การเรียน เภสัช หลักสูตร เภสัชศาสตร์

การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ : บทสรุป

คราวก่อน พี่เขียน series เรื่องการเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ทั้ง 7 ตอนไป (ใครยังไม่ได้อ่าน อ่านตอนที่ 1 ได้ที่ การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 1 : ภาพรวม ปฐมบท) ซึ่งตอนนั้นพี่อิงจาก หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2556 ของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นหลัก โดยพี่ลงรายละเอียดไปแต่ละรายวิชาเลยว่า วิชานี้เรียนเรื่องอะไร เป็นอย่างไรบ้าง แต่พี่เชื่อว่า คงมีไม่กี่คนที่อ่านจบ เพราะยาวไป (ไม่อ่าน) (แต่จากที่พี่เช็คมา มีคนตามไปไล่อ่านทุกตอน 20 คนนะครับ จะบอกว่าไม่มีใครอ่านครบเลยก็ไม่ถูกซะทีเดียว) และพี่ก็เชื่ออีกว่าหลังจากบทความนี้ถูกเผยแพร่ออกไป จะมีหลายคนข้ามมาอ่านอันนี้เลย  พี่ขอบอกว่าบทความนี้จะไม่มีการลงรายละเอียดแต่ละวิชาให้นะครับ บทความนี้จะเป็นภาพรวมคร่าวๆว่า หลักสูตรของคณะเภสัชศาสตร์ ไม่ว่ามหาวิทยาลัยไหนก็ตาม ต้องเรียนเรื่องอะไร ส่วนไหนบ้าง เพราะการจัดหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต ต้องอิงจาก  โครงสร้างหลักสูตรเภสัชศาสตร์บัณฑิตของสภาเภสัชกรรม เหมือนกันหมด

โครงสร้างหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต

จากประกาศสภาเภสัชกรรมฉบับที่ 24/2558 เรื่อง โครงสร้างหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตหลักสูตร 6 ปี (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2558) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2559 เป็นต้นไป ระบุไว้ว่าหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตต้องมีหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า 220 หน่วยกิต และประกอบไปด้วย

1. หมวดการศึกษาทั่วไป (ไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต)

วิชาในหมวดนี้จะไม่มีวิชาทางเภสัชศาสตร์ แต่จะเป็นกลุ่มวิชาพวกสังคมศาสตร์ มนุษศาสตร์ ภาษา วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ซึ่งรายละเอียดของรายวิชาพวกนี้ สกอ. เป็นคนกำหนด

2. หมวดวิชาเฉพาะ (ไม่น้อยกว่า 144+3 หน่วยกิต)

หมวดวิชาเฉพาะจะเป็นวิชาทางเภสัชศาสตร์และพื้นฐานต่างๆ ได้แก่ พวกวิชาที่เป็นพื้นฐานวิชาชีพ วิชาชีพ รวมถึงการฝึกปฏิบัติงานต่างๆ ตรงนี้ต้องมีไม่น้อยกว่า 144 หน่วยกิต และวิชาโปรเจคอีกอย่างน้อย 3 หน่วยกิต

สำหรับวิชาวิชาที่เป็นพื้นฐานวิชาชีพ วิชาชีพ 144 หน่วยกิตนั้น สามารถแยกย่อยออกได้เป็น

2.1 ระดับพื้นฐานวิชาชีพ (ไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต)

ตรงส่วนนี้จะเป็นพวกพื้นฐานทางสายวิทย์สุขภาพต่างๆ เช่น พื้นฐานวิชาคณะแพทย์ อย่าง Anatomy, Physiology, Pathology เป็นต้น วิชาพวกนี้เนื้อหาจะอยู่ที่พื้นฐานการทำงานของร่างกายและจิตใจมนุษย์เป็นหลัก

2.2 ระดับวิชาชีพ (ไม่น้อยกว่า 114 หน่วยกิต)

ในส่วนของระดับวิชาชีพ จะแยกย่อยออกเป็น 5 ด้าน คือ

2.2.1 กลุ่มวิชาด้านเภสัชภัณฑ์ (ไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต หรือไม่น้อยกว่า 25% ของจำนวนหน่วยกิตระดับวิชาชีพ)

กลุ่มวิชาด้านนี้จะเป็นวิชาทางเภสัชกรรมอุตสาหการ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับตัวยา สารเคมี สมุนไพร ชีววัตถุ การเตรียมยา ผลิตยา ตั้งตำรับยา รวมถึงควบคุมและประกันคุณภาพยา ตัวอย่างของวิชาในกลุ่มนี้ เช่น เภสัชการ, การวิเคราะห์ยา, Pharmaceutical Analysis, Pharmaceutical Chemistry, Pharmacognosy เป็นต้น

2.2.2 กลุ่มวิชาด้านผู้ป่วย (ไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต หรือไม่น้อยกว่า 25% ของจำนวนหน่วยกิตระดับวิชาชีพ)

กลุ่มวิชาพวกนี้จะเป็นวิชาที่เกี่ยวกับโรคและการใช้ยา รวมถึงการจ่ายยา การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล การจัดการอาการไม่พึงประสงค์จากยา ตัวอย่างของวิชาในกลุ่มนี้คือ เภสัชบำบัด

2.2.3 กลุ่มวิชาด้านเภสัชศาสตร์สังคมและการบริหารเภสัชกิจ (ไม่น้อยกว่า 15 หน่วยกิต หรือไม่น้อยกว่า 12% ของจำนวนหน่วยกิตระดับวิชาชีพ)

วิชาพวกนี้จะเป็นวิชาพวกกฏหมาย จรรยาบรรณ การบริหารจัดการ การสื่อสาร ระบบยาและระบบสาธารณสุข การคุ้มครองผู้บริโภค ระบาดวิทยา และเภสัชเศรษฐศาสตร์ครับ

2.2.4 รายวิชาเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มวิชาด้านที่เป็นสาขาหลักของแต่ละหลักสูตร (ไม่น้อยกว่า 15 หน่วยกิต)

วิชาพวกนี้คือวิชาเฉพาะสาขาครับ พวก Pharm sci ก็เรียนวิชาเฉพาะเพิ่มทาง Pharm sci พวก Pharm care ก็เรียนเฉพาะทางเพิ่มของ Pharm care กันไป

2.2.5 การฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพ (รวมทั้งหมดไม่น้อยกว่า 2,000 ชั่วโมง) แบ่งเป็น
2.2.5.1 การฝึกงานภาคบังคับ

ฝึกงานตอนซัมเมอร์ปี 4 โดยฝึกงานในโรงพยาบาลและร้านยาแห่งละไม่น้อยกว่า 200 ชั่วโมง รวมแล้วไม่น้อยกว่า 400 ชั่วโมง คิดเป็นหน่วยกิตรวมแล้วไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิต

2.2.5.2 การฝึกงานเฉพาะสาขา

อันนี้จะเป็นการฝึกงานตอนปี 6 รวมทั้งหมดแล้วต้องไม่น้อยกว่า 1,600 ชั่วโมง คิดเป็นหน่วยกิตแล้วต้องไม่น้อยกว่า 28 หน่วยกิต การฝึกงานในส่วนนี้จะขึ้นอยู่กับสาขาที่น้องเลือกเรียน ได้แก่

2.2.5.2.1 ฝึกงานสาขาการบริบาลทางเภสัชกรรม

บังคับฝึกอย่างน้อย 4 ผลัดในด้านเภสัชกรรมชุมชนหรือเภสัชกรรมปฐมภูมิ, การบริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยนอก, การบริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยในหรืออายุรกรรม และการจัดการด้านยาหรือการคุ้มครองผู้บริโภค ส่วนอีก 2-3 ผลัดที่เหลือเลือกฝึกโดยเน้นด้านโรงพยาบาล/ร้านยาครับ

2.2.5.2.2 ฝึกงานสาขาเภสัชกรรมอุตสาหการ

ต้องฝึกอย่างน้อย 2 ผลัดในด้านการผลิต และการประกัน/ควบคุมคุณภาพ ส่วนอีก 4-5 ผลัดที่เหลือเลือกฝึกโดยเน้นด้านอุตสาหกรรมได้แก่ การผลิต, การควบคุมคุณภาพ, การวิจัยและพัฒนา, งานขึ้นทะเบียน

2.2.5.2.3 ฝึกงานสาขาหลักการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ

บังคับฝึกอย่างน้อย 4 ผลัดในด้านระบบการคุ้มครองผู้บริโภค, การบังคับใช้กฏหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค, การคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชน และการจัดการความปลอดภัยด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ส่วนอีก 2-3 ผลัดที่เหลือเลือกฝึกพวกการจัดการสารสนเทศเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และนโยบายด้านยาและสุขภาพ การคุ้มครองผู้บริโภคในร้านยาครับ

3. หมวดวิชาเลือกเสรี (ไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิต)

วิชาเลือกเสรีคือเราจะไปเลือกเรียนวิชาอะไรของคณะไหนก็ได้ครับ แต่มีข้อแม้ว่าเค้าต้องเปิดให้เราเรียนได้นะ อย่างพี่เอง ตอนปี 1 ก็เคยเรียนวิชานึงซึ่งเป็นวิชาหลักของคณะเกษตรปี 3 ซึ่งจริงๆแล้ว เด็กเภสัชจะมาลงเรียนไม่ได้ แต่อาจารย์ลืมบล็อกเอาไว้ทำให้พี่หลุดไปลงเรียนได้ พอไปเรียนจริงอาจารย์ก็งงๆ แต่ก็ เออๆ อยากเรียนก็ให้เรียน หน่วยกิตของวิชานี้ก็ถูกนับเป็นหน่วยกิตของวิชาเลือกเสรีให้ครับ


Share this:

Posted in การเรียนเภสัช.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *