น้องคงเคยได้ยินเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจที่ประมาณว่า บ้านยากจน หรืออยู่ในครอบครัวที่ไม่พร้อม แต่กัดฟันอดทนต่อสู้จนประสบความสำเร็จ มีธุรกิจร้อยล้าน อะไรประมาณนี้ แต่ในคลิปที่พี่ยกมานี้ ไม่ใช่ แบบนั้นครับ
คนในคลิปเค้าก็แค่ทำในสิ่งที่เค้ารัก นั่นคือ “พับกระดาษ”
พี่เชื่อว่าน้องๆหลายคนก็เคยมีช่วงเวลาที่มีความสุขกับการพับจรวด นก ดาว หรือดอกไม้อะไรทำนองนั้น พี่ก็เคยชอบพับจรวดเล่นมาก สุดท้ายโดนครูตีเพราะทำห้องรกไปด้วยเศษกระดาษ พร้อมกับความผิดข้อหาทำโลกร้อน
คนในคลิปนี้คือ Robert Lang
Robert ในวัยเด็ก เค้าก็เหมือนเด็กคนอื่นๆที่ชอบพับกระดาษ เค้าเกิดมาในครอบครัวที่สมบูรณ์ แถมยังเรียนเก่ง(มากๆ)อีกต่างหาก เค้าเรียนจบวิศวกรรมไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัย stanford จบ ป.เอกที่สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย จากนั้นก็ทำงานเป็นนักวิจัยด้านไฟเบอร์ออพติก แต่สิ่งที่เค้าแตกต่างจากคนอื่นจริงๆเลยก็คือ เค้าหลงไหลการพับกระดาษมาก
ลองนึกภาพนักวิจัยจบ ป.เอก มานั่งพับกระดาษเล่นดูสิครับ มันคงแปลกพิลึก แต่นั่นคือ Robert แหละ
เมื่อศิลปะการพับกระดาษ ผสานกับคณิตศาสตร์
แต่แล้ววันนึง ระหว่างที่เค้าพับกระดาษเล่นๆ เค้าก็มองเห็นความสัมพันธ์บางอย่าง เค้ามองเห็นรูปแบบการพับกระดาษว่ามีอยู่ไม่กี่รูปแบบ จากนั้นก็นำมาผนวกเข้ากับความรู้ทางคณิตศาสตร์ และเขียนโปรแกรมที่ช่วยให้สามารถพับกระดาษในรูปแบบที่ไม่เคยมีใครพับได้มาก่อนขึ้นมา
ปกติแล้วการพับกระดาษที่พับกันอยู่จะมีการพับทบกันเฉลี่ยอยู่ที่ 30 ทบ แต่ด้วยโปรแกรมของ Robert ทำให้สามารถพับกระดาษได้เป็น 100 ทบ บางอันพับเป็น 1000 ทบ ก็มี ทำให้สามารถพับกระดาษเป็นรูปร่างต่างๆที่มันละเอียดและดูน่าทึ่งมาก ว่ามันพับโดยใช้กระดาษแค่แผ่นเดียวได้ยังไง
ใช่ครับ รูปที่เห็นในคลิปนี้ พับโดยใช้กระดาษแค่แผ่นเดียวทั้งนั้น
ตอนอายุ 40 ในระหว่างที่อาชีพนักวิจัยเค้ากำลังรุ่งโรจน์ (รุ่งขนาดเป็นเจ้าของสิทธิบัตรด้านออพโตอิเล็กโทรนิกส์ถึง 46 ใบ) เค้าก็ตัดสินใจลาออก
เค้าลาออกด้วยเหตุผลที่ว่า “มีคนทำงานด้านไฟเบอร์ออพติกเยอะแยะ แต่ยังไม่มีใครทำงานด้านพับกระดาษจริงๆจังๆสักคน ถ้าผมไม่ทำ อาจไม่มีใครในโลกนี้ที่สามารถทำได้สำเร็จเลยก็ได้”
และ Robert คิดถูกครับ เค้าทำสำเร็จจริงๆ ลองมาดูกันว่าศาสตร์การพับกระดาษของเค้าเปลี่ยนโลกได้ยังไงบ้าง
“เมื่อ NASA จะส่งเลนส์ของกล้องส่องทางไกลขนาดมหึมาไปบนอวกาศ Robert ก็เป็นที่ปรึกษาในการออกแบบเลนส์ให้อยู่ในลักษณะที่ถูกพับ จนเล็กพบที่จะเก็บในจรวด แล้วไปกางอีกทีในอวกาศ”
“เมื่อผู้ผลิตถุงลงนิรภัยต้องการพับถุงลมให้อยู่แบบที่สามารถกางออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เค้าก็มาปรึกษา Robert”
“เมื่อผู้ผลิตยาและอุปกรณ์การแพทย์ต้องการเครื่องมือที่มีขนาดเล็กเมื่ออยู่ในหลอดเลือด แต่กางออกเมื่อถึงตำแหน่งเป้าหมาย เค้าก็มาขอให้ Robert ช่วยออกแบบให้”
จะเห็นว่าเส้นทาง Robert นั้น ไม่ได้ปากกัดตีนถีบ ต่อสู้กับความยากลำบาก โดนดูถูก หรือถูกปฎิเสธจากบริษัทยักษ์ใหญ่ อีกทั้งเค้าไม่ได้เป็นยอดอัจฉริยะของโลก สิ่งที่ Robert ทำ ก็แค่เอา “สิ่งที่เค้ารัก” ผสานเค้ากับศาสตร์ที่เค้าเรียนมาอย่าง “คณิตศาสตร์” เท่านั้นเอง
แล้วน้องล่ะครับ มีสิ่งที่น้องรักหรือหลงไหลมันหรือเปล่า ไม่แน่นะครับ วันนึงมันอาจหลอมรวมกัน แล้วกลายเป็นสิ่งอัศจรรย์ที่น่าทึ่งขึ้นมาก็ได้
Share this: