การไม่รับรองปริญญาในวิชาชีพการสัตวแพทย์ของมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น

สัตวแพทยสภาไม่รับรองปริญญา ม.เวสเทิร์น กับอดีตบทเรียนของเภสัช

ปกติแล้วเราไม่ค่อยเห็นสภาวิชาชีพประกาศไม่รับรองปริญญาสถาบันไหนสักเท่าไรนัก แต่อันที่จริงเรื่องแบบนี้ก็อยู่บ้าง เพียงแต่ไม่บ่อยนัก ล่าสุดสัตวแพทยสภาประกาศฉบับที่ ๒๔ / ๒๕๕๙ เรื่อง การไม่รับรองปริญญาในวิชาชีพการสัตวแพทย์ของมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน 2559 สัตวแพทยสภาประกาศไม่รับรองปริญญาในวิชาชีพการสัตวแพทย์ ของมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น 5 ปี (2555 – 2559) ตามหลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต ฉบับ พ.ศ.2555 แสดงให้เห็นว่าทุกวันนี้ ยังมีคณะที่เปิดโดยยังไม่ผ่านการรับรองจากสภาวิชาชีพอยู่เหมือนกัน

ในส่วนของคณะเภสัชศาสตร์เองนั้น เหตุการณ์แบบนี้ไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้น แต่เคยเกิดขึ้นแล้วกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พายัพ อีสเทิร์นเอเชีย และ ม.บูรพา อย่างไรก็ดี ตอนนั้นสภาเภสัชกรรมเพิ่งมีการออกประกาศเกี่ยวกับการรับรองปริญญาฉบับใหม่ ทำให้หลายๆมหาวิทยาลัยยังปรับตัวไม่ทัน และมหาวิทยาลัยดังกล่าวสามารถปรับปรุงและแก้ไขให้ผ่านตามเกณฑ์ของสภาเภสัชกรรมได้ทันตามระยะเวลาที่กำหนด ทำให้ตอนนี้ทุกมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะเภสัชศาสตร์อยู่ ผ่านการรับปริญญาจากสภาเภสัชกรรมทั้งหมดแล้ว ต่างกันเพียงรับรองแบบมีเงื่อนไข และรับรองแบบไม่มีเงื่อนไข

แล้วมีโอกาสที่สภาเภสัชกรรมจะไม่ให้การรับรองมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนอยู่แล้วไหม

ที่ผ่านมาสภาเภสัชกรรม มักไม่ค่อยทำอะไรสุ่มเสี่ยง การใช้อำนาจจะอยู่ในขอบเขตที่ระบุไว้ และเน้นการควบคุมดูแลคนในมากกว่าไปเอาผิดกับคนนอก เพราะฉะนั้น ถือว่าเป็นเรื่องยากที่สภาเภสัชกรรมจะประกาศไม่รับรองปริญญากับมหาวิทยาลัยที่ผ่านการรับรองไปแล้ว โดยเฉพาะเมื่อมีการรับนักศึกษาในปีการศึกษาใหม่ไปแล้ว แต่สภาเภสัชกรรมมักใช้วิธีกำหนดกรอบระยะให้ปรับปรุงแก้ไข จนกว่าจะผ่านการรับรอง อย่างไรก็ดี สภาเภสัชกรรมก็รู้ตัวดีในเรื่องนี้ ทำให้การออกประกาศหลายๆฉบับเกี่ยวกับการรับรองปริญญาในเวลาต่อมามีรายละเอียดที่ค่อนข้างครบถ้วนและรัดกุมขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม ก็ต้องถือว่ายังมีความเสี่ยงอยู่ หากสภาเภสัชกรรมประเมินใหม่แล้วผลออกมาเป็นไม่ผ่าน โดยเฉพาะกับคณะเภสัชศาสตร์ที่ยังรับรองแบบมีเงื่อนไข ซึ่งต้องรับตรวจเยี่ยมเพื่อรับรองสถาบันทุกปี แต่สถาบันที่รับรองแบบไม่มีเงื่อนไขแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นอมตะ อยู่รอดปลอดภัยไปจนชั่วฟ้าดินสลาย เพราะก็ต้องได้รับการตรวจรับรองใหม่เหมือนกัน เพียงแต่ว่าตรวจทุก 5 ปี หากมหาวิทยาลัยเก่าแก่มาตรฐานตกต่ำลง หรือไม่พัฒนาตัวเองจนทำให้ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินของสภาเภสัชกรรม ก็อาจโดนสภาเภสัชเภสัชกรรมประกาศไม่รับรองปริญญาได้เหมือนกัน

แต่ยังไงซะ มหาวิทยาลัยเก่าแก่ ก็โดนยากกว่า !!!

เพราะอะไรพี่ถึงกล้าบอกแบบนั้นหรือครับ

คือ พี่ไม่รู้ว่าเป็นธรรมเนียม วัฒนธรรม หรือข้อบังคับอย่างไร แต่น้องลองไปดูโครงสร้างของสภาเภสัชกรรมทุกยุคทุกสมัย จะต้องมีคณบดีและอาจารย์จากคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยเป็นกรรมสภา หรือไม่ก็เป็นอุปนายกสภาอยู่ด้วยเสมอๆ และท่านอาจารย์เหล่านั้นมากกว่าร้อยละ 90 มาจากมหาวิทยาลัยเก่าแก่ครับ บางชุดกรรมการสภาเป็นอาจารย์เกือบยกชุดเลยก็มี ส่วนนึงพี่ว่าน่าจะมาจากผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการสภาเภสัชกรรมส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ด้วยครับ ที่สำคัญคือ เภสัชที่สนใจเล่นการเมืองในวิชาชีพมีน้อย ทำให้เภสัชกรเอง เวลาต้องเลือกตั้งกรรมการสภา ก็ไม่รู้ว่าจะเลือกใครดี ทำให้คนที่ได้รับเลือกมักเป็นอาจารย์ซึ่งมีลูกศิษย์ลูกหา หรือคนรู้จักเยอะๆ หรือไม่ก็เป็นเภสัชกรโรงพยาบาลที่พอจะมีชื่อเสียงในแวดวงวิชาชีพเภสัชโรงพยาบาล ตั้งแต่พี่อยู่ในแวดวงวิชาชีพนี้มา มีเพียงครั้งเดียวที่พี่เห็นว่านายกสภาเภสัชกรรมเติบโตมาจากสายคุ้มครองผู้บริโภค นอกนั้นมาจากสายอาจารย์หรือไม่ก็สายโรงพยาบาลครับ

อ้างอิง

http://www.vetcouncil.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=506%3A2016-07-22-01-43-06&catid=23&Itemid=143&lang=en

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000038309

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=17665&Key=hotnews

 

 

 

 


Share this:

Posted in ข้อมูล/ข่าวแวดวงเภสัช.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *