ว่าด้วยเรื่องตำแหน่งข้าราชการกับการทำงานเภสัช

โพสต์นี้จะเป็นโพสต์สรุปที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นน้อง ๆ ม.ปลาย หรือนักศึกษาเภสัชศาสตร์ที่กำลังตั้งข้อคำถามว่าแนวทางในการได้ตำแหน่งข้าราชการในการทำงานเภสัชยังไงได้บ้างนะคะ พอดีว่าแอดมินยังเห็นว่ายังมีบางคนสับสนกันอยู่ เลยคิดว่าอยากจะออกมาอธิบายสักหน่อย เผื่อมีประโยชน์สำหรับคนที่สนใจเนอะ

1. ต้องทำงานที่ไหนบ้าง ถึงจะมีโอกาสได้เป็นข้าราชการ?

คำตอบคือ “หน่วยงานราชการ” ค่ะ ซึ่งหน่วยงานราชการนั้นก็จะมีหลายหน่วยงานแยกย่อยออกไป หน่วยงานที่ใหญ่มาก ๆ คือโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทั่วประเทศ แต่นอกจากสังกัด สธ. แล้ว ยังมีโรงพยาบาลสังกัดหน่วยงานอื่นอีก เช่นสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) สังกัดกระทรวงมหาดไทย หรือสังกัดกระทรวงกลาโหม (เภสัชทหาร)

หรือถ้าไม่อยากทำหน่วยงานราชการ ก็ทำเอกชนไปก่อน แล้วรอให้มีการเปิดสอบก็ได้ค่ะ เพียงแต่คนที่ทำงานอยู่ในหน่วยราชการอยู่ก่อนจะได้เปรียบตรงที่

  1. หากมีการรับสมัครสอบ ก็รู้ข่าวก่อน (บางครั้งเปิดสมัครสั้นๆไม่กี่วัน และไม่ประชาสัมพันธ์อะไรทำให้คนนอกไม่รู้)
  2. หากมีตำแหน่งว่างจัดสรรไปให้ สสจ. ในจังหวัดก็อาจจัดสรรให้กับคนที่อยู่ในหน่วยงานราชการในจังหวัดแต่ยังไม่ได้บรรจุก่อน (คือตามระเบียบยังไงก็ต้องมีการสอบแข่งขัน แต่ว่านโยบายผู้บริหารนั้น บางทีก็มีนโยบายให้คนที่อยู่มานานก่อน หรือว่าจะจัดสรรยังไงแล้วแต่ผู้บริหาร)
  3. หากมีการสมัครสอบ ในขั้นตอนสอบสัมภาษณ์ การได้สัมภาษณ์กับพี่ๆในหน่วยงานที่เคยทำงานด้วยกันก็อาจเป็นข้อได้เปรียบค่ะ (เฉพาะบางหน่วยงานนะ เพราะบางหน่วยงานก็แทบไม่มีผลเลย)
  4. ปกติแล้วบางหน่วยงาน เช่น โรงพยาบาลจะมีกรอบอัตรากำลังอยู่หากกรอบอัตรากำลังยังไม่เต็มสามารถทำเรื่องเป็นข้อเสนอได้ ซึ่งก็ขึ้นกับผู้บริหารว่าจะมีนโยบายจัดการอย่างไร ในการขออัตรากำลัง (แต่ถ้าเจอหัวหน้าที่ไม่ยอมทำเรื่องให้ก็ซวยไป)
  5. ถ้ามีคนในหน่วยงานนั้นลาออก โดยปกติแล้วตำแหน่งจะถูกดึงกลับเข้าส่วนกลาง แต่ว่าหน่วยงานสามารถทำเรื่องขอกันตำแหน่งได้

แต่ว่าแนะนำว่าถ้าต้องเริ่มงานตำแหน่งที่ต่ำกว่า พนง.ราชการ เช่นลูกจ้างประจำ อันนี้ไม่แนะนำ เพราะบางครั้งหน่วยงานใช้เงินบำรุงมาจ้างเอง แล้วมันอยู่นอกเหนือสายตาของ สสจ. หรือหน่วยงานที่ดูแลเรื่องเลขตำแหน่ง ทำให้ตกสำรวจ หรือไม่รู้ว่ามีเราอยู่ในระบบ

2. ต้องทำยังไงบ้าง ถึงจะได้รับตำแหน่งข้าราชการ?

อันนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่สมัครค่ะ ไม่ใช่ทุกคนที่ทำงานในหน่วยงานข้าราชการจะได้บรรจุเป็นข้าราชการเนอะ

โดยส่วนใหญ่แล้วในหลายหน่วยงาน (สธ. มหาดไทย) จะเริ่มรับเภสัชกรในตำแหน่ง “พนักงานราชการ” ก่อน (สิทธิการรักษาประกันสังคม เท่าที่แอดมินเช็คดูเบื้องต้นไม่รู้สึกว่าจะต่างจากการทำงานเอกชนสักเท่าไหร่) จากนั้นรอบรรจุเป็นในตำแหน่งข้าราชการเมื่อมีตำแหน่งว่าง ซึ่งตำแหน่งว่างก็อาจจะเกิดจากการลาออก หรือเกษียณงานของคนในตำแหน่ง ขรก. ที่อยู่ในระบบ โดยการรอบรรจุนี้ในทางทฤษฎีแล้วคือรอตามคิว (เอากันจริงๆ ระบบคิว ใครมาก่อนได้ก่อนนี่ ไม่ได้มีในระเบียบอะไรนะ เป็นสัญญาใจที่ยาวนานจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมาเฉยๆ) ใครได้เป็น พนง. ขรก. ก่อน คนนั้นได้บรรจุก่อน แต่ในทางปฏิบัติ ยังมีกฎเกณฑ์แยกย่อยเยอะแยะมากมายที่แอดมินก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน แหะ 🥲 แต่ยังไงถ้าสงสัยลองทักมาถามใน inbox ได้ค่ะ เพราะยังไงต่อให้แอดจะไม่รู้ แต่พี่เจ้าของเพจรู้แน่นอน! 👍 (โยนขี้ 😂)

แต่ในบางหน่วยงาน (กระทรวงกลาโหม สำนักงานพระราชวัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) เมื่อเข้าไปทำงานแล้วได้รับตำแหน่ง ขรก. เลยทันทีก็มีค่ะ แต่หน่วยงานเหล่านี้เท่าที่แอดมินเช็คมา เหมือนจะเปิดรับแค่ นศภ. ใช้ทุน (ม. เอกชนหรือ ม. ที่ไม่ได้เซ็นสัญญาตอนปี 1 อาจจะไม่รับ) คือ นศภ. จบใหม่คงต้องลุ้นกันปีต่อปีเลยว่าในปีตัวเองหน่วยงานเหล่านี้จะเปิดตำแหน่ง ขรก. มาให้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งการจะเข้าไปได้ จะใช้ระบบการ “สอบแข่งขัน” เกือบทั้งหมด

แต่ ๆๆ ในหน่วยงานเหล่านี้แอดมินแอบเห็นเค้าเปิดตำแหน่ง พนง. ขรก. อยู่นะ แต่แอดไม่รู้วิธีการเข้าไปจริง ๆ ค่ะ ขอโทษด้วยนะคะ 🥲

อะ สรุปนะคะ

  1. ถ้าเริ่มเข้าไปในฐานะ พนง. ขรก. (เข้าง่ายกว่า) -> ต้องรอบรรจุ ขรก. ในภายหลัง
  2. ถ้าสอบเข้าในหน่วยงานที่เปิดตำแหน่ง ขรก. มาให้ตั้งแต่ตอนใช้ทุน (ยาก ยากชิบหาย 🥲) -> ได้ตำแหน่งทันทีที่เริ่มงาน
  3. รอหน่วยงานนั้นเปิดรับสมัครสอบ แล้วก็ไปสอบ
  4. ทำงานหน่วยราชการไปก่อนแล้วรอมี event พิเศษ เช่น โควิด19 ที่ผ่านมา ใครที่รอบรรจุอยู่แล้วก็จะได้บรรจุเป็นกรณีพิเศษ

3. (เสริม) สถานการณ์ของเภสัชกรตำแหน่งข้าราชการในมุมมองของแอดมินเอง

อันนี้ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นในฐานะ นศภ. ปี 6 คนหนึ่งนะคะ แอดมินเองก็เป็นคนหนึ่งที่คิดเห็นเหมือนกับหลาย ๆ คนว่ากว่าเภสัชกรคนหนึ่งจะคว้าตำแหน่ง ขรก. มาได้ มันยากลำบากมาก ๆ จริง ๆ ค่ะ แล้วเมื่อลองเทียบดูระหว่างเงินเดือน+สวัสดิการของตำแหน่ง พนง ขรก กับงานในส่วนงานเอกชน สวัสดิการไม่ต่างกันมากแต่เงินเดือนเอกชนสูงกว่า (มาก) ไม่แปลกที่ยอดเด็กอยากใช้ทุนจะน้อยลงทุกปี การรอตำแหน่ง ขรก ที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ถึงจะมา แล้วเมื่อมาแล้วมันจะถูกส่งมาถึงเราไหม อาจจะไม่ใช่การรอคอยที่คุ้มค่านักสำหรับบางคน ที่เอาเวลาตรงนี้ไปหาเงินจากงานเอกชนที่อื่นดีกว่า

สำหรับคนที่อยากทำข้าราชการจริง ๆ ไม่เกี่ยงหน่วยงาน การสอบให้ได้ตั้งแต่ตอนใช้ทุนคือคำตอบ แต่ก็แลกมาด้วยการแข่งขันที่สูง ก็ลองชั่งน้ำหนักกันดูนะคะ

สรุปสุดท้ายค่ะ ถ้าหวังอยากเป็นข้าราชการ แบบอยากเป็นแน่ ๆ 100% การเลือกเข้าคณะเภสัชอาจไม่ตอบโจทย์ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีอะไรดีเลยขนาดนั้น เอาจริงแอดมินคิดว่าเงินเดือนเภสัชน่ะ ไม่ต้องพึ่งสวัสดิการรัฐก็มีเงินเก็บยามเกษียณ มีเงินซื้อประกันสุขภาพดี ๆ ไว้ใช้ได้เหมือนกันนะ คือการเรียนคณะนี้มันอาจจะมีความคุ้มค่าด้านอื่น ที่ไม่ใช่ด้านของการรับตำแหน่ง ขรก. เท่านั้นเองค่ะ


Share this:

Posted in ข้อมูล/ข่าวแวดวงเภสัช.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *