เรื่องจบสถาบันไหน แล้วมีผลต่อการทำงานหรือความก้าวหน้าไหม เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และคลุมเครือมากๆ น้องต้องแยกให้ออก เพราะมันมีทั้งส่วนที่เป็นภาพใหญ่ และส่วนที่ปัจเจก
อธิบายง่ายๆ สถาบันก็เหมือนแบรนด์ที่ติดตัวน้องไปด้วย มันเป็นสถานะที่ติดตัวน้อง เหมือนเพศ อายุ อาชีพ สมมติพูดถึงเพศหญิง กับเพศชาย น้องก็จะมีแบรนด์เพศชายในหัวว่า เพศชายมันจะแบบนี้ เพศหญิงมันจะแบบนี้ เวลาพูดถึงวิศวกร ทุกคนก็จะมีภาพว่า วิศวกรมันจะเป็นแบบนี้ออกมา สถาบันก็เหมือนกัน เวลาพูดถึงจุฬา ทุกคนก็จะมีภาพเด็กจุฬาในหัว อย่างเวลาพูดถึงเด็กช่าง บางคนก็จะนึกถึงนักเรียนตีกัน บางคนก็นึกถึงผู้ชายใส่เสื้อช็อปเท่ๆ แบบนี้ เป็นต้น
สถานะที่ติดตัวน้อง ไม่ว่าจะเป็น เพศ อายุ ถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ สถาบัน ล้วนแต่เป็นแบรนด์ที่ติดตัวน้องทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่ศาสนา ยกตัวอย่าง ISIS ทำให้เวลาคนพูดถึงอิสลาม ภาพก่อการร้ายก็ลอยมาในหัวแล้ว แต่ประเด็นพวกนี้ ล้วนเป็นประเด็นละเอียดอ่อนทั้งนั้น เพราะต่อให้สถานะของคนๆนั้นจะเป็นยังไง แต่ละคนก็ยังมีความเป็นปัจเจกที่แตกต่างกันจนห่างไกลไปจากมโนภาพของสถานะนั้น
ถามว่า แบรนด์พวกนี้ มันมาจากไหน?
มันก็มาจากสิ่งที่รุ่นพี่ คนรุ่นก่อน หรือคนที่มีแบรนด์เดียวกับน้องทำเอาไว้นั่นแหละ ทั้งนี้มันก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่แต่ละคนประสบกับแบรนด์นั้นมาด้วย เหมือนน้องใช้สินค้ายี่ห้อนึง แล้วมันใช้ดีมาก ประทับใจ แต่เพื่อนน้องกลับเจอปัญหา และบริการแย่ๆ ก็รู้สึกแย่กับแบรนด์นั้น แล้วบางคนก็ไม่ได้สนใจแบรนด์มากมาย สนใจแต่ performance ของๆมากกว่า แต่บางคนก็ติดแบรนด์ ไว้ใจแบรนด์นี้ เพราะไม่เคยทำให้ผิดหวัง เพราะฉะนั้นมันมีเรื่องของปัจเจกเข้ามาด้วย ยิ่งสินค้าประเภทบัณฑิต มันมีปัจจัยอย่างอื่นมาเกี่ยวพันอีกมาก ที่จะทำให้ของ lot เดียวกัน มีความแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว
ทีนี้ เวลาน้องเลือกใช้งานสินค้า ของบางอย่าง น้องใช้ยี่ห้อไหนก็ได้ ไม่ซีเรียส เช่น นาฬิกาปลุก ขอแค่มันดัง แล้วมันทำให้น้องตื่นได้ น้องก็พอใจแล้ว แต่บางอย่าง เช่น ครีมทาหน้า น้องก็อาจกลัวว่า ถ้าน้องใช้แบรนด์แปลกๆ หน้าน้องจะพังไหม หรือสินค้าอย่างนาฬิกาหรู น้องก็ไม่ได้ใส่เพื่อดูเวลา แต่น้องใส่เป็นเครื่องประดับ ดังนั้นก็ต้องเลือกแบรนด์มาใส่หน่อย ในส่วนของงานเภสัชก็เหมือนกันครับ บางงาน เค้าไม่สนใจเลยว่าน้องจบจากสถาบันไหน ขอแค่มันทำงานได้ตามที่เค้าต้องการก็พอ แต่บางงาน รุ่นพี่เค้าก็อยากได้แบรนด์ที่ไว้ใจได้หน่อย (แม้แต่แม่ผัวบางคนจะเลือกลูกสะใภ้ ยังดูแบรนด์มาก่อน function การทำงานเลย จริงไหมครับ)
เอาละ ที่พูดไปทั้งหมดก่อนหน้านี้ เป็นแค่อารัมภบทให้เข้าใจภาพกว้างๆเสียก่อน แต่ต่อไปจะลงรายละเอียดของเภสัชแล้วนะครับ
สำหรับประเด็น เรื่องเรียนเภสัช สถาบันมีผลต่อการทำงานไหม พี่ขอแยกประเด็นทีละข้อดังนี้
เรียนสถาบันไม่ดัง แล้วจะถูกเหยียดไหม
ตอบ เรื่องเหยียด ไม่ว่าจะเพศ เชื้อชาติ ศาสนา มีเรื่องเหยียดหมด เพียงแต่ว่า มันถูกกดเอาไว้ด้วยบรรทัดฐานทางสังคม เรื่องสถาบันก็เหมือนกัน คนเหยียดมันก็มี แต่ก็ไม่ค่อยแสดงออกหรอก คำถามที่น่าสนใจกว่าคือ ในวงการของเภสัชกรเนี่ย มีเรื่องเหยียดสถาบันมากไหม หรือรุนแรงแค่ไหน ซึ่งพี่ขอตอบว่า “ไม่” วงการเภสัช หากเทียบกับอาชีพอื่น ถือว่าเรื่องเหยียดสถาบัน เป็นเรื่องที่มีน้อยมากๆ อันที่จริง เราค่อนข้างจะเห็นใจกันด้วยซ้ำ หากเป็นเรื่องประเด็นระหว่างสถาบัน มักเป็นคลื่นใต้น้ำมากกว่า เช่น ตอนสอบใบประกอบ ในใจลึกๆ ก็แอบแข่งกันว่า ใครจะ % สูงกว่า แบบนี้เป็นต้น
สายงาน กับสถาบัน มีผลไหม
ตอบ หากน้องไปดูการกระจายตัวของสายงานที่ทำกับตำแหน่งที่ทำงานของแต่ละสถาบัน น้องก็อาจสรุปได้ว่า สถาบัน มีผล แต่การจะสรุปแบบนั้น มันหยาบเกินไป มันมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมากกว่าสถาบันครับ เดี๋ยวพี่จะบอกในข้อถัดไป แต่ในข้อนี้ พี่จะสรุปคร่าวๆก่อนว่าสายงานของเภสัช ถ้าเป็นร้านยา สถาบัน ไม่มีผล เค้าไม่ได้สนใจมากมายว่าน้องจบจากสถาบันไหน ในมุมของผู้ประกอบการ เค้าสนใจว่าน้องมาขายให้เค้า เอาใบมาไว้ที่ร้าน ทำให้เค้าดำเนินกิจการต่อไปได้ ทำยอดขายให้เค้าได้ เค้าโอเคหมด ไม่ว่าจบจากสถาบันไหน (แต่เรื่องรักษาจรรยาบรรณของวิชาชีพ มันเป็นหน้าที่ของเภสัชกรอย่างน้องนะ) เว้นเสียแต่ว่าจะมีมอไหนสักมอลุกขึ้นมาสร้างแบรนด์ว่า จบจากมอนี้แล้วขายเก่งมาก สร้างยอดขายทะลุเป้า แบบนี้สถาบันมีผลแน่ๆ แต่มันคงเป็นไปได้ยากมากๆ อย่าลืมว่าอาจารย์ในคณะเภสัช 90% ถูกฝึกมาให้เป็นนักวิจัย ไม่ใช่นักขาย มันคงเป็นเรื่องยากมากๆถ้าเอานักวิจัยมาสอนแล้วจะได้ผลลัพธ์เป็นนักขายออกมาได้ แต่ถ้าพูดในมุมของแบรนด์เภสัชกรชุมชนที่ใช้วิชาชีพเพื่อสังคมแล้วละก็ แต่ละมอ เค้าเน้นเรื่องนี้กันเข้มข้นอยู่แล้ว
โรงพยาบาล ถ้าน้องสังเกตุดู น้องก็จะพบว่า จริงๆ มันมีความสัมพันธ์ระหว่างการกระจายตัวของบัณฑิตแต่ละมอ กับแต่ละโรงพยาบาลเหมือนกัน แต่ถ้าจะสรุปไปเลยว่า เป็นเพราะสถาบัน ก็ไม่ถูกซะทีเดียว เดี๋ยวพี่จะอธิบายในข้อต่อไปดีเทล สายงานนี้ เค้าสนใจบุคลิกและ Performance มาก่อนสถาบันอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม สายนี้เรื่อง insider ก็มีผล คำถามคือ จะไปได้ insider มาจากไหน ส่วนมากแล้ว insider จะเป็นสายสัมพันธ์ส่วนตัวมากกว่าสถาบัน
งานราชการอื่นๆ อย. สสจ. เอาเป็นว่า ถ้าน้องสามารถบรรจุเข้าไปได้ สถาบันก็ไม่เกี่ยวแล้วแหละ
งานโรงงาน น้องต้องเข้าใจก่อนว่า สายงานนี้ วงการมันเล็กมาก ปัจจุบันประชากรเภสัชที่ทำงานโรงงานมีแค่ราวๆ 1 – 2 พันคนเท่านั้น และมีหลายมอมากๆ ที่แทบไม่มีรุ่นพี่ทำงานในสายงานนี้ โดยเฉพาะช่วงที่บังคับเภสัชให้ใช้ทุนทุกคน เภสัชโรงงานช่วงนี้ หายไปเป็น Generation เลย เพราะฉะนั้นมันมีโอกาสที่รุ่นพี่บางคน ทำงานมา 10 20 30 40 ปี จะไม่เคยเจอคนจบจากมอนี้เลย อีกทั้งสายงานนี้ Turn over rate ช่วงแรกสูงมาก เพราะฉะนั้นเวลาเจอมอที่เค้าไม่คุ้น พี่ที่แก่ๆหน่อยบางคนเค้าจะ Question Mask น้องไว้ก่อนว่า เอ็งจะไหวไหมวะ อันนี้สำคัญมาก ถ้าน้องเจอแบบนี้ ตอนสัมภาษณ์ น้องต้องสร้างความมั่นใจให้พี่เค้าให้ได้ หาว่าพี่เค้ากำลังกังวลใจเรื่องอะไรอยู่ เพราะลึกๆแล้ว พี่ๆสายนี้อยากหาน้องมาช่วยใจจะขาด เพราะหาคนสมัครยากเหลือเกิน
ขี้เกียจอ้อมละ เอาเป็นว่า สายโรงงาน ถ้าไปอยู่ที่ๆเค้าใช้เภสัชเยอะๆอ่ะ พวกชุมชนเภสัช biolab อะไรแบบนี้ เรื่องสถาบันไม่ค่อยมีปัญหาหรอก แต่ถ้าน้องไปเจอโรงงานที่ใช้เภสัชไม่เยอะ ทั้งโรงงานมีแค่ 5-10 คน แล้วมีพี่แก่ๆเป็น Manager อยู่ น้องต้องสร้างความมั่นใจให้ได้ ยิ่งที่ไหนเคยมีประวัติเด็กจบใหม่มอไหนมาสร้างเรื่องให้นะ แกจำจนวันตายเลยแหละ สายนี้ พี่บอกเลยว่า โปรเจคจบ กับแหล่งฝึกงานตอนปี 6 สำคัญโครตๆ ต่อการตัดสินใจของพี่เค้า สำคัญกว่าสถาบันอีก ซึ่งแต่ละสาย เรื่องที่พี่เค้าอยากมี make sure เนี่ย ส่วนมาก เรื่องเดิมๆ อย่างน้องสมัคร QC พี่เค้าจะเทสน้องว่าเคยใช้เครื่องไหน ยี่ห้ออะไรมาบ้าง อ่านผลแลบเป็นไหม เชี่ยวชาญการใช้ USP ขนาดไหน ถ้าเป็น Production เนี่ย เค้าจะห่วงเรื่องการแก้ปัญหาและการคุมคน คนงานใส่ตัวนี้ผิดจะแก้ยังไง ถ้ามีโฟร์แมนคนนึงมีเงื่อนไขว่าจะไม่ยอมทำงานถ้ามีคนขาดงานจะทำอย่างไร ได้เตรียมทำใจเจอเรื่อง surprised ที่มหาลัยไม่ได้สอนมามากขนาดไหน ยามีปัญหาแก้เป็นไหม อะไรแบบนี้ ส่วนพี่ QA นะ ส่วนมาก พี่เค้าจะทำใจอยู่แล้วว่า ยังไงก็ต้องฝึกใหม่อยู่ดี ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเห็นเด็กจบใหม่มอง Process แล้วเห็นทะลุถึงความเสี่ยงสักคน พอละ นอกเรื่องมายาว เอาเป็นว่าเรื่องสีเสื้อสถาบันของสายนี้ ที่เข้มข้นจริงๆนะ มี R&D อยู่ที่นึง ถ้าไม่ได้จบมอนี้ การจะฝ่าด่านอรหันต์เข้าไปได้ยากมาก
มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระจายตัวของบัณฑิตแต่ละมอกับแต่ละโรงพยาบาล แสดงว่าสถาบันมีผลจริงไหม
ตอบ ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า โรงพยาบาลในประเทศไทย 80% เนี่ย เป็นโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งเด็กที่จบมอรัฐบาล เค้าได้จับสลากใช้ทุน (ในขณะที่ ม.เอกชนจะเข้าไปทำได้ ต้องไปสอบเอาเอง) เพราะฉะนั้น จะมีเด็กจบ ม.รัฐ ไปทำมากกว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร นอกจากนี้ เขตพื้นที่ก็มีผล เช่น โรงพยาบาลในภาคอีสาน จะมีเด็กจบ มข. มมส. มอบ. ไปอยู่เยอะ หรือภาคใต้ก็เป็น มอ. ม.วลัยลักษณ์ อันนี้จะสรุปไปเลยว่า สถาบันมีผล ก็ไม่ถูกนักเหมือนกัน เพราะเด็กส่วนใหญ่ที่ไปเรียนในมอนั้นๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กในพื้นที่อยู่แล้ว พอเค้าทำงาน เค้าก็อยากทำใกล้ๆบ้าน ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก อันที่จริง ม.เอกชน อย่างรังสิต ก็มีโรงพยาบาลที่สนิทๆหน่อยอย่าง พญาไท และเลิดสินเหมือนกัน
เรื่องโรงพยาบาลหรือที่ทำงานไหน จะสนิทกับมอไหนเป็นพิเศษ มันเป็นเรื่องความสัมพันธ์ พี่ยกตัวอย่างนะ พอที่ทำงานนั้นมีเด็กจากมอนั้นไปทำงานเยอะ ก็จะมีการติดต่อกับอาจารย์หรือศิษย์เก่าจากสถาบันที่จบมาบ่อย อาจจะขอความช่วยเหลือทางวิชาการ ตามหายาขาด และก็มีแนวโน้มที่จะรับเด็กฝึกงานจากมอนั้นมากขึ้น เวลาอาจารย์มานิเทศน์เด็กฝึกงาน ศิษย์เก่ากับอาจารย์ก็ได้เจอกัน ความสัมพันธ์ก็แน่นแฟ้น เวลามีโครงการอะไรที่ต้องผ่านมหาลัย มหาลัยในพื้นที่นั้นๆก็มักต้องดูแลในเขตพื้นที่ของตัวเอง เมื่อมีอบรม สัมมนา ศิษย์เก่ากับอาจารย์ก็ได้เจอกันอีก ความสัมพันธ์ก็แน่นแฟ้นมากขึ้นเรื่อยๆ พี่พูดแบบนี้ พอจะมองภาพออกไหมครับทั้งนี้ทั้งนั้น แต่ยิ่งเครือข่ายและความสัมพันธ์มันยิ่งแน่นแฟ้นมากขึ้นเท่าไร มันก็ยิ่งเป็นดาบ 2 คม เพราะถ้าหากน้องไปทำตัวแย่ๆไว้ แปบเดียว รู้ถึงกันหมดนะครับถ้าวางแผนจะเรียนต่อ สถาบันจะมีผลไหม
ตอบ เรื่องเรียนต่อ ถ้าน้องต่อในประเทศ ไม่มีผลครับ แต่ถ้าน้องวางแผนจะไปต่อต่างประเทศ สิ่งที่มีผลช่วยน้องได้แน่ๆคือ ตัวอาจารย์ของน้องเอง คือ อาจารย์ แต่ละคน เค้าก็จบกันมาคนละที่ ดังนั้นอาจารย์แต่ละคน จึงมีสายสัมพันธ์กับแต่ละที่ไม่เหมือนกัน อาจารย์บางคนก็ดังมากใน field ของตัวเอง เพราะฉะนั้นถ้าน้องรู้ตัวก่อนว่า น้องสนใจเรื่องอะไร อยากทำเรื่องอะไร จะดีมาก เพราะน้องจะศึกษาได้เลยว่า อาจารย์ที่ทำเรื่องนั้นอยู่ เค้าสอนอยู่ที่ไหน การไปต่อที่ต่างประเทศ จดหมาย Recommend ถือว่าช่วยได้มาก ดังนั้นถ้าน้องได้อาจารย์ที่มีสายสัมพันธ์กับ Professor ใน U ที่น้องจะไปต่อ จะเป็นเรื่องดีมาก ในส่วนของมหาลัยนั้น ถ้าเป็นมหาลัยที่เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติด้วยก็จะดี
สุดท้ายนี้ พี่อยากจะสรุปว่า การที่จะเข้าใจเรื่องอิทธิพลของสถาบันต่อการรับเข้าทำงานได้อย่างถ่องแท้นั้น น้องต้องเข้าใจเรื่องจิตวิทยาสังคม และแบรนดิ้งก่อน ศาสตร์พวกนี้เป็นศาสตร์อ่อน ไม่ใช่ศาสตร์แบบแข็งๆแบบคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ มันดิ้นได้ ไหลได้ และไร้รูปร่าง มันทั้งอวิรูป และอสมมาตร ในเวลาเดียวกัน
การจะรับสมัครใครสักคน ในส่วนของเภสัช น้องไม่ต้องกังวลเรื่องสีเสื้อในสถานที่ทำงาน มันมีน้อยมากๆในวงการนี้ครับ สิ่งเดียวที่พี่เค้ากังวลคือ น้องจะทำงานได้หรือเปล่า แค่นั้น ถ้ารุ่นพี่น้องทำไว้ดี อิทธิพลเรื่องนี้ก็เบาบาง แต่ถ้ารุ่นพี่น้องทำแย่ๆไว้ซ้ำๆกัน มันก็ฝังใจคนที่จะรับเข้าทำงานเป็นเรื่องธรรมดา แต่จะมากหรือน้อย ก็แล้วแต่พี่แต่ละคน
มันก็เหมือนน้องลองใช้ครีมสักยี่ห้อ ถ้าเป็นยี่ห้อแปลกๆ แรกๆน้องอาจลังเลที่จะใช้บ้าง แต่ถ้าลองใช้แล้ว ใช้ดีไม่มีปัญหา ข้อกังขานี้ก็หมดไป แต่ถ้าเคยใช้แล้วหน้าพัง ยี่ห้อนี้ออกตัวใหม่มา น้องก็ต้องมีลังเลบ้าง ที่จะลองใช้เป็นธรรมดา แต่ก็ขึ้นกับคนอีกแหละ บางคนใจถึงก็กล้าลอง บางคนก็ไม่กล้าลอง
อิทธิพลของสถาบันจะมีผลจริงๆแต่คนสมัครงานครั้งแรกเท่านั้น เพราะในสัมภาษณ์คุยกันแค่ 1-2 ชม. หรือบางครั้งแค่ 15 นาที มันเป็นการยากมากที่เราจะเข้าถึงตัวตนและความสามารถที่แท้จริงของน้องแต่ละคนได้ ดังนั้นสมองของคนเราจึงไปเรียกเอาประสบการณ์ก่อนหน้ามาใช้พิจารณาด้วย เช่น พี่ที่ทำงานที่เคยเจอน้องเกรดน้อยๆแล้วทำงานไม่ได้ ก็จะอนุมานไปว่าเด็กเกรดน้อยไม่น่าทำงานนี้ได้ แต่ถ้าพี่คนไหนที่เจอว่าเกรดน้อย เกรดมาก ทำงานไม่ต่างกัน ก็มีแนวโน้มว่าจะไม่สนใจเกรดไปด้วย หรือพี่บางคนเจอปัญหาว่าเด็กเกรดเยอะ ทำงานได้แปบเดียวชอบหนีไปเรียนต่อ ก็จะมีแนวโน้มที่จะชอบเด็กเกรดน้อยมากกว่า เพราะฉะนั้น ในส่วนของสถาบันก็เหมือนกันครับ ธรรมชาติของคนเรา เมื่อเจออะไรที่มันคลุมเคลือ จับอะไรชัดเจนไม่ได้ ก็จะเอาประสบการณ์ที่เคยเจอก่อนหน้านั้น มาใช้ร่วมกับการตัดสินใจด้วย แต่ถ้าน้องทำงานไปสักระยะ มีประสบการณ์และมีผลงานที่จับต้องได้แล้ว ประเด็นนี้ก็แทบไม่มีผลอะไรอีกต่อไป เพราะผลงานของน้อง มันชัดเจนในตัวของมันเองอยู่แล้ว
ในฐานะที่พี่เคยทำงานในระดับหัวหน้ามาก่อน พี่พบว่าเด็กแต่ละสถาบัน มันมี DNA ของสถาบันนั้นในตัว คือ มันจะมีลักษณะที่เหมือนกันแอบถ่ายทอดกันอยู่ เอาจริงๆก็ไม่แปลก เพราะคนเราจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับ พันธุกรรม + สิ่งแวดล้อม น้องที่จบมอเดียวกัน ก็เหมือนคนที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกันมา 6 ปี จะมีอะไรเหมือนกันบ้างก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่มันไม่สามารถคิดเป็นตัวเลขตรงๆได้ว่าพันธุกรรม 50% สิ่งแวดล้อม 50% อายุ 23 ปี เหมือนกัน 6 ปี ดังนั้นสถาบันมีผลต่อคนๆนั้น 13% มันไม่ใช่ บางคน พันธุกรรมก็มีผลมากกว่า บางคนสิ่งแวดล้อมที่เจอมา 17 ปี ก่อนเข้ามหาลัยมีผลมากกว่า บางคนสิ่งแวดล้อม 6 ปีหลังมีผลมากๆ มันเอาแน่เอานอนไม่ได้
“การตีความคนๆนั้นจากสถาบันที่จบเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่การบอกว่าสถาบันไม่มีผลกับคนๆนั้นเลยก็ไม่ถูกซะทีเดียวเหมือนกัน”
ในส่วนของเภสัช การที่ยังไม่มีใครพูดได้เต็มปากว่า “จบมาแต่ละมอ ไม่เหมือนกัน” ส่วนนึงก็เป็นเพราะ คณะเภสัชแต่ละแห่ง ยังไม่มีใครเด่นด้านอะไร หรืออ่อนด้านไหนชัดเจนมากจนแตกต่างจากที่อื่นไปมากๆ แต่โอเคแหละ เราก็พอรู้กันว่า มอไหนเก่งเรื่องอะไร แบบว่า มอไหนถนัดแท้ง ถนัดซับ ถนัดทำดาเมจ 55555555+ แต่มันก็แค่พอรู้ครับ มันไม่ได้โดดเด่นจนพูดได้เต็มปากเต็มคำขนาดนั้น
อย่างที่พี่บอกไปว่าพี่เองก็เคยอยู่ในระดับหัวหน้ามาก่อน หน้าที่ของหัวหน้าที่รับน้องเข้าทำงาน เค้าไม่ได้เอาเกรดมาตั้ง เอาสถาบันมาตั้ง แล้วให้คะแนนสัมภาษณ์ ใครได้เยอะผ่าน แบบนี้หรอกครับ หน้าที่ของพี่ คือพี่ต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ตำแหน่งที่พี่จะรับ ลักษณะงานมันเป็นแบบไหน แล้วอยากได้คนแบบไหนไปทำงาน เพราะฉะนั้น พี่ต้องเลือกคนที่เหมาะสมที่สุด ไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด เพราะฉะนั้น แต่ละงานมันใช้ทักษะไม่เหมือนกัน บางงานอยากได้คนเก่ง บางงานอยากได้คนถึกๆ บางงานอยากได้คนเข้าสังคมเก่ง บางคน high profile เกินไป ไม่เอาก็มี แล้วเวลาตัดสินใจ เค้าก็ตัดสินใจกันหลายคนนะน้อง มี HR ด้วย ยิ่งตำแหน่งสำคัญๆอย่างเภสัช บางที่ เจ้าของบริษัทมาคุยเองด้วยซ้ำ ซึ่งแต่ละคนเค้าก็มีมุมมองที่ต่างกันออกไป HR นี่เค้าก็จะให้น้ำหนักไปทางด้านมุมมองพวกทัศนคติในการทำงานมากกว่า
น้องน่าจะได้ไอเดียไปบ้างแล้วนะ ว่าสถาบันมันมีผลมากน้อยขนาดไหน การตัดสินใจรับใครคนหนึ่งเข้าทำงาน มันมีหลายปัจจัยมากทั้ง Performance ของตัวน้อง, ทัศนคติการทำงาน, เกรด (บางตำแหน่งดูด้วย แต่ดูแค่ในรายวิชาที่เกี่ยวกับสายงานนั้น), โปรเจคจบ, แหล่งฝึกงาน เยอะแยะไปหมด แต่ละคน แต่ละตำแหน่งงาน ก็ให้น้ำหนักในแต่ละเรื่องไม่เท่ากัน “บางที มันก็ไม่มีอะไรเลยจริงๆ แค่ เออ คนนี้ คุยรู้เรื่อง รู้สึกถูกชะตา น่าจะทำงานด้วยกันได้ แค่นั้นเอง”
ถ้าถามพี่นะ ถ้าน้องสามารถติดมอดังๆได้ แล้วไม่มีปัญหาเรื่องอื่น เช่น การเดินทาง คนรัก ครอบครัว น้องก็เลือกมอดังๆไปเถอะ อย่างน้อย มันก็มีเครือข่ายรุ่นพี่รุ่นน้องที่กว้างขวางและแข็งแรงกว่า พี่ไม่ได้หมายถึงตอนทำงานนะ แต่น้องต้องเข้าใจว่า ธรรมชาติของคน ยิ่งคนเรายิ่งมีอะไรเหมือนกันมากเท่าไร ก็ยิ่งรู้สึกสนิทและไว้ใจกันได้ง่ายมากเท่านั้น สถาบันก็เหมือนกันครับ คนอาชีพเดียวกัน จบจากสถาบันเดียวกัน ย่อมเปิดใจให้กันได้ง่ายกว่า คนที่ไม่มีอะไรเหมือนกันเลย และสังคมไทยยังมีอะไรแบบนี้หลงเหลืออยู่ ดูจากกรณียิงเสือดำของเปรมชัยก็ได้ครับ ทำไม ผอ.กรมอุทยาน ถึงไว้ใจเปรมชัยให้เข้าป่าไปได้ง่ายๆโดยไม่ตรวจสอบอะไร สาเหตุก็เป็นเพราะคนที่ประสานให้เปรมชัย คือ นายนพดล รุ่นพี่ของ ผอ.กรมอุทยาน ผอ.ก็เลยไว้ใจได้ง่ายๆ ด้วยความที่เป็นรุ่นพี่นั่นเอง สำหรับบางคน เรื่องนี้เป็นเรื่องไร้สาระและไม่มีผลอะไรกับชีวิตเค้าเลย แต่สำหรับบางคน มันก็สำคัญมาก ไม่งั้น เราคงไม่เห็นคนพยายามที่จะไปเรียนพวก วปอ. บ.ย.ส. ปปร. พตส. วตท. เพียงเพื่อที่จะได้เป็นศิษย์เก่าสถาบันพวกนี้หรอกครับ เพราะการได้เข้าเป็นศิษย์เก่าสถาบันเหล่านี้มันหมายถึงการได้ connection ระดับเทพ ที่จะตามมาทั้งนายทหาร ข้าราชการระดับสูง เศรษฐีพันล้าน ผู้บริหารระดับสูงในองค์กรชั้นนำต่างๆ แม้แต่ในระดับมหาลัยถึงเด็กจบใหม่ยังมีโครงการแบบ Jumc Next ให้พวกอายุน้อยร้อยล้านทั้งหลายมาสร้าง connection กันเลยครับ
แต่ถ้าน้องไม่ติดมอดังๆ การเลือกมอที่ชื่อเสียงรองลงมา แต่ยังคงได้เรียนคณะที่ชอบ ไม่ใช่เรื่องแย่อะไรเลยครับ มันดีกว่าน้องไปฝืนเรียนในคณะที่ไม่ชอบ ยิ่งกับในวงการเภสัช ที่ไม่ได้มีค่านิยมเรื่องแบ่งแยกสถาบันด้วยแล้ว ยิ่งไม่ได้แย่เข้าไปใหญ่
เภสัชไม่เหมือนนิติ ที่เวลาพูดถึงนิติ จุฬา มธ ราม จะลอยมาในหัวก่อนเพื่อน นอกจากนี้ เรายังพยายามสร้างค่านิยม เรื่องไม่แบ่งแยกสถาบันและให้แต่ละสถาบันผูกพันกัน ผ่านทางองค์กรอย่าง สนภท. ตลอดทุกปี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เงื่อนไขนี้จะยังคงเป็นจริงอยู่ได้ ก็ต่อเมื่อ ยังไม่มีสถาบันไหนสร้างชื่อเสียงลบด้านใดด้านหนึ่งไปมากๆ หรือชื่อเสียงบวกด้านใดด้านหนึ่งจนทิ้งห่างที่อื่นไปมากๆนะครับ ของแบบนี้ มันไม่มีอะไรจิรังยั่งยืน สมัยก่อน ตอนเภสัชมี 8 สถาบัน พี่ยังจำได้ว่า ใครเกิดพูดขึ้นมาว่า “จบ เภสัช แต่ละมอไม่เหมือนกันหรอก” ตอนนั้น แทบจะโดนสวนทันทีว่า “จบ มอ ไหน ก็เภสัชกรเหมือนกันนั่นแหละ” แต่พอตอนนี้ มี 19 สถาบัน แล้ว ถ้ามีใครบางคนพูดขึ้นมาว่า “จบมอนี้ ดีกว่ามอนี้” มันจะเริ่มออกมาเป็น “อืม ไม่น่าจริงนะ มอนี้เค้าก็เด่นด้านนี้” ที่ยกตัวอย่างแบบนี้ เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า ยิ่งแต่ละสถาบันรวมถึงตัวบัณฑิตมีความแตกต่างกันมากขึ้นเท่าไร ค่านิยมที่ว่า จบมอไหนก็เภสัชเหมือนกัน มันก็ยิ่งสั่นคลอนมากขึ้นเท่านั้น
พี่ดีใจที่น้องๆรุ่นใหม่ ค่อนข้างเปิดกว้างเรื่องสถาบันมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนก้าวพ้นเรื่องสถาบันและสถานะไปแล้วด้วยซ้ำ ยิ่งในอนาคต ความรู้ที่เปิดกว้างและเข้าถึงได้ง่าย จะทำให้เราได้เห็นคนเก่งๆ ที่เกิดจากเค้าศึกษาด้วยตนเอง ไม่ได้ขึ้นกับสถาบันมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงเวลานั้น ความคิดคนในสังคมจะเปิดกว้างเรื่องสถาบันมากขึ้นไปอีก ในอนาคต ใบ Cert. จาก Google University อาจมีน้ำหนักมากกว่าปริญญาจากมหาลัยก็ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคนในสังคม มันก็มีทั้งคนที่หัวเอียงซ้าย และเอียงขวา คนที่หัวเอียงขวา ก็จะยังมีอยู่ ทุกยุคทุกสมัยนั่นแหละ
Share this: