การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์

การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 2 : ปี 1 สดใส ลั้ลล้า

เอาละครับ มาดูสิ่งที่เราต้องเจอในปี 1 กัน มาถึงตรงนี้น้องอาจสงสัยว่า ก่อนขึ้นปี 1 ช่วงปิดเทอมต้องเตรียมตัวอะไรไหม จะเข้ามหาลัยแล้ว ต้องฟิตตรงไหนเพิ่มหรือเปล่า  ถ้าน้องจะฟิตจริงๆ พี่ก็แนะนำพวกเนื้อหา ม.ปลายแหละครับ พวก ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ เลข เพราะปี 1 จะเรียนเนื้อหาที่เหมือนๆกับ ม.ปลาย แต่ถ้าถามพี่นะ พี่ว่า “ใช้เวลาที่เหลือกับชีวิตเด็กมัธยมให้สนุกและมีความสุขเถอะ” แต่อย่าไปทำอะไรเสี่ยงๆละ เพราะ feeling แบบเด็ก ม.ปลาย มันสั้นนะครับ แล้วมันไม่หวนกลับมาอีกแล้ว ยังไงก็ไม่มีทางเหมือนเดิมครับ เพื่อนมัธยม เพื่อนมหาลัย เพื่อนตอนทำงาน ไม่เหมือนกันนะครับ ทดแทนกันไม่ได้ ใช้เวลาช่วงสุดท้ายของ ม.ปลาย อันน้อยนิดให้มีความสุขเถอะ นอกจากเนื้อหา ม.ปลาย ที่จะได้ใช้ตอน ปี 1 แล้ว นอกนั้นก็เป็นเรื่องใหม่หมด แต่คนที่มีทักษะทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่ดี จะได้เปรียบ เพราะการเรียนเภสัชใช้วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งคนที่เก่งวิทย์ ลำดับความคิดเค้าจะเป็นระบบและมีระเบียบ เอาง่ายๆ คนที่เก่งวิทย์ เค้าเหมือนมี framework สำหรับเตรียมตัวเรียนอยู่แล้ว ที่เหลือก็แค่เติมๆในส่วนของเภสัชศาสตร์เข้าไป

การเรียนในมหาวิทยาลัย กับการเรียนตอนมัธยมจะแตกต่างกัน ชื่อก็บอกอยู่แล้ว ตอนเราเรียนมัธยม เราเป็นนักเรียน หน้าที่คือเรียน แต่มหาวิทยาลัย เราเป็นนักศึกษา เรามาศึกษาหาความรู้ ไม่ได้แค่มาเรียนอย่างเดียว ลองสังเกตุจากด้านหลังของวิชาต่างๆ จะเขียนว่า 3(3-0-6) ซึ่ง 3 ตัวแรกคือหน่วยกิต 3 ตัวตัวต่อมาคือเวลาเรียนเลคเชอร์ต่อสัปดาห์ 0 คือเวลาเรียนปฏิบัติการ (ทำ Lab อะแหละ) ส่วน 6 ตัวสุดท้ายคือ ศึกษาด้วยตัวเองครับ จะเห็นได้ว่าแต่ละวิชา เค้าบอกไว้เลยว่า ถ้าอยากเรียนได้ดีต้องแบ่งเวลาไปศึกษาด้วยตัวเองกี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์นะครับ เราอาจมีอิสระมากขึ้น แต่นั่นก็แลกกับความรับผิดชอบที่สูงขึ้น ระบบการสอบที่น้องต้องเจอก็อาจมี quick ย่อย, แลบกริ๊ง, การสอบส่วนใหญ่เอาเครื่องคิดเลขเข้าไปได้ หรือแม้แต่ สอบ open book ก็มี (แต่เชื่อเหอะ อย่า open book เลย เพราะมันจะยากมาก และเปิดไม่ทัน ที่สำคัญ คำตอบมักไม่มีในหนังสือเล่มไหน แต่ต้องตกตะกอนความรู้ไปตอบเอง)

ต่อไปพี่จะลงรายละเอียดแต่ละวิชาว่าเรียนอะไร เป็นยังไงบ้าง พี่จะใส่คะแนนความยาก กับความเยอะไปด้วย ซึ่งคะแนนตรงนี้ พี่คิดเอาเองล้วนๆ ตามความรู้สึกพี่ เอาไปอ้างอิงกับใครที่ไหนไม่ได้ทั้งนั้นนะครับ

การเรียน ปี 1

ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร – English for Communication (ระดับความยาก 0/5, ระดับความเยอะ 0/5)

“เธอทำให้ฉันรู้สึกเหมือน 14 ตอนที่ฉันมีแฟนคนแรกกกก” วิชานี้ feeling นี้เลยครับ ถ้าเป็นที่ มข. นะ มันง่ายมากๆ เป็นภาษาอังกฤษพื้นฐานจริงๆ เหมือนกลับไปเรียนภาษาอังกฤษตอน ม.ต้น ใหม่อีกรอบ งานนี้เด็กคณะเภสัชสบายครับ

วิทยาศาสตร์ชีวภาพ – Biological Science (ระดับความยาก 2/5, ระดับความเยอะ 2.5/5)

วิชานี้ จะว่าไปก็คือ ชีวะ ม.ปลาย ดีๆนี่เองครับ ไม่ยากเท่าไร แต่จะมีลงรายละเอียดเยอะขึ้น โดยเฉพาะเรื่องพันธุกรรม กับโครงสร้างและสรีรวิทยาของสัตว์ และนิเวศวิทยา จะละเอียดขึ้นกว่า ม.ปลาย (พอสมควร) ถ้าน้องอยากเตรียมตัวไว้ก่อน แนะนำให้อ่านหนังสือ สอวน. (ที่พวกเด็กโอลิมปิกชีวะมันอ่านกัน) ถ้าเป็นที่ มข. เนื้อหาจะประมาณหนังสือของ สอวน. เลยครับ แต่วิชานี้ แล้วแต่ดวงของน้องอะนะ ตอนพี่เรียน แพทย์ ทันตะ เภสัช ตัดเกรดด้วยกัน ก็เลยหนักหน่อย

ปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ชีวภาพ – Biological Science Laboratory (ระดับความยาก 1/5, ระดับความเยอะ 1/5)

วิชานี้ก็คือทำแลบนั่นเองครับ แต่เป็นแลบวิชาชีวะ น้องก็จะได้ฝึกหลายๆอย่าง เช่น ย้อมแกรม เตรียมสไลด์ ใช้กล้องจุลทรรศน์ ศึกษาส่วนประกอบของพืช ผ่ากบ และอื่นๆอีกมากมาย อาจมีสอบแล็บกริ๊งบ้าง ตอนที่พี่ทำแลบแรกๆก็ตื่นเต้นนะ เพราะ ม.ปลาย พี่ไม่เคยได้ลงแลบเลย แต่พอมาทำจริงๆแล้วก็ไม่มีอะไรครับ สนุกๆ เพลินด้วย

ฟิสิกส์ระดับมหาวิทยาลัย – University Physics (ระดับความยาก 2/5, ระดับความเยอะ 1.5/5)

วิชานี้เหมือนๆกับฟิสิกส์ ม.ปลาย หนักไปทางกลศาสตร์ 1 และกลศาสตร์ 2 ครับ ไม่ได้มีอะไรยากมากมาย แต่ข้อสอบเขียนแสดงวิธีทำทุกข้อ เพราะฉะนั้นต้องคิดไว เขียนไวระดับนึง ไม่งั้นทำไม่ทัน

ปฏิบัติการฟิสิกส์ทั่วไป 1 – General Physics Laboratory I (ระดับความยาก 1/5, ระดับความเยอะ 1/5)

วิชาทำแล็บฟิสิกส์ครับ ชิวมาก แล็บไหนนานก็อาจได้อยู่ทำแลบ 3 ชม. เต็ม แต่ Lab ไหนสั้นๆนะ ถ้า Lab ไม่ failed ครึ่งชั่วโมงเสร็จครับ ได้กลับบ้านตั้งแต่บ่ายโมงครึ่ง สวรรค์มาก แถมยังมีแลบให้ทำแค่ประมาณ 10 แลบ เรียกได้ว่าถ้าไม่ติดวันหยุดพิเศษ ก็เรียนจบกันตั้งแต่สอบ final สบายเลย

คณิตศาสตร์สำหรับวิทยาศาสตร์สุขภาพ – Mathematics for Health Science (ระดับความยาก 3/5, ระดับความเยอะ 1.5/5)

เหมือนคณิตศาสตร์ ม.ปลายครับ แต่ Advance กว่า เรื่องที่ได้เรียนมีหลักๆ 3 เรื่องครับ คือ เลขาคณิตวิเคราะห์ ลิมิต และ Calculus ครับ

ทักษะการรู้สารสนเทศ – Information Literacy Skills (ระดับความยาก 1/5, ระดับความเยอะ 1/5)

เป็นการเรียนเกี่ยวกับสารสนเทศครับ แบบวิธีการสืบค้นข้อมูล วิธีการอ้างอิงที่ถูกต้อง ประมาณนี้ครับ ถ้าเรียนจบวิชานี้ก็เขียนหนังสือเชิงวิชาการได้อ่ะ วิชานี้ไม่ยากครับ เนื้อหาไม่เยอะ แต่เวลาสอบเป็นอัตนัยแล้วอาจารย์ให้คะแนนแบบ 15.37 อะไรแบบนี้ คือพี่ไม่รู้อาจารย์แกตรวจข้อสอบอัตนัยแบบไหนถึงออกมาเป็นจุดทศนิยมแบบนั้นได้ ไม่เข้าใจจริงๆ

ภาษาอังกฤษทางวิชาการ 1 – English for Academic Purposes I (EAP I) (ระดับความยาก 2/5, ระดับความเยอะ 1/5)

คราวนี้เป็นภาษาอังกฤษที่ Advance ขึ้นมาหน่อย ภาษาอังกฤษตัวที่พี่พูดถึงไปคราวที่แล้วเป็นอังกฤษพื้นๆจริงๆครับ แบบพูดได้ อ่านออก แค่นั้น แต่อันนี้จะเริ่มไปถึงการเขียนเชิงวิชาการ ศัพท์ที่เจอยังคงเป็นศัพท์ง่ายๆ แต่รูปประโยค ถ้าไม่รู้เรื่องแกรมม่าจะอ่านไม่รู้เรื่องเลยครับ เพราะมันซ้อนรูป ลดรูปกันหมดทุกประโยค

เคมีอินทรีย์พื้นฐาน – Basic Organic Chemistry (ระดับความยาก 2.5/5, ระดับความเยอะ 2.5/5)

Organic chemistry น้องๆเคยเรียนเคมีอินทรีย์ตอน ม.ปลาย มาแล้วใช่ไหมครับ นั่นแหละ เหมือนกัน แต่คราวนี้จะ Advance กว่าตอน ม.ปลายมาก เนื้อหาตอน ม.ปลาย แค่ประมาณ 5% ของเนื้อหาทั้งหมดครับ น้องจะเจอปฏิกิริยาแปลกๆ ใหม่ๆเยอะ แล้วอิเล็กตรอนจะวิ่งวนไปวนมา สนุกสนานเลย

ปฏิบัติการเคมีอินทรีย์พื้นฐาน – Basic Organic Chemistry Laboratory (ระดับความยาก 1/5, ระดับความเยอะ 1/5)

ทำแลบของ Organic chemistry เป็นอีกหนึ่งแลบที่กลิ่น solvent ตลบอบอวนมากตอนทำ แรกๆก็จะเป็นพวก การตกผลึก การหาจุดหลอมเหลว จุดเดือด การกลั่น ต่อมาจะเริ่มทดสอบ reaction ต่างๆในเคมีอินทรีย์ แลบนี้ไม่ยากครับ แต่ใน 3 ชม. เรามักเขียน report ให้เสร็จไม่ทัน เพราะฉะนั้นต้องกลับไปเขียน report ที่ห้องประจำ พี่เบื่อมาก ฮ่าๆๆๆๆ

เคมีฟิสิกัลเชิงชีวภาพ – Biophysical Chemistry (ระดับความยาก 4/5, ระดับความเยอะ 3/5)

ของจริงของปี 1 จริงๆมันคือวิชาเคมีเชิงฟิสิกส์แหละครับ แต่เราเป็นนักศึกษาคณะเภสัช เราต้องพูดถึงสภาวะใน bio ด้วย แต่เนื้อหาตรงที่พูดถึง bio อ่ะ นิดเดียว เป็นวิชาที่ยากวิชานึง มันจะเรียนเกี่ยวกับพวกการเปลี่ยนเฟส ของเหลว ของแข็ง แก๊ส วัฏจักรคาโน อะไรพวกนั้น ความยากของมันคือ มันใช้การคำนวณแบบฟิสิกส์ แต่มันจุกจิกแบบเคมี คนคิดเรื่องนี้ได้พี่ว่าเก่งและจินตนาการล้ำเลิศมากๆอ่ะ เอาน้ำมันวนๆในอ่างแล้วบอก delta H = 0 ได้ จากนั้นก็แตกต่อเป็นกฏต่างๆ มีเอนโทรปี โครตเก่งอ่ะ ปฏิกิริยาอันดับ 0 1 2 3 ก็จะได้เรียนในวิชานี้ เพราะฉะนั้น Calculus ก็มา ใครบอกเรียนเภสัชไม่ได้ใช้เลข ได้ใช้วิชานี้แน่ๆละ วิชานึง เป็นวิชาที่ถ้าคนไม่ชอบคำนวณก็ลำบากนิดนึง แต่วิชานี้พี่ชอบนะครับ มันสนุกและตื่นเต้นดี มันใช้หลักการคิดแบบใหม่ๆที่เราไม่เคยรู้มาก่อน (และไม่คิดว่าจะมี) ส่วนเนื้อหาก็เยอะระดับนึงครับ ไม่ได้เยอะมาก จริงๆถ้าน้องเรียนคณะวิทย์สาขาเคมี วิชา Physical chemistry ต้องเรียน 2 เทอม แต่คณะเภสัชเอาเนื้อหามายำให้อยู่ในเทอมเดียวแล้วเปลี่ยนชื่อวิชาใหม่

แต่เดี๋ยวก่อน วิชานี้มีแล็บด้วย !!!! ใช่ครับ วิชานี้จริงๆมีชั่วโมงปฏิบัติการ แต่ไม่ได้แยกออกเป็นแล็บกับเลคเชอร์เหมือนที่เคยเจอมา (ซึ่งต่อไป วิชาส่วนใหญ่แลบกับเลคเชอร์ก็ไม่ได้แยกวิชากัน เอาคะแนนแลบกับเลคเชอร์มารวมกันแล้วตัดเกรดเป็นวิชาเดียว แต่เวลาสอบแลบกับเลคเชอร์น่ะ ส่วนใหญ่สอบแยกกันนะ เหอะๆๆๆๆ) ซึ่งอย่างที่บอกว่าจริงๆแล้วต้องเรียน 2 เทอม แต่มายำเหลือเทอมเดียว ดังนั้นแลบมันเลยเยอะมากครับ จริงๆมีประมาณ 20 แลบ แต่อาจารย์ตัดออกเหลือ 14-16 แลบ แต่ก็ยังเยอะอยู่ดี แลบไหนสั้นๆนี่อาจต้องเบิ้ล 2 แลบต่อเนื่องเลย ไม่งั้นเรียนไม่ทัน จริงๆบางสัปดาห์ทำ 2 ชม. ก็เสร็จครับ แต่ถ้าสัปดาห์ไหนต้องเบิ้ลแลบเนี่ยอยู่ยาวถึง 6 ชม. ก็มี

นิเทศเภสัชศาสตร์ – Pharmacy Orientation (ระดับความยาก 1/5, ระดับความเยอะ 1/5)

วิชานี้อารมณ์ประมาณเรียนจรรยาบรรณอ่ะครับ เรียนประวัติและความเป็นมาของวิชาชีพ แนวคิดทางสาธารณสุข บทบาทของเภสัชกร และจรรยาบรรณต่างๆ วิชานี้ง่ายๆครับ ไม่มีอะไร แต่อาจต้องมีทำจิตอาสา ทำงานเพื่อสังคมเป็นโปรเจคเล็กๆก่อนจบวิชา

นอกจากนี้ ใน ปี 1 ยังมีพวกวิชาศึกษาทั่วไป อย่าง ภาวะผู้นำและการจัดการ (Leadership and Management), ชีวิตกับสุขภาพ -(Healthy life), ชีวิตกับสิ่งแวดล้อม (Life and Environment), ความสุขของชีวิต (Happiness of Life) ตรงนี้จะว่าไปก็เหมือนวิชาเลือก(เกือบ)เสรี มหาวิทยาลัยอื่นๆก็อาจจะไม่ได้เรียน หรือเรียนวิชาอื่นที่แตกต่างออกไป อย่างสมัยพี่ พวกวิชาศึกษาทั่วไปเนี่ย เค้าแทบไม่บังคับเลย อยากเรียนอะไรก็ได้ ขอแค่มันอยู่ในหมวดศึกษาทั่วไป แต่ล่าสุดพี่เห็นมีบอกชื่อวิชาในหลักสูตรชัดเจนเลย แสดงว่าหลักสูตร 6 ปีนี้เค้าเลือกมาให้เลยว่าต้องเรียนตัวไหน วิชานี้ส่วนมากง่ายครับ และเนื้อหาไม่เยอะ อาจมี ภาวะผู้นำและการจัดการ แหละ ที่ต้องมีออกไปพูดสุนทรพจน์ โต้วาที กันในที่สาธารณะบ้าง ซึ่งก็สนุกและตื่นเต้นดีครับ

ยังครับ ยังไม่หมด

คณะอื่น ปี 1 สอบเทอม 2 เสร็จ เค้าก็ปิดเทอม กลับบ้าน เตรียมตัวเรียน ปี 2 แต่ไม่ใช่ที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพราะในปี 1 ยังเหลือวิชาบังคับอีก 1 วิชา ในเทอม 3 นั่นคือ

กายวิภาคของมนุษย์ – Human Anatomy (ระดับความยาก 2/5, ระดับความเยอะ 4/5)

วิชาคณะแพทย์ตัวแรก วิชานี้น้องต้องไปเรียนที่คณะแพทย์ น้องจะเรียนส่วนต่างๆของร่างกาย กับอาจารย์ใหญ่ ซึ่งอาจารย์ใหญ่จะเป็นอาจารย์ที่คณะแพทย์เค้าผ่ามาเรียบร้อยแล้ว เราก็มาศึกษาอย่างเดียว ไม่ต้องผ่าเอง แต่ถ้าเป็นพวกเนื้อเยื่อต่างๆก็ส่องเอาจากกล้องจุลทรรศน์ วิชานี้ไม่ยากครับ ท่องอย่างเดียว ปัญหาคือเวลาช่วงเทอม 3 มันสั้น น้องเรียนแค่ 2-3 สัปดาห์ก็สอบแล้ว (แต่เรียนทุกวันและทั้งวัน) ระวังจะท่องไม่ทันนะครับ (แต่มันก็แค่เรียนวิชาเดียวแหละ) จริงๆ พี่ว่าที่มหาวิทยาลัยอื่นเค้าก็ไม่ได้เรียนตอน เทอม 3 กันนะ อาจเป็นเพราะต้องรอให้คณะแพทย์ศึกษาให้เสร็จก่อน แล้วมันอาจพอดีกับตารางเวลาสำหรับพิธีศพและทำบุญให้อาจารย์ใหญ่พอดีด้วย แล้วลึกๆมันก็เหมือนกุศโลบายให้นักศึกษาไม่ได้ปิดเทอมไปเที่ยวเพลิน แต่ต้องกลับมาฝึกเตรียมตัวเป็นพี่เลี้ยงน้องใหม่เพื่อเตรียมตัวรับน้องในช่วงปิดเทอมด้วย

กิจกรรม

กิจกรรมอย่างแรกเลยก็คือจะมีการต้อนรับจาก สนภท. ซึ่งกิจกรรมจะเริ่มตั้งแต่ยังไม่เปิดเทอม ปี 1 เป็นกิจกรรมของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเหมือนกิจกรรมให้ว่าที่นิสิต/นักศึกษาเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆ มาทำความรู้จักก่อน จากนั้นพอเริ่มเปิดภาคเรียน กิจกรรมหลักๆของปี 1  ในช่วงแรกก็จะเป็นรับน้องซะเป็นส่วนมาก เริ่มจากรับน้องของมหาวิทยาลัย แล้วก็ตามต่อด้วยรับน้องของคณะ ต่อด้วยกีฬาเฟรชชี่ ซึ่งตรงนี้น้องต้องระวัง อย่าไปหลงกับกิจกรรมรับน้องมาก บริหารเวลาให้ดี เพราะกว่าการรับน้องจะจบและเสร็จสมบูรณ์ ก็เหลืออีกแค่สัปดาห์เดียวเท่านั้นก็จะสอบมิดเทอม !!!! หลังจากนั้นก็จะมีแต่กิจกรรมของคณะยาวๆไปเลย สำหรับกิจกรรมของส่วนกลางก็มีแต่น้องต้องตามข่าวนิดนึง เพราะหลังจากเข้าคณะ ข่าวคราวของส่วนกลางจะเริ่มเงียบหายไป ถ้าน้องไม่ตามข่าว อาจพลาดกิจกรรมที่น้องอยากทำได้ (ถ้าน้องเป็นเด็กกิจกรรมนะ) ช่วงปิดเทอมปี 1 (ที่น้องเรียน Anatomy แหละ) จะเป็นช่วงเวลาที่น้องต้องมาเตรียมตัวสำหรับการเป็นพี่เลี้ยงน้องใหม่ เพื่อดูแลน้องๆ ของน้องในปีการศึกษาใหม่ ตรงส่วนนี้อาจจะมีบางคนเค้าอยากจะไปรับน้องตรงส่วนกลาง ก็ไปฝึกเตรียมตัวกับทางส่วนกลางได้ (แต่เหนื่อยและหนักกว่าอยู่คณะนะ บอกไว้ก่อน)

กิจกรรม จำเป็นต้องทำไหม

ถ้าเป็นพี่สมัยพี่เรียน เค้าไม่บังคับ จะทำหรือไม่ทำก็ได้ เว้นแต่คนที่อยากอยู่หอในต่อ ก็โดนบังคับให้ทำกิจกรรมไปโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม ช่วงหลัง มข. ใช้ระบบหน่วยกิตกิจกรรม ต้องสะสมหน่วยกิตกิจกรรมให้ครบก่อน จึงจะตรวจสอบจบได้ เพราะฉะนั้นน้องก็ต้องแบ่งเวลาส่วนนึงมาเพื่อเก็บหน่วยกิตกิจกรรมด้วย

ผ่านไปแล้วนะครับสำหรับปี 1 จะว่าปี 1 ก็เหมือนช่วงเวลาแห่งการปรับตัว ให้เราเรียนรู้ระบบการเรียนและสิ่งแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยไปก่อน แต่ของจริงคือตั้งแต่ปี 2 เป็นต้นไปครับ

ก่อนหน้า
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 1 : ภาพรวม ปฐมบท
อ่านต่อ
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 3 : ปี 2 Welcome to คณะแพทย์
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 4 : ปี 3 ฝ่าด่านอรหันต์ กลุ่มวิชาชีพบังคับ
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ภาค 5 : ปี 4 ทางเลือก
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 6 : ปี 5 ทางเดินที่แตกต่าง
การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ ตอนที่ 7 : ปี 6 นักบินฝึกหัด


Share this:

Posted in การเรียนเภสัช.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *