑางูไขว้ จะใช้กันในทางการแพทย์รวมๆ ไม่ได้ใช้กับเภสัชกรรมเป็นการเฉพาะ โดยมากมักใช้กับคณะแพทย์และสาธารณสุขมากกว่า ถ้าอ่านประวัติเรื่องคทาจริงๆ อ่านได้ในนี้ครับ https://www.doctor.or.th/clinic/detail/6957
การแต่งกาย
การแต่งกายจริงๆนั้นจะแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละมหาวิทยาลัย แต่จุดที่เขียนผิดก็คือในส่วนของนักศึกษาปี 5 – 6 ผู้เขียนบอกว่าสวมเสื้อกราวน์สั้นทับเสื้อนักศึกษา ความจริงแล้วใส่แค่กราวน์สั้นไม่ต้องทับเสื้อนักศึกษานะครับ
ขอบเขตของวิชาเภสัชศาสตร์
ตรงนี้เขียนได้เกือบดีแล้ว ยกเว้น เภสัชศาสตร์ก็คือการศึกษาเกี่ยวกับสารเคมีใดๆที่มีผลต่อร่างกายมนุษย์ ตรงข้อมูลในส่วนนี้ คาดว่าผู้เขียนตัดต่อมาจาก http://www.vcharkarn.com/blog/99796 ซึ่งการนิยามอะไรแบบนี้ ควรอิงจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานมากกว่า คือไปตัดเค้ามา แต่ตัดไม่หมดอ่ะครับ จริงๆพิมพ์ก่อนว่า เภสัชศาสตร์ คือศิลปะในแขนงวิทยาศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับการปรุงผสม ผลิตและจ่ายยา รวมทั้งการเลือกสรรคุณภาพของยา เวชภัณฑ์ต่างๆ ตลอดจนข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บริการ และให้คำปรึกษาที่เหมาะสม ตรวจสอบทบทวนการใช้ยา พร้อมทั้งติดตามดูแลการใช้ยาของผู้ป่วย แล้วค่อยสรุป อันนี้ไปตัดสรุปมาเลย ความหมายเลยผิดเพี้ยนไปไกลโข
วิชาเรียน
ตรงกลุ่มวิชาทั่วไป ไม่ได้มีอะไรเจาะลึกไปในภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ นิเทศเภสัชแต่อย่างใด
กลุ่มวิชาชีพ อธิบายชื่อวิชาได้ดีแล้ว แต่ปีสูงๆไม่ได้เน้นไปทางชีววิทยาและเคมี อันนั้นมันพื้นฐาน จะย้อนกลับทำไม?
หลักเภสัช 4 ประการ กับ หลักในการพิจารณา 5 ประการ เป็นของแพทย์แผนไทย เป็นเนื้อหาที่อยู่ๆก็ยัดมาแบบงงๆ
ข้อดีของการเป็นเภสัช
อันนี้แล้วแต่มุมมองของแต่ละคนเลยครับ ^^
วิชาที่ต้องเจอในขณะเรียน
ในส่วนของปี 1 เทอม 1 ก็โอเคครับ (ดูรู้เลยว่าเอามาจากหลักสูตรของ มข.) ส่วนปีหลังๆ ตัดๆมา เอามาไม่ครบครับ ตัดวิชาสำคัญออกไปเยอะมาก ส่วนคำอธิบายรายวิชา…. เอาเป็นว่า อ่านจากในนี้ละกันครับ http://rune.exteen.com/20081003/tag คนเขียนก็อปๆและตัดๆมาจากในบล็อกนี้แหละ เขียนเหมือนกัน เป๊ะ
เรียนเภสัชกรแล้วทำงานอะไรได้บ้าง
ที่เค้าเขียนมา ไม่ผิดหรอกครับ แต่เค้าหลุดโฟกัสไปไกล งานที่เป็นงานหลักของเภสัชจริงๆดันไม่พูดถึง แต่ไปพูดงานอย่าง ผู้แทนขายวัตถุดิบ เครื่องมือ และผลิตภัณฑ์ทางวิทยาสตร์เครื่องสำอาง ซึ่งมีเภสัชทำครับ แต่เภสัชน้อยคนที่จะไปทำ ในขณะที่เภสัชกรโรงงานยา ไม่มีการพูดถึงเลย
หลักสูตรมาตรฐานที่ใช้เรียนคณะเภสัชศาสตร์
ไปก็อปมาจาก https://sites.google.com/site/jidapadumnil4/hlaksutr-kar-reiyn-phesachsastr ทั้งดุ้นเลยครับ แล้ว Pharmacognosy ไม่ดูเลยว่า ตัวเองใช้คำว่า เภสัชเวท หรือ เภสัชวินิจฉัย ไป ใช้ 2 คำนี้สลับกันทั้งเล่ม
สถาบันที่เปิดสอนคณะเภสัชศาสตร์
ของ มข. ไปเอาชื่อภาควิชามาใส่เป็นสาขาของหลักสูตร ส่วนของ ม.อุบล สาขาบริบาลหาย
ลักษณะการเรียนการสอนในคณะเภสัชศาสตร์
ที่ผิดเต็มๆเลยคือเขียนว่ามีหลักสูตร 5 ปี กับ 6 ปี ครับ พี่ไปดูปีที่พิมพ์ พิมพ์ปี 2557 ซึ่งตอนนั้นไม่มีหลักสูตร 6 ปี แล้ว แสดงว่าคนเขียนไม่ได้ทำการบ้านมาดีพอ
คุณสมบัติของเภสัชกร
อันนี้แล้วแต่เลยครับ ไม่มีถูก ไม่มีผิด คุณลักษณะของเภสัชกรมีหลายแบบ แต่ละแบบก็เหมาะสมกับงานแต่ละประเภทแตกต่างกันไป
จรรยาเภสัช
เอ้ย มั่วแล้ว เภสัชแผนปัจจุบันมีแต่จรรยาบรรณเภสัชครับ จรรยาเภสัช 5 ประการนั่นของเภสัชแผนโบราณครับ
ความหมายของวิชาชีพเภสัชกรรม
ผิดเต็มๆครับ ลองดูที่หนังสือเค้าเขียนนะ เขียนว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ การดำเนินการปรุงยา และการขายยาตามกฏหมายว่าด้วยยา” เอ้ย ทันตกรรม กับ บำบัดโรคสัตว์มาจากไหน ถ้าเภสัชเทพขนาดนั้น คงได้เป็น ทันตเภสัชตวแพทย์แล้ว ฮ่าๆๆๆๆๆ
สาขาของวิชาชีพเภสัชกรรม
อย่างที่บอกไปตั้งแต่สารบัญว่า คนเขียนสับสนอย่างมากระหว่างสายงาน กลุ่มวิชา ภาควิชา และสาขาต่างๆของวิชาชีพเภสัช ยำกันมั่วไปหมด และก็มั่วจริงๆ อย่างเขียนถึงเภสัชกรโรงพยาบาลแล้ว มีเขียนถึงเภสัชกรคลินิกอีก? แล้วยังมีเภสัชกรรมคลินิกอีกต่างหาก ส่วนที่ว่า Doctor of Pharmacy คือ หมอยา ก็ผิดครับ หมอยาเป็นชื่อเรียกเดิมๆของไทย ไม่เกี่ยวกับคำว่า Doctor of Pharmacy แต่อย่างใด แล้วไม่เกี่ยวด้วยว่าเป็น หมอยา แล้วสามารถราวน์วอร์ดกับหมอได้ หรือในประเด็นอย่างเภสัชชุมชน ถ้าตำแหน่งเภสัชเค้าเรียกว่า เภสัชกรประจำร้านยา ส่วนลูกจ้าง ก็คือลูกจ้างจริงๆในร้านยาจริงๆอีกทีนึงของเภสัชกรนะครับ แม้แต่ เภสัชกรการตลาด หนึ่งในสายงานของเภสัชกรการตลาดคือเป็นดีเทลยา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ Detailed Pharmacy แต่อย่างใด (บนโลกนี้มีคำว่า Detailed Pharmacy ด้วยหรอ?) แล้วดีเทลยาไม่ได้หมายความว่าขายได้เฉพาะโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ร้านยาไปขายไม่ได้ ไม่เกี่ยวกันเลยครับ แล้วตำแหน่ง RM กับ DMS ของเภสัชคืออะไร? อันนี้ไม่รู้จริงๆครับ พอละ เอาเป็นว่าบทนี้อย่าอ่านเลย ผิดเยอะมาก
ปล.ชีวสมมูลไม่ได้ศึกษาดูการละลายของตัวยาครับ การละลายมัน Dissolution
หน้าที่ของเภสัชกร
- Pharmacokinetic evaluation ไม่ใช่ประเมินผลการเคลื่อนไหวของยาในผู้ป่วยครับ มันคือ การประเมินผลทางเภสัชจลนศาสตร์
- Pharmaceutical care ไม่ได้หมายความว่า ดูแล จัดเตรียม จัดหา และรักษาเภสัชภัณฑ์ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานครับ
- การวิเคราะห์ %LA ของยา Amoxycillin นักวิทยาศาสตร์ก็ทำได้ครับ ไปเขียนว่าเค้าทำไม่ได้เดี๋ยวเค้าไม่พอใจเอานะครับ เพียงแต่เภสัชกรต้องเป็นผู้เซ็นต์รับรองและปล่อยผ่านยาครับ
การทำงานและทิศทางวิชาชีพ
ไปตัดๆวางๆมาจาก http://www.pharmacy.psu.ac.th/undergrad/index.php?option=com_content&view=article&id=49&Itemid=59 (จริงๆไม่ตัดหรอก ก็อปมาทั้งดุ้นเลย แล้วมาปรับสี ปรับขนาดอักษรบางส่วนให้ดูเหมือนสำคัญ แต่จริงๆแล้วทำให้ความหมายผิดเพี้ยนจากเจตนาของผู้เขียนบทความต้นฉบับ)
โอกาสในการทำงานและความก้าวหน้าในสายอาชีพ
มีจุดผิดเล็กๆน้อยๆหลายจุด อย่างผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นข้าราชการในโรงพยาบาลทั่วไปในองค์การเภสัชกรรม คือ คนทำงานในองค์การเภสัชกรรมไม่ได้เป็นทั้งข้าราชการ ไม่เกี่ยวอะไรกับโรงพยาบาลนะครับ และที่บอกว่าเภสัชกรต้องได้รับอนุญาตจากองค์การเภสัขกรรมก่อน ความจริง องค์การเภสัชกรรมไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการอนุญาตหรือไม่อนุญาตกับเภสัชกรเลย ส่วนการจดสูตรยานั้นไม่ใช่การจดลิขสิทธิ์ครับ ไม่เกี่ยวกันเลย ถ้าค้นพบตัวยาใหม่ได้เค้าจะจดสิทธิบัตรครับ แต่ถ้าต้องการจดสูตรยาเพื่อผลิตขายเค้าจะต้องไปขึ้นทะเบียนยา การเปิดร้านยาต้องเป็นเภสัชกร ซึ่งการเป็นเภสัชกรต้องจบเภสัชศาสตร์ ป.ตรี เท่านั้นนะครับ การจบ ป.โท ป.เอก ในปริญญาเภสัชไม่ได้ทำให้เป็นเภสัชกรและเปิดร้านยาได้แต่อย่างใด
การสัมภาษณ์งาน
ก็อปมาจาก http://competencyrx.com/index.php?option=com_content&view=article&id=109:howtoapplyhosptalpharmacist&catid=36:2010-03-22-06-42-42&Itemid=65 เลยครับ
สรุป
โดยสรุปแล้วผู้เขียนไม่ได้มีความเข้าใจในเภสัชกรรม เภสัชศาสตร์ แต่อย่างใด อาศัยไปคัดลอกบทความที่คนอื่นเคยเขียนไว้ แล้วตัดๆมา ซึ่งก็ตัดด้วยความไม่เข้าใจ ทำให้บางอย่างหลุด focus บางอย่างความหมายผิดเพี้ยนไป บางอย่างเค้าเขียนอธิบายเล่นๆแบบไม่เป็นทางการ ก็ยึดมาเป็นนิยามซะเป็นทางการ ถ้าน้องอ่านเล่นเพื่อให้เห็นภาพรวมคร่าวๆก็พอได้ แต่ก็อ่านบทความของพี่เพื่อเป็น antivirus ประกอบไปด้วย ใครที่ซื้อมาแล้วและอ่านไปแล้ว ก็อ่านของบทความนี้เพื่อเป็น antivirus ให้กับตัวน้องไป จริงๆพี่ก็ไม่ได้เก็บรายละเอียดทั้งหมด เพราะพี่ก็อ่านรีบๆ 4 ชั่วโมงจบ สำหรับคนที่คิดจะซื้อ หนังสือเล่มนี้ราคา 180 บาทครับ พิจารณาเอาเองว่าคุุ้มหรือเปล่า หนังสือแนะนำวิชาชีพเภสัช ส่วนตัวพี่เคยแอบอ่านหนังสือชื่อ born to be เภสัชกร (ประมาณนี้ ไม่แน่ใจว่าพิมพ์ถูกหรือเปล่า)ที่ร้านหนังสือ เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว พี่ว่าหนังสือเล่มนั้นเขียนดีเลยครับ เขียนโดยเข้าใจวิชาชีพเภสัชกรรมจริงๆ แต่ตอนนั้น งก ก็เลยยืนอ่านฟรี ไม่ได้ซื้อเอาไว้ ไม่รู้ตอนนี้ยังมีขายอยู่หรือเปล่า (ถ้ายังมีอยู่บอกด้วยนะครับ พี่จะซื้อมาอ่านละเอียดๆอีกรอบนึง)
Share this: