คราวก่อนพี่เคยเขียนเรื่อง แนะนำวิธีการเลือกคณะโดยใช้ Decision Matrix ซึ่งจุดเด่นของวิธีนี้คือทำให้ได้สิ่งที่เราต้องการมากที่สุดตามปัจจัยที่เรากำหนดไว้โดยตัดตัวแปรเรื่องอารมณ์ออกไปได้เยอะมาก และเป็นวิธีที่พี่ชอบมากที่สุดด้วย เพราะเราสามารถกำหนดปัจจัยต่างๆที่ต้องการด้วยตัวเองได้ อย่างไรก็ตาม คนที่ใช้วิธีนี้ได้ต้องเข้าใจตัวเองในระดับนึง คืออย่างน้อยต้องรู้ตัวเองว่าสนใจคณะอะไรอยู่บ้างและต้องการอะไรในชีวิตบ้าง ถ้าน้องคนไหนที่ไม่รู้ตัวเลยว่าจริงๆแล้วตัวเองสนใจอะไร ต้องการอะไรในชีวิต วิธี Decision matrix จะไม่ค่อยเหมาะกับน้องเท่าไร
นักจิตวิทยาพยายามโยงเรื่องบุคลิกต่างๆกับอาชีพที่เหมาะสม และสร้างแบบทดสอบขึ้นมาหลากหลาย โดยมักเป็นแบบสอบถามเพื่อค้นหาว่าเรามีบุคลิกภาพแบบไหน จากนั้นก็นำบุคลิกภาพที่ได้มาโยงกับอาชีพที่เหมาะกับบุคลิกของเรา หรือในบางครั้งก็เป็นการทดสอบเพื่อหาประสบการณ์ที่เราเคยผ่านมาในชีวิต จากนั้นค่อยตีความประสบการณ์นั้นออกมาเป็นบุคลิกภาพ สุดท้ายจึงมาเชื่อมโยงกับอาชีพที่เหมาะสมกับบุคลิกของเรา
ขอเสริมนิดนึงว่าถ้าเป็นแบบทดสอบเพื่อค้นหาประสบการณ์ที่เราเคยผ่านมาในชีวิต ลักษณะของแบบทดสอบจะมีความกำกวม เช่น เป็นรูปที่ไม่มีความหมาย ไม่มีรูปร่าง แล้วถามเราว่าคิดว่ามันคืออะไร รู้สึกกับมันอย่างไร หรือเป็นรูปภาพที่มีหลากหลายอารมณ์ หลากหลายความรู้สึกอยู่ในนั้น มีความกำกวมอยู่ในตัว สามารถจินตนาการไปได้หลายอย่าง และมักถามเราว่าเราคิดว่าจริงๆแล้วภาพนี้เป็นอย่างไรหรือคิดอย่างไร ซึ่งเมื่อเราอยู่ในสถานการณ์ที่กำกวมแบบนี้ เราจะตัดสินโดยอาศัยประสบการณ์ที่ผ่านมาในอดีตเป็็นหลัก ทำให้รู้ได้ว่าอดีตที่ผ่านมาเราเจอกับอะไรบ้าง ซึ่งจะสะท้อนออกมาได้ในหลายแง่มุม เช่น ความนึกคิด, ความฝัน และความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวที่ผ่านมาครับ ถ้าน้องสนใจเกี่ยวกับแบบทดสอบทางจิตวิทยาในรูปแบบต่างๆ สามารถอ่านได้ที่ goo.gl/hVUylB ครับ
ตัวแบบทดสอบนั้นมีหลากหลายครับ มีทั้งแบบฟรี แบบเสียตัง ค้นหาในเน็ตก็มีเยอะแยะไปหมด มีทั้งแบบที่มีการสร้างเครื่องมือโดยอาศัยหลักวิชาการ มีงานวิจัยรองรับ แล้วก็มีแบบที่คนทำมโนเอาเอง คิดเอาเองมาให้เล่นกันสนุกๆก็มี พี่เชื่อว่าหลายแบบทดสอบอาจารย์แนะแนวก็คงเคยให้น้องๆลองทำกันมาบ้างแล้ว ถ้าถามพี่ แบบทดสอบจิตวิทยาเพื่อค้นหาอาชีพที่พี่เชื่อถือและชอบมากที่คือ แบบทดสอบ MBTI จึงจะแยกคนออกมาตามบุคลิกลักษณะ 16 ประเภทครับ
แบบทดสอบ MBTI เป็นแบบทดสอบบุคลิกภาพที่พัฒนาขึ้นโดย Katharine C.Briggs และ Briggs Myers จากแนวคิดของ Carl Jung เกี่ยวกับการจัดประเภทของบุคลิกภาพ (Jung’s personality typology)
แนวคิดของ Carl Jung คือ พฤติกรรมมิได้เป็นลักษณะเฉพาะของคนใดคนหนึ่งแต่หลายๆ คนสามารถมีแบบ (patterns) ของพฤติกรรมที่เหมือนหรือคล้ายๆ กันได้ โดยเป็นพฤติกรรมที่เป็นระบบระเบียบ (Orderly) ที่มีความถาวรคงเส้นคงวา แบบของพฤติกรรมที่ทำให้คนแตกต่างกันก็คือแบบที่คนมักแสดงออกบ่อยๆ (preferences) ซึ่งจะสะท้อนเจตคติของบุคคลที่มีต่อโลก
เป็นที่น่าเสียดายมากๆว่า แบบทดสอบ MBTI ที่ให้ทำฟรีๆ version ภาษาอังกฤษมันดีกว่า version ภาษาไทย คือลักษณะคำถามมันจะเหมือนๆกับคำถาม version ภาษาไทยนั่นแหละ แต่ version ภาษาไทย มันมีให้ตอบแต่ ใช่/ไม่ใช่ หรือไม่ก็มีให้ตอบแค่ 2 ตัวเลือก แต่ถ้าเป็น version อังกฤษ เราสามารถตอบ เห็นด้วย/เฉยๆ/ไม่เห็นด้วย และตรงส่วนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเราสามารถใส่ระดับความเห็นด้วย/ไม่เห็นด้วยได้อีก 3 ระดับ ทำให้ผลการทดสอบที่ได้ละเอียดกว่าแบบภาษาไทย
แบบ Version ภาษาอังกฤษ ลองเล่นกันดูครับ>>>>> https://www.16personalities.com/free-personality-test
แบบ Version ภาษาไทยครับ >>>>> https://www.16personalities.com/th
สำหรับแบบ Version ภาษาไทยให้น้องทำทีละตัวอักษรแล้วมาเรียงต่อกันจนได้ครบ 4 ตัวอักษรแล้วมาเรียงต่อกันนะครับ
อีกแบบทดสอบนึงที่น่าสนใจคือแบบทดสอบความพร้อมทางอาชีพฉบับนี้ทำขึ้นโดยอ้างอิงจากทฤษฎีการจำแนกอาชีพตามบุคลิกภาพของ จอห์น แอล ฮอลแลนด์ (John L. Holland) >>>> http://openpsychometrics.org/tests/RIASEC/
https://www.mycareer-th.com/res_holland_codes.php
จริงๆแบบทดสอบจิตวิทยามีอีกเยอะมากครับ หากว่างๆก็ลองไปเล่นดูได้ครับ
“คุณเหมาะที่จะเรียนคณะอะไร สาขาที่เรียนจะเหมาะกับเราหรือไม่ ?”
แบบทดสอบ คุณเหมาะกับสายอาชีพไหน?
วิธีการทำ
ให้พึงระลึกไว้เสมอครับว่าการตอบแบบทดสอบจิตวิทยาให้ตอบตามความเป็นจริง ตอบแบบที่ตัวเองเป็นในขณะนั้นจริงๆ ตอบในสิ่งที่คิด สิ่งที่เป็น และสิ่งที่รู้สึกจริงๆ ไม่ใช่ตอบจากมุมมองของคนอื่นที่มีตัวเรา คำตอบแรกที่เรารู้สึกว่าใช่มักเป็นคำตอบที่ถูกที่สุด หากเป็นแบบทดสอบจิตวิทยาประเภทตอบตามตัวเลือก ไม่ควรใช้เวลาในการทำนานเกินไปนัก เพราะถ้าเราทำนาน หมายความว่าเราคิดเยอะเกินไป มีโอกาสสูงที่จะคาดเคลื่อนไปจากความจริง
พึงระลึกไว้เสมอว่า “การทำแบบทดสอบจิตวิทยาออนไลน์” ผลที่ได้มักมีความคาดเคลื่อน ไม่เหมือนแบบทดสอบจริงๆเวลาเราไปทดสอบกับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์โดยตรง ซึ่งจะมีนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์อ่านผลและแปรผลการทดสอบให้ และแบบทดสอบของแท้มักมีลิขสิทธิ์ทำให้ราคาค่อนข้างแพงครับ
อีกวิธีที่น้องจะได้ทำแบบทดสอบทางจิตวิทยาของจริงคือสอบให้ติดคณะแพทย์ครับ เค้าจะนิยมให้น้องทำแบบทดสอบ 2 อย่างคือ แบบทดสอบเพื่อหาความรุนแรงที่จิตใจที่แฝงอยู่ในตัวน้อง ซึ่งพี่เคยทำ เอาซะพี่เอียนเลย มันจะเป็นคำถามประมาณ 500 ข้อ ตอบแค่ใช่กับไม่ใช่ ประมาณว่าคุณรักพ่อไหม คุณชอบคนข้างบ้านไหม ประมาณนี้ ทำไปสักพักจะเริ่มมีคำถามเดิมวนกลับมา กับอีกแบบคือแบบทดสอบหยดหมึกครับ เค้าจะให้ภาพหยดหมึกน้องมา แล้วให้น้องเขียนว่าน้องเห็นส่วนไหนเป็นรูปอะไร เพราะอะไร จากนั้นก็จะมีจิตแพทย์มาประเมินผลน้อง ถ้าน้องปกติดี เค้าก็จะเงียบๆ แต่ถ้าทำออกมาแล้วน้องผิดปกติทางจิต มีความรุนแรงในจิตใจแฝงอยู่ เค้าจะลองเรียกน้องไปคุยครับ บางทีก็ให้ทำใหม่อีกรอบ แต่บางทีก็เรียกไปคุยว่าน้องมีปัญหานะ ไม่ควรเรียนหมอ จะยังอยากเรียนไหม ถ้าน้องยืนยันว่าจะเรียน เค้าอาจเลือกเฉพาะคนที่คะแนนสูงๆระดับท็อปไว้ เพราะคนพวกนี้เค้าจะเก็บไว้ปั้นเป็นอาจารย์ครับ แต่บางที่เค้าก็ไม่เอาเลย ส่วนตัวพี่เองนั้นทำเสร็จไม่มีใครเรียกไปคุยด้วยครับ รอดตัวไป ฮ่าๆๆๆๆๆ
สิ่งสุดท้ายที่อยากฝากไว้
จงเชื่อมั่นในตัวเองครับ พี่ในฐานะเภสัชกรขอบอกเลยว่า Placebo effect หรือผลของยาหลอกนั้นรุนแรงกว่าที่คิดมากครับ มันมีผลจริงๆเกินกว่าคำว่าคิดไปเอง เคยมีทดลองนึงเอายาแก้ปวดให้อาสาสมัครกิน บอกว่ายานี้ราคาเม็ดละ 10 เหรียญ แล้วกระตุ้นความเจ็บปวดด้วยกระแสไฟฟ้า แล้วให้อาสาสมัครทำแบบประเมินความเจ็บปวด ปรากฏอาสาสมัครนั่งนิ่งเฉยๆ ไม่แสดงเจ็บปวด คะแนนความเจ็บปวดอยู่ที่ประมาณ 2 เต็ม 10 เท่านั้น จากนั้นเอายาอีกตัวให้อาสาสมัครกิน บอกว่าราคา 5 เซนต์ ผลคืออาสาสมัครร้องเจ็บปวดทุรนทุราย คะแนนความเจ็บปวดมีตั้งแต่ 5 จนถึง 10 เรื่องตลกก็คือยาทั้ง 2 ชนิดนั้น คือ Vitamin C ธรรมดาๆเนี่ยแหละ
มีเรื่องที่ตลกกว่า Vitamin C แก้ปวดอีก ก็คือเอาแผ่นแปะให้อาสาสมัครลองแปะ แล้วบอกอาสาสมัครว่านี่คือแผ่นแปะปลูกขน (แต่จริงๆมันคือแผ่นแปะเปล่าๆ ธรรมดาๆ) ปรากฏว่าอาสาสมัครขนขึ้นตรงนั้นจริงๆนะครับ
มีอีกการทดลองนึงที่ชัดเจนมากเกี่ยวกับอิทธิพลของความคาดหวังของคนเราโดยการทดลองนี้แบ่งผู้หญิงอเมริกันเชื้อสายเอเชียเป็น 2 กลุ่มแล่วให้ทำการทดสอบทางด้านคณิตศาสตร์ กลุ่มแรกก่อนทำการทดสอบจะถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเพศของตัวเอง เพื่อปูทางให้เธอคิดเกี่ยวกับเรื่องเพศ และกลุ่มที่สองจะถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเชื้อชาติ เพื่อปูทางให้พวกเธอตั้งคำถามเกี่ยวกับเชื้อชาติ พอจะนึกออกไหมครับ เพศหญิงมักถูกมองว่าด้อยเรื่องคณิตศาสตร์และอ่อนด้านคำนวณมากกว่าผู้ชาย แต่ในอีกมุมนึงคนเชื้อสายเอเชียก็จะถูกมองว่าเก่งเรื่องคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มากกว่าฝรั่ง แล้วผลที่ออกมาก็เป็นอย่างที่คิดไว้ครับ กลุ่มที่ถูกเตือนใจว่าเป็นผู้หญิงทำคะแนนได้แย่กว่าพวกที่ถูกเตือนใจว่าเป็นคนอเมริกันเชื้อสายเอเชีย การทดลองนี้แสดงให้เห็นว่าความคาดหวัง สภาพจิตใจ และมุมมองที่เรามีต่อตัวเองมีผลต่อความสามารถของเราด้วย
พี่เอาเรื่อง Placebo effect หรือผลของยาหลอกมาเล่าให้ฟังเพราะว่าพลังแห่งการคาดหวังของคนเรานั้นรุนแรงมากครับ ถ้าเราคาดหวังกับตัวเองว่าจะเป็นอะไรแล้ว เราจะสามารถเป็นแบบนั้นได้จริงๆครับ เพราะฉะนั้นจงเชื่อมั่นในแนวทางของตัวเองครับ แล้วน้องจะเป็นได้อย่างที่หวังจริงๆ และพี่เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ถ้าเราเอาคนแบบเดิม บุคลิกแบบเดิม มาใส่ในงานเดิม ผลที่ได้ก็เหมือนเดิม แต่ถ้าเราเอาคนบุคลิกอีกแบบ ไปใส่ในงานเดิม คนๆนั้นอาจจะ disruptive วิธีคิดและวิธีการเดิมๆของวงการนั้นไปเลยก็ได้ ใครจะไปรู้
Share this: